22 วิธีรักษาสุขภาพแบบชีวจิต


วิธีรักษาสุขภาพแบบชีวจิต

สาระสุขภาพ:

๒๒ วิธีรักษาสุขภาพแบบชีวจิต

นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ ศูนย์มะเร็งลำปาง
www.lampangcancer.com
ยูคิกาซุ ซากุระซาวะ(จอร์จ โอซาวะ)ชาวญี่ปุ่นป่วยเป็นโรคหอบหืด และวัณโรค ท่านได้เข้าไปพักในวัดเซ็น กินอาหารมังสวิรัติแบบเซ็น ปรากฏว่าร่างกายแข็งแรงขึ้น และหายป่วยจากโรค ท่านจึงนำแนวคิดอาหารเซ็นไปปรับปรุง เช่น เพิ่มปลา สาหร่ายทะเล ฯลฯ และนำออกเผยแพร่ในนามของแมโครไบโอติกส์ (macrobiotics) ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิตที่ยิ่งใหญ่หรืออายุยืนยาว
แมโครไบโอติกส์
แมโครไบโอติกส์เป็นแนวคิดรักษาสุขภาพ เพื่อป้องกันและบรรเทาโรคภัยต่างๆ มีหลักการสำคัญ 5 ประการได้แก่
q       อาหารคือรากฐานของสุขภาพและความสุข
q   อาหารจะต้องมีสมดุลของโปแทสเซียมกับโซเดียม(ไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่งตามหลักการยินหยาง) ตัวอย่างอาหารที่มีโปแทสเซียมมาก เช่น ผลไม้หวานจัด ฯลฯ ตัวอย่างอาหารที่มีโซเดียมมาก เช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์ ฯลฯ ตัวอย่างอาหารที่ทำให้ยินหยางเสียศูนย์ได้มากคือน้ำตาลและเกลือ
q   อาหารหลักคือธัญพืช ซึ่งมีสมดุลยินหยางมากที่สุด รองลงไปเป็นผักทั้งดิบทั้งสุก แมโครไบโอติกส์ เน้นผักในสัดส่วนสูงกว่าผลไม้
q       อาหารควรเป็นรูปเดิมตามธรรมชาติ ไม่ดัดแปลง และกินอาหารท้องถิ่นตามฤดูกาล
อาหารแมโครไบโอติกส์ประกอบด้วยข้าวกล้องและธัญพืชเต็มรูปประมาณ 50 % ผัก 25 % ถั่วหรือโปรตีนจากพืช 15 % กลุ่มเบ็ดเตล็ดได้แก่ แกง ซุป สาหร่ายทะเล เมล็ดพืช และงา 10 % ไม่กินเนื้อ ไข่ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ยกเว้นกินโยเกิร์ต(นมเปรี้ยว)ได้ กินปลาได้บ้าง(ประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง)
แมโครไบโอติกส์เน้นผักมากกว่าผลไม้ ยอมให้กินผลไม้ที่ไม่หวานจัดได้บ้าง อาจารย์ดร.สาทิสเองท่านก็ไม่ได้สนใจเรื่องนี้จริงจังจนกระทั่งท่านป่วยเป็นมะเร็งในโพรงจมูก เมื่อท่านกลับมาเมืองไทยได้นำวิถีชีวิตแบบชีวจิตมาเผยแพร่
ชีวจิตเน้นอะไร... ท่านเน้นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประหยัด อยู่อย่างคนที่มีจิตใจใหญ่ ทำประโยชน์ทั้งต่อตัวเอง คนรอบข้างและสังคม เน้นอาหารสดๆ จากธรรมชาติ ผักเน้นที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ได้เน้นการขายสารเคมีอัดเม็ด เช่น วิตะมิน สารสกัดอัดเม็ด ฯลฯ อะไรทำนองนั้น
คอลัมน์สาระสุขภาพขอนำข้อคิดบางส่วนจากบทความของอาจารย์ศ.ดร.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์ และอาจารย์ดร.สาทิส อินทรกำแหงมาเล่าสู่กันฟัง ท่านผู้อ่านโปรดพิจารณาด้วยว่า แนวคิดนี้เหมาะสมสำหรับท่านหรือไม่ก่อนนำไปประยุกต์ใช้ เนื่องจากช่วงความพอดีของคนแต่ละคนต่างกัน ความพอดีของคนๆ หนึ่งอาจจะเป็นความสุดโต่งของอีกคนก็ได้
1)           ข้าวกล้องครึ่งหนึ่ง
ชีวจิตแนะนำให้กินแป้งในรูปแบบครบส่วน (whole grain) 50 % จะเป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด หรือขนมปังโฮลวีต (whole wheat) ก็ได้ ถ้าพูดเป็นสำนวนโฆษณาก็คงจะกล่าวได้ว่า “ข้าวกล้องครึ่งหนึ่ง(50 %) อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง(ผัก 25 % ถั่ว 15% ของกินเล่นหรือเบ็ดเตล็ด 10 %)” อะไรทำนองนั้น หรือจะกล่าวว่า “ข้าวกล้องครึ่งหนึ่ง(
½)  ผักหนึ่งในสี่(1/4) ที่เหลืออย่างอื่น” ก็ได้ ท่านว่า นักกีฬาที่มีชื่อเสียงบำรุงร่างกายด้วยพืชผัก โดยเฉพาะธัญพืชเต็มส่วนกันทั้งนั้น
2)        ผัก 25 %
แนะนำให้กินผัก 25 % แบ่งเป็นผักสุกและดิบอย่างละครึ่ง เน้นหัวหอม บร็อคโคลี่ และคะน้า ผักที่ดีที่สุดคือปลูกเอง ถ้าซื้อควรเป็นชนิดปลอดสารพิษ ส่งเสริมให้กินน้ำผัก เช่น แตงกวา ขึ้นฉ่าย เซเลอรี่ ฯลฯ โดยให้คั้นเองด้วยมือ หรือคั้นด้วยเครื่องแยกกาก (juicer) แล้วดื่มให้หมดทันทีวันเว้นวัน เพื่อให้ได้พลังสดจากผักเต็มที่ ถ้ากินผักดองควรเป็นผักดองทำเอง
3)        ถั่ว 15 %
แนะนำให้กินถั่วหลากหลายชนิด และผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น โปรตีนถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง ฯลฯ
4)        ของกินเล่น 10 %
แนะนำให้กินของกินเล่น หรือของเบ็ดเตล็ดได้แก่ แกง ซุป สาหร่ายทะเล งา เมล็ดพืช และผลไม้ไม่หวานจัดนิดหน่อย เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ แตงโม สับปะรด เงาะ ฯลฯ ตัวอย่างรายการอาหารชีวจิตยกตัวอย่างผลไม้ตามฤดูกาลให้กินประมาณ 1 กำมือ เช่น เงาะ 3 ลูก ฯลฯ ผลไม้นอกฤดูกาลท่านห้าม เช่น ลำไยเร่งสาร ฯลฯ เน้นไปทางผลไม้หลายชนิดสลับกันไป เช่น มะม่วงดิบ ฝรั่ง แอ๊ปเปิ้ลเขียว ฯลฯ สำหรับเมล็ดพืช เช่น ฟักทอง ทานตะวัน ฯลฯ ให้กิน 1 กำมือ
5)        อาหารทะเล
อาหารทะเลเป็นแหล่งของไอโอดีน โปรตีน และไขมันชนิดดี(โอเมก้า-3) แต่มีโลหะหนักในทะเลเจือปนเล็กน้อย เช่น ปรอท ฯลฯ ซึ่งมีพิษต่อสมอง ท่านแนะนำให้กินอาหารทะเลประมาณสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  ส่วนสาหร่ายทะเลใช้เป็นเครื่องปรุงประจำครัวได้เลย
6)        กินน้ำแกง
แนะนำให้กินน้ำแกงจืด เช่น แกงเลียง ฯลฯ วันละ 1-2 ถ้วย
7)        กินน้ำชาสุขภาพ
ท่านแนะนำให้ดื่มน้ำชาสุขภาพแทนชาและกาแฟ เช่น เถาวัลย์เปรียง เตยหอม ใบสัก เก๊กฮวย รากบัว เม็ดชุมเห็ด มะตูม ขิง ตะไคร้ สะระแหน่ ดอกคำฝอย ฯลฯ
8)        น้ำ R.C.
ชีวจิตเชื่อในเรื่องการชะลอความแก่ จึงมีสูตรน้ำชะลอความแก่ (R.C.) โดยใช้อาหารที่มี DNA, RNA (กรดที่เป็นองค์ประกอบของสายพันธุ์)สูง เช่น ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว รำข้าว ข้าวโอ๊ต ผักโขม หน่อไม้ฝรั่ง เห็ด(โดยเฉพาะเห็ดหอมสด) ฯลฯ มาคละกัน เติมน้ำ เคี่ยว ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วดื่ม กากที่เหลือนำไปทำอาหารต่อได้ 
9)        งดเนื้อ
แนะนำให้งดเนื้อสัตว์ยกเว้นอาหารทะเล
10) งดแป้งขาวและน้ำตาล
แนะนำไม่ให้กินแป้งขาว น้ำตาลทราย รวมทั้งขนมหวาน ตัวอย่างอาหารชีวจิตของท่านให้ใช้น้ำผึ้งประกอบอาหารได้พอประมาณ
11)    งดผงชูรส
ชื่อชีวจิตก็บอกแล้วว่า เป็นวิถีชีวิตอิงธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องใช้ผงชูรสเลย
12) ลดอาหารมัน
แนะนำให้งดอาหารมันที่ใช้น้ำมัน นม เนย และกะทิ การปรุงอาหารใช้น้ำมันพืชที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงได้เล็กน้อย(ไม่ใช่กะทิและน้ำมันปาล์ม) กินอย่างนี้ไม่ต้องกลัวขาดกรดไขมันจำเป็น เพราะท่านให้กินถั่ว ปลาทะเล และสาหร่ายทะเลได้
13) งดเหล้า บุหรี่
แนะนำให้งดแอลกอฮอล์(เหล้า เบียร์ ไวน์...) และบุหรี่ซึ่งเป็นสารพิษ (toxin) ที่ไม่ควรให้ซึมซับเข้าไปสู่ชีวิตแบบชีวจิต...ความจริงชีวิตจะดีร้ายแบบไหนก็ไม่ควรให้มี “ควัน(บุหรี่)กับเหล้า” เข้าไปทั้งนั้น
14) ระวังอลูมิเนียม
แนะนำไม่ให้ใช้หม้ออลูมิเนียมใส่อาหาร เนื่องจากกลัวพิษโลหะหนักไปทำลายสมอง แนะนำให้เลิกใช้ภาชนะอลูมิเนียมบรรจุอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่รสเปรี้ยว เช่น แกงส้ม ฯลฯ ยาลดกรดชนิดน้ำขุ่น(มีเกลืออลูมิเนียมปนอยู่)ท่านก็ไม่แนะนำให้ใช้ ตรงนี้ไม่เป็นไรครับ...เรามียาลดกรดให้เลือกใช้หลายชนิด
15) ระวังยาฆ่าแมลง
ชีวจิตไม่ใช้ยาฆ่าแมลง นอกจากไม่ใช้แล้วยังส่งเสริมให้ปลูกพืชผักเอง กินพืชผักอนามัยไร้สาร และดื่มน้ำผัก น้ำผักน่าจะเหมาะกับสุขภาพมากกว่าน้ำผลไม้ เนื่องจากน้ำผักมีน้ำตาลน้อย น้ำผลไม้มีน้ำตาลค่อนข้างมาก ถ้ากินน้ำผลไม้มากๆ อาจทำให้อ้วนได้
16) แพทย์แผนตะวันออก
แนะนำให้ใช้การแพทย์แผนตะวันออกหลายอย่าง เช่น ฝังเข็ม กดจุด นวดตัว นวดจุด รำกระบอง ใช้ชาสมุนไพร โยคะ การฝึกหายใจช้าๆ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฯลฯ
17) ถ่ายของเสีย
ท่านว่า ผู้หญิงมีโอกาสขับถ่ายของเสีย(พิษภัย)ออกไปบ้างทางเลือดประจำเดือน การตั้งครรภ์ และการให้นมลูก ผู้เขียนจึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนให้ช่วยกันบริจาคเลือดเป็นประจำจะได้ล้างพิษไปในตัว
18) ฝึกผ่อนคลาย
ชีวจิตสอนให้ฝึกผ่อนคลายโดยให้ฝึกนอนราบ ปล่อยตัวให้ผ่อนคลายคล้ายกับจะจมลงไปในที่นอน กำมือขวาให้แน่นจนมือสั่นแล้วคลาย ต่อไปให้ทำการเกร็ง-คลายกับแขนขวา จากนั้นให้ทำการเกร็ง-คลายไปตามลำดับจากมือซ้าย แขนซ้าย เท้าขวา ขาขวา เท้าซ้าย ขาซ้าย ต้นคอ จนถึงไหล่ ผงกหัวจนคางชิดหน้าอกแล้วคลาย หายใจเข้าลึกๆ แขม่วท้องให้ท้องยุบ จากนั้นให้หายใจช้าๆ ลึกๆ ทำซ้ำกัน 4-5 ครั้ง...แล้วหลับไป ท่านว่าคลายเครียดได้ดีนักแล
19) นอนให้พอ
ชีวจิตสอนให้นอนให้หลับสนิท 4-6 ชั่วโมง เริ่มจาก 3-4 ทุ่ม ตื่นตี 5 และแนะนำวิธีที่จะช่วยไม่ให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนตอนกลางวันได้แก่ ให้งดอาหารที่มีน้ำตาล และกินวิตะมินบี 1 จากธรรมชาติ เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว ข้าวโอ๊ต ขนมปังจากข้าวสาลีครบส่วน (whole wheat) ถั่วลิสง ผักใบเขียว ฯลฯ
20)                      ออกกำลัง
ชีวจิตเชื่อว่า การออกกำลังกายช่วยขับถ่ายของเสียออกไป กระตุ้นให้ฮอร์โมนโกร๊ธที่สร้างและซ่อมแซมร่างกาย (growth hormone) หลั่งเป็นปกติ แนวคิดชีวจิตเน้นให้ออกกำลังกาย และมีวิถีชีวิตที่ใช้แรงทำงานบ้าง จึงต้องบริหารทั้งแบบยืดเส้น (stretching exercise) และออกกำลังกายเพื่อระบบหัวใจ-เส้นเลือด (aerobic exercises) ร่วมกัน เช่น โยคะ เดินไกลๆ รำกระบอง ปลูกต้นไม้ ทำสวน ฯลฯ ท่านว่า ออกกำลังให้เหนื่อยหน่อยถึง “จุดเหนื่อย (peak)” ทีเดียว สุขภาพจึงจะดี
21) ปลูกต้นไม้
ชีวจิตเชื่อว่า คนเราควรจะอยู่กับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นต้องปลูกต้นไม้อย่างน้อยที่สุดคนละ 1 ต้น เป็นไม้กระถางก็ได้ ไม้ต้นใหญ่ยิ่งดี ถ้ามีโอกาสควรส่งเสริมการปลูกต้นไม้ที่อื่นๆ ด้วย อย่าลืมว่า ชาวชีวจิตนั้นเขามีจิตใจกว้างใหญ่ ไม่ใช่ใจแคบเล็ก อะไรที่ดีกับสิ่งแวดล้อมแล้วเขาช่วยกันทำ
22)                      คิดทางบวก
ชีวจิตท่านเน้นให้คิดทางบวก (positive thinking) ให้ใส่ความรักความเมตตาไปในตัวเองและคนรอบข้าง เช่น ปลูกต้นไม้ก็ควรตั้งความปรารถนาดี ให้เราและคนรอบข้างได้สัมผัสธรรมชาติ มีความสุขความร่มเย็น ให้สัตว์ทั้งหลายมีนก ไส้เดือน จิ้งหรีด อะไรทำนองนี้มาอาศัย ฯลฯ  
สรุป:
          ถ้าต้องการรักษาสุขภาพแบบชีวจิตแล้ว ควรกินพืชผัก(ข้าวกล้อง ถั่ว งา สาหร่ายทะเล ผัก และผลไม้)เป็นหลัก ให้กิน “ข้าวกล้องครึ่งหนึ่ง (50%) อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง (50%)” ในส่วนอย่างอื่นครึ่งหนึ่งเป็นผักครึ่งหนึ่ง จึงเป็นผักหนึ่งในสี่ (½ x ½ = ¼)
ผักนี้ควรเป็นผักปลูกเอง หรือผักสดที่ปลอดสารพิษ และควรล้างให้สะอาดก่อนกิน น้ำล้างผักนำไปรดต้นไม้ได้ เศษพืชผักใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ดี
          ถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่ว เช่น เต้าหู้ ฯลฯ ท่านให้กิน 15 % และกลุ่มเบ็ดเตล็ด(แกง ซุป งา สาหร่ายทะเล และเมล็ดพืช)อีก 10 % ส่วนอาหารทะเลท่านแนะนำสัปดาห์ละครั้ง
ชีวจิตเป็นวิถีชีวิต จึงเน้นอาหารที่ดีกับสุขภาพ การออกกำลังกาย ไม่ทำลายตัวเองด้วยท็อกซินหรือพิษภัย เช่น ไม่ดื่มแอลกอฮอล์(เหล้า เบียร์ ไวน์...) ไม่สูบบุหรี่ ฯลฯ การอยู่กับธรรมชาติอย่างโอบอ้อมอารี เช่น คิดทางบวก มองโลกแง่ดีต่อตัวเองและคนรอบข้าง ปลูกต้นไม้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การทำประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ
เรื่องการรักษาสุขภาพนั้น...ขั้นแรกท่านจะเลือกปฏิบัติเป็นบางข้อบางส่วนก็ได้ การเริ่มต้นอะไรดีๆ แม้จะเล็กน้อยอย่างไรก็ชื่อว่า ดีกว่าไม่เริ่มต้นอะไรเสียเลย เช่น วันนี้ขอไปบริจาคเลือด เดือนนี้ขอเลิกเหล้าก่อน เดือนหน้าจะเลิกบุหรี่ ฯลฯ
อย่าลืมว่า ความดีเริ่มต้นได้ที่ตัวเราเอง เมื่อทำดีอย่างหนึ่งได้...ความดีนั้นจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้เราทำความดีอย่างอื่นๆ ต่อเนื่องกันไปได้มาก เรื่องนี้ทางฟิสิกส์เขาเรียกว่า “ปฏิกริยาลูกโซ่ (chain reaction)” เพียงแต่เราไม่ได้ไปจุดระเบิดปรมาณูถล่มใครให้ตาย เราจุดปฏิกริยาลูกโซ่แห่งความดีงามของเราเอง...

แนะนำให้อ่าน:

q       6 วิธีรักษาสุขภาพแบบหรรษา
คอลัมน์สาระสุขภาพ > “6 วิธีรักษาสุขภาพแบบหรรษา”...เรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตอายุยืนของชาวฮันซาใกล้เทือกเขาหิมาลัย
q       11 วิธีล้างพืชผัก
คอลัมน์สาระสุขภาพ > “11 วิธีล้างพืชผัก”...เปรียบเทียบวิธีล้างพืชผักเพื่อลดพิษภัยวิธีต่างๆ ให้ท่านเลือกนำไปใช้
ข้อควรระวัง:
q       ชาสมุนไพร:

ควรบ้วนปากด้วยน้ำหลังดื่มชาสมุนไพรหรือกินผลไม้(รวมทั้งน้ำผลไม้) เนื่องจากชาสมุนไพรและผลไม้หลายชนิดมีกรดอ่อนซึ่งอาจทำให้ฟันสึกกร่อนได้
q       แคลเซียม:

ผู้ใหญ่ที่ไม่กินนมและผลิตภัณฑ์นมควรกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงให้เพียงพอ เช่น งาดำ
ผักใบเขียว(เช่น บร็อคโคลี่ ฯลฯ) ฯลฯ และควรออกกำลังกาย เช่น วิ่ง เดินเร็ว ฯลฯ อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ การเดินนั้นเดินได้ทุกวันโดยปรับเป็นเดินเร็วบ้างเดินช้าบ้าง เพื่อป้องกันภาวะกระดูกพรุนในคนสูงอายุ งาดำมีแคลเซียมสูงกว่างาขาว จึงควรใช้งาดำเป็นเครื่องปรุงประจำครัว
q       โปรตีน:
ท่านที่ไม่กินเนื้อควรกินโปรตีนจากพืชหลายชนิดพร้อมๆ กัน เช่น ข้าวกล้อง ถั่ว และงา ฯลฯ หรือกินโปรตีนถั่วเหลือง ถ้ากินข้าวกล้องแทนข้าวขาวร่วมกับถั่วหลายชนิด และงา
แล้วน่าจะได้รับโปรตีนเพียงพอ
แหล่งข้อมูล:
q       ขอขอบคุณ > อาจารย์ ศ.ดร.ทวีทอง หงษ์วิวัฒน์. จากแมคโครไบโอติกส์ถึงชีวจิต.
ใน: หนังสือ “กินดีสุขภาพดี”. พิมพ์ครั้งที่ 3. สำนักพิมพ์แสงแดด. กรุงเทพฯ. ปี 2548.
หน้า 56-69.
q       ขอขอบคุณ > อาจารย์ ดร.สาทิส อินทรกำแหง. หนังสือ “ชีวิตเริ่มต้นเมื่อ 70”.
พิมพ์ครั้งที่ 20. สำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ. กรุงเทพฯ. ปี 2547. หน้า 14-270.
สาระสุขภาพ:
q       โปรดปรึกษาแพทย์ หรือบุคลากรสุขภาพที่ดูแลท่าน ก่อนนำคำแนะนำไปใช้ โดยเฉพาะท่านที่มีโรคประจำตัว หรืออยู่ในกลุ่มมีความเสี่ยงต่อโรคสูง // ขอขอบคุณ //
q       คอลัมน์นี้ไม่รับตอบปัญหาสุขภาพ // ขออภัย //

q       ยินดีให้นำไปใช้ได้เพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า //

๓๑ ตุลาคม ๔๘ > แก้ไข ๔ ตุลาคม ๔๘.

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6573เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2005 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท