ISO 15189 พยาธิ มอ. : อย่ามองแบบเรียลไทม์ (7)


ปฏิบัติสม่ำเสมอจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรเป็นองค์กรคุณภาพไงคะ

 กลับมาวันจันทร์ที่ 11 ธ.ค. เข้ามาเห็นว่ามีคนให้กำลังใจหลายคน ทั้งคุณขจิต ฝอยทอง โอ๋-อโณทัย คุณศิริ คุณนิดหน่อย  อ.ปารมี และ อ.วิจารณ์  ต้องขอขอบคุณ และขอบพระคุณ อ.วิจารณ์มากๆ ที่กรุณาส่ง “ซิก” มาให้กำลังใจ  แต่อาจารย์ก็ทำให้หนูลำบากเหมือนกันนะคะ เพราะเท่ากับส่งสัญญาณเตือนว่า “ปลื้มจิต อย่าลุ่มๆ ดอนๆ นะ”  “ค่ะ หนูจะพยายาม”

            ตอนที่ 6  ดิฉันทิ้งท้ายคำว่า All or None เอาไว้ ดิฉันเปรียบเทียบเอาเองว่าเกณฑ์การรับรองของ ISO 15189 เป็นอย่างนี้  หมายความว่าอย่างไร  หมายความว่า เราขอรับการประเมินไปกี่การทดสอบ จะต้องผ่านทั้งหมด  ไม่ใช่โหวตคะแนนเสียงเหมือนคณะกรรมการ ปปช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ


            ดังนั้น ท่านที่ติดตามเรื่องเล่ามาโดยตลอดจะเห็นว่า เป็นงานช้าง งานยาก มิใช่เล่น เพราะเราขอในนามของภาควิชา ซึ่งประกอบด้วย 8 หน่วยและมีการทดสอบเกือบ 70 รายการ  หากรายการหนึ่งรายการใดไม่ผ่านก็คือ F (Fail)  จึงต้องพร้อมจริงๆ  จะต้องมีการประเมินกันภายในก่อน โดยคณะกรรมการประเมินของภาควิชาที่มี อ.สินีนาฏ เป็นหัวหน้าทีม  สิ้นเดือนกุมภา 2550 ก็น่าจะมองเห็นเค้าลางชัดเจนมากขึ้นว่าจะส่งประกวดได้กี่หน่วย แต่ภาควิชาฯ หวังไว้ว่าส่งหมด อ้าว ! เรามารวมพลังกันผลักดันนะคะ


            หลายท่านคงสงสัยว่า แล้วแลบอื่นๆ ที่ยังไม่ขอรับรองคราวนี้ ปล่อยให้เป็น home alone หรือ?ปล่าวค่ะ.... เราปูพรมระบบคุณภาพไปหมดทุกห้องแลบ เพราะคุณภาพคือหัวใจของการทำงานทุกๆ อย่าง บางห้องมีศักยภาพมากแต่ยังไม่มี EQA ชัดเจน เลยรอไปรอบสอง เช่น หมออ๋อ (อ.สินิจธร) แห่งหน่วยพันธุศาสตร์ (เวลาเขียนชื่อเล่นของเธอ ดิฉันจะระวังมากเป็นพิเศษไม่ให้มีสระ “เอ”  นำหน้า “ออ อ่าง” สองตัวนั้น เธอโกรธตายแน่ๆ) บอกว่า “พี่ เรารอดูลาดเลาของรามาขอก่อนนะ?”  นี่ก็ส่งสัญญาว่าข้าพร้อมแล้วนะ  วุ๊ย!!! ดีใจ


            กลับจากดูงานที่ กทม. เรามีแผนประชาสัมพันธ์บุคลากรเรื่อง ISO15189  พี่เม่ย คนสวยและคนเก่งของเราอาสาทำแผ่นพับสีเขียว แจกจ่ายไปทุกห้อง ขอสรุปคำถามคำตอบสั้นๆ มาให้ดูอีกครั้ง ตัวละครใหม่เริ่มปรากฎอีก 1 คนแล้วนะ


1. ISO15189 คืออะไร ตอบไปแล้วในตอนที่ 1
2. ทำไมต้องได้รับการรับรอง ISO15189  ก็เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพการตรวจวิเคราะห์ทางห้องแลบ และแสดงให้เห็นว่ามีการบริหารจัดการคุณภาพอย่างเป็นระบบ ชัดเจน น่าเชื่อถือ
3. มีคุณภาพแบบเราๆ ไม่ต้องขอรับรองไม่ได้หรือ  ใครๆ ก็คงป่าวประกาศได้ว่าตัวเองมีคุณภาพ แล้วเอาอะไรมาวัดว่าคุณภาพระดับไหน การได้รับการรับรองมาตรฐาน ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการยอมรับจากผู้รับบริการ
4. ได้รับรองแล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง  อย่างน้อยก็เป็นที่ยอมรับระดับสากล  แต่ลึกๆ เรามีเป้าหมายหลักคือ ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการได้ประโยชน์สูงสุด
5. จะต้องทำอย่างไรบ้าง ถ้าต้องขอรับรอง ผู้นำองค์กรวิเคราะห์ความพร้อมของหน่วยงาน ทำความเข้าใจ สื่อสาร ตั้งเป้าหมายร่วมกัน ทำงานเป็นทีม
6. ข้อกำหนดมีอะไรบ้าง รู้ได้จากใคร แต่ละหน่วยจะมีตัวแทนด้านคุณภาพและวิชาการชี้แจงข้อกำหนดต่างๆ ให้ทุกคนรับทราบได้
7. การขอ ISO ต้องทำงานเพิ่มใช่ไม๊? เพิ่มแน่ๆ โดยเฉพาะงานเอกสาร แต่.... ในแต่ละหน่วยจะมีตัวแทนด้านเทคนิควิชาการและด้านจัดการคุณภาพคอยจัดระบบเอกสารให้ อย่าวิตกไปเลยค่ะ 
8. ถ้าเห็นด้วยแล้วจะร่วมมืออย่างไร ปฏิบัติตามข้อกำหนด อย่างเคร่งครัด เท่านี้เป็นพอ ใส่ใจการบันทึกสิ่งที่กระทำ มีข้อดีคือ มีหลักฐานและตรวจสอบได้ ไม่ต้องมาเถียงกันภายหลัง
9. เมื่อได้รับรองแล้ว ทำไงต่อ ปฏิบัติสม่ำเสมอจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไงคะ

           ขอบคุณ  พี่เม่ย ที่รับเป็น PR ให้ ท่านลอง อ่านทบทวนอีกครั้ง หรือ “โปรดฟังอีกครั้ง” เหมือนประกาศ “คปค” วันที่ 19 กันยา 2549 ไง หวังว่ายังคงจำกันได้
 

หมายเลขบันทึก: 66752เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2006 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ อ่านทบทวนอีกครั้ง แล้ว ดีมากเลยค่ะ  ทำให้เห็นภาพอะไรๆ ชัดขึ้น  ขอบคุณค่ะ

  • เป็นงานช้าง
  • ท่าทางสนุกจัดที่สุรินทร์ใช่ไหมครับ
  • มารออ่านอีกครับ ข้างล่างให้พี่เม่ยใช่ไหมครับ

อ่านทบทวนอีกครั้ง หรือ “โปรดฟังอีกครั้ง”

 Band

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท