๔ปี KM (๒):ทั้งรัก ทั้งชัง ทั้งหวาน และขมขื่น


ความตั้งใจของผมไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้ง ๆที่ผมได้ทุ่มเทเวลา ทรัพยากร และทุนด้านอื่นๆอีกมากมาย

สาเหตุแห่งความผิดพลาดในการทำงานกับชุมชนที่ผมพบมากที่สุด ก็คือ  

ความรู้ ความเข้าใจของชุมชนที่จะทำงานตามแผนงานที่เราวางไว้ ไม่ค่อยครบถ้วนหรือไม่ค่อยเพียงพอ แต่มองในลักษณะที่เป็นวิถีชาวบ้านเขาเข้าใจอย่างที่เขาทำ อย่างที่เขาเป็น แต่เราก็เข้าใจอย่างที่เราทำอย่างที่เราเป็น  

เช่น ผมเริ่มทำงานทดสอบเทคโนโลยีกับกลุ่มชาวบ้าน ด้วยความเชื่อว่า นักวิจัยของเครือข่ายทุกท่านมีความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูล และดำเนินแผนการทำงานวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง

ทำให้ผมไว้วางใจและทำงานกับเครือข่ายอย่างไม่กังวลว่าจะเกิดอุปสรรคในการทำงาน 

กระบวนการทำงานในระยะแรกก็เริ่มต้นด้วยดี การหารือกับระดับแกนนำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเรียบร้อย เรียกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามแผน  

แต่เมื่อ เข้าถึงแผนปฏิบัติการ ในระดับสมาชิกของกลุ่ม ก็เริ่มมีความสับสน ว่า งานควรจะทำอย่างไร ในแต่ละแปลง จากประสบการณ์ที่ผมเคยมี

พบว่า ถ้าปล่อยให้ชาวบ้านทำกันเองนั้น เราจะมีโอกาสได้ความรู้ใหม่อย่างไม่น่าเชื่อ ผมจึงปล่อยให้เป็นไปตามนั้น เผื่อว่าจะได้ดาวรุ่งขึ้นมาจากการทำงานครั้งนี้ แต่สมมุติฐานของผมก็ไม่ค่อยเป็นจริงนักในคราวนี้ เพราะผมไม่ได้ประเมินสถานการณ์ของกลุ่มให้ชัดเจน 

กรณีที่ปล่อยให้ชาวบ้านทำแล้วได้งานเด่นๆ นั้น เกิดจากการทำงานกับกลุ่มที่เข้มแข็งและชัดเจน แต่เมื่อทำงานกับกลุ่มที่ทำงานกำลังพัฒนา โอกาสที่จะได้เช่นนั้นเป็นไปได้น้อยมาก  

เช่นเมื่อผมตัดสินใจเริ่มงานขนาดใหญ่ มีพื้นที่ทำงานไม่ต่ำกว่า 300 จุด แทบทุกจุดมีความคาดหวังว่าผมจะต้องลงไปติดตามดูแลกระบวนการทำงานอย่างใกล้ชิด  

ซึ่งในความเป็นจริง ผมก็ต้องการทำเช่นนั้นเหมือนกัน แต่ด้วยจำนวนจุดที่มากขนาดนั้นและระยะเวลาของโครงการที่มีน้อย ทั้งเวลาของโครงการและเวลาของผม ทำให้การติดตามงานเป็นไปไม่ได้ตามแผน และในกลุ่มผู้ดำเนินงานวิจัยก็เริ่มรวนเร เพราะไม่แน่ใจว่างานจะเป็นอย่างไร   

มีการสื่อสารที่ไม่ค่อยชัดเจนระหว่างผู้นำและสมาชิกกลุ่ม ทำให้บางคนชะลอการทำงาน จนทำให้งานไม่เป็นไปตามแผน  

สรุปว่า ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้งาน หรือได้ก็ไม่มีการเก็บข้อมูลไว้ให้ผม หรือเก็บไว้ให้ก็ไม่มีการส่งต่อมาถึงผม มีข้อต่อรองในหลายๆ เรื่อง จนทำให้งานไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  

เมื่อเวลาโครงการสิ้นสุด ผมก็จำเป็นจะต้องสรุปรวบรวมผลงาน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะข้อมูลไม่ครบ หรือไม่ข้อมูลไม่ถึงผม ทั้งที่ความตั้งใจแต่เดิมของผมก็คือ จะช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาสพัฒนาตนเอง โดยใช้วัสดุและวิธีวิจัยของผมเป็นเครื่องมือที่จะกระตุ้นให้ชาวบ้านพัฒนาและจัดการความรู้ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรดินและน้ำให้ดีกว่าเดิม 

ความตั้งใจของผมไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้ง ๆที่ผมได้ทุ่มเทเวลา ทรัพยากร และทุนด้านอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้ ผมยังได้สนับสนุนการทำงานของกลุ่มในบางเรื่องที่นอกเหนือจากกิจกรรมโครงการ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ในระดับกลุ่ม แต่ก็ไม่ค่อยเกิดผลมากนัก

จึงเรียกได้ว่า งานนี้ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ แต่ผมก็ได้ความรู้มากมายที่มาแลกเปลี่ยนอยู่นี่แหล่ะครับ... 

ความรู้เหล่านี้ทำให้ผมทราบว่า การทำงานกับกลุ่มชาวบ้านนั้นจะต้องประเมินศักยภาพของกลุ่มอย่างใกล้เคียงความจริงที่สุด

 อย่ามองกันด้วยความเกรงใจ หรือไว้วางใจมากจนเกินไป

ต้องมีระบบตรวจสอบและป้องกันแก้ไข จึงจะทำให้งานมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น
หมายเลขบันทึก: 66533เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2006 20:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท