ประเด็นจากการประชุม ITU/ESCAP เรื่อง Disaster Communications ตอนที่ 1


หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิขึ้นเมื่อ 26 ธันวาคม 2547 โลกทั้งโลก ก็หันมาสนใจเรื่องการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และในบรรดาประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ  น่าจะเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลกว่าประเทศไทยทำได้ดีมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดีจนไม่มีที่ติ

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP) ร่วมกันจัดงานสัมนาเรื่องการสื่อสารในช่วงที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 12-15 ธันวาคม 2549

ในวันแรก และครึ่งเช้าของวันที่สอง เป็นรายงานของแต่ละประเทศ ในส่วนของเมืองไทย มีศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเป็นผู้แทน

ครึ่งหลังของวันที่สอง มีการนำเสนอเรื่องเครือข่าย TARES (Thailand Amateur Radio Emergency Services) โดยเลขาธิการสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น ว่าเป็นเหมือนของเล่น หรือเป็นของมือสมัครเล่น ที่จริงแล้วกิจการวิทยุสมัครเล่น เป็นงานอดิเรกของมืออาชีพในสาขาวิชาชีพต่างๆ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ และรู้จักกฏระเบียบ ตลอดจนมารยาทในการใช้เป็นอย่างดี (สไลด์ 3) กิจการวิทยุสมัครเล่นได้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องภัยพิบัติทั่วโลกตลอดมา (สไลด์ 16) และในช่วงที่เกิดสึนามิ ก็ได้เกิดเครือข่ายข้อมูลขึ้นทั่วโลก (สไลด์ 7-13) ในส่วนของการเตือนภัย เครือข่ายวิทยุสมัครเล่น สามารถแจ้งข่าวถึงคนล้านสองแสนคนภายในสิบห้านาที (สไลด์ 20-24)

ในส่วนของการนำเสนอจากประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศ ส่วนที่ติดใจมากที่สุดคือเรื่อง Data Preparedness: Information Management in Disaster Response Coordination โดยผู้แทนจากสำนักงานการประสานงานเพื่อความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office for the Coordination of Humanitarian Affairs หรือ OCHA )

เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น จะรู้ได้อย่างไรว่ามีผู้ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ต้องการความช่วยเหลือแบบไหน เป็นปริมาณเท่าไหร่ ดังนั้น OCHA จึงผลักดันให้แต่ละประเทศสร้าง P-code (Place code) ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ฐานข้อมูลทางสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)

อธิบายอย่างง่ายๆได้ว่า P-code เป็นรหัสหมู่บ้าน ซึ่งเมื่อเปิดดูแล้ว จะพบว่าหมู่บ้านนี้อยู่ตรงไหนในแผนที่ เข้าถึงได้อย่างไร มีประชากรเท่าไหร่ มีอาชีพอะไร มีบ้านกี่หลัง โรงเรียน มีบริการโทรคมนาคมอย่างไรบ้าง

กลยุทธ์ของ UN คือใช้ P-code ของแต่ละประเทศ แทนที่จะบังคับให้แต่ละประเทศใช้รหัสของ UN

สำหรับเมืองไทย เชื่อว่ามีฐานข้อมูลแบบนี้อยู่แล้ว ปัญหาคือไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน หน่วยงานใดรับผิดชอบ บางทีอาจมีฐานข้อมูลแบบนี้หลายอันด้วยซ้ำไป แต่ก็อาจจะเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีการประสานงานกัน และไม่มีการเผยแพร่ความรู้เหล่านี้ออกมา

ดังนั้นหากเกิดภัยพิบัติขึ้นในเมืองไทย เราจะขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศไม่ได้เลย เพราะเราตอบไม่ได้ว่าต้องการอะไรในปริมาณเท่าไหร่

อย่าว่าแต่ขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศเลย แม้ช่วยกันเอง เราก็ไม่เคยตอบได้ว่าช่วยอะไร ช่วยอย่างไรจึงจะมีประโยชน์ต่อผู้ประสบภัยที่สุด

หมายเลขบันทึก: 67092เขียนเมื่อ 14 ธันวาคม 2006 04:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เรื่อง P-code วันนี้ได้คำตอบชัดเจนว่าเมืองไทยมีแล้ว ก็เลยขอให้ประกาศบนเว็บ เพื่อให้หน่วยงานอื่นนำไปต่อยอดได้
ใกล้วันเกิดเหตุสึนามิแล้วนะคะ เวลาดูสารดคีเกี่ยวกับภัยพิบัตินี้ ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนชายฝั่งประเทศต่างๆ แล้วอดหดหู่ใจไม่ได้ทุกที มันคงเป็นชีวิตเหมือนฝันเลยนะคะ การเที่ยวพักผ่อนคริสต์มาสข้ามฟ้าข้ามทะเลมาเพื่อตายอีกซีกหนึ่งของโลก หรือแม้แต่คนที่จะเดินทางกลับบ้าน คนที่ทำกิจวัตรปกติของตัวเอง กลับกลายเป็นคลื่นน้ำ และความว่างเปล่าไปได้อย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท