ทัศนศึกษาในอดีตกับความทรงจำในอดีต


ทัศนศึกษาบ้านเจ้าพระยากับความทรงจำในอดีต
บ้านเจ้าพระยา… ความทรงจำในอดีต ที่ยังคงกระจ่างชัดในทุกวันนี้ บ้านเจ้าพระยา… อาคารซึ่งทรงคุณค่า จากอดีตถึง ณ วันนี้ ใครที่เคยผ่านไปถนนพระอาทิตย์ คงจะสัมผัสได้ถึงเสน่ห์ของการผสมผสานระหว่างอดีตและปัจจุบันได้อย่างลงตัว ความโดดเด่นประการหนึ่งของถนนสายนี้ คือ อาคารเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ที่ในวันนี้ บ้างก็ได้ปรับรูปลักษณ์ใหม่เพื่อประโยชน์ใช้สอยที่สอดคล้องกับสภาพในปัจจุบัน หนึ่งในนั้น คือ "บ้านเจ้าพระยา” อาคารปูนสองชั้นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสตามสถาปัตยกรรมตะวันตก มีขอบหยักเป็นลอนคลื่น หัวเสาประตูประดับปูนปั้นรูปดอกบัวตูม อยู่ภายในกำแพงปูน ติดกับสวนสันติชัยปราการ จากประวัติศาสตร์ที่ยาวนานและความงามทางสถาปัตยกรรม ปัจจุบัน “บ้านเจ้าพระยา” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์จากกรมศิลปากร และกำลังจะได้รับการผลักดันสู่การเป็นศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและการเรียนรู้แห่งใหม่ ก่อนจะเป็น “บ้านเจ้าพระยา” ในวันนี้ เดิมบริเวณนี้เป็นวังกรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงประทับที่นี่ตลอดพระชนมายุ หลังจากนั้นได้เคยเป็นที่พักของนายช่างชาวอิตาเลี่ยน ผู้ควบคุมการสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ต่อมารัฐบาลในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงซื้อที่สร้างเป็นกรมตำรวจภูธร ครั้นเมื่อกรมตำรวจภูธรได้ยกไปรวมทำอยู่ในกระทรวงนครบาล จึงว่างเว้นผู้อาศัยอีกคราวหนึ่ง กระทั่ง สมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินและตึกแห่งนี้ ณ วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๔๕๙ แก่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ ทายาทราชสกุลปราโมช ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจพระนครบาล เพื่อเป็นสมบัติประจำราชสกุลปราโมช สืบไป วังแห่งนี้ จึงได้ตกทอดถึงทายาท คือ หม่อมราชวงศ์ถ้วนเถ้านึก หม่อมราชวงศ์เสนีย์ และหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และสืบต่อถึงหม่อมหลวง อัศนี ปราโมช ผู้เป็นเจ้าของในปัจจุบัน เมื่อไม่มีทายาทท่านใดเข้าใช้ประโยชน์อยู่อาศัย สถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่ให้เช่าอาศัยและทำประโยชน์มาเป็นเวลานาน รวมทั้งเคยเป็นที่เช่าทำการของพรรคประชาธิปัตย์ในปี ๒๕๑๘-๒๕๑๙ ต่อมา บริษัท เทลบิช ซึ่งเป็นที่ปรึกษาวางระบบคอมพิวเตอร์ได้ทำสัญญาเช่าเมื่อปี ๒๕๓๓ ระยะเวลา ๑๕ ปี และบริษัท แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้เข้ามาเช่าช่วงต่อจากปี ๒๕๓๗ โดยจะสิ้นสุดสัญญาเช่าในปี ๒๕๔๘ แม้ไม่มีหลักฐานว่าสร้างในปีใด แต่มีข้อสันนิษฐานว่า กลุ่มอาคารบริเวณวังพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบ สร้างในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑ ถึง ๒๔๕๓ ในแผ่นดินรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีการสร้างถนนพระอาทิตย์แล้ว โดยพิจารณาจากกลุ่มอาคารที่หันหน้าออกด้านถนนพระอาทิตย์ แตกต่างจากกลุ่มวังในสถานที่ใกล้เคียงกันที่หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ข้อพิจารณาอีกประการ คือ มีการสร้างศาลาท่าน้ำไว้บริเวณหลังวัง ตามความนิยมแบบโบราณที่มักสร้างศาลาไว้หลังบ้าน อีกทั้งรูปแบบอาคารนั้น นอกจากเป็นแบบตะวันตกแล้วยังมีอาคารที่สร้างเป็นเรือนแถวปูน และไม้ชั้นเดียวบ้าง อาคารพาไลไม้แบบสิงคโปร์ ล้วนเริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ครั้งรัชสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากจีน ปีนังและ สิงคโปร์ เมื่อเป็นดังนี้ วังแห่งนี้ จึงน่าจะสร้างเมื่อครั้งดำริใช้เป็นที่ทำการกรมตำรวจภูธร ซึ่งอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑ ถึง ๒๔๕๓ ช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น หากนับตั้งแต่ครั้งที่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าคำรบได้เข้ามาครอบครองวังในปี ๒๔๕๙ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรมตำรวจ ดังนั้น อาคารอนุรักษ์เก่าแก่งดงามหลังนี้ จึงมีอายุมากกว่า ๙๐ ปี ปัจจุบัน อาคารปูนสองชั้นด้านหน้าซึ่งเป็นอาคารอนุรักษ์ ในนาม “บ้านเจ้าพระยา” ได้รับการบูรณะอีกครั้ง ภายใต้หลักสำคัญคือ สิ่งใดที่เป็นจุดเด่นของอาคารเดิมยังคงไว้ดังเดิม สิ่งใดที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนจะรักษาเค้าโครงเดิมไว้เป็นหลักและสิ่งใดที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมเข้ามาจะพยายามทำให้กลมกลืนกับของเดิมที่สุด ดังนั้น ลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมและการตกแต่งที่มีมาแต่เดิม เช่น ซุ้มประตูบ้านเป็นไม้ฉลุลายประณีตงดงาม ซุ้มหน้าต่างกระจกเป็นช่องรัศมีครึ่งวงกลม เฉลียงชั้นสองก่อซุ้มโค้งกลมรับกับซุ้มอาคารปูนสองชั้นที่อยู่ด้านหลัง รวมทั้งเรือนแถวปูนสองชั้น เรือนแถวปูนหนึ่งชั้น และเรือนแถวไม้หนึ่งชั้นที่อยู่รายรอบในอดีตผุพังไปตามกาลเวลา และถูกรื้อถอนออกไป และสร้างอาคารหลังใหม่ริมน้ำเพื่อประโยชน์ที่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันแทน วันนี้ จึงเกิดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ของการผสมผสานประโยชน์ร่วมกันระหว่างความเก่าและความใหม่ในนามของ “บ้านเจ้าพระยา” ซึ่งนับเป็นความอุตสาหะและความตั้งใจของปัจเจกชนในการที่จะดูแลรักษาโบราณสถานอันทรงคุณค่าและถือเป็นมรดกส่วนรวม โดยเฉพาะความตั้งใจในการใช้สถานที่แห่งนี้ ให้เกิดคุณค่าแก่สังคมส่วนรวม ในการเป็น “ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและการเรียนรู้” แห่งใหม่ เพื่อประโยชน์ในการจัดกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์ต่อสังคมและชุมชนในปัจจุบัน
หมายเลขบันทึก: 67125เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท