วิธีเอาชนะโรค เอ็นไอเอ็ช


ต้องเป็นคนที่มอง “หัวปลา” ใหญ่ออก คิดใหญ่เป็น และสามารถทำงานตาม “หัวปลา ใหญ่” ให้สนองงานได้ทุกกระบวนท่า

วิธีเอาชนะโรคเอ็นไอเอ็ช

           โรค NIH เป็นโรคของผ้บริหารระดับสูงหรือนักการเมือง    เป็นโรคที่ระบาดในประเทศไทยรุนแรงกว่าโรคหวัดนก    ที่จริงก็ระบาดไปทั่วโลก    เพราะชื่อก็เป็นชื่อฝรั่ง เห็นอยู่ชัดๆ     คือย่อมาจากคำว่า Not Initiated Here Syndrome    หมายความว่า เมื่อมีรัฐมนตรีใหม่  อธิบดีใหม่  ผู้อำนวยการใหม่ หรือซีอีโอใหม่ ก็จะไม่ดำเนินการต่อจากโครงการที่มีอยู่แล้ว เพราะไม่ได้คิดขึ้นโดยตนเอง     โครงการหรือกิจการที่ไม่ได้เริ่มต้นจากความคิดของตนเองถือว่าใช้ไม่ได้    หรือไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการต่อ    ดังนั้นซีอีโอคนใหม่ก็จะคิดโครงการหรือนโยบายใหม่ขึ้นมา     สำหรับมอบนโยบายให้ลูกน้องไปดำเนินการ     ลูกน้องก็จะต้องรู้ว่าเมื่อมีนายใหม่ก็จะต้องทำโครงการใหม่     หรืออาจเป็นโครงการเก่านั่นเอง แต่เปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็นตราของนาย     เพื่อว่าเมื่อเกิดผล หรือเมื่อประชาสัมพันธ์ ผู้ได้รับชื่อเสียงคือนาย (คนใหม่)    

           ถ้าเราเป็นคนชอบทำงานให้นาย     ลัทธิเอ็นไอเอ็ช ก็ไม่ใช่เรื่องที่ก่อความเดือดร้อนใจ    อาจถือเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ     แต่ถ้าเราเป็นคนที่ชอบทำงานให้องค์กร  ให้สังคม หรือบ้านเมือง  ลัทธิเอ็นไอเอ็ชก็ต้องถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง     เป็นสิ่งที่บั่นทอนโอกาสทำงานให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง

           วิธีเอาชนะโรคเอ็นไอเอ็ช ไม่ใช่โดยการต่อต้าน    เพราะจะสู้ไม่ไหว      คนไทยส่วนใหญ่ยอมรับลัทธินี้    โรคนี้เอาชนะได้ด้วย ปลาทู   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวปลา     ซึ่งหมายถึงเป้าหมายใหญ่ขององค์กร     ถ้าเราจับเป้าใหญ่ให้แม่น  ใครจะไป ใครจะมา  จะมีนโยบายส่วนตัวที่เราชอบหรือไม่ชอบอย่างไร หัวปลา ก็จะเหมือนเดิม     ที่สำคัญคือตัวเราเองหา หัวปลา ใหญ่เป็นหรือไม่    หรือไปมัวหลงกอด หัวปลา เล็กกระจิ๋วหลิวนิดเดียว  

           ผมมีเพื่อนร่วมงานเก่าที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สองคน ที่เอ่ยเรื่องทำนองนี้อยู่เสมอ     ว่าไม่ว่าจะมีโครงการ  วิธีการ  หรือวิธีวัด ใหม่ๆ เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพของงาน หรือผลสัมฤทธิ์ของงาน     ก็ไม่มีปัญหา  ไม่ต้องเปลี่ยนวิธีทำงานใหม่     เพราะเราทำเรื่องนั้นอยู่แล้ว     เพียงแต่เรียบเรียงรายงานขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามรูปแบบของโครงการใหม่ ก็ใช้ได้     สองคนนี้คือคุณเนาวนิตย์ ทฤษฎิคุณ หัวหน้างานเภสัชกรรม  กับคุณราศรี แก้วนพรัตน์ พยาบาลชำนาญการระดับ ๙  อดีตหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล      แนวคิดทำนองนี้ คุณหมอพิเชฐ บัญญัติ ผอ. รพ. บ้านตาก ก็เคยกล่าวไว้

           คนที่จะทำอย่างนี้ได้ ต้องเป็นคนที่มอง หัวปลา ใหญ่ออก   คิดใหญ่เป็น     และสามารถทำงานตาม หัวปลา ใหญ่ ให้สนองงานได้ทุกกระบวนท่า     โดยได้ผลทั้งผลจริง และผลที่นายต้องการ     ซึ่งในบางกรณีก็ตรงกัน   แต่ในบางกรณีก็ต้องใช้วิธีตีความ

วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๔๘

คำสำคัญ (Tags): #480605#nih
หมายเลขบันทึก: 67เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2005 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:51 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขออนุญาตท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ ใช้พื้นที่ Comment ของ Blog ใหม่ ๆ เช่น Blog นี้เป็นช่องทางติดต่อพูดคุยครับ

1. ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงที่ท่านอาจารย์ได้เข้าไป Comment และติดตามเรื่องการจัดการความรู้ด้านการศึกษาใน http://weblog.manager.co.th/publichome/aisune เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 48 เวลา 19:55 น.

2. ผมพูดคุยกับผู้บริหาร 2 รอบแล้วครับ ยังเงียบอยู่เลย เห็นทีจะต้องใช้พลังมวลชนจากเจ๊ ๆ (กรรมการโรงเรียนสอาดเผดิมวิทยาส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจหญิง พบปะกันในหอการค้าชุมพร เป็นประจำ) เคยคุยกันแล้ว เจ๊ ๆ กะจะบู๊กับผู้บริหารของโรงเรียนฯ เพราะไม่ค่อยประทับใจกับความเฉื่อยชา จะตอบสนองทำงานต้องมาพร้อมคำสั่งจากหน่วยเหนือ

3. ผมไม่อยากให้เริ่มต้นด้วยความบีบคั้น แต่มาวิเคราะห์พร้อมกับได้รับข้อมูลจาก Blog ของท่านอาจารย์เรื่อง การจัดการความรู้ในหน่วยราชการ (4 มิ.ย.48) เห็นจริงกับข้อสรุปว่า "การจัดการความรู้ต้องทำอยู่ภายใต้สภาพที่ผู้เข้ามาร่วมมองเห็นว่าผลประโยชน์ของตน กับผลประโยชน์ของหน่วยงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

4. วันนี้เวลาห้าโมงเย็น หอการค้าชุมพรจะประชุมกัน ผมจะพูดคุยเรื่องนี้กับพวกเจ๊ ๆ ครับ

5. แต่ในช่วงนี้ ผมได้นำความรู้เรื่อง KM ที่เก็บเกี่ยวจาก Weblog ของอาจารย์ โดยเฉพาะ Model ปลาทู ไปเผยแพร่ให้กับหลาย ๆ กลุ่ม ที่เป็นองค์กรธุรกิจเอกชน ที่เป็นทางการและผ่านมาแล้วก็เมื่อวันที่ 21 พ.ค.48 วันปฐมนิเทศ ชมรม คพอ. (กลุ่มนักธุรกิจ SMEs) จ.สงขลา คุยกันภายใต้ Concept ของ Model ปลาทู และทดลองทำตารางแห่งอิสรภาพ ด้วยครับ

6. วันที่ 12 มิ.ย.48 ผมจะนำเสนออีกครั้งในวันปฐมนิเทศ หอการค้า จ.กำแพงเพชร ครับ

7. ผมประเมินว่า เรื่อง KM เป็นอะไรที่ใช้ได้ดีกับ องค์กรธุรกิจเอกชน เช่น หอการค้าจังหวัด เพราะระบบความสัมพันธ์ในหอการค้าไม่ใช่วัฒนธรรมเชิงอำนาจเหมือนระบบราชการ ทุกคนเป็นอาสาสมัคร เป็นเถ้าแก่ที่มี Tacit ในตัวเองสูงมาก แต่ต้องเรียนรู้ กฎ กติกา มารยาท ของการทำ Story-Telling ผมเพิ่มเติมคำว่า Story-Listening เข้าไปด้วยครับ โดยไปหยิบยืม การฟัง/คิด/ตระหนักรู้ แล้วจึงออกความคิดเห็นของ Peter Senge และคณะ ที่คุณหมอประเวศ วะสี เขียนลงใน นสพ.มติชน ชื่อบทความ "หรือว่าคุณทักษิณกำลังลงไปตามขาของตัว U"

8. ขอแจ้งให้ท่านอาจารย์ชื่นใจว่า ผมติดตามผลงานของท่านอาจารย์ทุกวัน Print บทความทุกตอนออกมาอ่านซ้ำก่อนนอน ตอนนี้กำลังอ่านชุดใหญ่ 17 หน้า เรื่อง ตลาดนัดความรู้ อบต.ท้ายน้ำ อ.โพทะเล จ.พิจิตร อยู่ครับ

9. มีความคืบหน้า ผมจะ Post เข้ามาใหม่ครับ

ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์
6 มิ.ย.48

 

อาจารย์ ค่ะ

อาจารย์ช่วยยกกรณีตัวอย่างผู้บริหารที่เป็นโรคนี้ในต่างประเทศ หรือในประเทศเราหน่อยได้ไหมค่ะ

 

น้ำค่ะ

องค์กรไหนบ้างที่อยู่ใต้สภาวะของของผู้บริหารที่เป็นโรค NIH
องค์กรไหนบ้างที่อยู่ใต้สภาวะของของผู้บริหารที่เป็นโรค NIH

เรื่องนี้กำลังเป็นที่สนใจมากค่ะ สำหรับสื่อมวลชน เนื่องจากโรคเอ็นไอเอ็ช ที่อาจารย์กล่าวถึงมันเข้ากับกระแสสังคมการเมืองในบ้านเราขณะนี้...ทำให้มีสำนักข่าวโทรมาขอนัดสัมภาษณ์ท่านอาจารย์ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับโรคเอ็นไอเอ็ช และเชื่อมโยงไปถึงความอยากรู้ที่มาที่ไปของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)ว่ามีหน้าที่ทำอะไร...

ล่าสุดที่เป็นข่าวไปแล้วก็ในหน้า 2 ของสยามรัฐ และรายการโทรทัศน์เก็บตกจากเนชั่น เมื่อเช้าวันนี้ค่ะ

ใน posttoday ฉบับวันนี้ ก็มีค่ะ

หนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันที่ 17 มิ.ย.48ด้วยค่ะ

ขอข่าว นสพ. มาดูด้วยครับ    วิทยุ อสมท. ๙๖.๕ สัมภาษณ์สดผมออกรายการคืนวันที่ ๑๕

เนชั่นทีวีติดต่อจะให้ไปบันทึกเทป วันที่ ๑๖ แต่ผมไม่สะดวก

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท