ลุงไม่อยากนอนห้องพิเศษ


ลุงไม่อยากนอนห้องพิเศษ


    โดยปกติของผู้ป่วยที่มาพักรักษาในโรงพยาบาล ความต้องการอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับคำสั่งแพทย์ให้พักนอนในโรงพยาบาล การขอพักในห้องพิเศษ   เฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการหรือมีสิทธิรักษาของข้าราชการ เราในฐานะเป็นพยาบาลก็เป็นอันรู้กันว่า หากกลุ่มดังกล่าวเข้ามาพักก็ต้องหาห้องพิเศษไว้ก่อน หากไม่มีก็ต้องเตรียมจองไว้ แล้วก็เตรียมคำอธิบายแก่ญาติหรือผู้ป่วยไว้ว่า เหตุใดจึงไม่ได้พักรักษาในห้องพิเศษ

  

        วันนี้ที่ห้องประชุมของพยาบาล มีหัวข้อที่นินทากันอยู่เรื่องหนึ่งคือ ทำไมลุงพลแกไม่นอนห้องพิเศษ ทั้งที่แกก็มีสิทธิ์ข้าราชการ เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่ถกกันอย่างมากว่า เป็นเพราะไม่มีญาติเฝ้า เห็นญาติมาแค่แว่บๆตอนหัวค่ำ แล้วพอหมดเวลาเยี่ยมก็กลับไป พวกเราเองก็ดูเป็นห่วงเป็นกังวลกับลุงพลเป็นอย่างมาก ว่า โรคเบาหวานที่ลุงป่วยกับโรคปอดบวมที่ป่วยขึ้นมาอีกโรค หากกลับบ้านไป การดูแลคุณลุงจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไรดีกับความกังวลของเรา วันนั้นจึงได้สรุปให้เราไปพูดคุยเรื่องราวชีวิตของคุณลุง

             ลุงพล อายุ ๖๖ ปี เป็นทหารที่เกษียณราชการแล้ว คุณลุงมีบุตรอยู่ ๕ คน เป็นชาย ๑ หญิง ๔ ทั้งห้าต่างมีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่งทุกคน คุณลุงมีหลานชายอยู่ ๔ คน ปัจจุบันคุณลุงอยู่กับภรรยา ลูกสาวคนสุดท้อง ลูกเขยที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว และหลานชายอีก ๒ คน เมื่อถามถึงลูกๆของคุณลุง คุณลุงจะชอบเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ ว่า ลูกๆทุกคนเป็นคนดี ตั้งใจทำมาหากิน ไม่เคยรบกวนพ่อแม่ มีแต่มาช่วยเหลือพ่อแม่  บอกว่าลูกที่ทำงานอยู่ใกล้ก็เป็นลูกสาวคนสุดท้องที่เป็นแม่บ้านซึ่งรับดูแลคุณลุงและภรรยา ส่วนอีกคนเป็นลูกชายคนโตทำงานเป็นครูอยู่ต่างอำเภอแต่แวะเวียนมาเยี่ยมพ่อแม่สม่ำเสมอ ลูกสาวอีกสามคนก็ทำงานที่ต่างจังหวัด แต่ก็หมั่นโทรศัพท์มาหาเป็นประจำ ช่วงที่เจ็บป่วยก็จะโทรมาคุยทุกวัน ตอนที่คุยคุณลุงก็บอกถึงลูกว่า “นี่เมื่อครู่ลูกสาวคนรองก็โทร มาหาลุงว่าเป็นไงบ้าง บอกว่าจะมาเยี่ยม ลุงก็บอกว่าไม่ต้องมา เสียเวลาทำงาน อยู่กับหมอก็สบายดี ” เมื่อถามถึงโรคเบาหวาน คุณลุงบอกว่า “ลุงเป็นมา ๔ ปีแล้ว หลังเกษียณนี่แหละ ไม่มีอะไรทำก็เลย ไปสนุกเฮฮากับเพื่อนฝูง มันคงเกิดจากดื่มเหล้าเยอะ ไม่รักษาสุขภาพ ...  ตอนแรกๆ ก็ไม่รู้สึกอะไร พอตอนหลัง ตอนกลางคืนมันฉี่บ่อย คุยกับเพื่อนๆ บอกว่าสงสัยเป็นเบาหวาน เลยลองไปตรวจดู ก็ใช่จริงๆ น้ำตาลขึ้นตั้ง ๒๐๐ กว่า ”  ส่วนเรื่องการจัดการตัวเองเมื่อรู้ว่าเป็นเบาหวาน คุณลุงกล่าวว่า “แรกๆก็คุมจัด อาหาร ออกกำลังกาย กินยา ตรงเป๊ะตามที่หมอสั่ง ..  หลังๆ ก็ปล่อยๆไม่เห็นมันจะร้ายแรงอะไร หลังๆก็เลยปล่อยตามสบาย อยากดื่มเหล้าดื่มเบียร์ก็ดื่ม นี่หลังสุดมีงานออกพรรษา ไปช่วยเขาทำเทียนพรรษา หลังทำเสร็จก็เลยฉลองกัน พอหลังจากนั้น ๒-๓ วันก็รู้สึกหนักตัว มีไข้ ไม่สบายตัว ลูกๆเขาก็เลยพามาโรงพยาบาลนี่แหละ ....  มาครั้งนี่เป็นครั้งที่ ๒ แล้วนะ ครั้งแรกเห็นบอกว่า ปอดอักเสบ หมอเขาให้ฉีดยาได้ ๕ วัน เห็นบอกว่า ดีขึ้น ก็เลยให้กลับ กลับไปนอนที่บ้านไม่ถึงวันตกเย็น ลุงมีอาการหนาวสั่น ก็เลยกลับมาโรงพยาบาลอีก นี่ก็อยู่มา ๔ วัน แล้ว หมอบอกลุงว่า สงสัยติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องนอนรักษานานหน่อย  ”

            เมื่อถามถึงว่า อยากนอนห้องพิเศษหรือไม่ (เพราะเป็นคำถามที่อยากรู้ ที่เราถกกัน) คุณลุงหัวเราะแล้วบอกว่า “ไม่หรอก คราวก่อนก็นอนห้องพิเศษนะ มันมีอาการหนาวสั่นในห้อง ไอ้ลูกเขยมันก็เป็นแค่ช่าง มันทำอะไรไม่ถูก ได้แต่วิ่งไปเรียกหมอมาดู ห้องพิเศษมันไม่ได้ช่วยอะไรนะ มันเป็นห้องๆ เกิดเป็นอะไรขึ้นมา กว่าจะเรียกหมอได้ก็ใช้เวลา สู้นอนตึกรวมอย่างนี้ไม่ได้ หมอก็อยู่ใกล้ แค่เราร้องเรียกหมอก็เดินมาถึงแล้ว  ” เมื่อถามถึงลูกหรือญาติที่เขามาเฝ้าหรือเยี่ยมว่ารู้สึกอย่างไร “เขาก็ว่าลุงนะว่าทำไมไม่นอนห้องพิเศษ ลุงก็บอกอย่างที่นั่นแหละ นอนตรงนี้มันสะดวก เกิดมีอะไรฉุกเฉินก็ร้องเรียกหมอเอง ใครมาเยี่ยมก็สะดวก นั่ง ยืนคุยกัน นี่อาหารโรงพยาบาลเขาก็จัดเป็นอาหารเหมือนห้องพิเศษทุกอย่าง ลุงไม่ย้ายหรอก ” ระหว่างที่นั่งคุยด้วย ลูกสาวก็เดินเข้ามาเยี่ยม เมื่อถามถึงเหตุผลว่าทำไมไม่ไปอยู่ห้องพิเศษ ลูกสาวบอกว่า “พ่อแกบอกว่า อยู่ที่นี่มันเวลาฉุกเฉินมันบอกให้คนช่วยได้ เพราะคราวก่อนก็ย้ายไปอยู่ห้องพิเศษ แกมีอาการไข้ขึ้น หนาวสั่น แกกลัวว่าแกจะตาย เพราะห้องพิเศษมันอยู่ใครอยู่มัน ไม่มีหมอมาเฝ้า อยู่ที่นี่มีหมอให้แกเห็นตลอดเวลา แกจะเรียกตอนไหนก็ได้ ”

      เราเองได้นำเรื่องนี่มาเล่าให้เพื่อนๆฟัง มีหลายคนยังสงสัยว่าจะมีเหตุผลอีกหรือไม่ เป็นเพราะครอบครัวไม่ดูแล ลุงมีปัญหาอะไรหรือ?????  หลายสิบเหตุผลที่เราคิดไปเอง แต่เราเองก็ได้สรุปการเรียนรู้จากการพูดคุยว่า สิ่งที่เราได้ประสบเห็น บางครั้งเราได้ตีค่าสิ่งที่เราประสบด้วยกรอบประสบการณ์ที่เรามีอยู่ เราเห็นผู้ป่วยบอกว่า ปวดท้อง เราก็เห็นแค่ปวดท้อง เราเห็นเขามาขอยาแก้ไข โดยไม่มีอาการไข้ เราก็ตีความว่า เขาต้องการยาไปเก็บไว้ แค่นั้น ดังเราเห็นลุงพล ไม่ยอมนอนห้องพิเศษ เรากลับมองไปต่างๆนานา แต่หากเราได้พูดคุยกัน เรากลับพบว่า มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่เราคิดทั้งหมด แต่ละคนต่างมีเหตุมีปัจจัยต่างกันที่ใช้ตัดสินใจเพื่อกระทำสิ่งต่างๆออกไป

            ดังนั้นในการทำงานดูแลผู้คน จำเป็นต้องทำความเข้าใจเขาด้วยการพูดคุย โดยฟังเรื่องราวของเขาอย่างเข้าถึงเพื่อให้เข้าใจเขา มิใช่ฟังเพื่อสรุปว่า เป็นอย่างที่ตนคิดหรือไม่ เพราะการสรุปไว้ล่วงหน้าไว้แล้วทำให้เราขาดโอกาสในการเรียนรู้เขา ทำให้เราจมอยู่ในวังวนความรู้ที่คิดว่าเป็นความรู้ จนหาทางออกจากสิ่งนั้นไม่ได้ทั้งชีวิต

สุพัฒน์  สมจิตรสกุล

๑๓  ธันวาคม ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 66960เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2006 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท