CSR : Corporate Social Responsibility กับการพัฒนาการศึกษาไทย


องค์กรธุรกิจจำนวนมากเลือกประเด็นการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินกิจกรรมด้าน CSR

ประชาชาติธุรกิจ   วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3852 (3052)

CSR กับการพัฒนาการศึกษาไทย (1) เปิดโมเดลสร้างกิจกรรมแบบมีกลยุทธ์

จากการประเมินล่าสุดของสำนักงานรับรองและประเมินมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) ระบุมีโรงเรียนที่ต่ำกว่ามาตรฐานถึง 20,000 แห่ง จาก 30,000 แห่งทั่วประเทศไทย และโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่อยู่ในชนบท

ข้อมูลข้างต้นสะท้อนได้ดีถึงการศึกษาไทย ที่ยังคงเต็มไปด้วยปัญหาและรอวันเยียวยา ลำพังแค่ภาครัฐอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่หมักหมมและซับซ้อนนี้ได้ จึงขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคม

น่าสนใจว่าทิศทางที่เกิดขึ้นวันนี้เป็นเช่นนั้นเมื่อมีองค์กรธุรกิจจำนวนมากเลือกประเด็นการศึกษาเป็นประเด็นสำคัญที่บริษัทที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในการดำเนินกิจกรรมด้าน CSR (corporate social responsibility)

ด้วยเหตุนี้หนังสือพิมพ์ "ประชาชาติธุรกิจ" กองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงจัดสัมมนาเรื่อง "CSR กับการพัฒนาการศึกษาไทย" ขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา ที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมือง โดยมีการนำเสนอโมเดลของการประยุกต์ใช้ CSR กับการพัฒนาการศึกษา และมีกรณีศึกษา 3 ราย ได้แก่ บริษัทสยาม ซีเมนต์ กรุ๊ป (SCG) บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และบริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด

"ถ้าจะเปรียบการศึกษาในระบบเป็นเหมือนของแข็ง การศึกษานอกระบบก็เหมือนน้ำ การศึกษาตามอัธยาศัยก็เหมือนอากาศ ที่เราสามารถสัมผัสได้และรู้ว่ามีอยู่"

อนันตชัย ยูรประถม นักวิชาการด้าน CSR โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) ให้คำจำกัดความของการศึกษา และว่า การศึกษาไม่ได้มีแต่เฉพาะในห้องเรียน แต่ปรัชญาของการศึกษาคือการศึกษาตลอดชีวิต คือการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ปรับตามแต่ละพื้นที่ การศึกษายังเป็นการเรียนรู้เพื่อชีวิต เพื่อสร้างอาชีพ และเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกัน

วางกรอบการทำงาน

เขายังกล่าวด้วยว่า ในการทำกิจกรรม CSR เพื่อให้ชัด จะอ้างอิงตามกรอบของ ฟิลิป คอต เลอร์ และแนนซี่ ลี ได้แก่ 1.cost promotion เป็นเรื่องที่บริษัทมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีกิจกรรมทางสังคม เช่น สายการบินระดมทุนช่วยโรงเรียนยากจน 2.corporate social marketing การตลาดเพื่อสังคม หรือการที่บริษัทใช้กลยุทธ์และเครื่องมือทางการตลาดให้ก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น สสส.รณรงค์เลิกดื่มเหล้า 3.cost relate marketing บริษัทแบ่งส่วนหนึ่งของรายได้มาบริจาคเพื่อกิจกรรมเพื่อสังคม 4.corporate philantrophy การบริจาคเงินให้องค์กรการกุศล รวมถึงเทคโนโลยี 4.community volunteering การมีส่วนร่วม เป็นการที่บริษัทพาพนักงานทำกิจกรรมเพื่อสังคม 5.socially responsibility business practices การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

step by step

ในการสัมมนาครั้งนี้เขายังเสนอโมเดลของการทำ CSR กับการพัฒนาการศึกษา โดยให้ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ตรงกลาง นั่นหมายถึงกลุ่มเป้าหมายที่บริษัทตั้งเป้าที่จะพัฒนา วงกลมที่ 2 ที่อยู่ล้อมรอบคือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าองค์กรจะเลือกที่จะพัฒนาการศึกษาในลักษณะไหน วงกลมที่ 3 ซึ่งอยู่วงนอกสุด เป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรมด้าน CSR ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรจะเลือกใช้เครื่องมือไหน

"จะเห็นได้ว่าในโมเดลวงกลมทั้ง 3 จะหมุนได้ สามารถสับเปลี่ยนได้ตลอด มันเคลื่อนไหวและมีชีวิต เช่น อาจจะมีกลุ่มเป้าหมายคือพัฒนาผู้เรียน ผ่านการศึกษาในระบบ โดยใช้เครื่องมือด้าน cost promotion โดยบริษัทมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ประชาชนมีกิจกรรมทางสังคม ขณะเดียวกันเมื่อถึงวันหนึ่งอาจจะกลับด้านโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สอน ผ่านการศึกษานอกระบบ โดยใช้ community volunteering ที่ให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของครู

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าหากการทำกิจกรรมจะมีประสิทธิผล ต้องทำแบบมีขั้นตอน (step by step) 1.การเลือกกลุ่มเป้าหมาย ครู เด็ก อาจารย์ 2.การเลือกพันธมิตร (partnership) 3.การทำวิจัย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นหากนำการวิจัยไปไว้อันแรกบริษัทอาจมีปัญหาในเรื่องการดำเนินการในการหาข้อมูล 4.สร้างโครงการ 5.ประเมินผลและติดตาม

สึนามิที่อีสาน

อนันตชัยยกตัวอย่าง กรณีของบริษัท UBS ซึ่งมีเป้าหมายคือต้องการช่วยผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งบริษัทเลือกมูลนิธิ EDF เป็นพันธมิตร แทนที่จะไปทำทางใต้เลือกไปที่อีสาน ที่บุรีรัมย์ และสกลนคร เพราะมีพ่อแม่ของเด็กจำนวนมากที่ไปทำงานทางใต้และไปเสียชีวิต เป็นพื้นที่เป้าหมายมีเด็กที่ได้รับผลกระทบมากถึง 70-90 คน จากนั้นจึงมามองว่าเด็กต้องการอะไร และนำแนวคิดนี้มาวางกลยุทธ์และลงมือปฏิบัติ โดยวางเป้าหมายว่าในปี 2549 จะดำเนินการโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง (barter between brothers : BBB) ให้เกิดการผลิตอาหารและส่งเสริมอาชีพในโรงเรียนเพื่อให้เด็กมีอาหารกินเพียงพอและสามารถนำกลับไปแบ่งปันที่บ้านได้ โดยโรงเรียนเป็นคนคิดโครงการตามความถนัดและความเหมาะสมของพื้นที่ ไม่เพียงเป็นแหล่งผลิตอาหารยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับโรงเรียนเพื่อจะนำไปใช้เป็นทุนการศึกษา เด็กในโรงเรียนยังมีโอกาสเรียนรู้ทักษะการประกอบอาชีพ บางโรงเรียนมีการนำไปบรรจุอยู่ในหลักสูตรด้วย ขณะเดียวกันยังมีการแลกเปลี่ยนอาหารกันระหว่างโรงเรียนพี่และโรงเรียนน้องซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลกันมากโดยไม่ต้องใช้เงิน เช่น เอาข้าวไปแลกหมู โดยไม่ได้คิดมูลค่าเป็นราคาตามท้องตลาด แต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละโรงเรียน

มากกว่านั้น การพัฒนาโครงการยังมีการแลกเปลี่ยนทักษะและการประกอบอาชีพระหว่างกัน จากนี้ในปี 2550 มีการวางกลยุทธ์ระยะยาวในการขยายเครือข่ายออกเป็น 4 โรงเรียน และในปี 2551 จะขยายเครือข่ายออกไปอีก

ประเมินผลหัวใจสำคัญ

"พอเริ่มดำเนินการไประยะหนึ่ง ก็เริ่มติดตามประเมินผล และรายงานความก้าวหน้าของโครง การซึ่งมีความจำเป็นในการทำ CSR เราพบว่าเด็กได้ประโยชน์ ครอบครัวก็ได้ประโยชน์ แต่โรงเรียนยังเจอปัญหาอื่นอีก ในวันที่มีกิจกรรมพนักงานอาสาสมัครซึ่งลงพื้นที่ยังโรงเรียนในโครง การ ก็มีการเข้าไปสอนภาษาอังกฤษเด็ก และพบว่าเด็กมีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษมาก จึงมีการทำโครงการพัฒนาภาษาอังกฤษเพิ่มและเพิ่มพันธมิตรในการทำโครงการเข้ามา คือโรงเรียนนานาชาติ โดยจะทำโครงการพัฒนาทักษะการสอนภาษาอังกฤษสำหรับครู จะเห็นว่าเท่ากับว่ามีการเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายในการทำงาน"

ดังนั้นหากมองวิธีการปฏิบัติในการดำเนินการโครงการตามขั้นตอน จะเห็นได้ว่าท้ายที่สุดหลังจากการติดตามและประเมินผลในบางครั้งก็จะวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นในการทำโครงการใหม่

อย่างไรก็ตามในการประเมินผล อนันตชัยกล่าวว่า "คนมักมองว่าการทำ CSR เป็นการทำบุญทำแล้วสบายใจ ในอีกด้านถ้าเรามองว่าเป็นการลงทุนทางสังคม ต้องมีการประเมินผล ติดตามผล และต้องมีการตั้งเป้า ซึ่งในการทำโครงการต้องเกิดประโยชน์ทั้งกับภายในและภายนอก อย่างกรณีของ TNT ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการลอจิสติก มีความชัดเจนว่าจากการประเมินผลพนักงานมีความพึงพอใจ ดังนั้นการทำกิจกรรม CSR แบบมีกลยุทธ์และมีการวางแผนนั้นจะทำให้ทั้งบริษัทก็ได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันสังคมก็ได้ประโยชน์ด้วย"

นี่เป็นการประยุกต์ใช้ CSR ในการเป็นเครื่องมือสู่การพัฒนาการศึกษาเพื่อให้เกิดประสิทธิผลและความยั่งยืนไม่ใช่ทำเพียงเพื่อฉาบฉวย !!

(ฉบับ 18-20 ธันวาคม 2549 พบกับ 3 กรณีศึกษา 3 SCG ฮอนด้า บริดจสโตน กับ 3 มุมมอง 3 วิธีคิด ในการทำ CSR ด้านการศึกษา)

หน้า 48

คำสำคัญ (Tags): #csr
หมายเลขบันทึก: 66965เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 15:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

From the article, it is a brillian idea to implement CSR with education because CSR has been recognise as one of the effective tool in quality improvement methods. However, we need to make sure that it is not only use in the purpose of building own reputation or benefit, but for the benefit of the nations.

ธีระ เทิดพุทธธรรม
CSR แม้ว่าจะเป็นแนวคิดสำหรับองค์การในการช่วยเหลือสังคมหรือการตอบแทนสังคม หากมองในแง่ของการลงทุนแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ก่อให้เกิดผลในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วต้องผสานกับหลักการทางการตลาด เพื่อสร้างผลในทางการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ และองค์การส่วนใหญ่มักตอบแทนสังคมในแง่การบริจาค

บทความนี้เป็นการนำเสนอประเด็นที่ตรงกับความสนใจมาก ๆ ค่ะ เพราะมีความเชื่อว่าน่าจะมีรูปแบบของการนำ CSR มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างความย่งยืน ขณะนี้กำลังศึกษารูปแบบCSR เชิงกลยุทธ์มาใช้ในการพัฒนาด้านการศึกษาตาม missionของมหาวิทยาลัย และเลือกศึกษาเฉพาะเจาะจงเป็นมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ ใช้กรอบการวิจัยแบบPAR ลองศึกษาดูที่มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี และทำเป็นดุษฎีนิพนธ์อยู่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท