ชิวิตจริงของอินเทอร์น : ตาม“อ่าน”ถุง และหนังสือ จากงานมหกรรมฯ


เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนของการลงทะเบียนแล้ว ทุกท่านที่ได้เข้าไปร่วมในงานมหกรรมจัดการความรู้ จะได้รับแจกถุงผ้าคนละ ๑ ใบ ซึ่งภายในถุงนั้นบรรจุเอกสารที่น่าอ่านอยู่หลายชิ้นด้วยกัน

ดิฉันเห็นว่า สคส. ค่อนข้างพิถีพิถันกับการออกแบบถุงใส่เอกสารในแต่ละปีมาก เมื่องานมหกรรมฯ ครั้งที่ ๒ ถุงเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีพื้น ถ้าจำไม่ผิด รู้สึกว่าจะมีให้เลือกอยู่ ๓ สีด้วยกัน คือสีฟ้า สีเลือดหมู และสีดำ มีการสร้างลูกเล่นที่หูด้วยการใช้ผ้าสีเดียวกับตัวถุงมาคาดเป็นแถบสีอยู่ตรงกลาง ส่วนตัวถุงนั้น ทำเป็นรูปปลาทูพิมพ์ลาย กับรูปพวงปลาตะเพียน แบบที่ใช้แขวนอยู่เหนือเปลเด็ก มาให้เลือก เพื่อให้ผู้ใช้ระลึกถึงโมเดลการจัดการความรู้ของ สคส. และมีตัวอักษรภาษาไทยเขียนไว้ว่าสถาบันจัดการความรู้เพื่อสังคม ส่วนด้านในของถุงบุด้วยผ้าดิบ

ถุงของปีที่ ๒ นี้ดูเรียบร้อย น่าใช้ และมีกลิ่นอายของความเป็นไทยแฝงอยู่มาก เหมือนกำลังพยายามจะส่งสารมาถึงผู้ใช้ว่า ต้องช่วยกันปรับบริบทให้ KM กลายเป็นของสังคมไทยให้ได้เสียก่อน

งานมหกรรมจัดการความรู้ ครั้งที่ ๓ ที่เพิ่งผ่านไปนี้ แจกถุงผ้าที่มีลูกเล่นมากขึ้น ตัวถุงใช้ผ้าสีพื้น ๒ สีมาเย็บต่อเข้าด้วยกัน ใบที่ดิฉันได้มาเป็นสีเขียวกับสีนวล มีด้ายขาวปักเป็นรูปลายเส้นแสดงภาพโยงใยของเครือข่าย และใช้ด้ายสีส้มปักอยู่ที่ตรงเหนือภาพว่า KM Network 2006 ด้านในของถุงบุด้วยผ้าลายจุด ของครูเหล่นได้ถุงสีเขียวเหมือนกัน แต่ด้านในบุด้วยลายดอกไม้ ส่วนครูส้มได้ถุงสีน้ำเงินล้วน มีตัวอักษรปักว่า KMInside ตกแต่งด้วยลายเส้นสีสัม ด้านในบุด้วยผ้าลายลูกหมี!! บางท่านอาจได้ถุงรูปปลาทูที่มีลำตัวขาดเป็นท่อน อีกหลายท่านได้ถุงที่มีรูปหลุมดำ

ถุงของปีที่ ๓ นี้ ส่งสารมาถึงผู้ใช้ว่า KM ในประเทศไทยกำลังสนุกขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมีการโยงใยของเครือข่ายเกิดขึ้นแล้ว ด้วยรูปแบบสบายๆ (ที่สื่อด้วยการใช้เส้นสายแบบ free hand) สไตล์ POMO – Postmodern ที่ไม่ได้ยึดถือเอาความงามที่สร้างขึ้นจากหลักของความกลมกลืน แต่ความขัดแย้งและความไม่เข้ากันก็สามารถนำมาสร้างเป็นความงามได้ (ท่านที่สนใจเรื่องราวของ Postmodern เพิ่มเติมจากนี้ สามารถติดตามไปอ่านได้ที่ http://gotoknow/krumaimai/43188

นอกจากนั้นถุงยังบอกอีกว่า การยึดเอาปลาทูทั้งตัวไปทำตามก็อาจจะไม่ใช้หนทางที่ดีนัก แต่ละท่านควรลืมทฤษฎี คือ สับให้เป็นท่อนเสียก่อน และ ควรระวังว่าท่านจะตกหลุมดำ ทั้งที่เป็นเรื่องคน กระบวนการ วิสัยทัศน์ และอื่นๆ ตามที่ อาจารย์ประพนธ์ท่านได้กรุณาเตือนเอาไว้ (ดิฉันประทับใจกับห้องหลุมดำมากค่ะ เพราะสามารถใช้เป็นทั้งเครื่องเตือนใจ และเป็นทั้งการเดินไปสู่ทางแก้ไขได้ในขณะเดียวกัน)

และสิ่งที่ถุงพยายามบอกด้วยสี และรูปแบบที่เลือกใช้มาสองปีติดต่อกันแล้วก็คือ การจัดการความรู้นั้น ต้องการความหลากหลาย

อีกเรื่องหนึ่งที่ดิฉัน “อ่าน” ได้ จากการได้เห็นหนังสือเล่มสำคัญออกมาวางขายคือ KM วันละคำ ของท่านอาจารย์วิจารณ์ และ KM ฉบับฉบับขับเคลื่อน LO ของท่านอาจารย์ประพนธ์ ก็คือ บัดนี้สังคมไทยได้สั่งสมประสบการณ์การจัดการความรู้จากการปฏิบัติของเราเอง จนเกิดตัวอย่างมากพอที่อาจารย์ทั้งสองท่านจะหยิบยกเอามาเขียนถึง เพื่อใช้เป็นแบบของเราเองได้ และหน่วยงานทั้งหลายจากทุกภาคส่วนก็กำลังเกิดความพร้อมที่จะเริ่มเชื่อมโยงให้ KM และ LO ทำงานประสานกัน เพื่อสร้างกำลังให้แก่กันและกันได้แล้ว นั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 65572เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2006 17:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์ที่ถูกใจจังค่ะ สังเกตเห็นเหมือนกัน และอยากเขียนอะไรแบบนี้บ้าง ดีใจจังที่ได้อ่านความคิดตัวเอง ที่เสริมเติมแต่งได้ดีเยี่ยมกว่าที่คิดจะเขียนอีกค่ะ ขอบคุณ คุณวิมลศรีมากๆค่ะ

ขอบคุณค่ะ  แวะมาอ่านอีกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท