จริยธรรมนักวิชาการ : โดย พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)


งานวิชาการเป็นงานทางด้านเสริมสร้างปัญญา เพราะฉะนั้น จริยธรรมที่จะต้องเน้นก็คือจริยธรรมในระดับปัญญา

       งานวิชาการเป็นงานทางด้านเสริมสร้างปัญญา เพราะฉะนั้น  จริยธรรมที่จะต้องเน้นก็คือจริยธรรมในระดับปัญญา จริยธรรมในระดับปัญญานี้ คือการที่ว่า นอกจากเราจะต้องมีความสุจริตใจ ซื่อสัตว์ต่อเรื่องที่ทำ ไม่ลักไม่ขโมยเป็นต้นแล้ว ก็ต้องมีความรับผิดชอบในการทำงานทางวิชาการ เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องข้อมูลแล้วก็การตีความ การวิเคราะห์ วินิจฉัยต่างๆ ต้องทำด้วยความรับผิดชอบ เพื่อมุ่งที่จะนำผู้อ่าน ผู้ฟังหรือใครก็ตาม ไปสู่ความจริงและนำเสนอความจริงให้ถ่องแท้ คือต้องระวังอย่าทำแบบสุกเอาเผากิน หรือทำชนิดฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียด หรือเขียนแบบจับแพะชนแกะ หรือนำเสนออย่างไม่ตรงไปตรงมา อะไรทำนองนี้ ถ้าทำอย่างที่ว่านี้แหละคือการเสียจริยธรรมทางวิชาการแท้ๆ ไม่ต้องไปพูดถึงคำรุนแรงต่างๆ ซึ่งยังเป็นเรื่องเบา

            ถ้าข้อมูลผิดพลาด ไม่ตรวจสอบให้ถ่องแท้ หรือนำเสนอไม่ตรง ทำให้คนอ่านเข้าใจผิดนี่ เป็นการเสียจริยธรรมทางวิชากรโดยตรง และถ้าจงใจทำให้ผิดก็ร้ายแรงที่สุด เพราะว่าถ้าเราทำงานอะไรขึ้นมรแล้ว ทำให้คนที่อ่านที่ฟังซึ่งยังไม่รู้ เกิดรู้ผิดจำผิดนี่ มันอันตรายยิ่งกว่าให้เขายังไม่รู้อีก ใช่ไหม พอรู้ขึ้นมา ก็เป็นการรู้ผิด จำผิดไปเสียนี่ ข้อสำคัญก็จึงอยู่ที่นี่

            จริงอยู่ แม้จะตั้งใจระวังอย่างดี แต่บางทีก็ยังมีความผิดพลาดไปบ้างด้วยพลั้งเผลอ หรือด้วยเหตุที่คาดไม่ถึงบางอย่าง ซึ่งจะต้องให้อภัยกันบ้าง แต่ความผิดพลาดแบบนั้นโดยมากจะเป็นเพียงเรื่องปลีกย่อย มีไม่บ่อย และไม่ใช่สาระสำคัญ[i]



[i] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). ๒๕๔๓. กรณีเงื่อนงำ พระพุทธเจ้าปรินิพพาน...?..ด้วยโรคอะไร.กรุงเทพฯ : บริษัท สหธัมมิก จำกัด. (หน้า ๑๔๗)
คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะหน้าเดียว
หมายเลขบันทึก: 65669เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2006 08:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท