สำรวจเงินในกระเป๋า


สำรวจเงินในกระเป๋า
สำรวจเงินในกระเป๋า

ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2550 ของรัฐบาลผ่านมติรับหลักการวาระแรกของสภา นิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2549 ใช้เวลาแค่หนึ่งวันกับครึ่งคืนถือว่ารวดเร็วที่สุดเท่าที่เคยทำกันมา  งบประมาณปี พ.ศ. 2550 ตั้งไว้ 1,566,200,000,000 บาท ถ้าเป็นภาษาพูดก็คือ 1 ล้านล้านบาทกับเศษอีก 556,200 ล้านบาท เป็นงบแบบขาดดุล เพราะมีรายได้สุทธิเพียง 1 ล้านล้านบาทกับเศษ 420,000 ล้านบาท ต้องกู้มาโปะเพิ่ม 140,000 ล้านบาท 

ก่อนหน้านี้มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังเจอปัญหาปวดหัว เพราะขาดเงินสดที่เรียกว่าสภาพคล่อง บางรายถึงกับวิตกสงสัยว่ารัฐบาลถึงแตกหรือเปล่า แต่เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แถลงต่อสภาว่ามีรายได้ไหลเข้ามาพอให้จับจ่ายใช้สอย ก็ช่วยให้เบาใจ  ในจำนวนเงินทั้งหมดนี้ แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งหมายถึงเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของภาคราชการถึง 70% เท่ากับ 1 ล้านล้านบาทกับเศษ 136,060 ล้านบาท จัดว่าอยู่ในเกณฑ์สูง และประเด็นนี้ตกเป็นเป้าวิจารณ์ว่าประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของภาคราชการมากเกินไป

การมียอดค่าใช้จ่ายประจำสูงทำให้เหลือเงินเอาไปลงทุนและพัฒนาน้อยลง ทั้งยังมีภาระใช้หนี้เงินกู้คืน 55,490 ล้านบาท บวกกับต้องชดเชยเงินคงคลัง ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนใช้บานเบิกอีก 41,967 ล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้เมื่ออ่านมากเข้าก็ตาลายสับสน เอาเป็นแค่รู้ว่าสถานะการเงินของประเทศไทย ณ วันนี้ ยังอยู่ในสภาพที่ต้องดิ้นรนต้องเหนื่อยกันอีกหลายยก ดังนั้นเงินแต่ละบาทแต่ละสตางค์ควรใช้ไปอย่างคุ้มค่าและมีผลตอบแทนกลับในสัดส่วนที่เหมาะสม

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์แถลงเรื่องการใช้จ่ายต่อสภาว่า มีแผนยุทธศาสตร์ 7 ด้านได้แก่ 1.การขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท 2.การพัฒนาคนและสังคม 3.การกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว 4.การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  5.การปรับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน  6.การรักษาความมั่นคงส่งเสริมธรรมาภิบาล และ 7.การปรับปรุงการบริหารงานภาครัฐ

ดูตามหัวข้อแล้วที่จะต้องใช้เงินหนัก ๆ ก็คือการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลต้องทุ่มงบลงไปจำนวนมาก  ส่วนข้ออื่น ๆ นั้นไม่ค่อยเท่าไหร่ และบางข้อกลับจะทำให้รัฐประหยัดเงิน ซึ่งถือว่าได้กำไรเช่นการประหยัดพลังงาน การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภาครัฐ

รัฐบาลต้องตั้งกำแพงสกัดสินค้าฟุ่มเฟือย ต้องปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้เลิกใช้สินค้าแบรนด์เนมราคาแพงให้เลิกการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย อย่าปล่อยให้คนไทยตกเป็นทาสลัทธิบริโภคนิยมอีกต่อไป

                            สยามรัฐ  (คอลัมน์หัวโขน หัวคน)   8  ธ.ค.   2549

คำสำคัญ (Tags): #งบประมาณ
หมายเลขบันทึก: 66050เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท