KM เพื่อเมืองน่าอยู่


KM เพื่อเมืองน่าอยู่

         4 พ.ย.48   ผมไปช่วยเป็นกองหนุนให้คุณอ้อทำกิจกรรม AAR ให้แก่โครงการสัมมนาพลังเครือข่ายแลกเปลี่ยนความรู้   สำหรับแกนนำผู้ปฏิบัติงานในเครือข่ายเมืองน่าอยู่   จัดโดยศูนย์อนามัยที่ 4 ราชบุรี  กับ  คณะสาธารณสุขศาสตร์  ม.มหิดล  ที่ชะอำ

         ที่จริงการประชุมในวันที่ 3 - 4 พ.ย.48  เป็นเวลา 2 วัน   ก็คือตลาดนัดความรู้ของกิจกรรมเมืองน่าอยู่นั่นเอง   โดยที่ผู้เข้าร่วมตลาดนัดมาจากเทศบาล (ตั้งแต่เทศบาลนครถึงเทศบาลตำบล) และ อบต. รวม 32 แห่ง   และมีคนที่เป็นชาวบ้านมาร่วมด้วย 2 - 3 คน

         ผมชื่นใจมากที่คณะวิทยากร KM ของการประชุมนี้คือทีมของกรมอนามัย   นำโดย พญ. นันทา  อ่วมกุล  โดยมีทีมคือคุณสร้อยทองกับคุณศรีวิภา   เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงแล้วตลาดนัดความรู้ครั้งนี้เป็นฝีมือของทีมวิทยากรของกรมอนามัยทั้งหมด   สคส. เราไปช่วยเป็นกองเชียร์และร่วมเรียนรู้เทคนิคของทีมกรมอนามัย   ที่พัฒนาต่อยอดจากที่ได้เรียนรู้มาจาก สคส.   คุณอ้อจะเขียนเล่าเรื่องนี้ในบล็อกของเธอนะครับ

          ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า   กิจกรรมเมืองน่าอยู่กับกิจกรรม KM มีความเหมือนกันมากมายหลายด้าน   ผมยกมาให้ดู 5 ด้าน
1. ความซับซ้อน   การพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ต้องทำหลากหลายด้านอย่างซับซ้อนมาก   KM ก็เป็นกิจกรรมที่ต้องคิดและทำหลายด้านหลายมิติอย่างซับซ้อน
2. ต้องรวมตัวกันทำ   ทั้งเรื่องเมืองน่าอยู่และ KM เป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวไม่ได้   ต้องรวมตัวกันทำและทำอย่างต่อเนื่อง   ทำไปเรียนรู้ไป  ปรับปรุงไป
3. เกิดผลที่สำเร็จคือเกิดความเป็นชุมชน   คนรักกัน   เคารพกัน   เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน
4. ต้องมีทักษะในการฟัง   ต้องฟังคนอื่นเป็น   ไม่ใช่แค่เพียงฟังให้ได้สาระ   แต่ต้องฝึกฟังให้เห็นตัวตนของผู้พูด   เป็นการพูดและฟังจากใจถึงใจ
5. เน้นที่ความรู้ปฏิบัติหรือความรู้ฝังลึก   โดยมีความรู้เชิงทฤษฎีเป็นตัวเสริม

         ในตอนท้ายหลัง AAR  ผมได้ให้ความเห็นว่า   ผู้มาร่วมประชุมได้มาเรียนรู้ 2 เรื่องในเวลาเดียวกัน   คือเรียนรู้ KM ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง   เป็นการเรียนรู้โดยการซึมซับประสบการณ์   และเรียนรู้เรื่องกิจกรรมเมืองน่าอยู่ผ่านกิจกรรม KM   ซึ่งเป็นการเรียนรู้ภายใต้บรรยากาศเชิงบวก   เชิงชื่นชมยินดี   นำเอาเรื่องราวของความสำเร็จในการทำกิจกรรมเมืองน่าอยู่มา ลปรร. กันและสกัดขุมความรู้   สังเคราะห์แก่นความรู้   ทำตารางแห่งอิสรภาพไว้ใช้งาน

         น่าจะมีการขับเคลื่อนเครือข่ายเมืองน่าอยู่ต่อไป   โดยเป็นเครือข่ายที่ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) เป็น "คุณกิจ"   ศูนย์เขต 4 และคณะสาธารณสุขฯ เป็น "คุณอำนวย"   แต่เมื่อลงไปในพื้นที่   เจ้าหน้าที่ของ อปท. จะเป็น "คุณอำนวย" โดยมีชาวบ้านหรือชุมชนเป็น "คุณกิจ"

         ในทางปฏิบัติ   อปท. อาจจับคู่กันทำ Peer Assist เพื่อขอเรียนรู้แบบเรียนลัดจาก อปท. ที่ทำเรื่องเมืองน่าอยู่ด้านใดด้านหนึ่งได้ผลดีมาก   อปท. ไม่ควรมุ่ง ลปรร. เฉพาะผ่านการจัดการประชุมที่ "คุณอำนวย" เป็นผู้จัด   แต่ควรใช้เครื่องมือ KM ด้วยตนเองเป็นสำคัญ   และควรสร้างขีดความสามารถในการ ลปรร. ผ่าน ICT ที่ใช้งานง่ายที่สุดคือ  บล็อก

ผมมีความประทับใจหลายด้าน
(1) ผู้มาร่วมประชุมอยู่กันครบจนจบการประชุม   ไม่ใช่หายไปกว่าครึ่งในวันที่ 2 อย่างในบาง workshop ที่เราไปเห็น   แสดงถึงวัฒนธรรมเอาจริงเอาจังในคนกลุ่มนี้
(2) คณะวิทยากรของกรมอนามัย
(3) ทีมงานของศูนย์อนามัยที่ 4   โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อำนวยการคือ  นพ. พนัส  พฤกษ์สุนันท์

          ผมหวังว่าจะได้เห็นเครือข่าย KM ด้านเมืองน่าอยู่   ดำเนินการอย่างมีชีวิตชีวาต่อไป   โดย สคส. ยินดีให้ความร่วมมือครับ

     

     ทีมวิทยากรจากกรมอนามัย                  บรรยากาศการประชุม

                                     

                                                 ป้ายการประชุม                 

วิจารณ์  พานิช
 6 พ.ย.48

หมายเลขบันทึก: 6716เขียนเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2005 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
   เขียนเล่าเรื่องรูปแบบและบรรยากาศการทำ Workshop เมืองน่าอยู่ 2 วัน ลงไปเมื่อวานแล้วค่ะที่ play.gotoknow.org  Link (ที่นี่)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท