Mr.CHOBTRONG
ผศ. สมศักดิ์ สถาบันวิจัยและพัฒนา ชอบตรง

มหาวิทยาลัยนอกระบบ : คิดกันอย่างไร


มหาวิทยาลัยนอกระบบ : คิดกันอย่างไร
มหาวิทยาลัยนอกระบบ  : คิดกันอย่างไร                                                 อ.พิชัย  สุขวุ่น         การถกเถียงเรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบเป็นปัญหาสำหรับสังคมไทยมานาน  แต่คำถามสำคัญระหว่างการอยู่ในระบบกับนอกระบบ  มหาวิทยาลัยได้ทำให้มนุษย์มีความรู้ที่ถูกต้องหรือไม่  ข้อถกเถียงต่อมา  คือปัญหาความรับผิดชอบของรัฐต่อประชาชน  ทั้งในระบบการศึกษาและระบบอื่น ๆ ผมมีข้อเสนอเชิงวิเคราะห์อยู่ 5 ประการ  เพื่อให้ท่านผู้อ่านร่วมกันพิจารณา ดังนี้            1.  เมื่อพูดถึงการออกนอกระบบ จากระบบราชการ  ก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องคิดถึง  ข้อเสนอแนะแห่งการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย  เมื่อปี 2502  ธนาคารโลกเสนอแนะว่ารัฐบาลไทยควรถอนตัวจากรัฐวิสาหกิจที่อยู่กว่า 100 แห่ง และทำหน้าที่แต่เพียงผู้กำกับ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการให้ความเห็นว่ารัฐควรถอยห่างจากการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย และปล่อยให้มีสภาพคล้ายกับบริษัทเอกชน ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพของการแข่งขันด้านคุณภาพ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการนิยามความหมายของคุณภาพ  ซึ่งในทัศนะของเอกชนกับรัฐบาล นั้นแตกต่างกัน และแม้ในทัศนะของมนุษย์ทั่วไปก็นิยามความหมายความหมายของคำว่า คุณภาพ แตกต่างกัน คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า คุณภาพของมหาวิทยาลัย เราจะนิยามกันอย่างไร หรืออธิบายตาม สมศ. ประเมิน          2. ไหน ๆ ก็กล่าวถึงคุณภาพของมหาวิทยาลัย แล้ว ผมขอนิยามให้ชัดเจนลงไป  เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ต่อไป คุณภาพของมหาวิทยาลัย  ควรพิจารณาที่การให้ความรู้อย่างถูกต้อง ความรู้ที่ถูกต้องย่อมไม่ทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา  สภาพสังคมที่ขัดแย้งสูงแสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัย ไม่ได้ให้บริการความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม  แม้แต่เรื่องของการออกนอกระบบ  ก็เป็นปรากฏการหนึ่งที่มหาวิทยาลัยให้ความรู้ที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้นำประเทศ  คนระดับผู้นำจึงใช้ความรู้ในทางที่ไม่รู้ว่าผิด แล้วก็ใช้จนสังคมคิดว่าเป็นความรู้ที่ถูก แล้วเราก็แก้ปัญหาไม่ได้เพราะความรู้ที่ถูกไม่มี หรือเรียกว่า อวิชชา มันมีมากกว่า วิชา ก็ได้ ความรู้ที่ถูกต้องย่อมนำสังคมไปสู่สันติภาพเท่านั้น  ความรู้ชนิดที่ต้องแข่งขันย่อมนำไปสู่การเอาเปรียบและตอบโต้กันอย่างรุนแรง ดังนั้น คุณภาพของมหาวิทยาลัย คือสันติภาพในระดับบุคคลและสังคม ผลลัพธ์ของการจัดการการศึกษาในขั้นต้น ก็คือ ศีลธรรมของประชาชนโดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเมตาฟิสิกส์ *  ซึ่งยากนักที่มนุษย์จะเข้าใจได้  ส่วนคนอื่นจะนิยามการศึกษาที่มีคุภาพว่าอย่างไรก็สามารถทำได้ตามทัศนะส่วนตัวของแต่ละคน  แต่ตราบใดที่เรายังไม่ตกผลึกว่าคุณภาพการศึกษาคืออะไร  ก็ยังไม่ควรคิดออกนอกระบบเพราะเรายังไม่มีจุดหมายแล้วจะออกเดินทางได้อย่างไร เมื่อผมนิยามไปแล้วว่าคุณภาพการศึกษาคือสันติภาพของสังคมและปัจเจกชน  เรามาพิจารณาข้อถกเถียงเกี่ยวกับการออกนอกระบบกันต่อไป          3. การให้เหตุผลว่าการออกนอกระบบทำให้เกิดการคล่องตัวในการบริหาร การใช้อำนาจไม่คล่องตัวในการบริหาร  ก็ยังมีข้อถกเถียงต่อว่าความคล่องตัวในการบริหารแบบเดิมที่ดำเนินการผ่านสภามหาวิทยาลัยนั้นมีการติดขัดประการใด  ซึ่งแท้จริงแล้วสภามีอำนาจในการออกระเบียบข้อบังคับมากมาย  โดยรัฐมนตรีไม่มีโอกาสแทรกแซงหรือคัดค้านตราบเท่าที่อำนาจใน พรบ. มหาวิทยาลัยได้เขียนไว้   การให้เหตุผลว่าไม่คล่องตัวในการบริหาร  ได้แสดงว่า  กฎหมายใน พรบ. มหาวิทยาลัยไม่ให้อิสระเพียงพอในอำนาจบริหาร  จึงต้องเสนอ พรบ. ฉบับออกนอกระบบในความเห็นผม ระหว่างเนื้อหาทางวิชาการกับเนื้อหาอำนาจบริหารใน พรบ.มหาวิทยาลัย  มีการถ่วงดุลกันเพียงพอที่จะพัฒนาการศึกษาได้  แต่ที่ต้องการอำนาจเพิ่มนั้น  ไม่ใช่เนื้อหาทางวิชาการแต่เน้นที่ความคล่องตัวของอำนาจบริหาร  แสดงว่าไม่มีปัญหาทางวิชาการแต่มีปัญหาว่าอำนาจบริหารไม่คล่องตัว   กรณีหากเราเชื่อว่ามนุษย์มีความต้องการไม่สิ้นสุดอำนาจที่ใช้ใน พรบ. มหาวิทยาลัย  ก็ไม่สิ้นสุดเช่นกัน  แต่ที่สำคัญควรตระหนักว่ามหาวิทยาลัยมีหน้าที่ทางวิชาการมากกว่าหน้าที่อื่น ๆ  ความเป็นวิชาการนั้น  บางทีไม่จำเป็นต้องมีมหาวิทยาลัยหรือมีรัฐหรือแม้  กระทั้งไม่จำเป็นต้องมีอำนาจบริหารก็มีศักยภาพทางวิชาการได้   ส่วนเสรีภาพทางวิชาการไม่ต้องพูดถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญให้สิทธิทางวิชาการไว้แล้ว และอยู่เหนือ พรบ.มหาวิทยาลัยด้วย การกล่าวถึงเสรีภาพทางวิชาการที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง  ดูจะไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวอ้างเพื่อต้องการออกนอกระบบ          4. เรื่องงบประมาณ  งบประมาณนั้นเกี่ยวพันกับหลายเรื่อง ทั้งเศรษฐกิจ  การเมือง สังคม ประเทศไทยเรานอกจากมีงบประมาณจำกัดแล้ว  งบประมาณแผ่นดินมักถูกโยกย้ายไปสร้างความชอบธรรมในระบบการเมือง  เราจึงมีปัญหาว่านอกจากเงินไม่พอแล้วยังใช้เงินที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมด้วย  ระบบงบประมาณของประเทศขึ้นอยู่กับสภาผู้แทน ที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้เสนอ  เพราะสามารถแก้ไขกฎหมายและเปลี่ยนแปลง การจัดสรรงบประมาณได้ตามอำนาจที่มีอยู่  ดังนั้นการกล่าวว่างบประมาณของมหาวิทยาลัยนอกระบบจะไม่น้อยกว่าเดิม เราเพียงแต่รับฟังได้แต่ไม่สามารถเชื่อได้  และถ้าหากพิจารณาดูเจตนาในข้อแรกที่ต้องการให้รัฐเป็นผู้กำกับมหาวิทยาลัยเท่านั้น  ก็เท่ากับว่ารัฐจะเกี่ยวข้องน้อยลง  ทั้งการบริหารจัดการและงบประมาณโดยปล่อยให้แข่งขันกันเองเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด          5.  การจัดแบ่งออกเป็นสองด้านระหว่างรัฐและไม่ใช่รัฐ เป็นการส่งสัญญาณ เรื่องทรัพย์สินส่วนบุคคลหรือปัจเจกชน โดยทำให้รัฐเล็กลง  และเอกชนใหญ่ขึ้นการกระทำเช่นนี้ ผิดหลักการกำเนิดรัฐ ในยุคแรก  ที่เคยเชื่อว่า รัฐต้องดูแลประชาชน ให้มีศีลธรรมและความยุติธรรมอย่างทั่วถึง  แต่รัฐกำลังแปรสภาพเป็นรัฐตลาด ใครมีประสิทธิภาพสูงก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้ใครอ่อนแอต้องตกเป็นเบี้ยล่าง  ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทุนนิยมเสรี  การพยายามส่งให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเท่ากับทำให้รัฐไม่มีความหมายที่จะปกป้องประชาชนของรัฐอีกต่อไป  ฉะนั้นในฐานะประชาชนก็ต้องทบทวนความสัมพันธ์กับรัฐเสียใหม่  ว่าเราจะช่วยปฏิรูปรัฐ ให้กลับมาดูแลประชาชนได้อย่างไร 

          ผมก็มีข้อเสนอเชิงวิจารณ์เพียงเท่านี้ ส่วนใครจะเป็นอย่างไร ก็ตามอัธยาศัยครับ

________________________________________________________________________________________________________*   สิ่งที่สูงกว่าความรู้ในระดับฟิสิกส์

 

หมายเลขบันทึก: 67182เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 12:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยกับอาจารย์จากสุราษฎร์ ในประเด็นที่ว่ามหาวทิยาลัยของรัฐในปัจจุบันไม่มีความคล่องตัวในการบริหาร  เชื่อว่า คนทั่วไปยังไม่มีความรู้เรื่องระบบบริหารของมหาวิทยาอย่างชัดเจน แต่ประเด็นที่ประชาชนทั่วไปน่าจะสนใจมากกว่าคือ ต่อไปลูกหลานเขาจะต้องเรียนแพงขึ้น ทั้งที่รัฐพึงมีบทบาทในการสนับสนุนการศึกษาของชาติ  ปรากฎการณ์พึ่งตัวเองในปัจจุบันน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี ว่า หลักสูตรที่คิดค้นกันขึ้นมาใหม่ๆ นั้น ก็เพียงเพื่อหาเงิน ไม่ได้มีความจำเป้นจริงซึ่งก็ไปสอดรับกับค่านิยม เห่อปริญญา เข้าพอดี

 

เห็นด้วยกับอาจารย์ค่ะ เพราะปัจจุบันนี้ คนรวยก็รวยๆๆๆๆ จะเรียนที่ไหนก็ได้ แต่สำหรับคนจนล่ะ หากินแต่ละวันยังไม่พอกินเลย ลูกจะเรียนก็จะต้องกู้เงินเรียน และอนาคตการกู้เงินเรียนก็มีเงื่อนไขติดอยู่มากมาย ซึ่งคนจนๆ พ่อแม่ไม่ค่อยมีความรู้อย่างชาวไร่ชาวนา ก็ลำบากที่จะคิดจะหาให้ลูกได้เรียน หากคิดค่าหน่วยกิตแพงๆ อีกล่ะก้อ จะทำอย่างไรกัน
  • สำหรับผมคิดว่ามหาวิทยาลัยต้องกล้าที่จะท้าทายกลับการเปลี่ยนแปลง แต่ควรอยู่บนฐานของความพร้อม และการทำความเข้าใจกับบุคลากรในขั้วที่ยังไม่เห็นด้วย
  • ต้องมีคำตอบแล้วว่าเราพร้อมหรือยัง หรือจะพร้อมเมื่อไหร่ ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาคมทุกฝ่าย
  • ด้วยความเคารพครับ

เศร้าค่ะ ม.เราก็จะเปลี่ยนเป็นนอกระบบ ความภูมิใจของพวกเราที่เคยมี ศิษย์เก่า ที่เคยมี รุ่นน้องที่จะเข้ามา ต่อไปนี้ก็จะไม่ต่างอะไรกับ ม.เอกชน ไม่ได้บอกว่า ม.เอกชนไม่ดีนะคะ เพียงแต่เมื่อทุกมหาลัยเปลี่ยนเป็นนอกระบบกันหมด มันก็เท่ากับการจำกัดทางเลือกให้กับประชาชน นอกจากเสียภาษีให้รัฐแล้ว ยังจะต้องมาจ่ายค่าเทอมแพง ๆ เพื่อเป็นค่าพัฒนามหาวิทยาลัย บุคคลากรในมหาวิทยาลัยอีกหรือคะ ทำไมที่ผ่านมาหลายสิบปี มหาวิทยาลัยรัฐเหล่านี้ก็สร้างสรรค์บุคคลากรที่มีคุณภาพมาหลายทศวรรษ ทำไมจะเราจะต้องตามความคิดของพวกฝรั่ง (ถ้าตามข่าวจะรู้ว่าที่ออสเตรเลียการศึกษามีปัญหา เพราะนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ) นำมหาวิทยาลัยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ กลายเป็นการค้า เพื่อแสวงหาผลกำไรอย่างหนึ่ง

เราคนหนึ่งค่ะ ที่ไม่ได้ต่อต้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพียงเพราะตามกระแส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท