สิทธิได้รับค่าเช่าบ้านที่คืนมา


สิทธิได้รับค่าเช่าบ้านที่คืนมา
สิทธิได้รับค่าเช่าบ้านที่คืนมา

1.  ข้าราชการที่บรรจุและแต่งตั้งแล้วจะได้รับเงินค่าเช่าบ้านหรือไม่ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่พระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 ในกรณีที่ข้าราชการเคยได้รับเงินค่าเช่าบ้าน ต่อมาสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านหมดไปด้วยเหตุอย่างหนึ่ง ต่อมาเหตุดังกล่าวหมดไป สิทธิได้รับค่าเช่าบ้านจะกลับคืนมาหรือไม่ ตรงนี้เรามีคำตอบมาฝากเพื่อนข้าราชการและบุคลากรของหน่วยงานของรัฐ ที่ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้

2.  ข้าราชการของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ซึ่งมีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาอยู่ก่อนที่จะไปปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนแห่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว ต่อมาข้าราชการนี้กลับเข้ารับราชการในสังกัดเดิมตามที่พระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การมหาชนแห่งนั้น เช่นนี้จะทำให้ข้าราชการรายนี้มีสิทธิได้รับเงินค่าเช่าบ้านตามสิทธิที่เคยมีอยู่เดิมหรือไม่ อย่างไร

3.                 ปัญหานี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3) ได้พิจารณาให้ความเห็นโดยสรุปว่า การที่ข้าราชการได้รับอนุมัติให้ไปปฏิบัติงานเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การมหาชนย่อมทำให้พ้นจากสถานะความเป็นข้าราชการตามมาตรา 36 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านตามพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2547 อีกต่อไป   ต่อมาเมื่อข้าราชการรายนี้ได้ขอกลับเข้ารับราชการ (ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542) ในภายหลัง ย่อมทำให้มีสถานะเป็นข้าราชการและมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ  นับแต่วันที่ได้รับบรรจุและแต่งตั้งใหม่ การที่มาตรา 36 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชนบัญญัติให้นับเวลาระหว่างที่มาปฏิบัติงานในองค์การมหาชนสำหรับการคำนวณบำเหน็จบำนาญหรือประโยชน์ตอบแทนอื่น ทำนองเดียวกันเสมือนอยู่ปฏิบัติราชการเต็มเวลานั้นเห็นว่า ค่าเช่าบ้านเป็นเงินที่รัฐจะจ่ายให้ข้าราชการเพื่อช่วยเหลือข้าราชการที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่อยู่ในความหมายทำนองเดียวกันกับบำเหน็จบำนาญตามมาตราดังกล่าว

4.                 ปัญหาเรื่องนี้ ผู้สนใจติดตามดูรายละเอียดได้จากเรื่องเสร็จที่ 449/2549 บันทึกเรื่องสิทธิได้รับค่าเช่าบ้านของข้าราชการซึ่งขอกลับเข้ารับราชการตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 3)  

5. ยังมีปัญหาอีกเรื่องคือ การได้รับเงินประจำตำแหน่งของผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาว่าจะได้รับตั้งแต่วันใดกัน ปัญหานี้เกิดขึ้นเมื่อข้าราชการและผู้ซึ่งมิได้เป็นข้าราชการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา โดยปฏิบัติหน้าที่หลักตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งหรือวันที่รักษาราชการแทนเช่นนี้ สถาบันอุดมศึกษาสามารถดำเนินการให้ผู้บริหารเหล่านั้นได้รับเงินประจำตำแหน่งดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง หรือวันที่รักษาราชการแทนได้หรือไม่

6.                 ปัญหานี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) ได้พิจารณาให้ความเห็นโดยสรุปว่า เมื่อผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารหรือได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทนได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งหรือวันที่ให้รักษาราชการแทน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 และ มาตรา 19 แห่งพระราชกฤษฎีกา การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา การได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการและ       ผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารซึ่งไม่เป็นข้าราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2549 ดังนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวจึงมีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและได้ปฏิบัติหน้าที่หลักนั้นอยู่เป็นต้นไป

7.                 ปัญหาเรื่องนี้ดูรายละเอียดได้จากเรื่องเสร็จที่ 387/2549 บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการได้รับเงินประจำตำแหน่งของผู้บริหารในสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เอาละครับ ฝากไว้เพียงเท่านี้ครับ

แนวหน้า (คอลัมน์ข้าราชการแนวหน้า)   7  ธ.ค.  2549

หมายเลขบันทึก: 66026เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 09:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท