ทันตกรรมชุมชนภาคสยาม: เราทำอะไรกัน (3)


ทันตกรรมชุมชนในระดับภาครัฐ

ได้กล่าวถึงบทบาทของทันตกรรมชุมชนในระดับบุคคลและระดับกลุ่มคนแล้ว

บทบาทในระดับภาครัฐมองในภาพกว้างขึ้นระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลกครับ

ความเชื่อ หรือแนวคิดหลักของการทำงานในระดับนี้ก็คือ

"ปัจจัยทางสังคมที่เอื้อต่อสุขภาพ สามารถสร้างได้ ผ่านการกำหนดนโยบายในระดับภาครัฐ"

การทำงานในระดับนี้ส่วนใหญ่ข้องเกี่ยวกับข้อมูลที่เป็นผลจากการสำรวจสุขภาพ เพื่อจัดตาดู (Monitor) ความเปลี่ยนแปลงของสภาวะต่างๆ ตามช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

การทำงานในระดับนี้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการออกนโยบายด้านสุขภาพของภาครัฐ ข้อมูลทางสถิติในแง่มุมต่างๆ ช่วยให้ภาครัฐสามารถปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมนโยบาย อันส่งผลกระทบในวงกว้าง หวังผลให้เพื่อประชาชนมีสุขภาพช่องปากดีขึ้น

นอกจากนี้การนำเสนอให้ภาครัฐจัดสรรทรัพยากรเพื่อทันตสุขภาพให้กับประชาชนเป็นอีกบทบาทที่สำคัญของการทำงานในระดับนี้ ทรัพยากรที่ว่า รวมถึงทันตแพทย์, ทันตาภิบาล, วัสดุอุปกรณ์ในการทำฟัน ต้องคิดถึงทั้งจำนวนและการกระจายทรัพยากรเหล่านี้ในพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม

ประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องการการจัดการระดับรัฐอื่นๆ เช่น เรื่องความเป็นธรรมด้านสุขภาพ, การเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชน, จรรยาวิชาชีพ เรื่องเหล่านี้ก็คาบเกี่ยวกับการทำงานของทันตกรรมชุมชนไม่น้อยครบ

การทำงานของทันตกรรมชุมชนระดับภาครัฐต้องใช้องค์ความรู้แบบสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายแต่ละอย่างที่ออกมานั้นจะให้ผลดีจริง ดังนั้นบุคคลากรที่ข้องเกี่ยวกับการทำงานระดับนี้ มักประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา ด้านชีวสถิติ ด้านเศรษฐศาสตร์การแพทย์ ด้านกฎหมายและด้านการบริหารงานสาธารณสุข

ตัวอย่างผลงานของการงานในระดับนี้เช่น

  • การเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปา (ประเทศไทยยังไม่มีกิจกรรมนี้)  
  • การสำรวจสุขภาพช่องปากระดับประเทศ (ประเทศไทยมีกิจกรรมนี้ทุกห้าปี) เพื่อตามดูว่าว่าคนไทยสุขภาพช่องปากเป็นอย่างไร เช่น เป็นโรคฟันผุมากขึ้นหรือน้อยลงเท่าไหร่ และมันมีปัจจัยอะไรที่เพิ่มขึ้นตาม (เช่นการบริโภคน้ำตาล) หรือลดลงอย่างสวนทาง  กับโรคฟันผุ(เช่นการใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์)บ้าง
  • การกำหนดให้มีทันตแพทย์คู่สัญญาใช้ทุน (รัฐไทยให้นักศึกษาทันตแพทย์ทำสัญญากับรัฐว่าหลังจากเรียนจบแล้วจะทำงานให้ภาครัฐเป็นเวลาอย่างน้อยสามปี)
  • การควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับช่องปาก เช่น ยาสีฟัน, แปรงสีฟัน, น้ำยาบ้วนปาก แม้แต่ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่างๆ
  • การควบคุมดูแลเรื่องจรรยาวิชาชีพทันตกรรม

สรุป บทบาทของทันตกรรมชุมชนในสามระดับ นับตั้งแต่ในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับภาครัฐ มีความประสานสัมพันธ์อย่างเกี่ยวเนื่องกัน แต่ละระดับสนับสนุนกันให้เห็นภาพใหญ่ชัดเจนยิ่งขึ้น อันนำไปสู่กิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพช่องปากที่ดี

 

คำสำคัญ (Tags): #oral_health_promotion
หมายเลขบันทึก: 66010เขียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2006 12:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท