ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ
ทพญ. ฉลอง ทพญ ฉลอง เอื้องสุวรรณ เอื้องสุวรรณ

เด็กกลัวทำฟัน ดูแลเขาอย่างไรดี


ควานรุ่มรวยภายใน...สู่การปริการที่กรุณา
เด็กกลัวทำฟัน ดูแลเขาอย่างไรดี ข้าพเจ้าสังเกตผู้ป่วยที่มารับบริการทำฟันหลายรายมาด้วยความกลัว ข้าพเจ้าได้ใช้พลังแห่งความรักความเมตตาเพื่อนำพาเด็ก ๆ เหล่านั้นขึ้นนอนบนยูนิตทำฟัน และลงมาด้วยใบหน้าที่ยิ้ม บอกว่าไม่กลัวหมอฟันอีกแล้ว … เป็นปลื้มทีเดียวหละ หากเป็นเด็ก ๆ ที่พอจะอุ้มได้ ก็อุ้มเขามากอดและมองตาเขาด้วยความรัก บอกเขาว่าหมอฟันใจดีและรักเด็ก ๆ ทุกคน …. เด็ก ๆ ก็จะสงบลงเล็กน้อยเหมือนเขาสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความรักที่เราส่งไปให้เขา … ค่อย ๆ วางเขาลงบนเตียงอย่างอ่อนโยน พูดคุยเรื่องอื่น ๆ ที่สนุกสนาน หรือสิ่งที่เด็ก ๆ ชอบ เช่น หนูชอบทานอะไรมากที่สุด เด็ก ๆ ก็จะค่อย ๆ กล้าพูดโต้ตอบกับเราได้อย่างไว้วางใจมากขึ้น ถ้าเป็นเด็กโตหน่อยก็อาจจะจับมือหรือกอดเขาไว้เบา ๆ และบอกกับเขา เรารักเขา รักฟันของเขา อยากให้ฟันดี จะได้ไม่ปวดฟัน ขอเล่ารายหนึ่ง เนื่องจากยังจำใบหน้าเขาได้ เพราะเป็นหลานอาจารย์ท่านหนึ่ง เขามาด้วยความกลัวมาก อาจารย์บอกว่าคนนี้ไม่ค่อยเก่ง เราก็รีบสวนทันทีว่า วันนี้น้องต้องเก่งแน่นอนค่ะ ข้าพเจ้ากอดเขาไว้ในอ้อมอก บอกกับเขาว่าหมอฟันใจดี รักเด็ก ๆ และรักฟันของเด็ก ๆ ทุกคน มือของเขาค่อนข้างจะเย็น เมื่อพูดคุยสักพักก็เชื้อเชิญให้เขาขึ้นไปนอนบนเก้าอี้ทำฟัน บอกเขาว่าเป็นชิงช้าที่ขึ้นลงได้ นอนสบาย รายนี้มีฟันเกให้เราถอนฟันแน่ ๆ เพราะฟันแท้ขึ้นแล้ว ฟันน้ำนมยังไม่หลุด เคยอ่านหนังสือ สวยด้วยใจ ของอาจารย์หมอวิธาน และ ได้พูดคุยกับอาจารย์เรื่องการฉีดยาชา เป็นยาขมในการทำฟันเด็กและผู้ใหญ่ทุกคน ยังไงก็เจ็บ โชคดีทางทันตกรรมมียาชาที่ใช้ทาผิวเหงือกก่อน จึงพอจะช่วยได้บ้าง วันนี้เลยใช้แบบอาจารย์หมอวิธาน คือ บอกให้เด็กหลับตาเบา ๆ หายใจเข้าลึก ๆ ให้ท้องน้อยป่อง หายใจออกยาวๆ จากนั้นค่อยๆ จินตนาการถึงดอกกุหลาบสวย ๆ บอกว่าหายใจเข้าให้นึกถึงฟัน หายใจออกให้ยิ้มกับฟัน ข้าพเจ้าเดินยาจนเสร็จ เด็กก็นอนยิ้มสบาย ไม่รู้สึกปวด ไม่รู้สึกกลัว ลุกขึ้นบ้วนน้ำอย่างสบาย และบอกว่าไม่เจ็บเลยครับ ข้าพเจ้าถอนฟันเสร็จแล้ว หนุ่มน้อยก็เดินลงจากเตียงอย่างมั่นใจ ข้าพเจ้าถามซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ต่อไปจะกลัวทำฟันอีกไหมครับ? เขาตอบอย่างมั่นใจว่าไม่กลัวแล้วครับ คงต้องรอพิสูจน์ตอนปิดเทอมคราวหน้าว่าเขายังกลัวอีกหรือเปล่า ….. ได้ใช้วิธีนี้กับเด็กเมื่อวานก็สำเร็จค่ะ จากอาการที่กลัวมากมือเย็นเฉียบ ก็ลงจากเก้าอี้ทำฟันด้วยรอยยิ้มอย่างมั่นใจเช่นกัน ข้าพเจ้าลองใช้วิธีนี้มาประมาณ 5 รายแล้วในเด็กเล็ก ได้ผลดีจริง ๆ ค่ะ หมั่นมาตรวจฟันทุก 6 เดือน นะ
หมายเลขบันทึก: 66705เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2006 14:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

                 ดีใจแทนเด็ก ๆ นะคะ ที่มีคุณหมอที่เข้าใจในจิตวิทยาของเด็ก  ที่ส่วนใหญ่มักจะกลัวในสิ่งที่ตัวเองสัมผัสไม่ได้ 

                   ขอเล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟังนิดนึงนะคะ  เคยพาลูกสาวคนโต ซึ่งขณะนั้น อายุประมาณ เกือบ 5 ขวบ  ไปหาหมอฟันท่านหนึ่ง (ขอไม่เอ่ยนามท่านนะคะ) หลังจากตรวจเช็คสุขภาพฟัน คุณหมอท่านนั้น ก็ลงความเห็นว่า ลูกสาวมีฟันผุหนึ่งซี่ ซึ่งจะต้องทำการอุด เนื่องจากเป็นฟันกรามมิฉะนั้นจะส่งผลต่อฟันซี่อื่น ๆ ในระหว่างที่คุณหมอเจรจาต่อรองกับลูกสาวอยู่นั้น คุณแม่ก็เพียงแต่มองดูห่าง ๆ เพียงเพื่ออยากส่งสายตาเป็นกำลังใจให้ลูกเท่านั้น นี่คือบทสนทนาระหว่างคุณหมอ กับ คนไข้ (ลูกสาวดิฉัน)

คุณหมอขา จะเจ็บไหมค่ะ  ลูกสาวดิฉันแสดงท่าทีอิดออด ถึงแม้ว่าดิฉันจะพามาพบทันตแพทย์อยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม  แต่เนื่องจากนี่เป็นครั้งแรกที่จะต้องโดนฉีดยาชา และเป็นครั้งแรกที่ดิฉันเปลี่ยนมาหาหมอคนนี้

               เจ็บสิ ไม่เจ็บได้ยังไง

ลูกสาวดิฉันได้ฟังดังนั้น ก็ส่งสายตาวิงวอนมายังดิฉันและก็เริ่มร้องไห้ ซึ่งดิฉันก็ทำได้เพียงแต่ส่งสายตากลับให้ลูกเพื่อเป็นกำลังใจให้เขา ไม่กล้าที่จะเอ่ยปากสนทนาใด ๆ เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการรบกวนการทำงานของแพทย์

             จะร้องทำไมเนี่ย  ตกลงจะให้หมอฉีดยาชาให้หรือว่าให้หมออุดฟันเลยโดยไม่ต้องฉีดยาชา

ลูกสาวดิฉันเมื่อได้ฟังดังนั้น ยิ่งร้องไห้หนักไปอีก

             อย่าร้องนะ ถ้ายังร้อง เดี๋ยวหมอจะไล่แม่ให้ออกนอกห้องนะ

เอาหละสิ เจ้าลูกสาวตัวดียิ่งร้องหนักเข้าไปอีก  คราวนี้คุณหมอก็เลยไล่ดิฉันออกจากห้องทันที

ดิฉันจึงไม่มีโอกาสเห็นกรรมวิธีของคุณหมอ ว่าทำอย่างไรบ้าง รู้แต่ว่าหลังจากวันนั้น จนกระทั่งบัดนี้ แม้จะผ่านมาแล้ว 4 ปี แต่เมื่อถึงเวลาจะต้องไปตรวจฟันตามปกติ ลูกสาวจะอิดออดทุกครั้ง ต้องใช้เวลาในการอธิบายเป็นเวลานาน

           เห็นด้วยอย่างยิ่งคะ ว่าจิตวิทยาของคุณหมอ จะมีส่วนช่วยให้เด็กไม่กลัวการทำฟัน เพราะต่อให้ทางคุณพ่อคุณแม่ จะพูดมาดีแล้วอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อมาเจอหมอที่พูดกับเด็กไม่ดี นอกจากจะทำให้เด็กรู้สึกกลัวแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เด็กฝังใจไปตลอด

            โชคดีค่ะที่ลูกสาวคนเล็ก ไม่กลัวหมอฟันเลย ถึงแม้ว่าจะอายุเพียง 4 ขวบ ในการต้องเข้ารับการขูดหินปูนคราวแรก ก็สามารถเข้าห้องไปกับหมอฟัน 2 ต่อ 2 โดยที่คุณแม่ไม่ต้องตามเข้าไปเลยค่ะ  คุณหมอยังเอ่ยชมในความเก่งเลยค่ะ

          ขอฝากเทคนิคดี ๆ ให้คุณแม่หลาย ๆ ท่านดังนี้ค่ะ

  • ในการนำเด็กมาหาหมอฟันนั้น ไม่ควรจะพามาเมื่อถึงเวลาที่มีปัญหาเท่านั้น ควรจะพาเด็กมาพบแพทย์เป็นประจำทุก ๆ 6 เดือน หรือตามเวลานัด เพื่อเป็นการตรวจสุขภาพฟัน และช่องปาก ตามปกติ 
  • และควรเริ่มพามาเมื่อเด็กเริ่มมีฟัน หรือยังอยู่ในช่วงขวบปีแรก เพื่อให้คุ้นเคยกับคุณหมอและเครื่องมือ
  • และที่สำคัญ ไม่ควรจะปิดบังถึงความเจ็บปวด แต่ควรอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องเจอ
  • และหากเป็นไปได้ เมื่อตัวคุณแม่ไปพบทันตแพทย์เอง อาจให้เด็กได้มีโอกาสเข้าไปดูคุณแม่รับการตรวจด้วย และคุณแม่ไม่ควรแสดงความกลัวให้เด็กเห็นนะคะ  (ถึงแม้ในใจจะกลัวก็ตาม)

 

สวัสดีค่ะ คุณ รัตติยา

      ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าและเทคนิคดีๆที่ฝากให้กับคุณแม่ในการดูแลฟันลูกค่ะ

       หมอฟันทุกคนต้องการให้ทุกท่านมีสุขภาพฟันที่ดีและคงเพิมความระมัดระวังในการพูดจาและการรักษาที่นุ่มนวลมากขึ้นเพื่อไม่ให้ความกลัว....และไม่ยอมไปหาหมอฟันอีกเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท