KM ใน มวล. (๒)


ก้าวหน้าไปอย่างน่าชื่นชม
KM ใน มวล. 
ผมเคยเล่าเรื่อง KM ใน มวล. ไว้แล้ว (คลิก)    วันที่ ๗ พย. ๔๘ ได้รับ อี-เมล์ จาก รศ. สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์  ดังต่อไปนี้
เรียน ท่านอาจารย์ วิจารณ์  ที่เคารพอย่างสูง
ผมอยากจะขออนุญาตเล่าเรื่องเกี่ยวกับความคืบหน้าในการทำ KM ที่วลัยลักษณ์ให้ท่านอาจารย์ได้ทราบและหากท่านจะชี้แนะให้ผมได้ปรับปรุงหรือดำเนินการอย่างไร จักเป็นพระคุณอย่างสูงครับ
หลังจากที่ผมได้เรียนท่านอาจารย์ไปแล้วครั้งหนึ่งว่า  ผมได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการปฏิบัติงานที่ดีเพื่อวลัยลักษณ์ รุ่นที่ 1 โดยมุ่งให้พนักงานสายสนับสนุนการเรียนรู้เครื่องมือ KM    และผสมผสานด้วยกิจกรรมสัมพันธ์
ซึ่งทำให้เกิดพลังอย่างมากที่พนักงานอยากจะทำงานเพื่อมหาวิทยาลัย   และทำให้เกิดบรรยายกาศที่ดีในการที่จะทำงานร่วมกัน   จนเกิดการขยายวิธีคิดไปถึงเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีในการทำงาน   ซึ่งนอกเหนือจาก KM ที่จะเป็นพื้นฐานของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้
เรียกได้ว่า ใช้เครื่องมือของ KM จัดการความรู้ และจัดการความรู้สึก ไปพร้อมกันเลยครับ
หลังจากเสร็จโครงการฯรุ่นที่ 1  และได้รับคำแนะนำจากท่าน ผมได้จัดโครงการสร้างวิทยากรKM รุ่นที่ 1 ขึ้น
มีผู้ที่เคยผ่านโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ รุ่นที่ 1 จำนวนประมาณ 25 คน  เข้ารับการอมรม เป็นเวลา 2 วันครับ คือวันที่ 27-28 ตุลาคม ที่ผ่านมา  ซึ่งได้ผลดีมากครับ
ผมต้องขอขอบพระคุณท่านอีกครั้งที่ได้ส่งวิทยากรมาช่วยในโครงการนี้   และเมื่อวันที่ 2-4 พฤศจิกายน ที่ผ่านมานี้
ผมก็ได้จัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯรุ่นที่ 2 ขึ้น และใช้ทีมวิทยากรKM   ของวลัยลักษณ์ทั้งหมด ซึ่งจากการทำ AAR ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ   ผมประเมินว่าผลงานก็อยู่ในระดับดีมากทีเดียวสำหรับทีมวิทยากรมือใหม่หัดขับครับ และผมเห็นว่ามันเกิดพลังมากขึ้นครับ   ในเรื่องการร่วมจิตรวมใจของคนทำงานที่ต้องการจะทำงานเพื่อองค์กร
ที่นอกจากการได้เรียนรู้และเข้าใจเครื่องมือของ KM
ซึ่งในระยะต่อไปที่ผมคิดว่าวลัยลักษณ์ควรจะต้องเดินต่อไปก็คือ   การส่งเสริมความเข้มแข็งของCoP ในด้านต่าง ๆ
โดยใช้เครือข่ายจากพนักงานที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนฯ และโครงการวิทยากร KM   ก็น่าจะทำให้การจัดการความรู้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ทั่วทั้งองค์กรครับ
อย่างไรก็ตามอย่างที่ท่านได้ให้ข้อเสนอแนะผม  ผมคิดว่าก็คงต้องใช้เวลาและการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องประมาณ 2-3  ปี น่าจะเห็นผลชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการขยายแนวคิด KM   ไปยังกลุ่มสายวิชาการด้วยครับ 
ตอนนี้ผมก็กำลังวางแผนเกี่ยวกับการจัด KM  ในชุมชน CoP เฉพาะงาน และโครงการวิทยากร KM รุ่น 2
รวมถึงโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯรุ่นที่ 3 ต่อไปครับ
หากท่านอาจารย์มีข้อชี้แนะใด ๆ ให้แก่กระผมจักเป็นพระคุณอย่างสูงครับ   เพราะผมเองก็ยังไม่กล้าที่จะสรุปชัดเจนว่าทิศทางที่ผมวางแผนที่จะเดินไปในเรื่อง KM จะดีหรือไม่ แต่ผมก็นึกถึงคำพูดท่านอาจารย์เสมอว่า ไม่ทำก็ไม่รู้ ครับ
และที่สำคัญผมคิดว่าวลัยลักษณ์โชคดีครับ ที่ท่านอธิการบดี ท่านให้การสนับสนุนในเรื่องนี้มากครับ
ผมขออนุญาตเล่าให้ท่านอาจารย์ทราบเท่านี้ก่อนนะครับ
ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ
สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์ ([email protected])
ปล.วลัยลักษณ์ได้สมัครเป็นเครือข่าย UKM แล้วครับ
ได้รับทราบความคืบหน้าแบบนี้แล้วชื่นใจครับ    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการที่มี “คุณเอื้อ” คอยคิดยุทธศาสตร์ KM แบบ กัดไม่ปล่อย หรือทำอย่างต่อเนื่องแบบนี้ น่าชื่นชมมาก    คำแนะนำของผมในขั้นนี้ ได้แก่
1.        หาเรื่องราวความสำเร็จที่อาจเป็นความสำเร็จเล็กๆ แต่จะช่วยผลักดัน มวล. สู่วิสัยทัศน์ ที่กำหนด    เอามา ลปรร. และทำความเข้าใจ    ตรวจสอบว่าเหตุใดจึงเกิดความสำเร็จนั้นๆ ขึ้นได้    ถ้าจะสร้างความสำเร็จทำนองนั้นขึ้นอีก   มีเงื่อนไขอะไรที่ปิดกั้น หรือส่งเสริม    แล้วผู้บริหารหาทางขจัดตัวปิดกั้น และสร้างตัวส่งเสริม     ดำเนินการทำนองนี้ในหลากหลายรูปแบบ  หลากหลายเป้าหมาย  หลากหลายประเด็น  หลากหลายกลุ่มบุคลากร     อาจลองกลุ่มอาจารย์ด้วย
2.        สร้างวิทยากรภายใน / คุณอำนวย ให้เก่งขึ้น    ปรึกษาว่าจะติดอาวุธอะไรเพิ่มเติม เพื่อเอามาทำอะไร    ตัวอย่างของทักษะที่ควรฝึกและเรียนรู้เพิ่ม เช่น   storytelling, dialogue, creativity, LO, appreciative inquiry, balanced scorecard, change management, เป็นต้น
3.        เชิญวิทยากรภายนอกมาบรรยาย หรือจัด workshop ในเรื่องที่วางแผนไว้ อย่างสม่ำเสมอ     ควรมีการวางแผน / ตารางกำหนดการไว้เป็นปี    แล้วนำเอาความรู้/ทักษะที่ได้ไปประยุกต์ใช้ และประเมินผลการประยุกต์ใช้
4.        วางแผน KM อย่างคร่าวๆ ใน ๑๒ เดือน, ๒ ปี, ๓ ปี ว่าอยากเห็น impact อะไรต่องาน, ต่อคน, และต่อองค์กร    และกำหนดกิจกรรม KM และกิจกรรมอื่นๆ ที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น
5.        น่าจะส่งเสริมการเขียน บล็อก แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน    ใน มวล. มีคนเขียนเป็นประจำอยู่แล้ว   น่าจะเรียนรู้จากเขา
6.        น่าจะหาทางใช้ peer assist  สำหรับการก้าวกระโดดที่สำคัญ
7.        ในคณะ วจก. น่าจะเปิดสอนวิชา KM ระดับปริญญาตรี    ปรึกษา อ. จิรัชฌา ได้
วิจารณ์ พานิช
๗ พย. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 6583เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2005 18:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท