ชีวิตที่พอเพียง : 171. เอ็กซเทิร์นรุ่นแรก


        เมื่อค่ำวันที่ ๔ พย. ๔๙ ภรรยาและผมไปร่วมงาน "สมาคมนักศึกษาเก่าแพทย์ มอ." ที่เขามาจัดที่โรงแรม ดิ เอ็มเมอรัล  ถนนรัชดาภิเษก     มีบัณฑิตรุ่นต่างๆ มากันคับคั่ง      และเขาเชิญอาจารย์รุ่นแรกๆ ซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกมาร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง      บัณฑิตแพทย์ มอ. รุ่นแรกจบปี พ.ศ. ๒๕๒๒    ตอนนี้จึงมีบัณฑิตจบแล้ว ๒๘ รุ่น     พวกรุ่นแรกๆ จึงเป็นผู้ใหญ่เต็มที่     บางคนเป็นผู้อำนวยการ   บางคนเป็นายแพทย์ สสจ. ฯลฯ 

        คนที่ได้มีโชคดี ได้ไปทำงานบุกเบิกหน่วยงานอย่างผม     จะมีความสุขอยู่ลึกๆ เมื่อได้เห็นและทบทวนเรื่องราวที่นำไปสู่ความสำเร็จ     ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้นตอนที่มันเกิดจริงๆ มันไม่ได้สะดวกดายหวานชื่น    มันเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม     แต่ในที่สุดเมื่อเหตุการณ์ผ่านไป     เรามักได้ความทรงจำที่ดีไว้ประดับชีวิต (ที่อาจไม่มีใครเห็น) 

        แพทย์ มอ. แต่ละรุ่นเขาจะส่งตัวแทนมากล่าวกับอาจารย์และเพื่อนๆ      พอถึงรุ่นที่ ๘ ตัวแทนก็ขึ้นมาบอกว่า นี่คือ เอ็กซเทิร์นรุ่นแรก     ทำให้ผมติดใจ ว่าการเป็นเอ็กซเทิร์นรุ่นแรกจะต้องมีประสบการณ์ฝังใจเขา      เสียดายที่เขาไม่ได้ขยายความต่อ ว่าการเป็นเอ็กซเทิร์นรุ่นแรกมันให้อะไรแก่เขา     หรือก่อบาดแผลอะไรให้แก่ชีวิตเขา      และผมก็ไม่มีโอกาสไปซักถามเขาต่อ 

        แต่เรื่อง เอ็กซเทิร์น ก็เป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจในชีวิตการทำงานของผม     ที่ได้ต่อสู้ฟันฝ่าจนสามารถจัดให้ เอ็กซเทิร์น ปฏิบัติงานเต็ม ๓๖๕ วัน    และออกไปฝึกปฏิบัติงานนอก รพ. สงขลานครินทร์ เป็นเวลา ๖ เดือนเต็ม     เพื่อให้มีโอกาสฝึกปฏิบัติในสถานการณ์นอกโรงเรียนแพทย์     ซึ่งเป็นสถานการณ์จริงที่ทุกคนต้องออกไปเผชิญ   

         ผมต่อสู้ โดยใช้เหตุผลอธิบาย จนสามารถขอมติที่ประชุมคณะกรรมการคณะให้มีมติที่สำคัญยิ่ง ๒ ประการ ในการฝึกอบรม เอ็กซเทิร์น ของคณะแพทย์ มอ. คือ
            (๑) เอ็กซเทิร์น (นักศึกษาแพทย์ ปี ๖) ต้องฝึกเหมือน อินเทิร์น และต้องฝึกเต็ม ๑ ปี หรือ ๓๖๕ วัน เหมือน อินเทิร์น    ไม่ใช่ฝึกตามระยะเวลาเปิดเทอมของมหาวิทยาลัย              
           (๒) เพื่อให้ เอ็กซเทิร์น ได้ฝึกทักษะในการปฏิบัติรักษาผู้ป่วยด้วยตนเองให้มาก     ต้องส่งออกไปฝึกใน รพ. สมทบ ครึ่งหนึ่งของเวลา     คือ ๖ เดือน     อยู่ฝึกใน รพ. สงขลานครินทร์ เพียง ๖ เดือน     ประเด็นนี้พวกอาจารย์ทำใจยากมาก    กลัวว่าลูกศิษย์จะไม่ได้รับการดูแลใกล้ชิดจากอาจารย์ใน รพ. สมทบบ้าง     กลัวลูกศิษย์ จะไปทำให้ผู้ป่วยเสียหายบ้าง

         กว่าจะได้ รพ. สมทบ ครบ ๕ แห่ง      ผมก็ต้องไปเจรจากับ ผอ. รพ. เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ระดับอาจารย์ แก่กว่าผมกว่า ๒๐ ปีก็มี     หรืออย่างน้อยก็แก่กว่าผม ๙ ปี     ผมพยายามเรียนท่านว่า เราได้ฝึก นศพ. เหล่านี้ให้พร้อมจะทำงานเหมือน อินเทิร์น ที่มีอยู่     แต่เราเรียก อินเทิร์นไม่ได้ เพราะเขายังไม่จบปริญญา      ดังนั้น นศพ. เหล่านี้ มองในมุมหนึ่ง คือแรงงานที่มาช่วยแบ่งเบาพวกหมอรุ่นพี่ๆ     ทาง ผอ. รพ. เหล่านั้น ท่านก็กลัวว่า นศพ. เอ็กซเทิร์น เหล่านี้จะมาเป็นภาระ     มากกว่ามาแบ่งเบางาน

         เราไม่ใช่ว่าจะสบาย ที่ลูกศิษย์ ครึ่งหนึ่งออกไปฝึกข้างนอก     ด้วยความเป็นห่วงว่าจะไม่ได้ผลดังคาดหวัง     และเพื่อทำความเข้าใจกับอาจารย์แพทย์ของ รพ. สมทบ     คณบดีจะออกไปเยี่ยมลูกศิษย์ ร่วมกับหัวหน้าภาควิชาหรืออาจารย์ผู้ใหญ่ (ซึ่งตอนนั้นอายุน้อยๆ กันทั้งนั้น)     การทำงานช่วงนั้น ให้ความประทับใจไม่รู้ลืม

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 66977เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท