KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ : 223. ความรู้ที่ขาดหายไป


เคล็ดลับของการจัดการความรู้ก็คือ เราไม่เน้นที่ตัวความรู้เป็นหลัก เราเน้นที่ตัวคน และความสัมพันธ์ระหว่างคน เหตุที่เน้นเช่นนั้น ก็เพราะเราเน้นจัดการความรู้ส่วนที่อยู่ในตัวคนเป็นเป้าสำคัญที่สุด

KM (แนวปฏิบัติ) วันละคำ  : 223. ความรู้ที่ขาดหายไป

         ผมเป็นคนโชคดี มีโอกาสไปร่วมการประชุมสำคัญๆ มากมาย     อย่างวันที่ ๙ - ๑๐ ธค. นี้ ก็ได้ไปร่วมประชุมวิชาการประจำปี ๒๔๙ ของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)     ผมพยายามสังเกตว่าผู้หลักผู้ใหญในบ้านเมือง มีมุมมองต่อเรื่องความรู้อย่างไร     ในโลกยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ มุมมองต่อความรู้ของผู้นำในสังคมมีความสำคัญอย่างยิ่ง

         ผมพบว่า เวลานักวิชาการ  และผู้นำในสังคม พูดเรื่องความรู้ ฐานความรู้ ฯลฯ     ท่านจะไม่รวม "ความรู้ที่มีอยู่ในคน" (tacit knowledge) เลย    ความรู้ในคน หรือความรู้ปฏิบัติ เป็นความรู้ที่ขาดหายไป จากการยอมรับในสังคม   

         เวลาพูดถึง "ความรู้" คนทั่วไปจะนึกถึงหนังสือ  สมุด  อินเทอร์เน็ต  โรงเรียน  มหาวิทยาลัย  ครู อาจารย์      คนทั่วไปจะไม่นึกถึง "ผู้ปฏิบัติ" งานในเรื่องนั้นๆ  หรือมีอาชีพนั้นๆ     ทำให้ "ความรู้" ในสังคมของเราหายไปประมาณ ๘๐%     เพราะในโลกนี้ ความรู้ส่วนใหญ่อยู่ในผู้ปฏิบัติ อยู่ในวิถีชีวิต   

        เนื่องจากที่ผ่านมา เราขาดวิธีการนำเอาความรู้จากการปฏิบัติ มาตีความยกระดับ     เราจึงฝังใจอยู่กับความเข้าใจผิด ว่าความรู้ปฏิบัติไม่สำคัญ     เราหลงผิดคิดว่าความรู้ที่สำคัญ คือความรู้เชิงทฤษฎี ที่ผ่านการพิสูจน์ทางวิชาการแล้วเท่านั้น     ความหลงผิดนี้ทำให้สังคมของเราขาดความเคารพคนเล็กคนน้อยที่เป็นคนหน้างาน     ทำให้คนส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจตนเอง เพราะคิดว่าตนเป็นคนไม่มีความรู้      ต้องรอคำสั่งจาก "ผู้มีความรู้"     ทำให้หน่วยงานและชุมชนจมปลักอยู่กับสภาพ "ปัญญาอ่อน" เพราะมองไม่เห็นปัญญาของตนเอง     จมอยู่กับสภาพสะกดปัญญาของตนเอง สะกดปัญญาของกันและกัน ไม่ให้ออกมาทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงาน หรือแก่สังคม

         ในโลกยุคสังคมความรู้      เรื่องใหญ่ที่สุดคือการปลดปล่อยใจคน ความเชื่อของคน     ให้เชื่อมั่นในความรู้ของตนเอง อันมาจากประสบการณ์การทำงาน     ให้เชื่อมั่นตนเองแบบ "ทั้งเชื่อมั่นและไม่เชื่อมั่น"      คือทั้งตระหนักในศักยภาพของตนเอง และข้อจำกัดของตนเอง ไปพร้อมๆ กัน      เชื่อมั่น แต่ไม่เหลิง ไม่ลอย

          การจัดการความรู้ คือการนำเอาความรู้ส่วนที่ถูกทอดทิ้ง มาทำให้เกิดคุณค่าและมูลค่า      การจัดการความรู้ คือการจัดการให้เกิด "การสนธิพลัง "(synergy) ระหว่างความรู้หลากหลายชนิด ในคน  ในความสัมพันธ์ระหว่างคน   ในวิถีปฏิบัติประจำวัน (วัฒนธรรม) ขององค์กร / ชุมชน / สังคม    เพื่อนำเอาความรู้เหล่านั้นมาสร้างคุณค่าและมูลค่าแก่กิจการงาน    เกิดผลดีต่องาน   ต่อองค์กร  และต่อผู้ปฏิบัติงานนั้น

         เคล็ดลับของการจัดการความรู้ก็คือ     เราไม่เน้นที่ตัวความรู้เป็นหลัก    เราเน้นที่ตัวคน และความสัมพันธ์ระหว่างคน     เหตุที่เน้นเช่นนั้น ก็เพราะเราเน้นจัดการความรู้ส่วนที่อยู่ในตัวคนเป็นเป้าสำคัญที่สุด

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ธค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 66377เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2006 17:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

หนูก็เห็นเหมือนอาจารย์ค่ะ  ถึงแม้เราพูดถึงเรื่องการจัดการความรู้กันมากมา 2-3 ปีแล้ว  แต่ก็ยังไม่เห็นผู้บริหาร และ นักวิชาการ ให้ความสำคัญกับความรู้ที่อยู่ในตัวคนเท่าไรนัก

ผมก็โชคดีที่ได้มีโอกาสเรียนรู้อะไรต่ออะไรอย่างมากจากอาจารย์อีกต่อหนึ่ง เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของผมมาก

เช่นประเด็นเดียวกันกับบันทึกนี้ของอาจารย์ ผมก็ได้นำไปเน้นในที่ประชุมทางวิชาการของชาวห้องสมุด (PULINET)  ที่ ชม. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 49 ว่าให้ชาวห้องสมุดช่วยกันให้ความสำคัญกับความรู้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง อีกอย่างน้อย 80% ที่เรามักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ ให้ช่วยกันเป็น KF ในส่วนนี้ให้ดีด้วย ยังเน้นด้วยว่า "คน" เป็นทั้งตัวคลังความรู้ (อีกไม่น้อยกว่า 80 %) และในขณะเดียวกันก็จะเป็นผู้ที่จะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อีกด้วย (ประเด็นนี้เน้นแล้วเน้นอีก) และยังแนะนำด้วยว่า ตัวห้องสมุดน่าจะลองศึกษาเรื่องการเป็น chaordic organization เพื่อการเป็นองค์กรที่เรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา จะได้สามารถทำหน้าที่เป็น KF ที่ดีได้ทั้ง Explicit และ Tacit knowledge ถ้าทำได้ดังนี้ ผมเชื่อว่าจะทำให้ห้องสมุดกลายเป็นห้องสมุดที่มีชีวิตครับ คนทำงานก็จะมีความสุข คนเข้ามารับบริการก็จะมีความสุข ผลประโยชน์จากการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการทำงานก็จะมีมากขึ้น

สิ่งต่าง ๆ ทำนองนี้ครับที่ผมเรียกว่าผมโชคดีครับ ที่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้ต่อมาจากประสบการณ์ของอาจารย์อีกต่อหนึ่ง ทำให้มีแนวความคิดที่สามารถไปพูดคุยกับเขาได้

เห็นด้วย และเห็นด้วย ขอเป็นลูกคู่ค่ะ

ประเด็นยังไม่ถูกมองเห็นมากนักในสังคมไทย

ถ้ามีการสนับสนุน หรือให้โอกาส ให้เอาความรู้ในลักษณะ tacit knowledge มารวบรวม และทำให้เห็นเป็นรูปธรรม ของงานวิชาการอย่างกว้างขวางขึ้น ก็น่าจะทำให้สังคม หน่วยงานทุกๆ ส่วน โดยรวม เห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ได้มากขึ้น มากขึ้น ก็จะเป็นการดีนะคะ

อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์แล้วมีกำลังใจขึ้นมากเลยครับ เพราะในที่ทำงานที่กำลังเริ่มทำ Km ก็เป็นอยู่เพราะไม่เห็นว่าจะเป็นการจัดการความรู้ที่ไหน มันดูว่าไม่ใช่เพราะไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร

แต่ก็พอเห็นทางอยู่ครับเพราะความรู้สึกของคนที่เดินไปด้วยกันพอเห็นทางว่ามันเป็นเรื่องของการจัดการกับคนให้รู้สึกเห็นคุณค่าของความรู้ปฏิบัติที่เขามีอยู่

  • เรามีความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคลมากเลยครับเช่นครูบาสุทธินันท์ แต่เราไม่ได้ส่งเสริมสนับสนุนความรู้เหล่านี้ท่าไร
  • ขอบคุณมากครับ

"เคล็ดลับของการจัดการความรู้ก็คือ     เราไม่เน้นที่ตัวความรู้เป็นหลัก    เราเน้นที่ตัวคน และความสัมพันธ์ระหว่างคน     เหตุที่เน้นเช่นนั้น ก็เพราะเราเน้นจัดการความรู้ส่วนที่อยู่ในตัวคนเป็นเป้าสำคัญที่สุด"

ดิฉันเชื่ออย่างยิ่งว่า ความสำเร็จของ GotoKnow ในวันนี้ คือ การได้รู้จักตัวตนจริงๆ ของสมาชิกบล็อก จากที่ได้รู้จักเพียงนามแฝง ต่อยอดความรู้กันไปมา แล้วคลิ๊กเข้าไปอ่านประวัติของคู่สนทนา ทำให้เกิดความไว้วางใจ (trust) และเมื่อได้มีโอกาสมาเจอหน้ากันจริงๆ จึงมีความรู้สึกเหมือนคนที่เคยรู้จักคุ้นเคยกันมาก่อน ทำให้การสร้างบรรยากาศในเวทีการจัดการความรู้เป็นไปได้โดยสะดวกราบรื่นค่ะ

นี่เป็นข้อยืนยันค่ะว่า ระบบบล็อกเหมาะเป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้มากกว่าระบบอื่นใด เพราะบล็อกเน้นที่ตัวบุคคลตัวเจ้าของความรู้เป็นหลักค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท