ช่องว่างทางวัฒนธรรม


การเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรมเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เข้าใจกัน

ช่วงระยะหลังๆ  มานี้มีคนพูดถึงวิชามานุษยวิทยากันมากขึ้น ซึ่งทำให้ดิฉันดีใจที่สังคมไทยเริ่มเห็นคุณค่าของวิชานี้ และเริ่มนำมาเชื่อมโยงในการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการ คนแรกที่พูดกับดิฉันเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อประมาณเกือบสองปีที่ผ่านมา คือผู้บริหารในองค์กรธุรกิจท่านหนึ่งที่ชอบศึกษาค้นคว้า ท่านเล่าว่าบริษัทที่ท่านทำงานอยู่ซึ่งเป็นบริษัทของญี่ปุ่นในธุรกิจสิ่งทอ ได้ให้ท่านไปศึกษาเกี่ยวกับการจัดการความรู้โดยไม่ต้องทำงานประจำเลยเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม ท่านได้ให้ความคิดเห็นว่าคนที่น่าจะทำเรื่องนี้ได้ดีน่าจะได้เรียนมาทางด้านมานุษยวิทยา เพราะจะเข้าใจในเรื่องวัฒนธรรมได้ดี

ดิฉันตัดสินใจเลือกเรียนวิชานี้เมื่ออยู่ปีที่สาม แต่ก็ได้เรียนวิชาพื้นฐานหลักๆ มาบ้างแล้ว จากแต่เดิมเลือกวิชาเอกตามความสนใจคือประวัติศาสตร์ศิลป์ นานวันเข้าเริ่มมีคำถามมากมายที่ประวัติศาสตร์ศิลป์ไม่ใด้ให้คำตอบ เช่น ทำไมดินแดนสุวรรณภูมิจึงอิทธิพลพรามณ์ ฮินดูปะปนในงานศิลป์มากมายเหลือเกิน ความเชื่อนี้มันเริ่มตรงไหน จะส่งผลอย่างไร อะไรทำนองนี้ ซึ่งมานุษยวิทยาตอบได้มากกว่า

แต่ต้องสารภาพว่าดิฉันเริ่มเข้าใจวิชานี้อย่างลึกซึ้งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หมายถึงการเชื่อมโยงกับชีวิตจริง ความสำคัญของการเข้าใจในความแตกต่างทางวัฒนธรรม จากเมื่อก่อนได้เรียนรู้ถึงเหตุผลเบื้องหลังวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน รู้สึกทึ่ง สนุก แต่เชื่อมโยงอะไรไม่ได้

จนวันนี้เพิ่งจะเริ่มเข้าใจได้แล้วว่านี่คือกุญแจสำคัญดอกหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจกัน

ประสบการณ์ล่าสุดเมื่อวานนี้ เมื่อแม่เข้ามาบ่นเกี่ยวกับความคิดพิลึกพิลั่นของผู้จัดการบ้านคนใหม่ของเราซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาที่เป็นผู้จัดการบ้านมืออาชีพ คือเธอดูแลทำความสะอาดบ้านได้เนี้ยบมาก แต่ตัวเธอเองก็ไม่ค่อยชอบอาบน้ำ และไม่ว่าจะทำอะไรเธอจะระแวดระวังการผิดผีเป็นอย่างมาก แม้แต่การให้ยาพาราฯเพื่อนบ้านไปกิน เธอก็เกรงว่าจะไปลบหรู่คนที่เป็นหมอ เพราะอวดไปให้ยาทั้งๆ ที่ไม่ใช่หมอ จากการที่ได้ไปศึกษาชาวเขามาช่วงหนึ่งในวิชา Minority Group ดิฉันเข้าใจว่าเธอคงคิดถึงพ่อหมอแม่หมอ(ผี) ซึ่งเป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้านมากกว่าหมอจริงๆ ก็เลยอธิบายให้แม่ฟัง แล้วก็คิดต่อในใจว่าผู้จัดการบ้านของเราคงไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมคุณยายถึงต้องแยกกะละมังซักผ้า ล้างผัก

สมัยเรียนอาจาย์สอนว่ามันคือช่องว่างทางวัฒนธรรม

และดิฉันคิดว่านี่แหละคือตัวปัญหาที่ไม่มีใครมองเห็นสักเท่าไหร่

หมายเลขบันทึก: 66745เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2006 16:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท