12 ปัจจัยเสี่ยงอัมพฤกษ์-อัมพาต


ปัจจัยที่เราควรสนใจที่สุดคงจะเป็นปัจจัยที่ป้องกันได้ ถ้าเราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทีละน้อยๆ ก็จะช่วยให้เราปลอดภัยจากอัมพฤกษ์-อัมพาตมากขึ้น... จะได้เก็บชีวิตไว้ทำอะไรดีๆ อีกหลายอย่าง...


พวกเราคงจะอยากมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพโดยไม่เป็นโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตัน หรือเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาต

เว็บไซต์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอลาบามา สหรัฐฯ (www.health.uab.edu) ได้กล่าวแบ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคเส้นเลือดแตก-ตีบตันไว้ 3 กลุ่มได้แก่ ปัจจัยที่ป้องกันไม่ได้ ปัจจัยที่ป้องกันได้ และปัจจัยที่ควรพิจารณา(อาจจะเป็นสาเหตุ)

ปัจจัยที่เราควรสนใจที่สุดคงจะเป็นปัจจัยที่ป้องกันได้ ถ้าเราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทีละน้อยๆ ก็จะช่วยให้เราปลอดภัยจากอัมพฤกษ์-อัมพาตมากขึ้น... จะได้เก็บชีวิตไว้ทำอะไรดีๆ อีกหลายอย่าง...

    ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้

  • กลุ่มแรกเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันไม่ได้มี 5 ข้อได้แก่ อายุ เชื้อชาติ เบาหวาน มีโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันมาก่อน และประวัติครอบครัว
  1. อายุ
    คนที่อายุเกิน 55 ปีมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
  2. เชื้อชาติ
    คนผิวดำ(หมายถึงแอฟริกันอเมริกัน)มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับฝรั่งผิวขาว คนไทย
    ผิวคล้ำไม่ต้องตกใจครับ... สีผิวของคนไทยมีส่วนช่วยป้องกันอันตรายจากรังสีอัลตราไวโอเล็ตในแสงแดดได้บ้าง ทำให้โอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังลดลง
  3. เบาหวาน
    คนที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถึงแม้จะคุมเบาหวานได้ดีก็ยังมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวาน
  4. มีโรคเส้นเลือดสมอง
    คนที่มีประวัติเป็นโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันมาก่อนจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายเท่า
  5. ครอบครัว
    คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

    ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้
ปัจจัยที่ป้องกันได้มี 12 ปัจจัยได้แก่

  • 1)           ความดันเลือดสูง
    ความดันเลือดสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด การฝึกกินเกลือให้น้อยลง เช่น ไม่เติมน้ำปลาหรือซอสเพิ่ม หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด-รสจัด ฯลฯ ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก พยายามลดความเครียดเท่าที่จะทำได้ และตรวจวัดความดันเลือดสม่ำเสมอมีส่วนช่วยป้องกันความดันเลือดสูงได้
  • 2)        เบาหวาน
    การกินพืชผัก(ข้าวกล้อง ถั่ว ผัก และผลไม้)ให้มากพอ ควบคุมน้ำหนัก ออกกำลังกาย และตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดมีส่วนช่วยป้องกันและควบคุมโรคเบาหวานได้
  • 3)        โรคเส้นเลือดหัวใจ
    โรคเส้นเลือดหัวใจตีบเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับสอง ความเสื่อมของเส้นเลือดมักจะเกิดกับเส้นเลือดทั่วร่างกาย ถ้าพบเส้นเลือดหัวใจเสื่อมก็มีโอกาสที่จะพบเส้นเลือดที่อื่น เช่น สมอง ฯลฯ เสื่อมเพิ่มขึ้นไปด้วย

    การลดอาหารไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว(มีมากในไขมันสัตว์ ปาล์ม และกะทิ) และไขมันแปรรูป(มีมากในคอฟฟี่เมต ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ เนยเทียม) ลดโคเลสเตอรอลในอาหาร(มีมากในเครื่องในสัตว์ ไข่แดง อาหารทะเลยกเว้นปลา แมงกะพรุน และปลิง) ออกกำลังกาย กินพืชผักให้มากพอ ควบคุมน้ำหนัก และพยายามลดความเครียดเท่าที่จะทำได้...ทั้งหมดนี้ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเส้นเลือดหัวใจ
  • 4)        บุหรี่
    การสูบบุหรี่และหายใจเอาควันบุหรี่เข้าไปเพิ่มความเสี่ยง วิธีป้องกันคือ เลิกบุหรี่ เรื่องนี้ปรึกษาแพทย์มีโอกาสเลิกบุหรี่สำเร็จเพิ่มขึ้นมากกว่าพยายามเลิกด้วยตนเอง การไม่เข้าไปในบริเวณที่มีการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในห้องปรับอากาศในสถานบันเทิงหลายแห่งก็ช่วยลดความเสี่ยงได้
  • 5)        ยาคุมกำเนิด
    ยาคุมกำเนิดเพิ่มความเสี่ยง โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่
  • 6)        ประวัติอัมพาต-อัมพฤกษ์ชั่วคราว
    คนที่มีประวัติอัมพาต-อัมพฤกษ์ชั่วคราว (transient ischemic attack / TIA) มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 10 เท่า การกินยาป้องกันเกล็ดเลือดจับกลุ่มกันอุดตันเส้นเลือดมีส่วนช่วยป้องกันได้
  • 7)        เลือดข้น
    คนที่มีระดับเม็ดเลือดแดงสูง(เลือดข้น)มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเลิกบุหรี่ (ซึ่งทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน และปรับตัวโดยสร้างเม็ดเลือดแดงมากเกิน) กินน้ำให้เพียงพอ(การขาดน้ำทำให้เลือดมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น)
  • 8)        โคเลสเตอรอลสูง
    คนที่มีโคเลสเตอรอลหรือระดับน้ำมัน (triglyceride / TG) ในเลือดสูงมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • 9)        ไม่ออกแรง
    คนที่ไม่ออกกำลังกาย และไม่ออกแรงในชีวิตประจำวัน(ใช้แต่เครื่องทุ่นแรง)มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • 10) อ้วน
    คนที่น้ำหนักเกินมาตรฐานมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  • 11)    ดื่มเหล้าหนัก
    การดื่มแอลกอฮอล์(เหล้า เบียร์ ไวน์...)มากเกินวันละ 2 ดริ๊งค์(เทียบเท่าไวน์แก้วเล็ก หรือเบียร์ชนิดอ่อนมาก 2 กระป๋อง)ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น

    การดื่มหนัก (binge) เป็นสาเหตุของอัมพฤกษ์-อัมพาตโดยตรงได้ การไม่ดื่มเหล้าเลยเป็นดีที่สุด เหล้าเป็นที่มาของโรคสารพัด เช่น โรคเส้นเลือดสมองแตกเฉียบพลันจากรถชน ตับอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน ฯลฯ
  • 12) เสพยา
    ยาเสพติดชนิดฉีด เช่น โคเคน เฮโรอีน ฯลฯ ทำให้เกิดลิ่มเลือดไปอุดเส้นเลือดสมองได้

    ปัจจัยที่ควรพิจารณา

          การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ปัจจัยที่ควรพิจารณา หรือควรค้นคว้าหาสาเหตุต่อไปได้แก่ ถิ่นฐานที่อยู่ อุณหภูมิ ฐานะทางเศรษฐกิจ และภาวะขาดน้ำ

  • (1).       ถิ่นฐานที่อยู่
    คนที่อยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเขตอบอุ่นมากกว่าส่วนเหนือของอเมริกามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น(ไม่ได้แสดงเหตุผลไว้) การศึกษาในจีนพบว่า คนทางตอนเหนือของจีน(อากาศเย็นกว่า)กินเกลือมากกว่า และกินพืชผักน้อยกว่าคนทางตอนใต้ ทำให้พบภาวะความดันเลือดสูงมากกว่า
  • (2).    อุณหภูมิ
    ช่วงที่อุณหภูมิร้อนจัด หรือหนาวจัดจะพบอัตราตายจากโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันเพิ่มขึ้น
  • (3).    ฐานะ
    คนจนในอเมริกาเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตมากกว่าคนรวย(ไม่ได้แสดงเหตุผลไว้)
  • (4).    ภาวะขาดน้ำ
    ภาวะขาดน้ำทำให้เลือดมีสัดส่วนของน้ำน้อยลง สัดส่วนเนื้อ(เม็ดเลือด)เพิ่มขึ้น ทำให้ความหนืดเพิ่มขึ้น โอกาสเกิดเส้นเลือดตีบตันจึงมีมากขึ้น การดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้วมีส่วนช่วยป้องกันได้

    สรุป:
         

การป้องกันโรคเส้นเลือดสมองแตก-ตีบตันส่วนใหญ่เป็นการปรับวิถีชีวิต (lifestyle modification) จากวิถีชีวิตปล่อยปละละเลยเป็น “วิถีชีวิตที่สำรวมระวัง (justified lifestyle)” มากขึ้น

ตัวอย่าง เช่น การกินน้ำให้พอทุกวัน กินพืชผัก(ข้าวกล้อง ถั่ว ผัก และผลไม้)ให้มากขึ้น กินเนื้อให้น้อยลง ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ใช้เครื่องทุ่นแรงให้น้อยลง อยู่เฉยๆ (เช่น นั่งๆ นอนๆ ดูโทรทัศน์ ฯลฯ)ให้น้อยลง ใช้แรงให้มากขึ้น (เช่น ทำงานบ้าน เดินแทนการขึ้นรถ ฯลฯ ) พยายามควบคุมน้ำหนัก พยายามลดความเครียดเท่าที่จะทำได้ ฯลฯ

การตรวจวัดความดันเลือดเป็นประจำมีส่วนช่วยให้พบภาวะความดันเลือดสูงได้เร็วขึ้น เมื่อพบแล้วก็ควรปรับวิธีชีวิตให้สำรวมระวังมากขึ้น ใช้ยา และปฏิบัติตามที่แพทย์หรือบุคลากรสุขภาพที่ดูแลท่านแนะนำต่อไป...

    แหล่งข้อมูล:
  • Thank > www.health.uab.edu > Risk Factors For Stroke > October 19, 2005.
  • ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค
  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ จัดทำ ๑๖ ต.ค. ๔๘ > แก้ไข 8 พฤษภาคม 2550.
หมายเลขบันทึก: 6541เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2005 14:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:12 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท