ครูกับการจัดการความรู้ในชุมชน


มีครูเพียงจำนวนไม่มากที่มีความพร้อมในเชิงเวลาและทรัพยากรที่จะทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ครูส่วนใหญ่ยังติดกับอยู่กับระบบราชการ

ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทำงานกับครูในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับประถม มัธยม หรือแม้กระทั่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่กระจายตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

ความคาดหวังของผมในการทำงานกับเครือข่ายครูก็คือ

ผมหวังว่า ครูน่าจะเป็นพลังที่สำคัญของชุมชนในการจัดการความรู้ เพราะเป็นผู้มีการศึกษาสูงกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเทียบกับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือแม้กระทั่งพระภิกษุในพื้นที่ชุมชน 

ครูส่วนใหญ่ที่ผมทราบเข้าใจแต่เดิม เป็นที่เคารพนับถือของคนในชุมชน พูดอะไร ก็น่าจะทำให้คนเชื่อได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนที่จะเป็นฐานงานจัดการความรู้ในชุมชนได้เป็นอย่างดี  

เรื่องนี้ ผมได้ดำเนินการตามรอยของเครือข่ายปราชญ์ที่อาศัยครูเป็นฐานงาน ทั้งเป็นหัวหน้าฐานจัดการความรู้ หรือแปลงต้นแบบ หรือแม้กระทั่งผู้ช่วยปราชญ์  

โดยรวมก็ดูดี แต่เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดก็พบว่า มีครูเพียงจำนวนไม่มากที่มีความพร้อมในเชิงเวลาและทรัพยากรที่จะทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ครูส่วนใหญ่ยังติดกับอยู่กับระบบราชการ ที่ไม่อนุญาตให้ใครออกมาทำงานข้างนอกได้ง่ายๆ

ครูที่ทำงานกับชุมชนมักจะอยู่ในประเภท หมูไม่กลัวน้ำร้อน ที่กล้าท้าอำนาจของผู้บริหาร หรืออย่างน้อยก็เป็นเพื่อนผู้บริหาร หรือเป็นผู้บริหารเอง ที่ผู้บริหารสูงกว่าไม่กล้าทำอะไรรุนแรง ทำให้กลุ่มหมูไม่กลัวน้ำร้อนนี้มาทำงานกับชุมชนได้ดี  

แต่ครูส่วนใหญ่ กลับมีขีดจำกัด มีหนี้สิน มีครอบครัวที่ไม่เข้มแข็ง มีระบบคิดที่ติดยึดอยู่กับกรอบราชการ และไม่มีความพร้อมในทางหลักการทำงานแบบมีส่วนร่วม  

บางคนกลับมีจริตคิดว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถสูงกว่า ไม่ควรที่จะมาคลุกคลีกับชาวบ้านทั่วไป หรืออีกนัยหนึ่ง คิดว่า ตนเองมีศักดิ์ศรีสูงกว่าที่จะมาทำงานกับชาวบ้าน หรือยอมรับไม่ได้ที่ชาวบ้านจะมาตีตัวเสมอตน 

นอกจากนี้ การทำงานกับชาวบ้านนั้น ครูจะต้องมีความคิดความอ่านที่จะพาชาวบ้านเป็นกลุ่มเป็นกระบวนไปได้ด้วยดี ไม่ใช่ทำงานแบบไม่มีทิศทาง จนเป็นที่ครหาของชาวบ้าน  

ประเด็นนี้ก็ทำให้ครูส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจในการทำงานกับชุมชน จนทำให้ต้องห่างหายหน้าไป หรือโอนย้าย เปลี่ยนโรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาส่วนตัวที่มีอยู่กับชุมชนหรือผู้บริหาร  

ดังนั้น ศักยภาพของครูที่จะทำงานการจัดการความรู้ให้กับชุมชนนั้น จึงยังไม่ค่อยสูงนัก อาจจะมีครูบางคนในกลุ่มนัก KM ของเราที่มีความพร้อมและทำงานอยู่ในปัจจุบัน  

แต่หวังเป็นอย่างยิ่งว่า อนาคตเราน่าจะมีครูพันธุ์ใหม่หัวใจเสริมใยเหล็ก ที่มีความพร้อมมากกว่านี้ ทั้งในเชิงการทำงานแบบมีส่วนร่วม งานวิชาการ และงานทางสังคม

ที่พร้อมจะเป็นวิศวกรสังคมให้กับประเทศและชุมชนชนบท ที่กำลังรอความหวังอยู่ 

หมายเลขบันทึก: 66542เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2006 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ครูก็มีหน้าที่ครู

คันคูก็มีหน้าที่ของคันคู

ทั้งคู่กำลังได้รับความสนใจ

ว่าจะพัฒนาไปในรูปแบบใด

แต่คันคูดูจะง่ายกว่า เพราะขยายให้กว้างแล้วปลูกนั่นปลูกนี่ลงไป สร้างชีวิตใหม่ให้กับไร่นา

แต่ครูคน สาละวนอยู่กับการหาคำตอบยืนยัน ว่าฉันเป็นครูจริงนะ มาดูใบประกอบวิชาชีพครูสิ อีกส่วนหนึ่งไปบ้าอยู่กับการทำผลงานเป็นผู้เชียวชาญ  ทั้งๆที่ตนเองทำแต่เรื่องระราน ควรจะตั้งตำแหน่งไหม่ ระรานซี 9 ระรานซี 10  หรือ ชะลอหลังยาว 9 โมเม9 อะไรทำนองนั้น  ทำให้นักการศึกษาที่ดีๆแปดเปื้อนไปด้วย เพราะยังไม่มีวิธีแยกว่าใครตัวจริงใครตัวปลอม

  ในอดีตได้ร่วมทำงานพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับ ครู อย่างมีความสุข แต่ปัจจุบันครูทิ้งท้องถิ่น สนใจแต่เขตการศึกษา หรือ ส่วนกลาง เท่านั้น ประเทศชาติเสียโอกาสสำคัญอย่างยิ่งครับ

ผมเห็นด้วยกับครูบาครับ

แต่ขอเสนอตำแหน่งที่สำคัญคือ

กปม(กระดาษเปื้อนหมึก) ซี ๘-๑๑

ที่ใช้ครอบคลุมทุกวิทยะฐานะที่ใช้กระดาษเปื้อนหมึกเป็นตัวชี้วัด

ที่ได้จาก

กปม ตรี โท และ เอก เป็นไปเบิกทางในการทำงาน จากการสอบวัดปริมาณหมึกที่เปื้อนบนกระดาษที่วัดผล

แต่ก็ยังต้องแบ่งตำแหน่งเป็น

การทำงานเฉพาะด้านเช่น กันท่า ก่อกวน โมเม ระดับ ๙-๑๑ ได้อีกครับ

ผมขอเพิ่มเติม อีก ๒ ประเด็นครับ

ขอบคุณครับ คุณไชยยงค์

เรื่องประเทศชาติเสียโอกาส มีในทุกเรื่องแหล่ะครับ ตอนนี้ที่เขาไม่ทำก็เสียโอกาสในการพัฒนาเหมือนกับหายใจทิ้งนั้นแหล่ะครับ แค่นั้นยังไม่พอ ยังสร้างความเสียหายให้กับเด็กรุ่นใหม่ทางด้านการศึกษาได้อีกอย่างประมาณการมิได้ครับ

ผมกำลังหาแนวร่วมที่จะปลุกระดมเรื่องนี้ครับ ไม่ทราบว่ามีข้อเสนออะไรที่จะสร้างแนวร่วมได้อย่างรวดเร็วครับ

ผมเป็นครูมานาน ได้อ่านบันทึกนี้แล้ว อยากขอกระทรวงศึกษาธิการตั้งโรงเรียนเอง โดยไม่ต้องมีผู้บริหาร แต่ทุกคนในองค์กร เป็นผู้บริหารด้วยกัน

อาจารย์ศิริพงษ์ครับ

น่าสนใจครับ อาจารย์ลองเสนอโมเดลมาดูซิครับว่าที่ไหน work บ้าง ครับ ภายใต้เงื่อนไขอะไร ความยั่งยืนเป็นอย่างไร

ทุกองค์กรมีทั้งคนดีและคนไม่ดี  มีบัวทั้งสี่เหล่า  แต่ก่อนเคยน้อยใจ ท้อใจที่ทำไมครูไทยมีหลายแบบ แต่ตอนนี้จะช่วยพัฒนา ส่งเสริม เฉพาะที่กำลังจะพ้นและพ้นน้ำก่อน  จะมีพลังใจเพิ่มมาเป็นกองไม้ต้องเสียเวลากับคนที่อยู่ในน้ำลึกค่ะ

ความหลากหลายคือความสมบูรณ์ที่แท้จริง

แต่เราต้องใช้ให้ถูกงาน

ไม้ตรงไว้ทำเสา

ไม้งอไว้ทำด้ามไถ

เป็นต้น

ไม้คดทำขอ เหล็กงอทำเคียว คนคดอย่างเดียว ขว้างท้ง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท