การร่วมถือหุ้น


การจะอยู่รอดในธุรกิจและสามารถขยายกิจการออกไปได้จำเป็นต้องอาศัย Business Collaborative Arrangement หรือ ความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อนำพากิจการให้สามารถฝ่าวงล้อมของปัญหาไปสู่ความสำเร็จได้

Business Collaborative Arrangement: กลยุทธ์ความร่วมมือทางธุรกิจ  ในโลกธุรกิจการค้าไร้พรมแดนในปัจจุบันองค์กรธุรกิจหลายแห่งต่างเผชิญกับภาวะการแข่งขันสูง การจะอยู่รอดในธุรกิจและสามารถขยายกิจการออกไปได้จำเป็นต้องอาศัย Business Collaborative Arrangement หรือ ความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อนำพากิจการให้สามารถฝ่าวงล้อมของปัญหาไปสู่ความสำเร็จได้ ความร่วมมือทางธุรกิจซึ่งเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยมแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้   

1. การร่วมลงทุน (Joint Venture) คือ การที่กิจการตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปตกลงลงทุนผลิตสินค้าหรือบริการร่วมกัน โดยทำความตกลงเกี่ยวกับเงินลงทุน สิทธิความเป็นเจ้าของ และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น การร่วมลงทุนระหว่างบริษัท DisneyของสหรัฐฯกับEuro Disney ของฝรั่งเศสในการดำเนินกิจการสวนสนุกในฝรั่งเศส    

2. การร่วมถือหุ้น (Equity Alliance) คือ การที่กิจการหนึ่งเข้ามาซื้อหุ้นของอีกกิจการหนึ่งหลังจากที่กิจการก่อตั้งเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทที่มีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่าจะมีอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินใจดำเนินการต่างๆ เช่น การที่สายการบิน Air Canada เข้าถือหุ้นบางส่วนของสายการบิน Continental Airlines ของสหรัฐฯ  

3. การให้สัมปทาน (Licensing) คือ การที่กิจการหนึ่งให้สิทธิในการผลิตสินค้า โดยใช้เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และสิทธิทางการตลาดอื่นๆ แก่กิจการหนึ่ง โดยบริษัทผู้รับสิทธิหรือได้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าตอบแทนตามที่ได้ตกลงกันไว้เป็นกรณีไป ส่วนใหญ่มักชำระในรูปของค่าธรรมเนียม เช่น บริษัท Disney อนุญาตให้บริษัท Vigor International ของไต้หวันผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้เครื่องหมายการค้าของ Disney   

4. การให้สิทธิในการผลิตและจำหน่ายสินค้า (Franchising) คือ การที่กิจการหนึ่งให้สิทธิแก่อีกกิจการหนึ่งในการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและบริการแต่เพียงผู้เดียวภายในอาณาเขตที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งอนุญาตให้ใช้ตรายี่ห้อของบริษัทผู้ให้สิทธิ แนวทางการบริหาร การจัดองค์กร ตลอดจนกลยุทธ์การบริหารและการดำเนินงานที่เป็นแบบแผนเดียวกัน เช่น การซื้อสินค้าในการผลิตและขายสินค้าจาก McDonald's และ Pizza Hut ซึ่งเป็นกิจการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดของสหรัฐฯ   

5. การบริหารงานตามสัญญา (Management Contract) คือ การที่กิจการหนึ่งว่าจ้างอีกกิจการหนึ่งที่มีความชำนาญเป็นพิเศษให้เข้ามาทำหน้าที่ดูแลและบริหารด้านการจัดการ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต ตลอดจนให้การอบรมแก่บุคลากรในกิจการของตน เช่น The British Airport Authority (BAA) ได้รับการว่าจ้างให้เข้าไปบริหารงานสนามบินที่ Pittsburgh และ Indianapolis ในสหรัฐฯ 

ข้อดีของความร่วมมือทางธุรกิจมีดังนี้ 

1. ลดต้นทุนการผลิต การเข้าไปตั้งโรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศตามลำพังโดยตรง หรือการผลิตสินค้าจากภายในประเทศแล้วส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงกว่าการเข้าไปร่วมมือทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในประเทศที่ติดต่อค้าขายด้วย การให้ผู้ประกอบการในประเทศเป้าหมายเป็นผู้ผลิตสินค้าตามรูปแบบที่กำหนด พร้อมทั้งเป็นผู้จำหน่ายสินค้าด้วย โดยทั้งสองฝ่ายต้องทำข้อตกลงเรื่องรูปแบบการลงทุนและการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างชัดเจนและเป็นธรรม เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตและประหยัดเวลาในการติดต่อ ซึ่งถือเป็นต้นทุนการผลิตอีกประเภทหนึ่งด้วย   

2. ลดความเสี่ยงของธุรกิจ การดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศอาจเผชิญกับความเสี่ยงที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะจากทางการเมืองและความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่เข้าไปลงทุน ซึ่งอาจส่งผลกระทบมายังธุรกิจโดยตรง ดังนั้นหากมีความร่วมมือกับผู้ประกอบการท้องถิ่นจะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินงานของธุรกิจที่เป็นพันธมิตรกันได้ เนื่องจากผู้ประกอบการท้องถิ่นย่อมทราบข่าวสารข้อมูลภายในประเทศของตนได้ดีและรวดเร็วกว่า นอกจากนี้ การกระจายฐานการผลิตไปในหลายประเทศยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากประเทศใดประเทศหนึ่งลงด้วย

 3. ส่งเสริมซึ่งกันและกัน บริษัทที่มีความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างกันสามารถนำสัญลักษณ์และชื่อเสียงของอีกบริษัทมาช่วยเสริมภาพลักษณ์สินค้าของตนให้เป็นที่ดึงดูดใจและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เช่น ความร่วมมือระหว่างบริษัท Coca-Cola ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำอัดลมรายใหญ่ของโลกกับบริษัท Murjani Merchandising ผู้มีความชำนาญด้านการผลิตสิ่งทอของญี่ปุ่น โดยบริษัท Coca-Cola อนุญาตให้บริษัท Murjani นำเครื่องหมายการค้าของ Coca-Cola ไปติดบนสินค้าของบริษัท Murjani ซึ่งช่วยทำให้สินค้าของบริษัท Murjani เป็นที่นิยมและมียอดขายเพิ่มมากขึ้นในขณะเดียวกันบริษัท Coca-Cola ก็ได้ประโยชน์จากการโฆษณาสินค้าทางอ้อม ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน นับเป็นการเสริมสร้างปริมาณธุรกิจให้แก่กันและกันอีกด้วย   

4. เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ธุรกิจบางประเภทโดยเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดเล็กและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูง มักอาศัยความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ความร่วมมือระหว่างบริษัท Daimler-Benz (ภายหลังเปลี่ยนเป็น DaimlerChrysler) กับธุรกิจการบินของรัฐบาลจีนและบริษัท Samsung Aerospace ในการพัฒนาการผลิตเครื่องบินโดยสาร เพื่อแข่งขันกับบริษัท Boeing และบริษัท Airbus ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารยักษ์ใหญ่ของโลก   

5. เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิต ความร่วมมือทางธุรกิจก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นการร่วมกันหาจุดบกพร่องและแนวทางแก้ไขปัญหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตของแต่ละฝ่าย ซึ่งเป็นการช่วยลดจำนวนสินค้าที่มีตำหนิและไม่ได้มาตรฐานลงอีกด้วย ดังนั้น ความร่วมมือทางธุรกิจจึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่นักธุรกิจสามารถนำมาใช้ เพื่อฝ่าฟันวิกฤติเศรษฐกิจและพัฒนาประสิทธิภาพของตนเอง ให้อยู่รอดได้ในโลกของธุรกิจที่มีการแข่งขันในปัจจุบัน 

ที่มา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, "Business Collaborative Arrangement :  กลยุทธ์ความร่วมมือทางธุรกิจ," ทิศทางการส่งออกและลงทุน เล่ม 3, กรุงเทพ : บริษัท เปรียว จำกัด, 2543,หน้า 185-189.

หมายเลขบันทึก: 66124เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 21:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท