ทิศทางนโยบายการเงิน-การคลัง ตามแนว "เศรษฐกิจพอเพียง"


ทิศทางนโยบายการเงิน-การคลัง ตามแนว "เศรษฐกิจพอเพียง"

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี 2549 ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยมีการจัดสัมมนากลุ่มย่อยว่าด้วยเรื่องการปรับปรุงการบริหารเศรษฐกิจในระดับมหภาค "มติชน" เห็นว่า เนื้อหาดังกล่าวมีความน่าสนใจจึงนำมาเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย   นโยบายการเงินแบบที่ใช้อัตราเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในปัจจุบัน มีข้อดีในแง่ของความโปร่งใสและความมีธรรมาภิบาล เพราะจะมีกำหนดการและการส่งสัญญาณที่บอกให้สาธารณชนรับทราบ เนื่องจากการใช้นโยบายการเงินไม่ได้อยู่ที่ว่า ธปท.คาดการณ์เก่งแค่ไหน แต่อยู่ที่ความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เพราะทุกครั้งที่ประชุมจะบอกกับตลาดและสื่อ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และต้องการบอกว่า เราต้องการทำอะไรและทำไมต้องทำ  อย่างไรก็ตาม การใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศจะรอดปลอดภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากในและนอกประเทศ การดำเนินนโยบายการเงินจึงเป็นการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อควบคู่ไปกับความโปร่งใส เป็นการพยายามดูแลความไม่สมดุลทางด้านการเงิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินเสถียรภาพด้านต่างประเทศเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดไปพร้อมกับการติดตามภาพธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจการเงิน ภาวะตลาดหลักทรัพย์และภาคการคลัง ซึ่งปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2540 เกิดจากสิ่งที่ตรงข้ามกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากความไม่พอประมาณ ไม่สมเหตุสมผล ไม่รู้เท่าทัน หลงใหลได้ปลื้มกับเงินทุนไหลเข้า แต่ไม่ได้ติดตามดูว่าเงินที่ไหลเข้ามาแบบไร้เหตุผล เพราะไม่ได้ลงทุนอย่างแท้จริง     แต่เป็นการเข้ามาลงทุนในหุ้นหรือตลาดพันธบัตร การบริหารนโยบายเศรษฐกิจโดยมีเป้าหมายเงินเฟ้อ ถือเป็นการดูแลให้เศรษฐกิจไทยเติบโตตามศักยภาพที่มี ซึ่งไม่ต่างจากการเจริญรอยตามเศรษฐกิจพอเพียง และวิกฤตที่เกิดขึ้นในปี 2540 ยังถือว่าเป็นโอกาสที่ทำให้นโยบายการเงินโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพราะหาก ธปท. ไม่สามารถดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบที่กำหนดได้ ก็ต้องรับผิดชอบ   ในช่วงที่ผ่านมา ในระบบมีสภาพคล่องส่วนเกินสูง ธปท.จึงได้ออกพันธบัตรมาดูดซับสภาพคล่องคิดเป็นมูลค่าคงค้างทั้งสิ้น 7-8 แสนล้านบาท นับตั้งปี 2547 ซึ่งถือเป็นการดูแลระบบให้เกิดเสถียรภาพ และหากจะคิดเป็นภาระดอกเบี้ยที่ธปท.จะต้องจ่ายจะตกประมาณปีละ 4 หมื่นล้านบาท โดยที่คิดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี) ที่ 5% ขณะเดียวกัน ธปท. ได้ส่งสัญญาณให้ผู้ส่งออกปรับตัว โดยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะหากดอลลาร์อ่อนค่าลงทุกๆ 1 ดอลลาร์ รายได้จากการส่งออกจะหายไป ประมาณ 36 บาท   "เรายอมรับว่า  มีภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่เราจะต้องจ่าย แต่ ธปท. จำเป็นต้องทำ เพื่อดูแลระบบการเงินให้มีเสถียรภาพ ซึ่งการ ดำเนินนโยบายทางการเงินทุกอย่างต้องมีต้นทุน โดยในส่วนของกระบวนการแทรกแซงค่าเงินบาท คือการซื้อดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้ทุนสำรองเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันเงินบาทในระบบก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น ธปท.ดูแลให้ปริมาณในระบบ  อยู่ในระดับที่เหมาะสม" นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ   การเปลี่ยนนโยบายการคลังใน ช่วง 10 ปีหลายด้าน มีการใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตลอด 6 ปี ตั้งแต่ปี 2540-2545 ซึ่งเป็นการขาดดุลที่แท้จริง ไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า และมีสัดส่วนการขาดดุลที่สูงเกิน 1.5% หรือบางปีถึง 2% ของจีดีพี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ   หลังเศรษฐกิจซบเซา มีเพียงรัฐบาลเท่านั้นที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้   แต่ที่น่าสนใจคือ มีการเปลี่ยนแปลงวิธี การคลังใหม่ มีการเริ่มใช้งบประมาณแบบใหม่ เช่น งบฯ ผู้ว่าซีอีโอ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี เพราะงบฯ ผู้ว่าซีอีโอเป็นการจ่ายงบฯ ไปที่ผู้ว่าการจังหวัดโดยตรง แทนที่จะตั้งให้กับหน่วยงานองค์กรท้องถิ่น แต่พบว่าเป็นการใช้งบฯ เพื่อนโยบายจากส่วนกลางแทนที่จะเป็นนโยบายระดับท้องถิ่น และมีการเพิ่มงบฯขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะ ในช่วง 3 ปีหลัง     ที่งบฯ ยืนอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท และอาจจะเพิ่มขึ้นอีกในงบฯ ปี 2550 ถ้าไม่ถูกตัดงบประมาณเสียก่อน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มงบกลางกว่าเท่าตัวในช่วงปี 2545-2549 จาก 9.6% เป็น 18% ของงบรวม และ      สูงตลอดถึงปี 2550 แต่ถูกปรับลงเหลือ 12.7% ใกล้เคียงช่วงก่อนหน้ารัฐบาลทักษิณ อีกทั้งยังมีการใช้เงินนอกงบประมาณหลายรูปแบบ ทั้งเป็นการใช้เงินผ่านกองทุนที่อยู่ในงบฯ และกองทุนนอกงบฯ ซึ่งเงินนอกงบฯ สูงกว่า      ในงบฯ ทุกปี ในช่วงปี 2547-2549  มีการใช้นโยบายกึ่งการคลังหลายแบบ ที่เด่นชัดมากคือ การใช้ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ หรือสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทำให้เป็นปัญหาเพราะไม่ทราบตัวเลขที่ชัดเจน และไม่มีการมองไปถึงข้างหน้าว่างบประมาณที่ตั้งไว้จะก่อให้เกิดภาระผูกพันอย่างไร ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในอนาคตการใช้งบประมาณในรัฐบาลที่ผ่านมายังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส เพราะมีการกู้เงิน โดยไม่ขอความเห็นชอบของรัฐสภา เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน ทำให้รัฐบาลไม่มีสิทธิพิจารณาว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งเป็นการผิดหลักปฏิบัติ นอกจากนั้นข้อมูลด้านการคลังยังไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะนโยบายกึ่งการคลัง รวมถึงความรับผิดชอบทางการคลัง เพราะเมื่อเกิดความเสียหายจะต้องเร่งหาเงินมาชดเชย ไม่อย่างนั้นคนที่จะรับภาระคือ ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหรือผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงินนั้นที่ต้องมารับภาระที่ไม่รู้ตัว  นอกจากนั้นยังมีการสร้างภาระทางการคลัง เช่นโครงการประชานิยมที่ไม่มีความชัดเจนว่าภาระทางการคลังที่เกิดขึ้นจริงเป็นจำนวนเท่าใดการปรับปรุงวิธีการคลัง จะต้องมีการประเมินภาระความเสี่ยงว่า ภาระการคลังที่สำคัญคืออะไรบ้าง และมีการประเมินความสำคัญของภาระการคลังที่ประเมินยาก ภาระการคลังที่ซ่อนเร้นและที่เสี่ยง นอกจากนั้น    ควรจะเพิ่มความโปร่งใสที่เกี่ยวกับนโยบายกึ่งการคลังให้ครบถ้วน โดยเฉพาะหลักการชดเชยควรแก้ไขให้ชัดเจน โดยการออกกฎหมายชดเชย เพราะสถาบันเฉพาะกิจบางแห่งมีกฎหมายรองรับ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีหลักการชดเชย       ที่ชัดเจน เพราะกฎหมายไทยมีเพียง พ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งครอบคลุมเฉพาะในงบประมาณเท่านั้น แต่ไม่ใช่กิจกรรมทั้งหมดของรัฐบาล

มติชน 11 ธ.ค. 49 

คำสำคัญ (Tags): #การเงิน#การคลัง
หมายเลขบันทึก: 66696เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2006 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 06:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท