เอกสารมีชีวิต (7): ปลอดภัย


ข้อมูลสำคัญกว่าเงิน

ลองนึกถึงคุณพ่อ/คุณแม่มือใหม่หัดเลี้ยงเด็ก เห็นลูกน่ารักไปทุกอิริยาบถ ลงทุนซื้อกล้องดิจิตัลถ่ายรูปเก็บไว้

วันเีคืนดี ฮาร์ดดิสก์พังปุบปับ รูปที่เคยเก็บไว้หลายปี หายวับไปเกลี้ยง

จุดอ่อนยุคดิจิตัลคือ ข้อมูลทุกอย่างสามารถจะถูกทำลาย สูญหาย ลบเลือน โดยเฉพาะข้อมูลในคอมพิวเตอร์

ถึงเวลานั้น จึงจะเข้าใจคำกล่าวที่ว่า "ข้อมูลสำคัญกว่าเงิน"

เงินกี่ล้านก็ซื้อคืนรูปที่สูญหายเหล่านั้นไม่ได้

แต่โชคดี ใช้เงินไม่มากนัก เพื่อป้องกันกรณีดังกล่าวได้

ตัวอย่างนี้ อาจซื้อฮาร์ดดิสก์สำรองอีกลูก หรือเขียนลง DVD และสำเนาแผ่นไว้หลายที่ เช่น ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือไล่แจกญาติพี่น้อง

นิยายวิทยาศาสตร์บางเรื่องก็ชี้ประเด็นนี้ เช่น ยกตัวอย่างว่า การทำสงครามที่ใช้อาวุธคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีผลทำลายล้างระยะยาวสูงมาก โดยเฉพาะกับวัฒนธรรมดิจิตัล เพราะยิ่งก้าวหน้าไปมาก ยิ่งเปราะบางต่อการทำลายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

แต่ตัวทำลายที่รุนแรงที่แท้จริง กลับอยู่ที่ความไม่รู้ในตัวเราเองเสียมากกว่า เพราะเมื่อจัดการไม่ดี ระบบก็จะเปราะบาง ดังตัวอย่างข้างต้น

หัวข้อนี้เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ผมยกตัวอย่างสั้น ๆ ให้คนที่ไม่มีเวลาไปหาอ่าน ไม่ได้เจตนาขายมะพร้าวให้ใคร ถ้าเห็นว่าไม่ครบถ้วนทางวิชาการ โปรดอดใจงดโทษที่ผมอาจเอื้อม

การรักษาความปลอดภัยจึงนิยมใช้หลักสามประการคือ การออกแบบระบบเก็บให้มีความทนทานต่อความผิดพลาดระดับรุนแรงได้เป็นอย่างดี (fault tolerance), การสำรองข้อมูลหลาย ๆ สำเนา  (backup) และการรักษาความปลอดภัยข้อมูลไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องมายุ่งเกี่ยว (security)


การออกแบบระบบเก็บให้มีความทนทานต่อความผิดพลาดได้แก่การที่ผู้ใช้กรอกผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ โปรแกรมหรือระบบจะเตือนให้ทราบ  หรือปรับแก้ให้ถูกต้องได้ หรือไม่ยอมให้ทำงานต่อเว้นแต่จะแก้ในขณะนั้นจนเป็นที่พอใจ เข่น พิมพ์ตัว O (โอ) แทนเลขศูนย์ หรือตัว l (แอล) แทนเลข 1 ลงในฐานข้อมูล ก็จะเตือน หรือเปลี่ยนให้เองอัตโนมัติ หรือหากพิมพ์ลักลั่นเล็กๆน้อยๆเช่น การเคาะเว้นวรรคไม่เหมาะสม ระบบที่ดีจะปรับกลับรูปแบบที่ควรเป็นเองได้โดยอัตโนมัติ การออกแบบให้ทนทานเช่นนี้จะทำให้ใช้งานราบรื่น


การสำรองข้อมูล มีพื้นฐานบนข้อเท็จจริงว่า แฟ้มข้อมูล สามารถเสียหายหรือถูกทำลายได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ดีหรือน่าวางใจเพียงใดก็ตาม เช่น เราพลั้งมือลบ หรือแฟ้มติดไวรัสจนไม่สามารถกู้คืน harddisk เสีย notebook หล่น ฯลฯ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้น จะไม่ทราบล่วงหน้าว่าจะเป็นเมื่อใด การไม่สำรองข้อมูลคือพนันว่า ถ้าเสียหาย เราพร้อมจะแบกรับความเสียหายทุกประการที่จะตามมาหากแฟ้มนั้นไม่สามารถใช้งานได้อีก

การสำรองข้อมูลนิยมเก็บหลายสำเนา ทั้งในที่เดียวกัน และนอกที่ทำงาน (รองรับกรณีอุบัติภัยของที่ทำงานเช่นอัคคีภัย) โดยนิยมหมุนเวียนสำเนาสำรอง ไม่สำรองพร้อมกันทุกชุด เพราะไม่เกิดประโยชน์ เพราะหากต้นฉบับมีปัญหาโดยไม่รู้ตัว การสำรองพร้อมกันหมดก็จะทำให้ได้แต่ชุดสำเนาที่มีปัญหาเหมือน ๆ กัน แต่ถ้าสำเนาเหลื่อมเวลา ก็อาจช่วยลดระดับความเสียหายได้ สามารถย้อนกลับไปตั้งต้นใหม่ ณ ก่อนเกิดปัญหาร้ายแรงนั้นได้ 

จำนวนสำเนาเหลื่อมเวลาที่จะสร้างนั้น ควรยึดหลักความเหมาะสมของตัวเอง และตามความสำคัญของแฟ้มนั้น

สำหรับคนที่รู้ตัวว่า ข้อมูลสำคัญ เพราะมีเงิน ก็ซื้อข้อมูลคืนไม่ได้ การลงทุนมีฮาร์ดดิสก์สำรอง อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดมาก เพราะเป็นระบบ "ประกันชีวิต" ให้ข้อมูลที่ไว้ใจได้ค่อนข้างสูงมาก เมื่อเทียบกับวิธีอื่น

ฮาร์ดดิสก์สำรองที่ใช้สะดวก หากต้องการสำรองข้อมูลมากและบ่อย อาจใช้ระบบลิ้นชักใส่ฮาร์ดดิสก์ (rack) ซึ่งราคาไม่กี่ร้อยบาทเมื่อซื้อต่างจังหวัด ทำให้สามารถเปลี่ยนลิ้นชักเมื่อต้องการใช้ฮาร์ดดิสก์ลูกอื่นได้ ซึ่งจะดูแลง่ายกว่าเขียนซีดีเสียอีก

การสำรองข้อมูลในกรณีที่เป็นระบบ electronics มีข้อพึงระวังคือ ข้อมูลอาจผูกติดรูปแบบอยู่กับระบบซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์มาก หากทิ้งช่วงนาน เมื่อซอฟท์แวร์เปลี่ยนแปลงไป แม้เราจะมีแฟ้มที่สมบูรณ์ แต่เราอาจเปิดอ่านไม่ได้

กรณีของฮาร์ดแวร์ก็เช่นกัน สามารถเปลี่ยนแปลงไปเร็ว ปัจจุบัน floppy disk แผ่นใหญ่หายสาบสูญไปแล้ว ทั้งที่เมื่อสิบกว่าปีก่อนใช้บ่อยที่สุดในสำนักงานทั่วไป

ความปลอดภัยจึงไม่ใช่การเก็บอย่างเดิมตลอดไป อาจหมายถึงการเปลี่ยนรูปไปได้ด้วย

การเก็บข้อมูลสำคัญจึงต้องหมั่นพิจารณาโยกย้ายแปลงรูปแบบการเก็บเป็นระยะ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ โดยต้องปรับแก้ความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนดังกล่าวให้เรียบร้อย

จากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง การสูญหายของข้อมูลเกิดได้ง่ายที่สุดในนาทีสุดท้ายที่ทำงาน หรืออาจเกิดในช่วงที่รู้สึกว่างานเสร็จบริบูรณ์ (แต่ยังไม่ได้ส่งมอบข้อมูลนั้น) เช่น save แฟ้มไม่ทันเสร็จ ก็รีบปิดเครื่องหรือดึงแผ่นดิสก์ออก หรือเมื่อถือโอกาสลบแฟ้มที่ไม่ใช้งานออกแล้วพลั้งมือไปลบแฟ้มที่เพิ่งสร้างล่าสุด (และยังไม่ได้มีสำเนา) 

แบบนี้ ต้องเรียกว่าเรือล่มเมื่อจอด

 

ในเรื่องรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอิงกับเทคโนโลยีมาก ผมขอไม่กล่าวถึง เพราะไม่ถนัด แต่วิธีคิดในการจัดการ ดูเหมือนจะไม่เคยเปลี่ยน นั่นคือ "จุดอ่อนของระบบ จะอยู่ที่ห่วงโซ่ที่เปราะบางที่สุด" ซึ่งหากวิเคราะห์ออกมาได้ ก็จะลดปัญหาไปได้



ความเห็น (1)
  • สวัสดีครับคุณวิบูลย์
  • ผมเองเมื่อก่อน (แม้กระทั่งเดี๋ยวนี้) ก็ประสบปัญหาดังกล่าวเหมือนกันครับ จนกระทั่งอาจจะกลายเป็นพวกวิตกจริตมากไปหรือพวกย้ำคิดย้ำทำ ก๊อปแล้วก๊อปอีกจนนี้แผ่น CD ที่สำรองข้อมูลไว้เยอะมาก ๆ ครับ
  • ได้มาอ่านเทคนิคดี ๆ ของคุณวิบูลย์เป็นประโยชน์อย่างมากเลยครับ จะลองนำไปคิดและปรับใช้กับตัวเองครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท