กรณีนายสมบูรณ์ ไตรเกษม และพวก ตามคำพิพากษาศาลปกครองเชียงใหม่ที่ 62/2547 : คนเชื้อชาติเวียดนามที่ประสบปัญหาการมีสัญชาติไทยโดยผลของสนธิสัญญาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแห่งรัฐ


คำพิพากษาของศาลปกครองฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของศาลไทยในการให้ความยุติธรรมแก่บุคคลโดยไม่นำความเป็นคนเชื้อชาติต่างประเทศมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมอย่างชัดเจน
             นายสมบูรณ์  ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม เกิดในประเทศลาว (ขณะนั้นเรียกว่าอินโดจีน-ฝรั่งเศส) โดยบิดาและมารดาเป็นคนเชื้อชาติเวียดนาม โดยทั้งสองได้อยู่กินฉันสามีภรรยาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2483 ที่บ้านเชียงแมน  เขตเมืองหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นเขตการปกครองของประเทศไทยแต่ได้ไปอยู่ในการปกครองของฝรั่งเศสตามสนธิสัญญา พุทธศักราช 2446 

          ต่อมานายสมบูรณ์  ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม ได้ย้ายมาอยู่ที่กิ่งอำเภอเชียงแสนในปลายปี พ.ศ.2484 และได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ทร.14) เลขที่ 41 หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย  มีบุตรทั้งหมด 6 คน เกิดในประเทศไทย

            เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ได้มีการทำอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศสโดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ยและได้มีประกาศพระบรมราชโองการใช้อนุสัญญาสันติภาพฯ ดังกล่าวในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2484  ผลของอนุสัญญาสันติภาพฯ ทำให้ประเทศไทยได้อธิปไตยเหนือดินแดนเมืองหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง และต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดการปกครองดินแดนที่ประเทศไทยได้คืนจากประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2484 ยกแคว้นหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นจังหวัดลานช้าง

            ในปีพ.ศ.2499 ทางราชการได้มีประกาศให้บุคคลต่างด้าวไปขอมีบัตรประจำตัวคนต่างด้าวภายในกำหนด 120 วัน นับตั้งแต่เข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้อง ดังนั้นในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2499 นายสมบูรณ์ ไตรเกษมจึงได้ยื่นขอมีบัตรประจำตัวคนต่างด้าวโดยได้เสียค่าธรรมเนียม 400 บาท พร้อมเสียค่าปรับในอัตราปีละ 5 บาท ย้อนหลังไป 15 ปี เป็นเงิน 75 บาท       ต่อมาในปี พ.ศ.2529 อำเภอเชียงแสนได้จำหน่ายชื่อของนายสมบูรณ์ ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม ออกจากทะเบียนบ้านใช้สำหรับคนที่มีสัญชาติไทย และคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว (ท.ร.14) และนำไปเข้าในทะเบียนบ้านใช้สำหรับคนที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง (ท.ร.13) แล้วหมายเหตุว่าถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 ตามหนังสือจังหวัดเชียงราย ที่ชร 0016/26896 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2529

 

             และต่อมานายอำเภอเชียงแสนได้มีหนังสือที่ ชร 0016/2201 ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2531  แจ้งว่านายสมบูรณ์  ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม ยังมีบุตรที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) เลขที่ 41 หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย จำนวน 6 คน และยังคงมีสัญชาติไทยทั้งที่บิดามารดาเป็นผู้มีสัญชาติญวนไม่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว นายอำเภอเชียงแสนจึงได้ขออนุมัติผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ถอนสัญชาติไทยของบุตรทั้ง 6 คน ตามข้อ 1 แห่งประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้อนุมัติตามหนังสือที่ ชร 0016/31740 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2531

 

            นายสมบูรณ์ ไตรเกษมและพวก จึงได้มีหนังสือถึงนายอำเภอเชียงแสน ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2543 เรื่องขอความเป็นธรรมและขอสิทธิการเป็นพลเมืองไทยคืน   และอำเภอเชียงแสนได้หารือแนวทางปฏิบัติในกรณีดังกล่าวไปที่จังหวัดเชียงราย ตามหนังสือที่ ชร 0918/3075               ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2543  รวมทั้งนายสมบูรณ์ ไตรเกษมได้ขอทราบผลการพิจารณาตามหนังสือลงวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2544        และหนังสือลงวันที่  20  มีนาคม  พ.ศ.2545 ต่อมาจังหวัดเชียงรายได้แจ้งว่ากระทรวงมหาดไทยได้หารือกระทรวงต่างประเทศซึ่งยังไม่ได้รับผลการหารือแต่อย่างใดนายสมบูรณ์ ไตรเกษม จึงได้ยื่นคำฟ้องลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2545 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่

 

            โดยคดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่าคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายที่ให้เพิกถอนสัญชาติไทยของนายสมบูรณ์ ไตรเกษม และพวก และจำหน่ายชื่อออกจากทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)ไปอยู่ในทะเบียนบ้านสำหรับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง    (ท.ร.13)  เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

 

            ศาลปกครองเชียงใหม่ได้พิจารณาและพิพากษาโดยแยกเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังนี้

 

            ประเด็นแรก  การได้สัญชาติไทยภายหลังการเกิดของนายสมบูรณ์  ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม พิจารณาพิพากษาว่า  เมื่อ พ.ศ.2483 ขณะเกิดผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นคนชาติฝรั่งเศส และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขตเมืองหลวงพระบางฝั่งขวาได้ผนวกเข้าเป็นดินแดนของราชอาณาจักรไทยตามอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484 และมีพระบรมราชโองการประกาศใช้อนุสัญญาตั้งแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันเป็นต้นไป เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2484

 

            ผลของอนุสัญญาดังกล่าวในข้อ 8 ระบุว่า ในขณะที่การโอนอธิปไตยเหนืออาณาเขตซึ่งโอนให้แก่ประเทศไทยสำเร็จเด็ดขาดลง คนชาติฝรั่งเศสซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตนั้นๆ จะได้สัญชาติไทยที่เดียว

 

            ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติจัดการปกครองดินแดนที่ประเทศไทยได้คืนจากประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2484 ยกแคว้นหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขงเป็นจังหวัดลานช้าง ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2484

 

            อีกทั้งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือที่ 407/2484 ลงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2484 เรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายว่าการกระทรวงว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวในดินแดนที่ประเทศไทยได้คืนจากฝรั่งเศสถึงคณะกรรมการจังหวัดลานช้างให้ถือปฏิบัติว่าคนชาติฝรั่งเศส พลเมืองคนในบังคับและคนในอารักขาฝรั่งเศสซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในอาณาเขตที่ประเทศไทยได้คืนมาจากประเทศฝรั่งเศสในขณะที่การโอนอธิปไตยสำเร็จเด็ดขาดลงนั้น ถ้ามิได้เลือกเอาสัญชาติฝรั่งเศสแล้ว ไม่ต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนคนต่างด้าว เพราะมีสัญชาติไทยแต่ถ้าภายในเวลาหนึ่งปีหลังจากการโอนอธิปไตยสำเร็จเด็ดขาดลง บุคคลดังกล่าวได้เลือกสัญชาติฝรั่งเศสโดยปฏิบัติถูกต้องตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 8 แห่งอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส

 

            ดังนั้นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงเป็นบุคคลสัญชาติไทยภายหลังการเกิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยเหนือดินแดนตามอนุสัญญาสันติภาพฯ ดังกล่าว

 

            ประเด็นที่สอง  การกลับคืนสัญชาติเดิมตามดินแดนที่โอนไปของนายสมบูรณ์  ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม พิจารณาพิพากษาว่า ปลายปี         พ.ศ.2484 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 พร้อมด้วยมารดาของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่กิ่งอำเภอเชียงแสนโดยได้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 41 หมู่ 3 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในฐานะบุคคลสัญชาติไทย

              ต่อมาในปี พ.ศ.2489 ได้มีการโอนอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนจังหวัดลานช้างกลับไปเป็นของประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับดินแดนจังหวัดนครจำปาศักดิ์ จังหวัดพิบูลสงคราม และจังหวัดพระตะบอง โดยผลของความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ลงนาม ณ กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2489 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันลงนาม โดยมีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้ความตกลงดังกล่าวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2489 

            ตามหนังสือแลกเปลี่ยนเรื่องสัญชาติและทรัพย์สินของพลเมืองในอาณาเขตที่โอน ต่อท้ายความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ซึ่งกระทำเป็นภาษาฝรั่งเศสภาษาเดียว        และกระทรวงการต่างประเทศได้ตีความไว้ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทยที่ กต 0615/73608  ลงวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ.2524 ว่าหนังสือแลกเปลี่ยนตามความหมายของต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส หมายความว่าผู้มีถิ่นที่อยู่ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยอาศัยอนุสัญญา ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ให้กลับคืนสู่สัญชาติเดิมเมื่อการโอนดินแดนดังกล่าวเสร็จสิ้นลง

 

            คำว่า ถิ่นที่อยู่ ไม่หมายความรวมถึงผู้ที่ได้ย้ายภูมิลำเนาไปแล้วจากดินแดนที่โอนให้ฝรั่งเศส เพราะคำว่า ผู้มีถิ่นที่อยู่  ตามหนังสือแลกเปลี่ยนในวรรคแรกกล่าวไว้ชัดว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ 1 ของความตกลงระงับกรณีระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส พ.ศ.2489 คือผู้มีถิ่นที่อยู่ในดินแดนอินโดจีน 4 จังหวัดเท่านั้น ประกอบกับกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ซึ่งทรงเป็นผู้เจรจาความตกลงดังกล่าว ได้ประทานการตีความไว้ในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ ม.18411/2496 ลงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2496 เรื่องสัญชาติของบุคคลที่อพยพมาจากอาณาเขต 4 จังหวัดที่โอนกลับให้แก่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศสว่า ... ความในข้อ 1 แห่งหนังสือแลกเปลี่ยนก็มิได้บัญญัติว่า บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยอาศัยอำนาจของอนุสัญญาฯ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1941 ให้กลับคืนสู่สัญชาติเดิมแต่หากบัญญัติว่าผู้มีถิ่นฐานซึ่งได้สัญชาติไทยโดยอาศัยอนุสัญญาฯ ลงวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1941 ให้กลับคืนสู่สัญชาติเดิมขณะโอนอาณาเขตไปแล้ว

 

            ทั้งนี้ ย่อมหมายความเฉพาะถึงผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ในพระตะบองขณะที่โอนกลับไปเป็นของฝรั่งเศสไม่กินความถึงผู้ทีอพยพออกไปก่อนโอนกลับแล้ว และความตอนท้ายก็สนับสนุนการตีความข้างต้นว่า ผู้มีถิ่นฐานที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิดหรือที่ได้มาตามกฎหมายย่อมคงสัญชาติไทยไว้ การตีความดังกล่าวจะสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของความตกลงและหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า การเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในดินแดนระหว่างประเทศนั้น มีผลเฉพาะต่อสัญชาติของบุคคลที่อยู่ในดินแดนขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ มากกว่าที่จะตีความตามหนังสือมากกว่าที่จะตีความตามหนังสือแลกเปลี่ยนฉบับคำแปลภาษาไทยที่ใช้ถ้อยคำว่า พลเมือง ซึ่งได้สัญชาติไทยโดยอาศัยอนุสัญญาฯ ฉบับลงวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ.1941 จะได้กลับคืนสู่สัญชาติเดิมของเขาที่เดียวในทันทีที่การโอนอาณาเขตดังกล่าวข้างต้นเสร็จสิ้นลง

 

            ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 จึงไม่ต้องกลับคืนสู่สัญชาติเดิมและยังคงมีสัญชาติไทยเพราะได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่นอกอาณาเขตที่ต้องโอนอำนาจอธิปไตยไปตามข้อตกลงระงับกรณีฯ พ.ศ.2489

 

            ประเด็นที่สาม  การได้สัญชาติไทยของบุตรทั้ง 6 คน ของนายสมบูรณ์  ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม พิจารณาพิพากษาว่า เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 มิได้จดทะเบียนสมรสกันก่อนผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 8 เกิด ผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 8 จึงเป็นบุตรของมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย และไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้สัญชาติไทยตามกฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับขณะเกิด

             ประเด็นที่สี่   คำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ให้เพิกถอนสัญชาติไทยของบุตรทั้ง 6 คนของนายสมบูรณ์  ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิจารณพิพากษาว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 8 มิใช่บุคคลที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเพิกถอนสัญชาติไทยตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2515 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้สั่งการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ถอนสัญชาติไทยของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 8 และนำชื่อไปไว้ในทะเบียนบ้านที่ใช้สำหรับคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามกฎหมายคนเข้าเมือง (ท.ร.13)เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

            คำพิพากษาของศาลปกครองฉบับนี้ได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติของศาลไทยในการให้ความยุติธรรมแก่บุคคลโดยไม่นำความเป็นคนเชื้อชาติต่างประเทศมาจำกัดในการให้ความยุติธรรมอย่างชัดเจน โดยจะเห็นได้จากการที่ศาลปกครองพยายามที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง ที่เกี่ยวข้องกับกรณีของนายสมบูรณ์  ไตรเกษมและพวก เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอย่างสมบูรณ์ที่สุดโดยมีความต้องการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นโดยตั้งอยู่บนความถูกต้อง และเป็นธรรม ซึ่งทัศนคติของศาลในข้อนี้จะเรียกได้ว่าเป็นการไม่เลือกปฏิบัติของศาลก็ว่าได้ กล่าวคือศาลให้ความยุติธรรมแก่บุคคลทุกคนเท่าเทียมกันไม่จำกัดว่าเป็นเชื้อชาติใด

             จากกรณีของนายสมบูรณ์  ไตรเกษมและพวกได้แสดงให้เห็นถึงอุปสรรคในการมีสถานะบุคคลกล่าวคือ แม้นายสมบูรณ์ ไตรเกษมและพวกจะมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายในการมีสัญชาติไทย  แต่เนื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการมีสถานะบุคคลของนายสมบูรณ์ ไตรเกษม และพวกขาดความชัดเจนจึงก่อให้เกิดปัญหาในขั้นตอนของการใช้กฎหมายไม่สามารถใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  นอกจากนี้การที่เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งในกรณีของนายสมบูรณ์และพวก ศาลปกครองเชียงใหม่ได้เยียวยาแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้   ดังนั้นในปัจจุบันนายสมบูรณ์ ไตรเกษม และนางบัว ไตรเกษม จึงมีสถานะเป็นบุคคลสัญชาติไทยภายหลังการเกิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยเหนือดินแดนตามอนุสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศไทยกับฝรั่งเศส ลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2484 ส่วนบุตรทั้ง 6 คน ปัจจุบันมีสถานะเป็นบุคคลสัญชาติไทยโดยการเกิดตามกฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับขณะเกิด
หมายเลขบันทึก: 67300เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท