การสาธารณสุขยุคใหม่ (เพิ่มเติม)


(บรรยายเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมริเวอร์ไรน์ เพลส ถนนพิบูลสงคราม อำเภอเมือง จังหวัด นนทบุรี ในการอบรมหลักสูตรการเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนการขับเคลื่อนงานป้องกันควบคุมโรค)


มีเนื้อหาเพิ่มเติมจากที่เสนอไว้ในการบรรยายครั้งก่อนก่อนหน้านี้ Http://www.gotoknow.org/posts/... เล็กน้อย ดังต่อไปนี้


ภาพที่ 18 สรุปความแตกต่างระหว่างการสาธารณสุขยุคใหม่หรือการสร้างเสริมสุขภาพ กับการส่งเสริมสุขภาพ


ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างการสาธารณสุขยุคใหม่หรือการสร้างเสริมสุขภาพ กับการสร้างเสริมสุขภาพ (ภาพที่ 18) มีสามข้อด้วยกัน ได้แก่

ข้อหนึ่ง ตระหนักว่า "ลำพังการให้ความรู้ไม่สู้จะได้ผล" จึงนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดเรื่อง "การปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อพฤติกรรมสุขภาพ" ตัวอย่างที่ชัดเจนเห็นได้จาก งานชิ้นเอกของสสส. ในเรื่องการผลักดันให้ขึ้นภาษีบุหรี่ เพราะสอนก็แล้ว ขู่ก็แล้ว อัตราการสูบบุหรี่ในประเทศไทยก็ไม่ลดลง หลังการขึ้นภาษี (และกิจกรรม "ปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการไม่สูบบุหรี่" อื่นๆ) อัตราการสูบบุหรี่ ก็เริ่มลดลงเป็นลำดับ

ข้อสอง ตระหนักในความสำคัญของ "ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม" มากขึ้นว่า มีความสำคัญ ต่อสุขภาพไม่น้อยไปกว่าปัจจัยด้านพฤติกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง รายได้ การศึกษา และ ความสัมพันธ์ทางสังคม ทำให้เห็นได้ชัด ว่า ลำพังหน่วยงานด้านสุขภาพไม่อาจทำงานนี้ได้โดยลำพัง จำเป็นต้องมีการร่วมมือกับหน่วยงาน และ องค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้อง

ข้อสาม ตระหนักในบทบาทสำคัญของประชาชนที่เป็นเจ้าของสุขภาพ (ดูรูปธรรมได้จากตัวอย่าง ท้ายบทความนี้)


ภาพที่ 19 Swiss model


Swiss model (ในภาพที่ 19) มีรูปแบบเรียบง่าย ที่เชื่อมโยงมาตรการสร้างเสริมสุขภาพ เข้ากับผลลัพธ์ของการสร้างเสริมสุขภาพ สะดวกที่จะนำมาใช้ในการวางแผนการดำเนินงาน สร้างเสริมสุขภาพ

ที่เรียกว่า มาตรการสร้างเสริมสุขภาพ ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่

1. การพัฒนาบริการสร้างเสริมสุขภาพ ของหน่วยบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นบทบาทปกติ ของหน่วยบริการสุขภาพอยู่แล้ว เช่น การจัดให้มีบริการช่วยคนที่อยากเลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น

2. การสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เช่น การร่วมมือระหว่าง หน่วยงานสุขภาพ กับกระทรวงการคลัง รัฐสภา และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อพัฒนานโยบาย ขึ้นภาษีบุหรี่ เป็นต้น

3. การขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้กลุ่มประชาชนที่มีความสนใจร่วมกัน หรือชุมชนรวมตัวกัน เพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน เป็นต้น

4. การพัฒนาทักษะระดับบุคคล


ในภาพรวมอาจกล่าวได้ว่า มาตรการที่ 1 และ 4 เป็นมาตรการเดิมที่มีใช้กันมานานแล้วและยัง ใช้ได้อยู่ ส่วนมาตรการที่ 2 และ 3 เป็นมาตรการที่การสาธารณสุขยุคใหม่ให้ความสำคัญ เพราะมีผล กระทบต่อประชาชนสูง


ภาพที่ 20 การเชื่อมโยงเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของสสส.กับ Swiss model


ในแผนสิบปีของสสส. (พ.ศ. 2555-2564) มีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เป็นเป้าหมายทั่วไป ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอายุคาดเฉลี่ยของประชาชน และเป็นเป้าหมายเฉพาะอีกสิบข้อ (ตัวหนังสือสีต่างๆ) ทั้งหมดนี้สามารถเชื่อมโยงกับ Swiss model ได้เป็นอย่างดี ดังแสดงไว้ในภาพที่ 20

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง เพื่อแสดงให้เห็นรูปธรรมของการใช้ Swiss model กับโครงการควบคุม โรคไข้เลือดออกในระดับอำเภอ


ภาพที่ 21 สถานการณ์โรคไข้เลือดออก


ประเทศไทยมีโรคไข้เลือดออกระบาดเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 แล้วก็เป็นโรคระบาด ประจำถิ่นตลอดมา ภาพที่ 21 แสดงให้เห็นว่า ใน พ.ศ. 2562 (แท่งสีเขียว) จำนวนผู้ป่วยจะมากกว่า ค่าเฉลี่ยของ 5 ปี ที่ผ่านมา (กราฟสีเหลือง) และขณะนี้จำนวนผู้ป่วยจริงก็มีสูงกว่าที่พยากรณ์ไว้ (กราฟสีดำ) ในภาพรวมขณะนี้มี 170 อำเภอใน 58 จังหวัด ที่มีความเสี่ยงสูง ดังตัวอย่างในภาพที่ 22


ภาพที่ 22 ตัวอย่างพื้นที่อำเภอที่มีความเสี่ยงสูงในจังหวัดสุรินทร์


เรามีความรู้ทางวิชาการอยู่มากพอเกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ทั้งในเรื่องของ เชื้อโรค (ไวรัสเดงกี) พาหะนำโรค (ยุงลาย) ธรรมชาติของยุงลาย และความสัมพันธ์ระหว่างจำนวน ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกกับร้อยละของบ้านที่พบลูกน้ำยุงลาย (ภาพที่ 23) ถ้าเราสามารถกำจัดแหล่ง เพาะพันธ์ยุงลายได้สำเร็จ จำนวนผู้ป่วยก็น่าจะลดลงตามเส้นความฝัน (เส้นสีแดงในภาพที่ 23)


ภาพที่ 23


ในมุมมองของการสาธารณสุขยุคใหม่ การกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุง ต้องทำโดยอาศัยแนวคิด ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ "ทุกครัวเรือนกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุง ในบ้านและรอบบ้าน ทุกสัปดาห์ " ดังภาพที่ 24


ภาพที่ 24 โรคไข้เลือดออกในมุมมองของการสาธารณสุขยุคใหม่


และเมื่อนำ Swiss model มาใช้ มาตรการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมคือ ข้อ 3 การขับเคลื่อนทางสังคม ดังรายละเอียดในภาพที่ 25


ภาพที่ 25 โรคไข้เลือดออกกับ Swiss model


ภาพที่ 26 โรคไข้เลือดออกกับ Swiss model (ขยายมุมมอง)


การทำข้อตกลง ต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ตั้งแต่การร่วมคิดในการประเมินปัญหาโรค ไข้เลือดออก ไปจนถึงการร่วมทำ (ข้อตกลงหรือพันธสัญญา) และร่วมทำการ "กำจัดแหล่ง เพาะพันธุ์ยุง ในบ้านและรอบบ้าน ทุกสัปดาห์" และร่วมกันติดตามประเมินผล กระบวนการนี้จะเป็นการสร้าง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย "ประชาชนมีความสุข" ด้วย ไม่ว่าจะตั้งใจไว้หรือไม่ (ภาพที่ 26)

นอกจากนี้ หากผลลัพธ์เป็นไปตามคาดคือ อัตราป่วยจากโรคไข้เลือดออกลดลง ก็จะมีผลทำให้ ประชาชนมีความภูมิใจกับความสำเร็จมีความสุขเพิ่มขึ้น และอยากร่วมกันทำเรื่องอื่นๆ ที่จะมีประโยชน์ ต่อชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย


ของแถม

ถ้าสนใจว่า บทบาทที่ดีของพี่เลี้ยงควรเป็นอย่างไร อาจอ่านได้จาก "นิทานเรื่องครูเปาโล" โดย Google ด้วยคำว่า นิทานเรื่องครูเปาโล จะได้เอกสารเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและการเสริมพลังชุมชน นิทานเรื่องครูเปาโล อยู่หน้าที่ 17-18


อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

21 สิงหาคม 2562

หมายเลขบันทึก: 666107เขียนเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 17:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2019 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท