ผลการสัมมนาการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน


การพัฒนาการคิดของผู้เรียนถือเป็นพันธสัญญาที่ทุกคนต้องทำ และต้องทำจากจุดเล็ก ๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก และทำอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยกับการกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จ เพื่อให้โรงเรียนและ สพท. สามารถพัฒนารูปแบบการคิดได้ด้วยตนเอง โดยสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ ทางเลือก และตัวอย่างที่หลากหลาย ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณเพื่อวิจัยและพัฒนา ในขั้นต้นอาจจะดำเนินการในห้องเรียน จำนวนไม่มากนัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิธีการที่ลึกซึ้ง และขยายในปีการศึกษาหน้าให้กว้างขวางขึ้น (คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการ กพฐ.)

ผลการสัมมนาการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน

วันที่ 30 พ.ย.-1 ธ.ค.2549 โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ

วัตถุประสงค์การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อระดมความคิดของผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับแนวทางที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กิจกรรมสำคัญสำคัญคือ การประชุมปฏิบัติการยกร่างแนวทางการขับเคลื่อนของคณะทำงาน การนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาการคิดของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ การเสวนาโต๊ะกลมของผู้ทรงคุณวุฒิ และการสัมมนากลุ่มของผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ กลุ่มผู้บริหารเขตพื้นที่และโรงเรียน กลุ่มศึกษานิเทศก์และนักวิชาการ และกลุ่มครู ผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย ข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารโรงเรียน ครู และผู้สนใจทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 200 คน ผลการสัมมนาการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน มีดังนี้

1. ผลการนำเสนอประสบการณ์การพัฒนาการคิดของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ Professor Dr. Carol McGuinness ซึ่งมีประสบการณ์จากการพัฒนาการคิดของผู้เรียนในสหราชอาณาจักรกว่า 15 ปี ได้นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนการคิดจากระดับนโยบายเข้าสู่ห้องเรียนว่ามี 5 ขั้นตอน ได้แก่ (1) กำหนดกรอบเกี่ยวกับการคิดให้ชัดเจน (2) กำหนดวิธีการนำเรื่องการคิดสู่หลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งสหราชอาณาจักรใช้วิธี Infusion (3) วิธีการสอนการคิดในห้องเรียน (4) การพัฒนาครู และ(5) การประเมินความก้าวหน้าของโครงการ นอกจากนั้นยังได้ชี้ให้เห็นว่าความสำเร็จของการพัฒนาการคิดเกิดจากการสร้างความเข้าใจร่วมกัน เช่น การให้นักเรียนได้คิดแล้วลงมือทำอย่างมีความหมาย ใช้กระบวนการที่ชัดเจนในการสอนคิด ระบุถึงการคิดแบบต่างๆว่าเป็นอย่างไร  การตรวจสอบความคิดและการกระทำของตนทุกขั้นตอนเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น สร้างบรรยากาศและสัมพันธภาพที่ดีเพื่อเอื้อให้นักเรียนกล้าคิด ทุกคนตระหนักถึงจุดยืนในการคิด และต้องพัฒนาครูให้สามารถสอดแทรกทักษะหรือกระบวนการคิด ใช้คำถามในการสอนสาระการเรียนรู้ต่างๆ  จัดโอกาสให้นักเรียนแสดงผลการคิดโดยการทำ การเขียน การใช้แผนภาพความคิด ฯลฯ แล้วพานักเรียนเพิ่มพูนการคิดด้วยวิธีสอน และเทคนิคต่างๆ  การทำงานร่วมกันทั้งระบบตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่ โรงเรียนและครู ช่วยให้ครูมีที่ปรึกษา มีสื่อ มีเพื่อนให้ความคิดเห็น ให้กำลังใจซึ่งกันและกันให้กล้าเปลี่ยนแปลงวิธีสอนให้ดีขึ้น ผลจากความมุ่งมั่นของทุกฝ่ายในสหราชอาณาจักร ครูเห็นผลดีมากมายที่เกิดกับนักเรียน เช่น นักเรียนคิดเป็น ใช้กระบวนการคิดในการแก้ปัญหากระตือรือร้นในการเรียน เชื่อมั่นในตนเอง ฯลฯ  ครูภาคภูมิใจที่ตนมีกระบวนการคิดที่ดีขึ้น วางแผนการสอนได้ผล สามารถท้าทายให้นักเรียนอยากเรียนรู้และถือว่าการพัฒนาวิชาชีพต้องเริ่มจากตนเอง

2. ผลการเสวนาโต๊ะกลมของผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนประเด็นที่ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน มีดังนี้คือ  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรเป็นผู้นำทางวิชาการในการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน ควรวิเคราะห์หลักสูตร ออกแบบกิจกรรมและบูรณาการการคิดกับวิถีชีวิตเด็ก ครูต้องรู้จักเด็ก ต้องมีอุบายและกลยุทธในการสอนเพื่อให้นักเรียนได้คิด ทักษะสำคัญที่จำเป็นของครูคือ ทักษะการตั้งคำถาม ควรจัดการเรียนรู้แบบองค์รวมที่พัฒนาเด็กทั้งคน การพัฒนากรอบการคิดควรให้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิชา ควรมีกรอบแต่อย่าติดกรอบ ควรให้ครูและผู้เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ร่วมกันทำความเข้าใจนิยามการคิดให้ชัดเจนตรงกันรวมทั้งหาเทคนิควิธีการพัฒนาร่วมกัน การพัฒนาการคิดควรเน้นแนวคิดการพัฒนาทั้งโรงเรียน (Whole School Approach) การพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Based Management) การฝึกอบรม ณ สถานศึกษา (on the job training) และการใช้กระบวนการชี้แนะทางปัญญา (Cognitive Coaching)  การใช้ ICT เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยสอนคิด ควรใช้กระบวนการเรียนรู้ของโครงงาน (Project-Based Learning) ควรเน้นให้เด็กได้คิดในสถานการณ์ที่เป็นจริงของชีวิตและคิดแก้ปัญหา การพัฒนาครูควรใช้รูปแบบหลากหลาย ควรให้โรงเรียนที่พร้อมและต้องการพัฒนาเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการคิด

3. ผลการสัมมนากลุ่มของผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียน มีดังนี้ 

3.1 กลุ่มผู้บริหารเขตพื้นที่และโรงเรียน ควรเอาสิ่งที่เราทำเรื่องการคิดนี้ไปผูกติดกับมาตรฐานวิชาชีพ ควรเน้นผลงานเชิงประจักษ์ที่การพัฒนาการคิดของผู้เรียน หากไม่ปรากฏว่าเด็กพัฒนาการคิดก็จะไม่ได้มาตรฐานวิชาชีพ และควรผูกติดกับวิทยฐานะด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งต้องสัมพันธ์กันทั้งการพัฒนาการคิด มาตรฐานวิชาชีพ และการรับรองวิทยฐานะ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทุกระดับทั้ง สพฐ. สพท.และโรงเรียน

3.2 กลุ่มศึกษานิเทศก์และนักวิชาการ เสนอให้มีการนิเทศ เผยแพร่ แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการคิด การดำเนินงานต้องมีเงื่อนไขเวลากำกับ ว่ากี่ปีจะสำเร็จอย่างไร โดยใช้ระบบ Knowledge Management (KM) ใช้การพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ การบริหารเครือข่าย และให้ทุกฝ่ายเปิดใจพูดคุยทำความเข้าใจกันเกี่ยวกับเรื่องการคิดและการพัฒนา  

3.3 กลุ่มครู ต้องการให้มีการพัฒนาบุคลากรทุกระดับในเรื่องการพัฒนาการคิด ตั้งแต่ ผู้บริหาร ครู ศึกษานิเทศก์ เพราะจะได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โรงเรียนควรจัดบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิด ให้ครูผู้สอนร่วมกันคิดร่วมทำ จัดการนิเทศภายในที่เข้มแข็ง ควรมีหน่วยการเรียนรู้ที่สอดแทรกการคิดทุกกลุ่มสาระ ควรใช้การวิจัยในชั้นเรียนเพื่อพัฒนาการคิดควบคู่ไปด้วย สพท.สพฐ.ควรจัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูในเรื่องการพัฒนาการคิด สิ่งสำคัญคือ ครูจำนวนมากพัฒนาการคิดให้กับผู้เรียนอยู่แล้ว แต่ครูไม่มีความมั่นใจเท่าที่ควรว่าแผนและการจัดกิจกรรมที่ทำอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องการให้มีผู้เชี่ยวชาญไปการันตีการสอนของครู

4. ผลการประชุมปฏิบัติการยกร่างแนวทางการขับเคลื่อนการคิดของคณะทำงานได้วางกรอบการคิด หรือระดับคุณภาพการคิดของผู้เรียน ที่จะเป็นเป้าหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคำนึงถึงและพยายามยกระดับการคิดของผู้เรียนให้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จนสามารถคิดและตัดสินใจได้ด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ของสังคม นั่นคือ ทุกการคิดและการกระทำของผู้เรียนจะมีคุณธรรม หรือการรู้ดีรู้ชั่วมาคอยควบคุมกำกับอยู่เสมอ เรียกคุณภาพการคิดระดับสูงสุดนี้ว่า การพัฒนาตนเอง (Self-regulating) สำหรับคุณภาพการคิดระดับอื่นๆ มีดังนี้คือ ระดับที่ 1 การรวบรวมและเลือกใช้ข้อมูล (Gathering) ระดับที่ 2 การจัดกระทำข้อมูล (Processing) ระดับที่ 3 การประยุกต์ใช้ความรู้ (Applying) ส่วนวิธีการขับเคลื่อนการคิดสู่ห้องเรียนนั้นจะเน้นการนำผลงานเด็กมาเป็นตัวตั้ง ให้ครูและผู้เกี่ยวข้องร่วมพัฒนาเด็กจากสิ่งที่เป็นอยู่ และถือเป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเรื่องการคิดจากงานของเด็กไปด้วยกัน

5. ความคิดเห็นของ เลขาธิการ กพฐ. ต่อการขับเคลื่อนการคิดการพัฒนาการคิดของผู้เรียนถือเป็นพันธสัญญาที่ทุกคนต้องทำ และต้องทำจากจุดเล็ก ๆ ไม่ซับซ้อนมากนัก และทำอย่างต่อเนื่อง เห็นด้วยกับการกำหนดเกณฑ์ความสำเร็จ เพื่อให้โรงเรียนและ สพท. สามารถพัฒนารูปแบบการคิดได้ด้วยตนเอง โดยสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ ทางเลือก และตัวอย่างที่หลากหลาย  ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณเพื่อวิจัยและพัฒนา ในขั้นต้นอาจจะดำเนินการในห้องเรียน จำนวนไม่มากนัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิธีการที่ลึกซึ้ง และขยายในปีการศึกษาหน้าให้กว้างขวางขึ้น

หมายเลขบันทึก: 66673เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2006 13:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
 ยาวมากครับ  เสน่ห์ของเรื่องเล่าคือสั้น กระชับ  แล้วมีคนมาแลกเปลี่ยนต่อไปเรื่อยๆๆๆ... น่าจะตัดทอนเล่าเฉพาะที่พี่อยากเล่านะครับ   เล่าเหมือนที่พี่เคยเล่าครั้งกระโน้นนะ  พี่เล่าเรื่องเก่งอยู่แล้ว 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท