หาก KM คือทางเลือกในการพัฒนา กรณีนี้ผมควรทำอย่างไร?


เพราะสำคัญ เพราะเป็นการเริ่มต้น...

ผมรับโทรศัพท์จากผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผมและท่านคุ้นเคยและเคยร่วมกันทำงานด้วยกันในช่วงที่ผมยังไม่ลาออกจากราชการ น้ำเสียงของท่าน ผอ.ดูมีพลังและมีความตั้งใจที่ซ่อนอยู่ในบทสนทนาตลอดเวลา จนผมรู้สึกได้ 

ท่าน ผอ. โทรมาคุย ถึงเรื่อง การพัฒนาโรงเรียน พัฒนาบุคลากรในโรงเรียน เน้นไปถึงเรื่องการวิจัยและพัฒนาในระดับครูอาจารย์ในสถานศึกษาของท่าน  

ท่านเล่าว่า ได้ไตร่ตรองมาช่วงหนึ่ง เห็นว่าการพัฒนาโรงเรียนยังไม่คืบหน้า องค์ความรู้ของคุณครูที่คลุกคลีกับเด็ก กับระบบการศึกษา ไม่ได้ถูกเก็บมาเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการพัฒนา  

มีคุณครูกลุ่มหนึ่งที่พร้อมจะขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนา แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหน และจับประเด็นอะไร (หลังจากที่ผมเคยไปขายไอเดียเรื่องการวิจัยเพื่อท้องถิ่น)  ถึงวันนี้ก็ยังเกิดภาพของความไม่เข้าใจ และยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง แต่ก็ได้เห็นถึงประโยชน์ของงานวิจัยและพัฒนา ว่าหากคุณครูได้ทำก็จะเกิดประโยชน์ในการนำไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนาศักยภาพของครูเอง 

ท่าน ผอ.ได้ตั้งคำถามว่า จะทำอย่างไร? ให้เกิดการใช้ความรู้ที่มีอย่างหลากหลายของคุณครูแต่ละท่านให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง 

ท่านขอเชิญผมไปเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลากร ตามบริบทที่ท่านเล่าและคาดหวังมา 

ผมพอจับความคาดหวังของ ท่าน ผอ.ได้ว่าท่าน  คิดเรื่อง “KM” นั่นเอง เพราะวัตถุประสงค์ที่ตั้งมาอย่างนั้น คือ การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาองค์กร  

ผมดีใจครับ 

พอถึงเรื่อง KM ก็ดูเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผมทันที เพราะเข้าใจว่าเป็นการเคลื่อนระดับองค์กร และการเคลื่อนในทุกมิติของผู้เกี่ยวข้อง ในการจัดการความรู้ ดังนั้นแล้ว กระบวนการที่จะร่วมกันคิดในการพัฒนาตั้งแต่เริ่มแรก ต้องคิดกันให้มาก ไม่ได้แค่ไปพูดคุยกันแล้วจบ แล้วทำ และเสร็จ (ตามกรอบเวลา)เหมือนที่เคยเห็นมา 

เพราะปัจจัยเอื้อที่ดีที่สุดตรงนี้ คือ ผู้บริหารเอาด้วย ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ ...แต่กำลังหาวิธีการขับเคลื่อนการพัฒนาความรู้ ผมรับปากเรื่องการเข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนเพื่อการย่างก้าวสำคัญในครั้งนี้ (ผมกล้าพูดได้ว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนแห่งแรกในแม่ฮ่องสอน ที่คิดแบบนี้) 

เพราะสำคัญ...มากในการเริ่มต้น ในขณะที่ผมต้องขอกลับนำประเด็นที่คุยเป็นการบ้าน เพื่อวางแผนการดำเนินการในครั้งนี้  ด้วยความที่ไม่ค่อยมั่นใจนัก แต่โชคดีที่มีกัลยาณมิตร ท่านผู้รู้ ใน สคส. ใน Gotoknow ที่หลากหลายและมีประสบการณ์ ผมจึงขอนำประเด็นนี้มาเขียนเพื่อขอความเห็นในการแลกเปลี่ยน และออกแบบกระบวนการ ชี้ให้เห็นภาพรวมของงาน ก่อนที่ผมและผู้อำนวยการ รร. คุณครู จะประชุมกันเพื่อร่วมกันคิดในระดับโรงเรียนต่อไป 

เพราะสำคัญ เพราะเป็นจุดเริ่มต้น...

ขอทุกท่านกรุณาช่วยแชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยน  กระบวนการที่จะเกิดขึ้นต่อไปด้วยครับ..

 ผมขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
หมายเลขบันทึก: 67207เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (51)
  • คงเป็นไปได้สวยแน่นอนครับงานนี้ เพราะท่าน ผอ.รร. ลงมาเล่นเอง top down
  • อีกประการก็ยังมีทีมที่จะร่วมบุกเบิก เอาด้วย (KM Team) แล้ว
  • สำหรับผมแล้วคิดว่า ผู้กำกับ ตัวละคร ก็มีพร้อมแล้ว เหลือเพียงตั้งชื่อหนังให้มันชัดๆ และเขียนบทละครอีกซักหน่อยครับ ท่านพี่จตุพร

 คุณ  Kamphanat Archa (Jack)

ผมได้ข้อมูลจากการคุยกัน แต่ส่วนตัวผมทราบบริบทบางอย่างของโรงเรียนนี้บ้าง...

คิดว่าไม่ยากนัก หากจะทำกระบวนการเรียนรู้ ครับ

ต้องขอรบกวนแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนบ่อยๆนะครับ

ขอบคุณมากครับ

  • สวัสดีครับท่านอาจารย์จตุพร
  • สำหรับประเด็นนี้ผมขออนุญาตให้ความคิดเห็นแบบตรง ๆ เลยนะครับ อาจจะดูผ่าคอกไปหน่อยนะครับ
  • บอกตรง ๆ เลยครับว่า เรื่องอย่างนี้ถามผมไม่ได้ครับ อาจารย์จตุพรไปถามใครต่อใครก็ไม่ได้ เพราะผมไม่ใช่เป็นคนทำ คนตอบในนี้ก็ไม่ใช่เป็นคนทำ อาจารย์ต้องไปทำคนทำครับว่า เขาอยากจะทำอย่างไร สร้างภาพ สร้างจุดประสงค์ร่วมกัน "ก้าวแรกต้องก้าวด้วยกันครับ"
  • เหมือนกับอาจารย์ทำ PAR ถ้าเราคิดอะไรไปก่อนก็จบครับ เหนื่อยมากกว่าที่จะให้เขาทำอะไรได้สักอย่าง
  • คนทำต้องเป็นคนคิด ถ้าเขาคิดเอง เขาก็จะทำเอง อาจารย์จะต้องเป็นคุณอำนวย (แท้ ๆ) ไม่สอน ไม่พูด ไม่บรรยาย เพียงแต่จัดกระบวนการอย่างเดียวครับ กระตุ้นให้เขาทำ (เรื่องนี้หนักครับ พูดให้ฟังไม่อยากครับ แต่พูดให้ทำยากกว่าครับ)  ต้องให้ใจเขาเต็มที่ ให้เวลาอย่างเต็มที่
  • ปกติคนไทยถ้าเราไปพูด หรือแม้แต่กระทั่งเจ้านายพูด "ให้ไปซ้าย เขาก็จะไปขวา"
  • สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากเลยครับ ผมจึงขออนุญาตเรียนตอบตามตรง ซึ่งอาจจะแรงหรือตรงไปสักหน่อยต้องขออภัยนะครับ
  • มีต่อ.....
  • จุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดครับอาจารย์
  • วันนี้อาจารย์เดินเข้าไปภายใต้ภาพของ ผอ. เราก็ไม่รู้ว่าข้างในลึก ๆ เขาเป็นอย่างไรกัน
  • สิ่งที่จำเป็นต้องทำมากที่สุดลำดับแรกก็คือ ต้องรีบเปิดตัวเรื่องนี้ในที่สาธารณะ "อย่างไม่เป็นทางการ" แบบสบาย ๆ ครับ ไม่ต้องนัดประชุมอบรมอะไรกัน เดี๋ยวจะทำให้คนข้างในรู้สึกว่าอาจารย์จะไปเพิ่มงานอะไรให้กับเขา
  • "การบริหารความรู้สึก" เป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนมากครับ ผมเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ
  • ถ้าเราเข้าไปแล้วเขาตั้งป้อมกับเรา ก็เหนื่อยหนักครับ แล้วเขาก็จะเกิดอคติกับทั้งเราและ KM ไปเลยครับ
  • ถ้าเราเข้าไปแล้วทำให้เขารู้สึกว่า "งานเขาจะง่ายขึ้น" "สบายขึ้น" เขาเอากับเราแน่ ๆ ครับ
  • ตอนนี้เป็นโอกาสอันนี้ครับที่หัวเรือเอากับเราด้วยแล้ว แต่หัวเรือมีคนเดียวครับ ลูกน้องหรือคนนั่งทั้งลำเรือจะเอากับเราด้วยหรือเปล่า ถ้าทำให้เขาเอากับเราได้ "สบายครับ"
  • ที่สำคัญก็คือ "ทำแบบสบาย ๆ ไม่ให้เป็นทางการมากนักครับ"
  • เน้นงานประจำ งานสอนที่ง่ายขึ้น หรือถ้าทำแล้วจะทำให้เรื่องประกันคุณภาพที่เขาวุ่นวายมาก ๆ ในโรงเรียนนั้นดีขึ้น เริ่มจากจุดนี้ ถ้าเขาเห็นดี ลูกน้องงานสบาย หัวหน้ามีคะแนน KPI ดีขึ้น ก็มีแววครับ อันนี้เป็นตัวลอกล่อเฉย ๆ นะครับ ก็คือเห็นชัดและวัดได้ไวหน่อย
  • พอเห็นสิ่งใดที่มีรูปธรรมจับต้องได้ งานต่อไป การพัฒนาองค์กรแบบองค์รวม การทำ KM หรือ Learning Organization ก็จะสบายคล่องปรื๋อครับ
  • แล้วสุดท้ายประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่เด็กนักเรียนทั้งโรงเรียน รวมถึงผู้ปกครองและทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนครับ
  • ประเด็นสุดท้าย
  • สิ่งที่ผมบอกหรือเล่าให้อาจารย์ฟัง อาจารย์อย่าเพิ่งเชื่อนะครับ
  • ถ้าอาจารย์ลองไปทำดูแล้วดี ค่อยเชื่อครับ
  • แต่อาจารย์ไม่ได้เชื่อผมนะครับ อาจารย์จะเชื่อตัวของอาจารย์เอง
  • เป็นกำลังใจให้เสมอครับ

เรียนอาจารย์ปภังกร

ขอเป็นการ Compile ข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ก่อนครับ 

คงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องทำเองครับ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้มีประสบการณ์ก่อน

ผมเข้าใจว่า กระบวนการ เป็นแบบนั้นแน่นอนคือ การช่วยกันคิด ช่วยกันมอง และเลือกเส้นทางที่ว่าใช่ และการถอดบทเรียน(Lesson-learned)ของที่อื่นๆที่ผ่านมา หรือที่เป็น Best Practice ที่สามารถเป็นแบบอย่างได้ นอกจากที่ผมจะอ่านงานของท่านอื่นๆ การขอความเห็นในแวดวงคนทำงาน ก็เป็นกระทำที่ชอบใช่มั้ยครับ

ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นข้อมูลสำคัญที่เราจะนำมาคิดต่อ 

หากบทบาทผมจะเป็นผู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ผมควรจะเก็บข้อมูล และสังเคราะห์ความรู้ชุดหนึ่งไว้ก่อนไม่ใช่หรือ เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ผมมองในภาพรวม  ให้เด่นชัดมากขึ้น

ซึ่งในกระบวนการจริงๆแล้ว ตามที่อาจารย์ปภังกรเขียนมาครับ ผมยังไม่ได้คิดไปถึงจุดนั้นครับ

ที่สุดแล้วคนอยู่กับองค์กรก็คือคนในองค์กรนั่นเองครับ

ผมเข้าใจและตระหนักอยู่เสมอ

ขอบคุณครับ

  • ครับท่านอาจารย์จตุพร
  • สิ่งที่อาจารย์ทำดีและถูกต้องแล้วครับ
  • พอดีสไตล์ผมเป็นแบบลูกทุ่ง ๆ น่ะครับ คือผมจะบอกกับชุมชนทุกชุมชนที่เขาไปว่า "ผมเข้ามาเพื่อช่วยทำงาน ผมจะไม่เอาอะไรเลย แม้แต่ข้อมูลองค์กรแม้แต่เพียงตัวอักษรเดียวครับ" ผมก็เลยไม่เน้นเรื่องเก็บข้อมูลเท่าไหร่ครับ อาจารย์จะสังเกตได้ว่า เวลาผมไปไหนมาข้อมูลแบบละเอียด ๆ ผมจะไม่มีครับ เพราะผมจะใช้แนวคิดนี้เสมอครับ
  • ผมจะเก็บแต่รอยเท้าและย่างก้าวที่เดินไปครับ ช่วยเขาเก็บ ช่วยเขาสังเคราะห์ครับ แต่จะไม่เก็บออกมาจากชุมชนเลยครับ
  • สไตล์ผมอาจจะแปลกประหลาดไปหน่อยครับ
  • ขอให้อาจารย์ทำงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงสมตามปรารถนานะครับ อาจารย์และทุก ๆ ฝ่ายจะได้รับประโยชน์และความสุขอย่างมากเลยครับ
  • สู้ ๆ ครับ

เป็นโอกาสดีมากครับที่ KM จะเข้าไปมีบทบาทในโรงเรียน

อ่านบันทึกของคุณจตุพร ทำให้ผมนึกถึงการบรรยายของ ทพ.อุทัยวรรณ กาญจนกามล นักวิชาการตีนติดดินอีกท่าของเชียงใหม่ที่ผมเคยไปฟังบรรยายเมื่อเดือนที่ผ่านมา

หมออุทัยวรรณว่า "ทีมนวัตกรสังคม" นั้น ต้องประกอบไปด้วยคนสี่กลุ่ม (FAME)

F- facillitator หรือคุณเอื้ออำนวย

A- advocates หรือคนก่อกระแส/จุดประกาย

M- mediator หรือผู้ประสานงาน

E-empoweror หรือผู้เสริมสร้างพลัง

ถ้ามีครบองค์สี่นี้แล้วก็เดิน KMได้ครับ 

ทั้งสี่องค์นี้อาจจะรวมอยู่ในคนๆเดียวก็ได้ แต่ไม่แนะนำเพราะจะเป็นวันแมนโชว์....เหนื่อยมากๆๆๆๆและอาจจะได้คำด่ามาเป็นของแถม

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับหมออุทัยวรรณโดยเฉพาะในประเด็น คนก่อกระแส/จุดประกายนี่ ต้องมี "ลีลา" "ลูกเล่น" หรือ "ชั้นเชิง" ที่เข้า "ถึงอกถึงใจ"กลุ่มเป้าหมาย

การก่อกระแสนี่สำคัญครับ เพราะเป็นบันไดขั้นแรก ลำพัง ผมไม่เชื่อในฝีมือของผู้บริหารเพียงคนเดียว ที่มีข้อจำกัดมากมาย อย่างนี้ต้องเป็นทีมลูกผสม เป็นสหวิชาชีพรวมกับบรรดานักคิดอิสระได้ยิ่งดี และเป็น คนที่มีความคิด "พันธุ์ทาง" ด้วยนะครับ 

จะก่อกระแสอย่างมี "ชั้นเชิง" ได้อย่างไร อันนี้ต้องใช้การจัดเวทีมานั่งคุยกันจริงๆจังๆ

ผู้บริหารท่านนี้(รวมถึงท่านอื่นๆ) ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าเอาจริง มิใช่อะไรๆก็ KM KM ตามแฟชั่น พอเห็น MK ก็ลืม

ที่สำคัญ ต้องการหาญ กล้ายืนหยัดในความถูกต้อง และกล้าเจ็บด้วย มิฉะนั้น จตุพรเองล่ะครับจะเป็นฝ่าย "ถูกต้ม" (จนเปื่อย)

ทั้งนี้ตลอดกระบวนการต้องไม่ลืม "สุนทรียสนทนา" ด้วยนะครับ

ลองกลับไปถามท่าน ผอออ ดูนะครับว่า ด้วยเงื่อนไขของ KM มันง่ายอย่างนี้ แต่ถ้าสำเร็จมันก็คุ้ม ท่านจะ KM กันไหม???

หรือพากันไป MK ง่ายกว่า (555)

ถ้ามีอะไรให้ ทางผมและทีมสโมสรผู้นำเยาวชนปางมะผ้า (สยชช.) ช่วย ก็บอกมา สำหรับคุณจตุพรแล้ว พวกเราเต็มใจครับ

 

ขอบคุณพี่ยอด  (ยอดดอย)มาก

ผมพอเห็นทางที่ชัดขึ้น ผมคุยกับเพื่อนนักพัฒนาด้านเด็กที่เชียงใหม่ และเธออยากรู้จักกับ สยชช. สักวันผมจะแนะนำให้รู้จักกันครับ

สยชช. ได้ร่วมด้วยช่วยกันแน่ๆครับ

เพราะโรงเรียนที่ผมบอกอยู่ห่างจากบ้านน้องออมสิน ประมาณ ๒ กิโลเองครับ

ลองดูนะครับ  เอาเป็นว่าตรงไหนโดนใจก็เอาไปปรับอีกทีนะครับ   ตรงไหนยังไม่ค่อยเข้าท่าก็ลืมๆมันไปก่อนนะครับ

ประการแรกสุด  อ่านจากบันทึก    คุณเอื้อ (ผอ.โรงเรียนท่านนั้น) เป็นคนชี้เป้า กับคุณจตุพร ประมาณว่า  เขาต้องการพัฒนาคน (หมายถึงนักเรียนและครู - ครูที่ดีต้องไม่ทิ้งนักเรียนนะครับ  ไม่เฉพาะครูอย่างเดียว จะทำการใดต้องมองให้เห็นว่าจะเชื่อมโยงกับลูกศิษย์อย่างไรบ้าง)  พัฒนาโรงเรียน  

กระบวนการคลี่โจทย์ เป็นสิ่งแรกที่ต้องคุยกันก่อน   คุณจตุพรอย่าพยายามคลี่มันนะครับ    ต้องทำทุกวิถีทางให้เจ้าของเขาคลี่โจทย์ด้วยตัวเขาเอง    ยิ่งมีครูอาจารย์ในโรงเรียนมาช่วยกันทำความเข้าใจโจทย์ของเขาเอง  ก็จะยิ่งดีครับ          "พัฒนาคน  พัฒนาโรงเรียน"  สำหรับผมแล้วโจทย์ยังใหญ่และกว้างมากสำหรับ การออกแบบ exercise ให้เขาเรียนรู้ การจัดการความรู้ด้วยตัวเขาเอง  

ผมยกตัวอย่างโจทย์ที่กลุ่มโรงเรียนเคยใช้กันนะครับ  เช่น    พัฒนาการออกแบบการเรียน-การสอน, ค้นหาและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน, อย่างนี้เป็นต้น

ทำไมหัวปลาต้องชัดเจน?

หากเป้าไม่ชัด  เวลาเราออกแบบกิจกรรมมันจะยาก  และมันจะไปคนละทิศ คนละทาง

แต่ต้องอธิบายครูอาจารย์ก่อนนะครับ   ว่าเราจะเรียนรู้จาก exercise เล็กๆ     พอได้ feeling KM แค่นั้นเอง    ซึ่งต่อไปเขาต้องเอาไปทำเอง   และทำบ่อยๆ สม่ำเสมอ ต่อเนื่อง  บนงานประจำวันที่โรงเรียน  แล้วมันจึงจะเห็นผล

เห็นด้วยค่ะ ว่าการพัฒนาต้องเริ่มที่บุคลากรในสถานศึกษา 

ส่วนเนื้อหาในการพัฒนาให้กับบุคลากรทางการศึกษาที่จะส่งต่อให้กับเด็กๆ นั่น  โดยส่วนตัวเห็นว่า การสร้างกระบวนการทางความคิดให้เด็กมีศักยภาพในการคิดที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ  มีความสำคัญมากกว่าความรู้ทางด้านวิชาการค่ะ 

พัฒนาคน พัฒนาโรงเรียนอาจจะเป็นเป้าใหญ่  ที่ประกอบด้วยเป้าเล็กๆอีกหลายเรื่อง

สมมติว่าครูอาจารย์เขาเลือกโจทย์จากเป้าเล็กมาตัวหนึ่ง   ผมสมมติว่าเป็นการพัฒนาการเรียน-การสอน  

ทีนี้ต้องให้เจ้าของเรื่องช่วยกันสำรวจ  สแกนหา "ครูที่ออกแบบการเรียน-การสอนได้ดี" ที่มีอยู่แล้ว (เข้าใจว่าการเรียน-การสอนเอง  ก็ยังมีองค์ประกอบเล็กๆอีกหลายตัว    ดังนั้น ครูหนึ่งคน  อาจจะทำได้ดีเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ก็ OK แล้ว      รวบรวมมาให้หลากหลาย    ไม่จำเป็นว่าต้องมองอยู่ในโรงเรียนเดียว     ดูข้ามไปถึงโรงเรียนอื่นๆด้วย   ช่วยกันชี้ตัว   แล้วเชิญเขามาให้ได้   

คำเตือนสำหรับครูอาจารย์  ที่คุณจตุพรอาจจะต้องขอยกเว้นคือ   การเรียน-การสอนที่ดี  นั้น  เวลาสแกนมองหา best/good practise นั้น   อย่ายึดตามคำบอกเล่าตามตำรา    แต่ให้มองทะลุไปถึงผลที่เกิดขึ้นกับศิษย์เป็นสำคัญ

 

 

อาทิตย์หน้า คุณเอก อยู่ที่ปาย หรือเปล่าค่ะ 

ฝากเสื้อหนาวเพื่อนขึ้นไปให้ผู้เฒ่าที่ปายค่ะ  

เมื่อได้ตัว "คุณกิจ" แนวหน้า  มากลุ่มหนึ่ง  ทีนี้ก็ลอง design เวที ลปรร.     ทำอย่างไร  หรือวิธีการใดก็ได้   จะเป็นทาง  หรือไม่เป็นทางการ หรือลูกผสมก็ได้ทั้งนั้น แล้วแต่ว่าสภาพการณ์เฉพาะของที่นั่น  เหมาะกับแบบไหน  ตรงนี้ต้องให้เจ้าของเขาช่วยกันคิดด้วย

แค่ขั้นเตรียมการนี้    ก็เป็นการเรียนรู้จัดการความรู้ไปบ้างแล้ว   ซึ่งถ้าออกแบบดีๆ  ตกผลึกอะไรดีๆออกมาได้ก่อนบ้างแล้วในช่วงเตรียมการนี้

 

 

ในเวที ลปรร.  จากประสบการณ์ของ สคส.  เราพบว่าเครื่องมือตัวหนึ่งที่ได้ง่าย  และได้ผลดีเสมอ  คือ "การเล่าเรื่องความสำเร็จ"     ให้คุณกิจ แนวหน้า  ได้เล่าว่าความสำเร็จจากสิ่งที่เขาทำคืออะไร  ลูกศิษย์ได้อะไร    และเขาทำมันอย่างไร? (how-to)    ในระหว่างที่ทำพบปัญหาอะไรบ้าง  ข้ามผ่านมาได้อย่างไร  ประมาณนี้เป็นต้น

หา "คุณกิจ"  ช่วยบันทึก (แล้วแต่จะเลือกวิธีบันทึก - เขียนเรื่องเล่า, จับประเด็น,  ถ่ายวิดีโอ, บันทึกเสียง เป็นต้น)   และอย่าลืมชวนครูอาจารย์ช่วยกันออกแบบวิธีการบริหาร "ขุมความรู้" เหล่านี้ด้วย  ว่าวิธีใดที่เขาคิดว่าน่าจะเหมาะสมกับเขามากที่สุด   เข้าถึงง่าย   เอามาใช้แล้วได้แรงบันดาลใจดี  ทำให้ครูมีพลังขึ้น  เป็นต้น

 

ทุกคนที่เข้าร่วมควรได้มีบทบาทในการซักถาม  โดยเฉพาะไอ้ตัว how-to    

คุณจตุพรลองใช้หลัก deep listening เป็นเงื่อนไขในวงสนทนา   

และทำ AAR: After Action Review ทุกครั้ง ทุกเวที  ก็จะช่วยให้การตกผลึกความคิดดีขึ้นด้วยครับ

ที่จริงมีอีกคนที่จับเรื่องโรงเรียนเยอะกว่าผม   คุณหญิง (นภินทร ศิริไทย) เข้าใจว่าเคยคุยกับคุณจตุพรไปบ้างแล้ว   ลองเข้าไปคุยที่ http://learn2fly.gotoknow.org 

น่าจะได้ไอเดียที่เอาไปลองใช้ได้ดีกว่าจากผมนะครับ

 

ผมอ่านแบบคิดตามโดยละเอียดตาม ที่ อาจารย์ธวัช ได้ให้ข้อแลกเปลี่ยนเข้ามา...

รู้สึกดีใจและได้เห็นบางแง่มุมที่ผมเองยังนึกไม่ถึง ดังนั้นแล้วการที่ผมได้เรียนรู้และเห็นภาพใหญ่ในส่วนของตัวกระบวนการทำให้ผมเข้าไปแลกเปลี่ยนกับ ท่าน ผอ.และทีมงานได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม บริบท และวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ และสำคัญยิ่งกว่าคือทัศนะ ความคิดและความเชื่อของคุณเอื้อ/ ผู้บริหาร

ผมขอขอบคุณอาจารย์มากครับ...อบอุ่น มั่นใจมากครับ

ยังมีอีกหลายๆประเด็นในการก้าวเดินของพวกเรา และต้องขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์ และทีมงานของ สคส.ในครั้งต่อๆไป

 

พี่ visitsri

ขอบคุณที่มาช่วยเติมความคิดเห็น ในระดมความคิดการพัฒนาครั้งนี้ ผมเห็นว่าความเห็นและข้อแลกเปลี่ยนทุกท่านมีคุณค่ามากครับ

สัปดาห์หน้า หากพี่หมายถึงวันที่ ๑๘ - ๒๔ ธ.ค. ผมยังอยู่ที่เมืองปายครับ หากเพื่อนที่มาเที่ยวปาย คงต้องรบกวนให้โทรศัพท์แจ้งผมในตอนที่มาถึงเมือง ปายครับ

ขอบคุณอีกครั้งสำหรับการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนในช่วงหนาวนี้ครับ

ผมว่าต้องพยายามบอกทุกคน ว่า KM ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำมาเป็นล้านๆปีมาแล้ว เพียงแต่เรามาจัดระเบียบเพิ่มนิดหน่อย ให้ดูดีกว่าเดิม

ขันน็อตที่หลวมให้ดีขึ้น ก็เท่านั้นเองครับ

ผมเห็นด้วยกับทุกความคิดเห็นข้างบนครับ
  • งานนี้ผอ. ควรเป็นผู้แก้โจทย์ของตัวเองครับ
  • เมื่อ ผอ. อยากทำ และเป็นสิ่งที่ดี เราก็เพียงแค่สนับสนุนให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
  • เริ่มแรก คือการขายความคิดครับ ความคิดนี้ต้องถูกขยายความออกไปในวงกว้างครับ เพื่อสกรีนคนที่เห็นด้วย และอยากทำออกมารวมกลุ่มกันก่อนครับ
  • แล้วก็เสริมแรงใจ สร้างกำลังใจ ให้เห็นว่าเรื่องที่ทำเป็นสิ่งที่น่าทำ และสนุกที่จะทำ
  • โจทย์เรื่องนี้ต้องชัดครับ จะจับประเด็นไหนก่อน จะเอางานวิจัย การเรียนการสอน จริยธรรม.....เอากันทีละเรื่องครับ
  • วิธีการของคุณธวัช เป็นสิ่งที่ดีงามครับ และอธิบายแนวทางชัดเจนแล้วครับ
  • มองหาคนที่มีความสามารถในด้านนั้น แล้วขอเชิญมาช่วยอธิบาย ว่าเขาทำได้อย่างไร อะไรเป็นแรงผลักดันให้เขาเริ่มต้น จากจุดเริ่มต้นเขาต้องทำอะไรบ้าง ก้าวเดินมาอย่างไร มีอุปสรรคอะไรมั้ย แก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างไร ..........จนกระทั่งวันนี้ วันที่เขาประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นที่ชื่นชม และนำเอาประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาแลกเปลี่ยนกัน
  • การจัดเวที นำคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ ที่โรงเรียนต้องการผลักดัน เป็นเรื่องที่สมควรทำครับอย่างยิ่งครับ เพราะเป็นการสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจให้กับคนพูด และสร้างกำลังใจ และบอกวิธีการทำให้กับคนฟัง
  • หลังจากนั้นโรงเรียนต้องสนับสนุน ให้บุคลากรต่างๆได้พัฒนาตัวเองครับ ไม่ว่าจะทำในเชิงเดี่ยวหรือรวมกลุ่มกันก็ตาม
  • ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม จะมีคนคอยโต้แย้งเสมอ ให้ผู้รับผิดชอบ รับฟังเสมอครับ และยึดเป้าหมายของงานเป็นสำคัญ
  • สิ่งสำคัญที่สุด คือ การแปลงความคิดในเรื่องต่างๆ ออกมาเป็นรูปธรรมให้ได้ครับ โดยเน้นที่การให้ความสำคัญต่อคนเป็นหลัก ผลสำเร็จของงานก็จะตามมา
  • ไม่ต้องไปสนใจคำว่า KM ครับ ทฤษฎีไม่ได้มีความสำคัญเท่าการปฏิบัติครับ ให้เริ่มต้นจากการทำ ทำ .....แล้วก็ทำครับ
  • กลับมาได้หลายวันแล้วครับ แต่งานประจำยุ่งมากครับ เสาร์อาทิตย์นี้จะได้จัดการเรื่องของฝากมิตรรักแฟนเพลงทั้งหลายเสียทีครับ
  • คิดถึงคุณเอกเสมอครับ คอยเป็นกำลังใจให้

อาจารย์ ดร.แสวง ครับ

พอบอกว่า "KM" ผมก็คิดว่าทุกคนก็คงมึนๆเพราะเข้าใจไปคนละแบบ และเกิดความไม่มั่นใจขึ้นมาทันที

สิ่งแรกที่ควรทำความเข้าใจคงเป็นอย่างที่ อาจารย์ให้ข้อคิดเห็นมา

ขันน๊อตที่หลวมให้ดีขึ้น ใช่แล้วครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

พี่ Mitochondria

หลังจากพี่กลับมาจากญี่ปุ่น ผมก็เห็นภารกิจที่ยุ่งๆของพี่เลยคิดว่ายังไม่ติดต่อในช่วงนี้ครับ  ทั้งหมดทั้งมวลเป็นเรื่องของมิตรภาพ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อนะครับ วันที่กลับมาจากญี่ปุ่นคนไทยเราก็ทราบทั่วเหนือจรดใต้

ในข้อแลกเปลี่ยนของพี่ไมโตผมได้ความมั่นใจ และแนวทางที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นครับ และหากเสริมจากอาจารย์ธวัชแล้วคล้ายคลึงกัน

ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการเริ่มต้นจากคนในองค์กร เปิดประเด็นและเริ่มต้นเคลื่อน จากประเด็นที่ไม่ใหญ่เกินไป เป็นประเด็นที่ถนัดและอาจทำได้ดีอยู่แล้ว ที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างบรรยากาศเรียนรู้

พอดีที่ต้องสนใจคำว่า KM เพราะผมดูภาพรวมครับ แต่ในการเข้าไปแลกเปลี่ยนในเวทีของโรงเรียนคงไม่ได้ใช้คำนี้ตรงๆครับ

  • เข้ามาอ่านบันทึกนี้อีกครั้งครับ ผมชอบมากบันทึกที่มีผู้มาให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง
  • แต่ถ้าเป็นไปได้ อาจารย์จตุพร น่าจะมีบันทึกสรุป KEY จากข้อคิดเห็นของบันทึกนี้อีกทีนะครับ หาก KM คือทางเลือกในการพัฒนา กรณีนี้ผมควรทำอย่างไร?

คุณ  Kamphanat Archa (Jack)

ผมก็กำลังคิดว่า จะสรุปเขียนเป็นบทความ ครับ เห็นว่ามีคุณค่ามาก

ทุกประเด็น ทุกข้อความ และคิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับ คน KM ใน Gotoknow และผู้สนใจเรียนรู้ด้วย

ต้องขอบคุณมากเลยครับ สำหรับปิยมิตรเรียนรู้ร่วมกัน

   "แนวทางปฏิบัติอันดีเลิศ  จะไม่ก่อให้เกิดผล  หากไม่เข้าถึงใจคน ต้องร้อนรนเพราะจนใจ"  บทกลอนสั้นๆ สอนใจนักวิจัยเชิงคุณภาพที่ต้องใช้วิธีการเข้าถึงแบบเชิงลึก  "ความสำเร็จจะเกิดผล  หากได้เข้าถึงใจคน  จะสุขล้นเพราะทุกคนร่วมกันทำ" กลอนอมยิ้มจากกระผมเอง

   จากหัวข้อที่พี่จตุพร  ตั้งมาทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า  อาจารย์ของผม คือ อ.บุพผา  คาดว่าพี่น่าจะรู้จัก  ได้ไปทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาความรู้ทางด้านการวิจัยกับโรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแต่ผมจำไม่ได้ว่าโรงเรียนอะไร  เดี๋ยวจะไปหาข้อมูลมาให้ครับ  รู้สึกว่าจะเป็นโครงการใหญ่เหมือนกันเพราะมีการนำเอาองค์ความรู้มาเผยแพร่  มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้โดย อ.นพ.วิจารณ์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้วย ที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์  ผมมีเอกสารด้วยแต่วันนี้ไม่ได้เอามาด้วย  เดี๋ยวจะกลับไปดูให้อีกที  บางทีอาจจะเกิดประโยชน์ต่อสิ่งที่พี่กำลังจะทำนี่ก็ได้

     แต่เท่าที่ทราบ  พบว่า  ยังคงมีปัญหาอยู่ในเรื่องของกระบวนการทำวิจัยของครู คือ ประมาณว่าครูยังทำวิจัยไม่เป็น  ทำให้ผลที่ได้จากการวิจัยนำปใช้กับกลุ่มอื่นๆ ไม่ได้  แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่นครับ 

     เดี๋ยวจะไปหาข้อมูลมาเติมเต็มอีกทีครับ 

น้องปริวัตร

เชื่อมั้ยว่า โรงเรียนที่ อ.บุปผา ได้ไปทำงานวิจัย คือ โรงเรียนที่ผมเขียนในบันทึกนี่เอง(บังเอิญมั้ยครับ)

และปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนนี้คือ ครูยังไม่มั่นใจ และยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร แต่โดยบริบทแล้วที่ผมเห็นเป็นโรงเรียนที่มีงานนวัตกรรมที่ดีเด่นมาก

ผมประทับใจในการเป็นนักการศึกษามืออาชีพที่โรงเรียนนี้ครับ

  • มาให้กำลังใจ
  • มีอะไรพอช่วยเหลือได้บอกนะครับ
  • ถ้าผู้บริหารลงมาทำงานด้วยจะทำงานง่ายมากแต่อย่าให้ผู้บริหารบังคับครู ต้องใช้หลายๆเทคนิค การทำงานกับบุคลากรทางการศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนครับน้องเอก
  • ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณอาจารย์ ดร.ขจิตครับ

ผมขอบคุณจิตสาธารณะของอาจารย์เสมอมา และผมเองก็ได้รับการติดต่อจากนักพัฒนาหลากหลายให้เข้าไปร่วม ทั้งๆผมเองก็ชอบคิดอะไรไม่ค่อยออก ต้องเรียนรู้แบบโอเวอร์โหลดตลอดเวลา

ผมตระหนักเรื่องทำงานกับครู แต่หากเริ่มได้ดี ผมว่าเดินไปได้เร็วมากครับ

มีคนบอกว่าทำงานกับ พระ และ ครู นี่ยาก หากทำงานกับพระครู ยิ่งยากเข้าไปใหญ่...ถ้าจะจริง!!!

ขอแก้ไข นิดหนึ่งครับ  (มือเร็วไปหน่อย ต้องขอโทษด้วยครับ)

หาคุณลิขิต  มาช่วยบันทึก (ซึ่งจริงๆอาจจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถทำได้  คุณกิจ คุณอำนวย หรือคุณเอื้อจะลงมาช่วยก็ยิ่งดี)

แล้วอย่าลืม  เล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่ดำเนินไปให้ชาว gotoknow ได้ติดตามด้วยนะครับ  จะขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ

อยากไปเที่ยว home-stay แถวนั้นจัง   แต่พอมีลูกเล็กๆ เลยหาโอกาสยากหน่อย   เอาไว้ลูกโตกว่านี้หน่อยอาจจะขอคำแนะนำจากคุณจตุพรด้วยนะครับ

 

เรียนอาจารย์ธวัช ครับ

เห็นอาจารย์ตั้งใจในการให้ข้อคิดเห็นสำหรับบันทึกนี้ ผมมีกำลังใจขึ้นมากเลย

ไม่ลืมเล่าครับ...ผมถือว่าเป็นการเรียนรู้ อาจจะเรื่องเดียวกันแต่ต่างบริบท KM แบบภูธร แม่ฮ่องสอน น่าจะมีอะไรดีๆให้ได้ติดตามกันเรื่อยๆ

สำหรับการเที่ยวที่เหนือ สำหรับภาคเหนือตอนบน อาจารย์สามารถติดต่อผมได้เลยครับ เพราะเรามีเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน Home stay แบบเรียนรู้ และมีความสุขกับบรรยากาศสวยๆอากาศดีๆ(ตามบันทึกของผมที่เคยเขียนมา)

ที่แม่ฮ่องสอนเอง มีสถานที่สวยๆ และน้ำใจงามๆของคนท้องถิ่น มีให้สัมผัสหลากหลาย

ยินดีครับ หากอาจารย์จะมาเยี่ยมพวกเราบ้าง

คุณศศิธร และ น้องแขกคงบอกเล่าบรรยากาศให้อาจารย์บ้างแล้ว และอีกท่านหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะชอบบรรยากาศที่นี่ คือ ดร.ประพนธ์ ครับ

  ถ้าอย่างงั้น  ก็ต้องสู้กันต่อไปครับ  ต่อยอดตามวัฒนธรรมและบริบทของสังคม  สอดคล้องกับความต้องการ  ทำแบบไม่รู้ดีกว่ารู้แล้วไม่ทำครับ  สู้ๆ คนสู้ชีวิต

โอ้โห...ขอเก็บเกี่ยวด้วยนะคะ ^__^

ขอบคุณน้องเก่งอีกครั้งครับ...อาจจะต้องขอรบกวนน้องเก่งขอข้อมูลในบางส่วน นะครับ

พี่หนิงครับ

บันทึกนี้สมบูรณ์และมีคุณค่ามากครับ ผมกำลังจะเรียบเรียงออกมาใหม่ อย่างที่คุณกัมปนาทแนะนำมาครับผม

ขอขอบพระคุณผู้ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกท่านครับ หากมีประเด็นไหนที่จะเพิ่มเติม ยินดีนะครับ

 

เป็นไปได้ไหม ที่เด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้จะมาร่วมในกระบวนการ KM?

 ในกรณีของคุณจตุพรนี่ ผมว่า KM กับสิทธิเด็ก โดยเฉพาะสิทธิในการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มันไปด้วยกันได้ ก็บูรณาการกันซะเลย ถ้าโรงเรียนเอาด้วย (ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะครับ)ก็ต้องมาว่ากันเรื่อง จะออกแบบ KM แบบมีส่วนร่วมระหว่างครูกับนักเรียนนี้อย่างไร ?

โดยเฉพาะในบริบทสังคมไทย ที่โครงสร้างการจัดการศึกษาก็ดี โครงสร้างวัฒนธรรมก็ดี ล้วนเอื้ออำนวยให้ครู "อำนาจนิยม" กับเด็กอยู่เสมอ?

นี่ผมโยนโจทย์ใหญ่ให้ปวดกบาลรึเปล่าน้อ?

ยินดีครับ พี่ยอดดอย

ผมทราบดีว่า "สิทธิเด็ก" ที่กำลังเดินอยู่ในปางมะผ้า เป็นมิติใหม่(ในเรื่องเดิม) ที่ให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น

KM ตามที่อาจารย์ธวัชได้ ให้ข้อแลกเปลี่ยนมา ก็ต้องให้เกิดการมีส่วนร่วม ไม่ได้ทำเฉพาะครูเท่านั้น มองไปถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งมวลในระบบการศึกษาตรงนั้น

เป็นโจทย์ใหญ่และค่อนข้างท้าทาย ผมพูดแบบนี้ดีกว่า ในโจทย์ที่พี่นำเสนอมา

"จะออกแบบ KM แบบมีส่วนร่วมระหว่างครูกับนักเรียนนี้อย่างไร"

ร่วมด้วยช่วยกันนะครับ...มีโอกาสดีๆผมจะเดินทางไปพื้นที่ในเร็ววันนี้ครับ

น้องจตุพร

  • ฟังความได้ว่าโรงเรียน ทั้ง ผอ.ครู มีแรงขับภายใน อยากจะทำ บ้านผมปักษ์ใต้เขาเรียกว่าอาด ถ้าอยากทำหรืออาดจะทำเรื่องใดๆหรือเนื้อหาใดๆก็สุดยอดเลยครับ ไม่ใช่จำใจทำเพราะใครสั่งให้ทำ เป็นการเริ่มต้นที่ดีมากครับ
  • การเตรียมความพร้อมของน้องจตุพรที่จะไปร่วมกับทางโรงเรียน จะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรให้อำนวยความสะดวกในสิ่งที่ทางโรงเรียนเขาอยากรู้อยากเรียน อยากพัฒนาหรืออยากทำงานได้ก็เป็นสิ่งจำเป็นครับไม่เตรียมคงไม่ดีแน่
  • ผมว่าเพื่อพิสูจน์ว่าใจของ ผอ. ครู โน้มมาในฝ่ายอยากทำงานแบบKM จริง จึงอยากจะให้กำหนดเป้าหมายเล็กๆสักเป้าหมายหนึ่ง ยกตัวอย่างว่าวิจัยชั้นเรียนซึ่งโรงเรียน โดยเฉพาะครูมีทุนเดิมอยู่แล้วนี่ ทำเรื่องนี้เลยครับ บทบาทของ ผอ.ในฐานะคุณเอื้อจะต้องทำหรือเรียนรู้อะไรในการหนุนเสริมการวิจัยชั้นเรียนให้บรรลุเป้าหมาย แปลว่า ผอ.ในฐานะคุณเอื้อก็จะต้องมาเป็นนักเรียนเรียนรู้ภารกิจหรือฟังชั่นของตนเองในการหนุนเสริม คุณครูซึ่งจะต้องปฏิบัติกิจกรรมรวิจัยชั้นเรียนก็คือคุณกิจที่จะต้องเป็นพระเอกแสดงบทบาทของนักวิจัยชั้นเรียนเต็มที่ ก็เรียนรู้หรือทำงานการวิจัยชั้นเรียนไป ถ้าจะให้ดีในความเห็นของผม ผมว่าน่าจะดึงเด็กมาเป็นคุณกิจอีกกกลุ่มหนึ่งเลยครับ ปฏิบัติการเรียนรู้สาระต่างๆของหลักสูตรหมวดวิชาต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเรียนรู้แบบวิจัยชั้นเรียนจะต้องต่างออกไปจากเดิมแน่นอน เช่นอาจจะออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ว่า เพื่อนช่วยเพื่อน เพื่อนเรียนรู้ สำรวจ แรลลี่ ฯลฯมากมายแล้วแต่จะได้ออกแบบกิจกรรมร่วมกันขึ้นมา จะเห็นว่าหัวปลาเดียวกัน หากมองในฝ่ายของผู้เรียนแล้ว ทั้ง ผอ.ครู นร.ก็มาเรียนรู้ มาทำภารกิจของตนเอง เวทีเรียนรู้จึงอาจจะมีได้ทั้ง ผอ.ร่วมกับครู เวทีเรียนรู้ของครูด้วยกัน เวทีเรียนรู้ของครูกับ นร. เวทีเรียนรู้ของ นร.ด้วยกัน หรือเวทีเรียนรู้ของทั้ง ผอ.ครู และ นร. เมื่อออกแบบเวทีเรียนรู้อย่างนี้แล้วก็ค้นหาว่าประสบการณ์ของใครที่ไหนจะนำมาใช้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ ในโรงเรียนมีใคร ต่างดรงเรียนมีใคร ผอ.จะเรียนรู้เรื่องนี้จาก ผอ.โรงเรียนใด  จาก CKO ที่ไหน ครู และ นร.ก็เช่นเดียวกันครับ
  • จากจุดเล็กๆ ประเด็นเล็กๆเหล่านี้เมื่อได้ชื่นชมกันบ้าง เฉลิมฉลองกันบ้างมันจะสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่ประเด็นใหม่เรื่องใหม่ได้ ไร้พรมแดนเนื้อหาครับ จากเรื่องนี้ไปสู่เรื่องนั้นได้ สำคัญว่า ผอ.อย่าบังคับใครให้เขามาร่วมโดยไม่อยากทำหรืออาดจะทำนะครับ ผมอยากให้น้องจตุพรได้แลกเปลี่ยนกับคนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ครับ น้องสิงห์ป่าสัก สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร  คุณหมอนนทลี คุณศรีวิภา จากกรมอนามัย น้องชายขอบ จาก สสจ.พัทลุง ฯลฯ ผมเองมีประสบการณ์น้อยครับ ชกไปแบบมวยวัดครับ หลักวิชาไม่ค่อยมี
  • อ.ปภังกร และ อ.ธวัช แนะนำไว้น่ารับฟังนะครับ
  • ขอบคุณครับ และยินดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยน

ขอแสดงความรู้สึกเพิ่มเติมครับพี่เอก

จากการอ่านความคิดเห็นของท่านอาจารย์ทุกท่านที่

เสนอมานั้น  เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักเริ่มต้นเรียนรู้อย่างผมมากเลยครับ

   เป็นการแลกเปลี่ยนที่เข้มข้น  ละเอียดและทำให้เข้าใจ  KM  ได้ดีมากๆด้วยความรู้ที่เป็น TK ล้วนๆครับ

    ชื่นชมกับพี่ชายมากๆครับ.......................

ครูนงเมืองคอน ที่เคารพ

ครูเปิดประเด็นเรื่องที่อยู่ในใจผมเรื่องหนึ่งครับ ประเด็น "การวิจัยในชั้นเรียน" ผมมองว่าตรงนี้หละครับ เป็นจุดแข็งของครู เป็นกระบวนการที่ทำให้ครูมาร่วมกันได้ โดยการวิจัย WIN - WIN บรรยากาศน่าจะดี

เริ่มจากจุดเล็กๆ ไม่ให้มองเป็นภาระเพิ่ม แต่ให้ทำด้วยใจ ด้วยความสนุกสนานที่จะทำ ...(ยากเหมือนกัน)

ที่สำคัญก็คือ ใจเย็นๆ ใช่มั้ยครับ ครูนง ผมเองสไตล์มวยวัดเหมือนกัน แต่ได้พี่เลี้ยงเยอะ

เวทีนี้อบอุ่นครับ

 

 

 

น้อง หมอ kmsabai

เห็นด้วยครับกับองค์ความรู้ที่น่าตื่นเต้น ตรงนี้เป็นความพิเศษของ G2K เลยครับ

ผมรู้สึกไม่ได้โดดเดี่ยวเวลาคิดและทำอะไร..

ผมชื่นชมทุกคน ชื่นชมความรู้สึกสาธารณะที่ทุกคนมี เอาไว้เรานัดกันทานข้าวเย็น คุยเรื่องนี้อีกทีนะน้องหมอ

เป็นแนวทางที่ดีมากเลยครับ  ตอนนี้ผมกำลังประสบปัญหาคือ  ครูเขาไม่เข้าใจว่า  KM  คืออะไร  และการทำวิจัยเขาไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร  ช่วยแนะนำด้วยครับ

คุณเอกคะ ... ดิฉันไม่มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรม KM กับครูและนักเรียนโดยตรง แต่เคยเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน

มีเรื่องเล่าไว้หลายที่ค่ะ

ที่ทีมของเราทำ KM กัน มักจะเริ่มด้วย

  • การเตรียมคน ให้มี Deep listening จากการฟังเรื่องเล่า ซึ่งต้องมีการเรียนรู้เป็นกลุ่ม ตั้งโจทย์ (หัวปลา) มี Fa, Note taker และ สมาชิกกลุ่ม
  • เมื่อคนมีความพร้อม เขาก็จะสามารถวิเคราะห์ได้เองว่า จะกำหนดประเด็นหัวข้อ (หัวปลา) ที่จะนำมาคุยกันอย่างไร จึงจะตรงเป้าหมาย ... มีอยู่เรื่อยๆ คะ ว่า หัวปลาครั้งแรกๆ จะคิดกันยากมาก แต่จะดีขึ้นตามลำดับ
  • เชื่อมั่นค่ะ ว่า กลุ่มครู นักเรียน มีทักษะการพูดคุยกันอยู่แล้ว เรียนรู้เมื่อตั้งต้น แล้วก็จะสานต่อได้แน่นอน

 

ท่าน ผอ.ใหม่เมืองแป๊ะ

ผมคิดว่า เป็นการเริ่มต้นเหมือนกัน ศึกษาไปด้วยกัน ตามที่เราได้เรียนรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ณ พื้นที่เสมือนแห่งนี้ ผมเองก็ต้องเรียนรู้ใหม่ครับ

เรื่อง วิจัย ไม่ใช่เรื่องยากครับ เป็นการตั้งโจทย์ และค้นหาวิธีการแก้โจทย์ อย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน และที่สำคัญนำไปใช้ในบริบทจริง เรียก R&D ตรงนี้ผมว่าครูมีศักยภาพในเรื่องนี้ครับ

ดังนั้นแล้วเรามาเริ่มต้นด้วยกันดีมั้ย..แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการเขียนบันทึก เพื่อเป็นเพื่อนกัน ผมว่าน่าสนใจครับ

ลองดูครับ เรามีพี่เลี้ยงมากมายครับ...หากตั้งใจทำจริงๆ ไม่โดดเดี่ยวแน่นอน

ให้กำลังใจ ท่าน ผอ.ใหม่

เรียน อาจารย์หมอนนทลี

ประสบการณ์ที่ผมได้รับจากการอ่านบันทึกของอาจารย์มีคุณค่ามาก สำหรับการเรียนรู้เพื่อใช้ในสถานการณ์พัฒนาจริงๆ

สำหรับ Link ที่ให้มาผมตามเก็บรายละเอียดทั้งหมดแล้วครับ...ทั้งหมดผมจะนำมาประมวลเขียน เพื่อเก็บไว้อ่าน และนำไปแชร์กับคุณครูครับ

การดำเนินการเป็นอย่างไรในพื้นที่ จะนำมาเขียนบันทึกใน Blog  เป็นระยะๆครับ

ขอบคุณอาจารย์หมอนนท์ มากครับ

  ผมมีลิงค์บทความเกี่ยวกับการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  ลองดูเผื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้ครับ http://www.watpon.com/journal/act_res.pdf 

ขอบคุณน้องเก่ง ปริวิตร เขื่อนแก้ว ครับ

ได้บันทึกไว้เรียบร้อย และจะนำเอกสารที่รวบรวมทั้งหมดไปมอบให้คุณครู

ผมยังได้สรุป How to แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้ไว้ด้วย เพื่อประโยชน์ต่อตนเองและการนำเสนอทางบันทึกอีกครั้ง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ
   มาให้กำลังใจ พร้อมเก็บเกี่ยวสิ่งที่เหล่ากัลยาณมิตร มาเสริมต่อด้วยใจ จนอิ่มเลยครับ
   จะด้วยกระบวนการ หรือเทคนิควิธีใดก็ตาม ก็ขอให้ช่วยๆกันดูให้ เป้าหมายแท้จริง ตามตัวหนังสือ เข้าไปอยู่ในมโนสำนึกของผู้ร่วมกระบวนการให้ได้ก็แล้วกันครับ  ในวงการการศึกษานี่เผลอเมื่อไรเป็นเจอทุกที .. เป้าหมายแอบแฝง มีพลังแรงกว่า เป้าหมายตามตัวหนังสือ สุดท้ายก็ไม่มีอะไรหลงเหลือเป็นแก่นสาร ยั่งยืน .. รอให้ ผอ.คนใหม่มาจับเรื่องใหม่ มาเล่นสนุกกันต่อ  ตีค้อง ร้องป่าว กันให้สนั่นเมือง ครั้งแล้วครั้งเล่า  ไม่ได้คิดเชิงลบ หรือบั่นทอนกำลังใจนะครับ ใครๆก็รู้ว่าเป็นอย่างที่ว่าอยู่ไม่น้อย .. คำว่า "สร้างผลงาน" นี่ผมฟังด้วยความเจ็บปวดเสมอเลย  เจ็บแทนสังคมครับ .. แต่ผมว่ากรณีของน้อง จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร  เดินดีๆน่าจะไม่ต้อง เจ็บ ครับ  เพราะงานนี้น่าจะไม่ไปเข้าสูตร เป้าหมายเลือนลาง - โครงสร้างสับสน - ผู้คนเบื่อหน่าย - สุดท้ายเลิกรา .. ใช่มั้ยครับ.

เรียนอาจารย์ Handy

ผมรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมากครับสำหรับข้อคิดเห็นที่ตรงๆให้ความเห็นที่ชกตรงๆ

ในวงการศึกษา ผมยังด้อยและอ่อนประสบการณ์มากครับ แต่ผมเองก็ยังหวังให้เกิดการพัฒนาในจุดเล็กๆเพราะเราสิ้นหวังในระบบใหญ่ ตามที่เราทราบกัน

หากจุดเล็กๆที่ผมมีโอกาสดี เข้าไปร่วม เกิดสิ่งดีงามถือว่าเป็นความภูมิใจที่สูงสุด

ผมควรต้องระวังตามที่อาจารย์ได้ชี้แนะมา...เป็นประโยชน์และเต็มไปด้วยความปรารถนาดี

ขอขอบพระคุณอาจารย์ครับ

  • ดีใจไปกับคุณครูโรงเรียนนี้ที่จะมีผู้พาทำ ที่ตั้งใจจริงมากๆ
  • อ่านทุกความคิดเห็นแล้วเชื่อว่าคุณจตุพร พาทำได้แน่นอน
  • การวิจัยที่เนียนไปกับการจัดการเรียนรู้เรียนเป็นการวิจัยที่เป็นประโยชน์ที่สุดค่ะ
  • ประสบการณ์ที่ผ่านมาปัญหาอยู่ที่การเริ่มต้นของครู  ไม่รู้จะทำเรื่องใดดี  ไม่รู้จะทำอย่างไรดี
  • ถ้าจะให้ดีคือครูพัฒนาการสอนไป และมีผู้แนะนำจะเก็บข้อมูลตรงไหนได้บ้าง  เก็บแล้วจะเกิดประโยชน์ในการนำไปพัฒนาการจัดการเรียนอย่างไร สุดท้ายจะเขียนรายงานอย่างไร
  • เป็นกำลังใจ  และขอชื่นชมค่ะ
  • ที่ ม อุบล มีปริญญาเอก แบบบูรณาการณ์นะครับ
  • ลองตรวจสอบดู
  • ขอบคุณมากครับ

เรียนท่าน ศน.ลำดวน ครับ

ผมเห็นความตั้งใจของครู ประกอบกับอยากเรียนรู้ด้วยครับ หากสิ่งไหนที่ดำเนินการแล้ว เกิดผลลัพธ์ที่ดีกับเด็กนักเรียน ครู และชุมชน และองค์กรมีความพร้อม คิดว่าเดินหน้าได้เลย

ประสบการณ์และข้อแลกเปลี่ยนที่ได้จากบันทึกนี้มีคุณค่ามาก และยังบอกถึงพันธมิตรมากมายที่คอยชี้แนะ พร้อมกำลังใจ

หากกระบวนการขับเคลื่อนไปอย่างไร จะนำมาแลกเปลี่ยนใน Blog ของผมครับ

ขอบคุณ ท่าน ศน.ลำดวน มากครับ

............................................

 

อาจารย์ ดร.ขจิต

เป็นอีกสาขาหนึ่งครับ ที่น่าสนใจ เพราะใน Blog ก็มีโอกาสเห็น ชาวบูรณศาสตร์เข้มแข็งทางวิชาการมาก...น่าสนใจมากครับ

ต้องขอบคุณท่านอาจารย์มากครับ ที่ให้ความอนุเคราะห์ข่าวสาร ผมคงต้องปรึกษาอาจารย์อีกหลายครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท