เปิดม่าน ทันตกรรมชุมชนภาคสยาม: เราทำอะไรกัน (1)


เราเชื่อว่า โรคในช่องปากส่วนใหญ่ ป้องกันได้ ด้วยการมีพฤติกรรมการกินอยู่ที่ดี

อยากเขียนบันทึกนี้เพื่อไว้เตือนใจตัวเองให้มุ่งมั่นอยู่กับภารกิจที่ควรจะทำ อีกทั้งอยากจะแนะนำภารกิจของพวกเราให้กับพี่น้องที่สนใจรวมถึงนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์ที่ยังงุนงงและทนทุกข์กับการเรียนวิชาทันตกรรมชุมชน

ที่จั่วหัวว่าเป็นทันตกรรมชุมชนภาคสยาม เนื่องจากเห็นว่าบริบทของบ้านเราหลายเรื่องทำให้ทันตกรรมชุมชนของเราต่างจากทันตกรรมชุมชนภาคสากล

 

คำถามที่มักจะมีคนถามเวลาผมแนะนำตัวว่าเป็นครูสอนวิชาทันตกรรมชุมชน ก็คือ พวกเรามีหน้าที่อะไร (เหรอ)

คำตอบที่พยายามจะอธิบายก็คือ เราเป็นบุคลากรทางสาธารณสุขประเภทหนึ่ง (อาจจะจบการศึกษาพื้นฐานด้วยทันตแพทย์, ทันตาภิบาล หรือไม่ก็ได้) ที่ทำหน้าที่ยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยนอกช่องปาก ที่ส่งผลต่อสุขภาพช่องปาก

ผมมักจะนิยามอาชีพของผมว่าผมเป็นหมอฟัน ที่ช่วยให้คน, กลุ่มคน มีสุขภาพช่องปากที่ดีด้วยวิธีที่หลากหลายนอกเหนือจากการทำฟัน

(ส่วนบทบาทในฐานะ "อาจารย์ทันตกรรมชุมชน" ถ้าไปถามเพื่อนอาจารย์หมอฟันของผม พวกมักจะบอกว่า พวกผมมีหน้าที่ฝึกทักษะ, ลักษณะอื่นๆ ที่ทันตแพทย์ควรจะมีนอกเหนือจากการทำฟัน อาทิ ทักษะการให้ทันตสุขศึกษา (เช่นการสอนคนไข้แปรงฟัน) ทักษะการโน้มน้าวใจผู้ป่วยให้มีพฤติกรรมสุขภาพ (เช่นการเลิกบุหรี่) ทักษะเรื่องการนำเสนอ ทักษะการเขียนแผนงานโครงการ ทักษะการบริหารคลินิก ทักษะการคำนวณทางชีวสถิติ ฯลฯ)

ผมขออธิบายรายละเอียดด้วยนิยามแรกนะครับ พวกเราทำหน้าที่ยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยนอกช่องปาก ที่ส่งผลกับสุขภาพช่องปาก จะพยายามอธิบายจากกรอบเล็กไปหากรอบใหญ่ เริ่มจาก ปัจจัยเรื่องพฤติกรรมมนุษย์, ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อยคือ เรื่องกลุ่มคน, ชุมชน โครงสร้างทางสังคม, และใหญ่ที่สุด คือเรื่องนโยบายด้านสุขภาพ บทบาทของรัฐ ต่อการจัดบริการสุขภาพ/สุขภาพช่องปากทั้งการรักษาและการป้องกันโรค รวมถึงนโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพ

กรอบการพิจารณาสามระดับ บุคคล กลุ่มคน และรัฐ นี้มีปฏิสัมพันธ์กันและกันอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ รัฐมีนโยบายเพิ่มภาษีบุหรี่ ส่งผลให้ร้านค้าในชุมชนเพิ่มราคาขายปลีก เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งให้คนตัดสินใจที่ลดปริมาณการสูบบุหรี่ลง หรือหันไปหายาสูบแบบมวนเอง ซึ่งส่งต่อความรุนแรงของโรคปริทันต์ หรือ การเคลื่อนไหวของกลุ่ม "เด็กไทยไม่กินหวาน" รณรงค์ให้เกิดกระแสลดการบริโภคน้ำตาล ประสบผลสำเร็จในระดับบุคคลคือ สร้างพฤติกรรม"อ่อนหวาน-น้ำตาลน้อยหน่อย" ในหลายพื้นที่ ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ภาครัฐสนใจกำหนดให้เป็นนโยบายระดับประเทศ เป็นต้น

เนื่องจากเราเชื่อว่าโรคในช่องปากส่วนใหญ่ป้องกันได้ด้วยการมีพฤติกรรมการกินอยู่ที่ดีดังนั้นงานในกรอบแรกของเราคือ การมุ่งศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพช่องปาก ซึ่งก็มีไม่กี่อย่างครับ จะลองไล่ให้ดูดังนี้ การทำความสะอาดช่องปาก (การแปรงฟัน ใช้ไหมขัดฟัน ใช้อุปกรณ์พิสดารอื่นๆ) การเลิกสูบบุหรี่ (เกี่ยวข้องกับโรคเหงือก โรคปริทันต์ และโรคมะเร็งในช่องปาก) การเลิกดื่มสุรา (เกี่ยวกับมะเร็งช่องปากเหมือนกัน) การลดการบริโภคน้ำตาล (ฟันผุ), การใช้ฟลูออไรด์ (เกี่ยวข้องกับการป้องกันฟันผุเช่นกัน), การพบทันตบุคลากร, การเลี้ยงดูบุตรหลาน,การเลือกอาหารให้บุตรหลาน, การป้องกันอุบัติเหตุบริเวณใบหน้าและขากรรไกร เป็นต้น เพื่อจัดการกับปัจจัยเหล่านี้ พวกเราหลายคนมุ่งศึกษาจำเพาะเจาะจงไปถึงรากของพฤติกรรมมนุษย์, กระบวนการในจิตใจที่ทำให้คนมีพฤติกรรมต่างๆ อีกกระบวนการการจัดการศึกษาให้กับคนไข้ เพราะอยากตอบคำถามใหญ่ของการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ว่า ทำไม"ชั่วดีรู้หมด แต่ใจมันอดไม่ได้"

(พรุ่งนี้มาเขียนต่อครับ)

คำสำคัญ (Tags): #oral_health_promotion
หมายเลขบันทึก: 65717เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท