เรื่องเล่าจากปักกิ่ง


ลองเปรียบเทียบง่ายๆว่า หากเป็นไทยจัดงานประชุมระดับนี้ จะสามารถทำให้ฝรั่งพูดออกมาได้อย่างเต็มปากหรือไม่ว่า ต่อไปโลกทั้งโลกจะต้องหันมาพูดภาษาไทย

                ผมไปประชุมที่ปักกิ่งมาครับ

                โดยครั้งนี้ได้รับเชิญจากรัฐบาลจีนในฐานะเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับโลก คือ  “World Chinese Conference” ณ กรุงปักกิ่ง ในช่วงวันที่ ๒๐ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘ คณะของเรามีท่านอธิการบดีนำทีมไป มีผม อาจารย์กรเพชร เพชรรุ่ง และอาจารย์เมษา มหาวรรณ ร่วมไปด้วยในฐานะผู้ที่รับผิดชอบ       ในการจัดการศึกษาโครงการแลกเปลี่ยนกับประเทศจีน

                สภาพอากาศที่กรุงปักกิ่งร้อนอบอ้าวถีง ๔๐ องศา และดูขมุกขมัวชอบกล เพราะมีหมอกหนาแน่นปกคลุมทั่วเมือง ผมถามดูได้ความว่า เป็นเพราะมีพายุทางตอนใต้ของจีนผ่านทะเลทราย โกบี ทำให้เมฆเคลื่อนตัวไปไม่ได้ จึงมีบรรยากาศคล้ายหน้าหนาวแต่ร้อนระอุ ทำให้เกิดความรู้สึกสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อสายตาหรือเชื่อความรู้สึกทางกายดี

              งานครั้งนี้ รัฐบาลจีนโดยพรรคคอมมิวนิตส์ ลงทุนจัดงานเพื่อโปรโมทสร้างภาพความยิ่งใหญ่ทางภาษาจีนอย่างสุดสุด อาจทุ่มทุนถึงร้อยกว่าล้านบาท ในการจัดงานเพียงสามวันเท่านั้น  โดยเชิญแขกจากทั่วโลกอาทิเช่น ตัวแทนรัฐบาล รัฐมนตรีศึกษา อธิการบดี คณบดีและครูสอนภาษาจีนจากทุกประเทศที่ทำการสอนภาษาจีนมาร่วมประชุมในครั้งนี้

               ทราบจากพี่เกื้อพันธ์ว่า ทีแรกจีนตั้งเป้าจำนวนสัมมนาสมาชิกไว้ที่ ๖๐๐ คน แต่คงจำกัดในเรื่องสถานที่สัมมนาและงบประมาณจึงลดสเกลลงมาที่ ๓๐๐ คน แต่ผมคำนวณดูจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจริงๆประมาณ ๔๐๐ คน ยังไม่นับผู้สื่อข่าวและนักศึกษาอาสาสมัครอีกจำนวนนับร้อย

              ที่นับว่าเป็นแขกระดับวีไอพี คือ สมเด็จพระเทพรัตนบรมราชสยามกุมารีฯ จากประเทศไทย  Mr.Mulatu Teshome จากประเทศเอธิโอเปีย Mr.Mounir Bouchenaki รองผู้อำนวยการทางวัฒนธรรมของยูเนสโก Mr.Raymond Chan รัฐมนตรีวัฒนธรรมจากประเทศคานาดา Mr.Geston Caperton President of the College Board, จากสหรัฐอเมริกา Mr.Joel Bellassen ผู้ตรวจการทั่วไปการศึกษาแห่งชาติของกระทรวงศึกษาประเทศฝรั่งเศส และบุคคลสำคัญอีกมากมายหลายท่านเต็มที

               ผมขออนุญาตไม่กล่าวชื่อหมดในพิธีเปิดจัดขึ้นที่ The Great Hall of the People น่าจะแปลว่า อภิหรือมหาศาลาประชาคม ที่ใช้เป็นที่ประชุมพรรคคอมนิวนิตส์ อันยิ่งใหญ่และใช้ในงานพิธีรับแขกเมืองสำคัญของรัฐบาลจีน โดยมีท่านรัฐมนตรีศึกษา Zhou Ji ของจีนให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี

               ทางจีน เชิญแขกผู้มีเกียรติเหล่านี้กล่าวสุนทรพจน์คนละประมาณห้านาที  แต่ละคนล้วนพูดภาษาจีนกลาง ได้อย่างคล่องแคล่ว เพราะเคยมาเรียนภาษาจีนและเป็นศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่งมาแล้วและในเนื้อหาล้วนแสดงถึงความสำคัญของภาษาจีนที่กำลังจะเป็นภาษาสำคัญของโลกอีกภาษาหนึ่งในไม่ช้า  

                โดยเฉพาะอีตา Joel จากฝรั่งเศส แกแสดงสุนทรได้ขึงขังตามแบบฉบับจีนนิยม คือมีลีลาการพูดเสียงดังแบบกล่าวคำปราศัยและเมื่อกล่าวจบประโยคสำคัญๆจะปรบมือนำ ทำให้ทุกคนต้องปรบมือตามประโยคเด็ดของเขาที่เรียกเสียงฮือฮาและการปรบมือดังยาวนานได้แก่

               “It’s time to join our hands to develop diverse cultures…It’s time to stand up and speak together…and it’s time to speak Chinese! 

            เล่นเอาผู้นำจีนนั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปตามๆกัน 

          ประโยคเด็ดข้างต้นนี้ เขาฉวยมาจากคำสโลแกนของการประชุมครั้งนี้ที่โปรยหัวว่า

            “Join hands to develop diverse cultures

         Work together to build Harmonious World” 

          ผมฟังๆดูแล้วออกจะเห็นว่า การที่จีนลงทุนกับงานนี้มากเพราะต้องการสร้างภาพพจน์เป็นผู้นำของประเทศมหาอำนาจในเอเชีย ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและศิลปวัฒนธรรมโดยใช้ภาษาเป็นตัวนำ

             การที่สามารถเปิดปากฝรั่งให้พูดยกยอจีนได้ในคราวนี้ น่าจะมีมูลเหตุมาจากปัจจุบันนี้เมื่อจีนเปิดประเทศออกมาดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงทุนนิยม กำลังซื้อของจำนวนประชากรสามพันกว่าล้านคนและค่าแรงที่ถูกอย่างเหลือเชื่อ ล้วนเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่นานาประเทศทั้งอเมริกาและยุโรปกระหายที่จะเข้ามาไขว่คว้า อีกทั้งบวกด้วยความเก่าแก่ทางอารยธรรมที่มีความลึกซึ้งทางปัญญาน่าสนใจน่าศึกษา ล้วนดึงดูดให้ชนทุกกระแสพุ่งเข้าหาประเทศจีน

             ไม่ว่าจะเป็นนายทุนของโลกหรือนักวิชาการของโลกต้องวิ่งเข้าหา

             ผมว่าอีกไม่นานคงต้องเขียนประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ว่า  

             “Every road goes to China 

          สถานที่ที่จัดให้แขกพักและประชุม คือ “Beijing Hotel”เป็นโรงแรมเก่าแก่หรูหราระดับห้าดาวของโลก (World Class Golden Five Star Hotel) ไกด์คุยว่าใหญ่ขนาด บิล คลินตัน มาพักก็แล้วกัน ให้หลับตานึกถึงภาพโรงแรมโอเรียลเตลของไทยเรา ขนาดราคาห้องพักธรรมดาๆ ตกคืนละร้อยห้าสิบยูเอสดอลล่าร์ไปแล้ว  ไม่นับรายการอาหารที่เลี้ยงรับรอง ในระดับห้าดาวทุกมื้อทุกวัน แถมด้วยสินค้าทางภาษาที่ทุ่มทุนแจกฟรีอย่างไม่อั้นคงอาศัยอำนาจของรัฐบาล ที่จัดการได้ทุกเรื่อง โดยสั่งการให้บริษัทที่ผลิตสินค้าทางภาษา ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ หรือสื่อการสอนที่ทันสมัยต่างๆ ให้ความร่วมมือมาออกร้าน ทำให้อาจารย์เมษา ต้องมีภาระเดินหิ้วถุงใบใหญ่ลำเลียงเอกสาร เดินตัวเอียงกลับห้องพักทุกวัน ปากก็ร้องบอกผมว่านักศึกษาโปรแกรมจีนจะได้ประโยชน์มากคราวนี้ มีหนังสือดีๆสื่อใหม่เยอะมาก

                 ผมถามดูได้ความว่า โปรแกรมยังขาดตำราและหนังสือที่ทันสมัยอีกมาก ผมจึงถือโอกาสพาข้ามถนนไปซื้อหนังสือที่หาซื้อในเมืองไทยได้ยากได้อีกหลายสิบเล่ม สงสัยขากลับน้ำหนักกระเป๋าคงเพิ่มอีกเท่าตัวแน่ๆ

                มาปักกิ่งคราวนี้ ได้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์มากมาย ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาพบเห็นสิ่งต่างๆในเพียงระยะเวลาสั้นๆก็ตาม

                ประการแรก ได้เห็นถึงวิธีคิดและวิธีการจัดการบริหารการศึกษาของจีน ที่ดูกลมกลืนไปกับนโยบายทางเสริมสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรมอย่างแนบเนียน งานนี้ต้องบอกว่าประเทศจีนได้คะแนนความนับถือจากสายตาของชาวต่างประเทศได้อักโข

                 ลองเปรียบเทียบง่ายๆว่า หากเป็นไทยจัดงานประชุมระดับนี้ จะสามารถทำให้ฝรั่งพูดออกมาได้อย่างเต็มปากหรือไม่ว่า ต่อไปโลกทั้งโลกจะต้องหันมาพูดภาษาไทย

                 ประการที่สอง ได้เห็นรายละเอียดของวิธีการจัดงานประชุมระดับโลก ว่ามีขั้นตอนและศักยภาพเพียงใด ตั้งแต่การเชิญแขก เอกสารต่างๆของงานประชุม การจัดงานพิธีเปิดและพิธีปิด การจัดงานเลี้ยงรับรอง การจัดโชว์แสดงศิลปวัฒนธรรม การจัดโปรแกรมทัวร์ ดูอารยธรรมอันล้ำค่าของประเทศ ล้วนมีมาตรฐานระดับโลกและเป้าหมายอวดศักดิ์ศรีว่า จีนสมควรยืนผงาดในแถวเดียวของมหาอำนาจของโลกตะวันตกได้

                   เขาพาผมไปดูพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งของจีน ที่มีทั้งหุ่นคนดังระดับโลกอยู่ทุกสาขา เช่น นักปรัชญา นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักกีฬาและศิลปิน ในทุกสาขานั้นมีบุคคลสำคัญของจีนเข้าไปสอดแทรกอยู่ด้วยทั้งสิ้น

                 เป็นการยกระดับตนเองให้ไปยืนในแถวเวทีโลก และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเยาวชนจีนได้เป็นอย่างดี

                  ทำให้ผมหลับตาฝันถึงในอนาคต ห้องแสดงหุ่นขึ้ผึ้งของไทย มีนักวิทยาศาสตร์ไทย อาทิเช่น ดร.อาจอง ชุมสาย ยืนเคียงไหล่กับหลุยส์ อาร์มสตรอง หรือสุนทรภู่ นั่งเขียนกลอนอยู่กับ วิลเลียม เช็คสเปียร์ หรือภราดร ศรีชาพันธ์ ยืนชูกำปั้นต่อหน้าแบ็คแฮม

                   หรือ สุรพล สมบัติเจริญ ร้องเพลงคู่กับเอลวิส เพรสรีย์               

                  หากดูไม่ทันสมัยเปลี่ยนเป็น หนูทาทา ยัง ก็ยังพอไหว

                  ประการที่สาม งานครั้งนี้เขาใช้นักศึกษาอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยดังๆทั่วกรุงปักกิ่ง มาทำหน้าที่ทุกอย่างในการจัดงานประชุม บ้างทำหน้าที่เป็นล่ามที่คอยแปลเป็นภาษาต่างๆอยู่ในห้องประชุมต่างๆ บ้างทำหน้าที่เลขา พิมพ์รายงานสรุปในห้องประชุม บ้างประจำที่คอยให้บริการตามจุดต่างๆ และอีกจำนวนนับร้อยที่ประกบให้บริการแก่แขกวีไอพีทุกประเทศ  ล้วนพูดภาษาอังกฤษได้ดี บางคนคล่องแคล่วมีไหวพริบปฏิภาณดีมาก คอยดูแลและอำนวยความสะดวกให้แทบทุกอย่าง แสดงถึงคุณภาพของนักศึกษาจีนได้อย่างดี

                  ยกเว้นคนที่มาประกบท่านอธิการบดีของเรา โทรมานัดหมายที่ห้องพักแล้วหายจ้อยไปเลย ไปเจออีกทีนั่งรออยู่บนรถบัสทำหน้าตาเฉย

                 ส่วนคนอื่นๆเขาไปยืนรอคอยนำแขกมาขึ้นรถและพาไปสถานที่ต่างๆส่วนหนูคนนี้ทำหน้าที่แค่ คอยมายืนสวัสดีตอนเช้า หนีฮ่าว หนีฮ่าว ที่ล็อบบี้ แล้วก็หนีอ้าว หายต๋อมไม่เห็นหน้าอีกเลยจนปิดประชุม

               ต้องยกให้เป็นกรรมเก่า ของท่านอธิการบดีก็แล้วกัน 

หมายเลขบันทึก: 66507เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2006 17:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ดิฉันเคยไปจีนค่ะ แต่ไม่เป็นทางการ ไปกับทัวร์ เลยไม่ทราบว่าเรื่องความร่วมมือระดับชาติเป็นอย่างไร

ขอบคุณทั้งสองท่านที่ให้ความเห็นครับ เป็นกำลังใจ

ว่าเขียนแล้วมีคนอ่าน

เรื่องความร่วมมือระดับชาตินี้ จีนเค้าเก่งการฑูตครับ

อ่านเรื่องสามก๊ก ก็พอรู้ว่าขนาดไหน

  • เข้ามาเรียนรู้ครับท่านอาจารย์
  • ขอชมรูปท่านอาจารย์นะครับ ดูมุ่งมั่นมากครับ
  • ขอเรียนถามด้วยความสงสัยจริงๆครับ ว่าอาจารย์ ไปเมื่อ กค 48 เมื่อ 1 ปีที่ผ่านมารึเปล่า หรือ พิมพ์ผิดครับ (ด้วยความเคารพ)

ขอบคุณครับที่แวะมาเยือน

รูปที่ท่านชมมา ก็ถ่ายในห้องประชุมครับ ที่ดูขึงขังเพราะตั้งกล้องถ่ายตนเองครับ

และเรื่องเวลานั้น เป็นวันเวลาจริงครับ

ผมขายของเก่า หนึ่งปีมาแล้ว

อืมม...แวะเข้ามาชะโงกดูเรื่ืองราวของเอเชียตะวันออกด้วยกันจากฝั่งคู่แข่งคู่ค้าคู่มีปัญหามหาเอเชียบูรพานี่ล่ะค่ะ

 อ่านแล้วก็อยากจะกระซิบบอกอาจารย์ว่า (ทำมือป้องปากไปด้วย มองซ้าย มองขวา แหม..เป็นความลับมากเลยนี่ บล็อกอาจารย์คนอ่านเป็นแสน) ....อาจารย์ที่ปรึกษาหนูที่ญี่ปุ่นนี่ ท่านเพิ่งได้ัรับเชิญเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่นเรื่องทำยังไงญี่ปุ่นถึงจะเข้าไปมีอิทธิพลต่อประเทศอื่น  ๆ ในเอเชียด้วยกันได้ในเรื่องการศึกษานี่ล่ะค่ะ  

คือไม่ใช่เฉพาะเอเชียหรอกนะคะที่ญี่ปุ่นมอง  แต่คงทั้งโลก  เพราะเรื่องของเรื่องก็คือเรื่องที่พี่จีนลุกขึ้นมาฮึ่ม  ๆ จะเป็นอภิมหาอำนาจในเอเชียบูรพานี่ล่ะค่ะ  ญี่ปุ่นเขาครองอำนาจมานาน  เขาก็เลยต้องคาน ๆ อำนาจเอาไว้บ้าง

เรื่องการจัดการประชุมอะไรระดับนานาชาตินั้น  หนูก็เห็นมาหลายประเทศพอสมควร  ก็คงแล้วแต่องค์กรที่จัดด้วยน่ะนะคะ  แต่ถ้าเรื่องจิตสำนึกสาธารณะเพื่อชาติ และความมีวินัยแล้ว  หนูว่าคงหาใครกินขาดพี่ยุ่นยากมากกกกกกกก อย่างน้อยไปอีกหลายชาติเลยน่ะค่ะ (ชาตินี้ ชาติหน้า และชาติต่อ ๆ ไปอีกหลายชาติน่ะนะคะ ไม่ได้หมายถึงชาติแขก ชาติไทย อะไรทำนองนั้น ฮิ ๆ)

อย่างเรื่องน้องนักศึกษาที่ทำหน้าที่แปลแล้วโดด

หายจ้อย ที่อาจารย์ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น  ที่ญี่ปุ่นไม่มีแน่นอนค่ะ  ประมาณว่า เขาคงคิดว่าเขาตายเสียดีกว่าทีจะคิดจะโดดแล้วทำให้

ชาติเขาเดือดร้อนเสียหายน่ะนะคะ  เขาจะอายมากเลยแ้ม้นแต่จะคิดน่ะค่ะ เอาอย่างนี้ดีกว่า

จิตสำนึกสาธารณะ เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่หนูว่าเป็นอะไรที่ต่อยอดมาจากการเจริญสติในสังคม

โบราณเขามาเป็นเวลาหลายร้อยปีจริง ๆ เสียด้วยสิคะ  

ก็แค่หนึ่งความคิดแวะมาบ่น ๆ ด้วยคนเท่านั้นน่ะคะ   

สวัสดีค่ะ อาจารย์

 

ณัชร 

ขอบคุณหนูณัชร

ฮ้า!อ่านเป็นแสนเชียวหรือ(ป้องปากถาม)

อาจารย์ยังไม่เคยมีประสบการณ์ในการประชุมใหญ่ๆที่ญี่ปุ่น

เคยแต่ประชุมระดับกลุ่มเล็ก

สงสัยจะเป็นอย่างหนูว่า

ดูแต่อีตาสุภัททะ ซิ ปากพล่อยครั้งเดียวตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน

เล่ากันมาตั้งสองพันกว่าปี ไม่รู้จบ

ใครจะนึกว่า แค่ลมปากของพระบวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง จะเป็นปัจจัยให้เกิดการสังคายนาพุทธศาสนา ครั้งแรกได้

พิชัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท