แล้วเราก็เข้าใจกัน


ความขัดแย้งใดๆ สุดท้ายก็ทิ้งร่องรอยดีๆทิ้งไว้เหมือนกัน

     ในการดำรงชีวิตของเราสิ่งสำคัญที่จะทำให้พวกเราอยู่ด้วยกันได้ก็คือความเข้าใจ เคยมีบางคนบอกไว้ว่าหากเราไม่เข้าใจตัวเราแล้ว จะหวังให้เราไปเข้าใจคนอื่นหรือให้คนอื่นมาเข้าใจเรานั้นคงยาก

          ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ไม่มีวงการไหนที่จะไม่มีเรื่องขัดแย้งกัน ข้อเสียของความขัดแย้งเราคงได้พบเห็นกันบ่อยๆ อาจเป็นเพียงมีปากเสียงกัน การทะเลาะเบาะแว้งที่รุนแรงขึ้น หรืออาจถึงใช้กำลังทั้งเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ทั้งนอกและในสภา(ใต้หวัน) เป็นต้น หากเราจะมองข้อดีของการคัดแย้งก็คงจะพอมีอยู่บ้าง นั่นคือ การทำให้เราเห็นมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น สิ่งที่เราว่าดีแล้ว อีกคนอาจจะเห็นว่าไม่ดี หรือสิ่งที่เราว่าไม่ดี อีกคนอาจจะเห็นว่าดีก็ได้ 
         

        ในโรงพยาบาลเล็กๆแห่งหนึ่งก็มีความขัดแย้งกันเช่นเดียวกับที่อื่นๆ เราอาจจะคิดว่าองค์กรเล็กๆความขัดแย้งไม่น่าจะมีอะไรมาก แต่ถ้าเรื่องที่ไม่มากนี้มันเกี่ยวข้องกับชีวิตและความปลอดภัยของผู้ป่วยนี่สิ มันก็น่าสนใจเหมือนกัน เช่น พยาบาลที่ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินขัดแย้งกับพยาบาลที่หอผู้ป่วยในเรื่องที่ว่าใครจะเป็นคนให้น้ำเกลือผู้ป่วย งานจ่ายกลางขัดแย้งกับหน่วยงานต่างๆในเรื่องที่ใครควรจะเป็นคนล้างเครื่องมือ เภสัชกรขัดแย้งกับพยาบาลในเรื่องที่ว่าใครจะเป็นคนตรวจดูวันหมดอายุของยาบนหอผู้ป่วย ต่างคนก็ต่างมีเหตุเหตุผลของตน แต่เผอิญว่ามันไม่ใช่เหตุผลเดียวกันก็เท่านั้นเอง ในบางครั้งความขัดแย้งก็ได้ข้อสรุป บางครั้งก็ไม่ได้ ซึ่งก็ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง อาทิ ความเป็นตัวตนของแต่ละฝ่าย การเปิดใจยอมรับฟัง ความรู้ในเรื่องที่ขัดแย้ง หรือแม้แต่การควบคุมอารมณ์ก็มีผลมิใช่น้อย ในท้ายที่สุดที่พวกเราทุกคนอยากได้ก็ คือ ความเข้าใจกัน
        ความเข้าใจกันมันก็มีจุดเริ่มต้นที่ไม่ใกล้ไม่ไกล นั่นก็คือ ตัวเราเอง การเข้าใจตัวเองก็เปรียบได้กับการรู้จักเป้าหมายของเรา ว่าเราทำอย่างนั้นอย่างนี้เพราะอะไร ขยายใหญ่ขึ้นอีกนิดก็คือเป้าหมายของทีม ของระบบงาน และท้ายที่สุดก็ขององค์กร หากเราเอาเป้าหมายเป็นที่ตั้งข้อขัดแย้งใดๆคงได้บทสรุปที่ดีของทั้งสองฝ่ายและสำคัญคือสามารถตอบสนองเป้าหมายได้ด้วย เช่น หากเรามองถึงความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง พยาบาลคงได้ข้อสรุปว่าจะให้น้ำเกลือที่ใด หากนึกถึงการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อ เราคงได้วิธีการที่เหมาะสมในการล้างเครื่องมือทั้งสองฝ่าย และคงมีข้อสรุปที่ดีว่าใครจะเป็นผู้ตรวจดูวันหมดอายุของยา หากเราคิดได้ว่าเป้าหมายคือการป้องกันไม่ให้มีการใช้ยาที่หมดอายุกับผู้ป่วย

        ถึงแม้จะได้ข้อสรุปที่ได้ประโยชน์กันทั้งหมดแล้วปัญหาก็ยังตามมาอีกจนได้ นั่นคือการถ่ายทอดสื่อสารให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและเข้าใจตรงกัน ไม่ใช้รู้เฉพาะหัวหน้าเท่านั้น ด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่อยากให้ข้อสรุปใดๆเป็นเอกสาร A4 แบบทางการซึ่งดูแล้วน่าเบื่อ สมุดบันทึก แล้วเราก็เข้าใจกัน ก็ได้บังเกืดขึ้นในโรงพยาลแห่งนี้ ด้วยรูปแบบที่สวยงามน่าอ่าน เนื้อหาภายในกระชับ และทันสมัย ทำให้ทุกหน่วยงานสามารถสื่อสารในเรื่องที่ตนไปทำความเข้าใจหรือข้อตกลงกับหน่วยงานอื่นๆไว้ ให้กับเจ้าหน้าที่ในฝ่ายอย่างง่ายดาย ซึ่งหากมองแล้วความคิดดังกล่าวมิใช่เพียงแค่ต้องการจะสื่อสารเท่านั้น แต่แฝงไปด้วยกุศโลบายที่สำคัญ นั่นคือ ไม่ว่าจะมีเรื่องขัดแย้งใดๆเกิดขึ้น ทุกเรื่องต้องจบลงที่ แล้วเราก็เข้าใจกัน และความเข้าใจดังกล่าวก็เป็นสิ่งสวยงามเสียด้วย

          หากวันนี้คุณมีเรื่องขัดแย้งกับใคร ลองเอาแนวคิดจากโรงพยาบาลเล็กๆแห่งนี้ไปใช้สิคะ แล้วคุณจะพบว่า แล้วเราก็เข้าใจกัน มันสวยงามอย่างไร
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 6537เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2005 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท