การพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ตอนที่ 1 (รากฐาน ก่อนปี พ.ศ.2535)


ในประเทศไทยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตตั้งแต่เมื่อใด มีสาขาของบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย เช่น บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด สามารถใช้ SNA ผ่านเครือข่ายภายใน เช่นเดียวกับ บริษัทดิจิตอล อิควิปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ใช้ DECnet และ IP tunneling และ บริษัทฮิวเล็ตต์-แพ็กการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งใช้ TCP/IP โดยตรง ต่างสามารถติดต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มานานแล้ว

ในบริบทที่ว่าอินเทอร์เน็ตคือการเชื่อมโยงเครือข่ายอิสระที่ทำงานร่วมกันได้นั้น สาขาของบริษัทข้ามชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ได้ทำการเชื่อมโยงผ่าน ประตู (gateway) ซึ่งมีการรักษาความปลอดภัยเป็นอย่างดี ผ่านวงจรเช่าไปยังต่างประเทศที่เชื่อมโยงตลอดเวลา แม้พนักงานส่วนใหญ่ของบริษัททั้งสามอาจจะไม่รู้ในรายละเอียดว่าทำอย่างนี้ได้ แต่ความสามารถที่จะเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตนี้มีอยู่จริงมานานแล้ว และวิศวกรของทั้งสามบริษัทก็ใช้งานมาก่อนที่จะเกิดกิจกรรมเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตใดๆในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการเชื่อมโยงเข้าสู่อินเทอร์เน็ตของบริษัทข้ามชาติ ถูกจำกัดอยู่เฉพาะกิจการของบริษัท และมีเพียงพนักงานของบริษัทเหล่านั้นที่ใช้ได้ และไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าบริษัทใดใช้หรือมีความสามารถอันนี้ก่อน แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว เรื่องนี้ก็ไม่มีผลใดๆเพราะเปรียบเหมือนเรื่องส่วนตัวของแต่ละบริษัท

อีเมลบนอินเทอร์เน็ตฉบับแรก

Return-path: [email protected]
Received: from mulga.OZ by munnari.oz (5.5)
id AA06244; Thu, 2 Jun 88 21:22:14 EST
(from [email protected] for kre)
Received: by mulga.oz (5.51)
id AA01438; Thu, 2 Jun 88 21:21:50 EST
Apparently-to: kre
Date: Thu, 2 Jun 88 21:21:50 EST
From: [email protected]
Message-id: <[email protected]>

Hi.
Bye

อีเมลฉบับแรกส่งจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ใช้ชื่อโหนดว่า sritrang.psu.th ไปยังบัญชีของตัวเองที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (mulga.oz) ผ่านระบบ MHSnet ซึ่งเป็นความช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลีย โดยอาจารย์โรเบิร์ต เอลซ์ (ปัจจุบันอยู่ที่ มอ.)

อาจารย์โรเบิร์ต เอลซ์ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากในโลกของอินเทอร์เน็ต ต่อมาภายหลัง ได้กรุณามาเปิดการอบรมที่ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (AIT) ซึ่งเปรียบเสมือนการ kick-off การจัดตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบในประเทศไทย

มอ. และ AIT กลายเป็นประตูหลักของประเทศ โดยออสเตรเลียติดต่อมาเพื่อรับส่งอีเมลผ่านระบบ MHSnet วันละสองครั้ง ระบบอีเมลดังกล่าวเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสองสถาบันด้วยความช่วยเหลือจาก ศ. จูริส ไรน์เฟลด์แห่งออสเตรเลีย

“ไรน์เฟลด์เขาเชื่อว่าถ้ามีเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้จะช่วยให้สมองไหลกลับ (นักวิจัยไทยที่ทำงานเมืองนอกกลับมาใช้ความเชี่ยวชาญในการพัฒนาประเทศ)” ดร. วุฒิพงศ์ เตชะดำรงสินซึ่งตอนนั้นเป็นอาจารย์ที่ มอ. เล่า

  • The History of the Internet in Thailand , by Sirin Palasri, Steven Huter, and Zita Wenzel, The Network Startup resource Center (NSRC), University of Oregon, 1999, ISBN 0-87114-288-0
  • The History of the Internet in Thailand, ธีรวุฒิ คอมันต์ (คุณวูดดี้ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง bulletin board บอร์ดแรกของกรุงเทพชื่อ "BUG"), ความเข้าใจส่วนตัวจากการอ่านเอกสารอ้างอิงข้างบน, ตีพิมพ์ใน Bangkok Post Database 12th Anniversary, 2001

อินเทอร์เน็ตไม่ได้เกิดจากกอไผ่

ในส่วนของอินเทอร์เน็ตที่ สาธารณะชนสามารถใช้งานได้นั้น เกิดจากความต้องการ และความพากเพียรของผู้มีความรู้ ที่มองเห็นประโยชน์จากการเปิดโลกทัศน์

บุคคลสำคัญท่านแรกแรกที่ต้องกล่าวถึงโดยละเอียดคือ ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย ซึ่งได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย หลังจากกลับเมืองไทย อาจารย์กาญจนาต้องการที่จะติดต่อเรื่องงานวิจัยแต่ไม่สามารถจะทำได้ เนื่องจากทั้งประเทศไม่มีบริการดังกล่าว จึงได้ปรึกษากับ ดร. โทโมโนริ คิมูระ ซึ่งอยู่ที่ AIT และก็มีความต้องการที่จะติดต่อกลับไปญี่ปุ่นเช่นกัน ทั้งสองได้เริ่มใช้ UUCP over X.25 และเปิดเป็นบริการภายใน AIT เก็บค่าบริการในลักษณะ cost recovery ที่ 200 บาทสำหรับการรับส่งข้อมูลไม่เกินหมื่นห้าพันตัวอักษร ซึ่งเพียงพอสำหรับ email เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะมีราคาแพงมาก

กลางปี พ.ศ. 2531 อาจารย์กาญจนา ได้ขอรับโดเมน .th และได้รับ IP address มา เนื่องจากจำเป็นจะต้องมีชื่อที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารเป็นการทั่วไป โดเมนแรกของประเทศคือชื่อองค์กรต่อท้ายด้วย .th เลย ไม่มี secondary-level domain นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

แม้ว่าในขณะนั้น จะยังไม่มีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอย่างถาวร (ซึ่งจะเกิดตามมาในปี พ.ศ.2535 และถือเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตแบบที่คนทั่วไปรู้จัก) แต่ก็ถือได้ว่าได้มีการเชื่อมต่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ แม้จะชั่วครั้งชั่วคราว เนื่องจากมีการใช้ IP จริง มีโดเมน และมีการใช้โปรโตคอลของอินเทอร์เน็ต

ความพยายามของเหล่าผู้พัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในยุคแรกนั้น ไม่ได้รับความสนับสนุนใดๆจากรัฐ เป็นเรื่องของความรู้ และความต้องการที่จะแสวงหาความรู้ ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง และไม่มีใครมาจ้างให้ทำ ถ้าอยากให้เกิด ก็ต้องใช้กำลัง และสติปัญญาแลกเอา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงบทบาทในการบ่มเพาะความรู้อย่างแจ่มชัด ดร.ยรรยง เต็งอำนวย (คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในขณะนั้น) ได้เป็นเสมือนศูนย์กลาง ของ Thai UNIX User Group (TUUG) และมีการแลกเปลี่ยนอีเมลผ่าน UUCP เป็นเวลานานหลายปี สร้างบุคลากรที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยในยุคถัดมา ต่อมา อาจารย์ยรรยงเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อการผลักดันเครือข่าย THAInet อันเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วย จุฬา AIT ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ ม.อัสสัมชัญ ม.หอการค้าไทย และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ชื่อในขณะนั้น)

ช่วงพฤษภาทมิฬ (พฤษภาคม พ.ศ. 2535) เป็นช่วงแรกที่ประชาคมเครือข่ายในไทย ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของอีเมลในมิติที่มากกว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลวิชาการ เช่น ปกติข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านการเมืองซึ่งขณะนั้นถูกปิดกั้นจากสื่อของรัฐเกือบหมด ถูกส่งผ่านช่องทางอีเมล มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นโทรเข้ามาที่ AIT วันละ 3 ครั้ง ลดการโทรเข้า มอ.เหลือวันละครั้ง และเพิ่มประตู (gateway) ใหม่ที่ข้างสนามหลวง คือที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรายงานเหตุการณ์จากพื้นที่ -- ปกติออสเตรเลียจะโทรเข้า AIT และ มอ.แหล่งละ 2 ครั้งต่อวัน และในขณะนั้นก็ยังมีเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติซึ่งติดต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ เป็นวงจรสำรอง

ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า แลกเปลี่ยนข่าวสารกันมากถึงวันละ 8 ครั้งช่วงนั้น อาจารย์ทวีศักดิ์ใช้โมเด็มส่วนตัวที่ซื้อมาจากอเมริกาความเร็วสูงถึง 14,400 บิตต่อวินาทีมาใช้ ปกติเครื่องในขณะนั้นจะเร็วแค่ 2,400 บิตต่อวินาที ในขณะนั้นโมเด็มความเร็ว 14.4kbps เร็วที่สุดเท่าที่มีขายทั่วโลกแล้ว ต่อมา อาจารย์ทวีศักดิ์เป็นผู้ผลักดันเครือข่าย ThaiSARN ซึ่งเป็นเครือข่ายการศึกษาและงานวิจัยขนาดใหญ่มาก ประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัยของรัฐอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ประมาณ 40 แห่ง และยังมีส่วนราชการที่ทำงานวิจัยอีกด้วย


บันทึกนี้ ไม่สามารถจะกล่าวถึงผู้ที่มีส่วนร่วมพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยได้ครบทุกท่าน เนื่องจากขนาดที่เหมาะสมของบันทึก การพัฒนาเครือข่ายที่ใหญ่โตขนาดนี้ ประกอบไปด้วยความร่วมมือเพื่อเป้าหมายอันเดียวกัน อินเทอร์เน็ตไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยคนคนเดียว หรือคนจำนวนน้อย ผู้บันทึกกราบขออภัยมา ณ.ที่นี้ด้วย

ผู้บันทึกในฐานะบุคลร่วมสมัยร่วมประสบการณ์ ได้พยายามบันทึกเหตุการณ์ตามที่ได้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ความยากลำบากของเหล่าบุคคลผู้มีคณูปการต่อประชาคมอินเทอร์เน็ตในเมืองไทย เลือนหายไปโดยไม่มีใครสังเกต

คำสำคัญ (Tags): #อินเทอร์เน็ต
หมายเลขบันทึก: 65365เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2006 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

โอ้โห สนุกสนานน่าติดตามมากเลยค่ะ จะมีใครมาทำ mini series ย้อนรอย Thai Internet Industry 10th Anniversary บ้างไหมคะ

บางเรื่องดิฉันพอจะทราบมาเหมือนกัน แต่มันเหมือนรู้เป็น jigsaw เป็นชิ้นๆ ยังไม่สามารถนำมาประกอบเป็นภาพได้ นี่ทำท่าจะได้ jigsaw เพิ่มอีกหลายชิ้น ใกล้จะเห็นภาพร่างมากขึ้นแล้วค่ะ

ตัวดิฉันเอง เริ่มใช้ internet ในเมืองไทยครั้งแรก ตอน ม.ค. ปี 1997 (เป็นปีที่เรียนจบแล้วกลับบ้าน) ในเวลานั้น ระบบ access ดูเว็บของบ้านเราอืดอาดยุ่งยากเหลือเกิน ถ้าเทียบกับอเมริกา น่าจะช้ากว่าเขาสัก 5 ปี แต่หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ระดับพัฒนาของ internet access ในเมืองไทย ช้ากว่าอเมริกาออกไปเรื่อยๆ จากช้าไป 5 ปี จนตอนนี้น่าจะสัก 10 ปีได้แล้วกระมัง

ยังนึกถึง modem ตัวแรกในชีวิตเลยนะคะ มันเป็น internal modem 9600 bps ที่ติดมากับ PC ของ IBM ตกรุ่นที่ซื้อไว้ใช้พิมพ์รายงานระหว่างเรียน ... พริบตาเดียว modem เดี๋ยวนี้กลายเป็น wireless hispeed modem ไปแล้ว

สนุกค่ะ รอตามอ่านต่อ   

ดีใจที่เจอะแหล่งข้อมูลความรู้ที่ดีมีประโยชน์มาก

ขอบคุณค่ะ

ดีใจมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆขอบคุณคับ

ขอบคุณผู้อยู่เบื้องหลังทุกคนที่ทำให้มีเน็ตในวันนี้ค่ะ

ขอบคุนนะคับที่ให้ความรู้เยอะเยาะ กับ ผม ขอบตุนน้า ง๊าฟฟฟฟ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท