ทำอย่างไร คนไทยจะไวไฟทางความคิด


..“ถ้าเราเข้าใจ เข้าถึงธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะช่วยเราทำงาน”

         พูดถึงเรื่องไวไฟ บางคนอาจจะคิดเลยเถิดไปถึงเรื่องไฟไหม้ฟาง ตั้งแต่ทำเรื่องการจัดการความไม่รู้  โดยเอากระบวนการเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นฐานคิด ผมมองว่าจะพึ่งตัวเองเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆไว้  แล้วจะทยอยเล่าให้ฟังในเมื่อถึงเวลาอันควร ดังจะยกตัวอย่างเป็นน้ำย่อย ดังนี้
    การพึ่งพาตนเองด้านอาหาร
         ถึงเราจะอยู่ในภาคการเกษตร แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังซื้ออยู่ซื้อกิน ความคิดที่จะทำสวนครัว ชวนลูกหลานเพาะปลูกพืชผักที่ตัวเองชอบไว้ชิมกันในเองในครอบครัว เริ่มลดหายตายจากไปจากความคิดคำนึงคนไทยยุคเจริญจริตจะก้านยึดเอาความสะดวกเข้าว่า เห็นคนกรุงเขาฝากท้องไว้กับอาหารสำเร็จรูป อาหารถุง อาหารในห้าง ก็เอาตามอย่างโดยอ้างว่าไม่มีเวลา  ทั้งๆที่นั่งถ่างตาดูทีวีทั้งวัน
         ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เราท่องกันมาว่า ..เมืองไทยใหญ่อุดม ดินดีสมเป็นนาสวน แล้วก็ชักชวนกันทำการเพาะปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ นั่นคือฐานคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในอดีต มาถึงวันนี้เรื่องเศรษฐกิจก็ยังไม่พอเพียงในสังคมไทยเสียที
           บ่นไปก็เท่านั้น แล้วตัวเองละดีแค่ไหน ทำอะไรบ้าง ก็ขอเล่าให้ฟังเสียเลย  ในช่วงฝนชุกที่เราปลูกผักล้มลุกไม่ค่อยได้ผล  เพราะถูกฝนกระแทกและอุณหภูมิไม่เหมาะโรคแมลงรบกวนเยอะ  แต่เราได้อาศัยผักที่มีลำต้นแข็งแรง เช่น กระเจี๊ยบเขียว ผักยืนต้นพื้นเมืองอย่าง แค มะรุม เพกา มะกอก ยอดมะม่วงหิมพานต์ ฟักทอง ฟักแฟง ลูกขนุนอ่อน หน่อไม้ฝรั่ง มะละกอ มะเขือ ยอดขี้เหล็ก ปลีกล้วย หน่อไม้ ผักติ้ว ผักเม็ก เห็ดต่างๆ ฯลฯ
             บ้านไหนปลูกผักเหล่านี้ไว้ จะมีให้หมุนเวียนเก็บมาลงหม้อแกงได้ไม่ซ้ำเมนูจุดเด่นก็คือ ผักพวกนี้ไม่มีโรคแมลงรบกวน จึงบริโภคได้ปลอดภัยทั้งผู้รับประทานและพยาธิที่อาศัยอยู่ในท้อง แถมยังไม่ต้องซื้อหาอีกด้วย  เรียกว่าประหยัดแต่อร่อยและปลอดภัยที่สุด  ถือว่านี้คือความพอเพียงขั้นที่1 พอเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว  เราก็จะเพาะกล้าผักพักล้มลุกตามฤดูกาลจำพวก คะน้า ผักกาด ผักชี ผักบุ้ง ต้นหอม ผักกวงตุ้ง กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี หรือจะรวมๆเรียกว่าผักสมัยใหม่ก็ได้ ผักพวกนี้อายุสั้น แตงกวาปลูกเดือนเดียวเพียง 2-3 ร่อง ก็รับประทานไม่หวาดไม่ไหว ถั่วผักยาวอายุเดือนเศษๆก็ออกฝักระโยงระยางมาให้เก็บ
              เชื่อไหมครับ ผักอายุสั้นพวกนี้ต้องเก็บทุกวัน เหลือกินถ้าไม่ขาย(ราคาถูกมาก) เราก็นำไปเลี้ยงสัตว์ หมู ปลา ไก่ สัตว์เลี้ยงบ้านผมกินผักปลอดสารพิษทั้งนั้น  นักวิชาการมาวิเคราะห์ว่า  “คำว่าอินทรีย์นั้นไม่ได้เกิดประเดี๋ยวประด๋าว  จะต้องมีวิธีจัดการที่เหมาะสมและต่อเนื่อง วงจรปกติของระบบธรรมชาติจึงจะเกิดขึ้น  และส่งผลลัพธ์ที่เป็นจุดแข็งของธรรมชาติมาให้เห็นเป็นขั้นเป็นตอน  มีผู้รู้บางท่านพูดว่า..“ถ้าเราเข้าใจเข้าถึง ธรรมชาติก็จะช่วยเราทำงาน” แต่ถ้าไม่เข้าใจเข้าไม่ถึงพลังของธรรมชาติ เราก็จะเหนื่อยที่จะต้องลงทุนสร้างระบบเลียนแบบธรรมชาติไม่รู้จักจบสิ้น ตัวอย่างเรื่องนี้มีให้เห็นทนโท่เต็มบ้านเมืองเรา เช่นการติดต่างระบบน้ำด้วยการใช้ สปริงเกอร์ การทำน้ำหยด รวมทั้งการรดน้ำฯลฯ ในที่สภาพธรรมชาติสมบูรณ์  วงจรธรรมชาติจะเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน ความชื้นในบรรยากาศ เช้าๆจะมีน้ำหมอกน้ำค้างเกาะที่ใบไม้ ไหลหยดเป็นทางลงตามก้านใบสู่ราก สิ่งเหล่านี้คือบรรณาการจากสวรรค์ แต่มนุษย์ขี้เหม็นได้ทำลายล้างไปจนหมดสิ้น ไม่เฉพาะเรื่องความชื้นเท่านั้นที่ธรรมชาติช่วยเรา ความอุดมสมบูรณ์ของดิน จุลินทรีย์ทุกตัว ไส้เดือน ปลวก แมลงใต้ดินทุกสายพันธุ์ ล้วนเป็นตัวช่วยที่ไม่เคยคิดค่าแรงแม้แต่บาทเดียว
           เริ่มกังวลว่า..ระบบเกษตรแบบดื้อตาใสจะนำเศรษฐกิจพอเพียงเข้ารกเข้าป่าเข้าดงระหกระเหินจากจุดที่ควรจะเป็น กำลังคิดว่าจะใช้พลังKM.เชิงลุก รุกเข้าไปคลายปมไม่รู้ไม่ชี้ในวงจรการเกษตรได้อย่างไร ปัญหาอยู่ที่ว่าการจะสร้างพลังKM. ในสังคมที่รับรู้ไม่ยอมเรียนรู้ก็ไม่ใช่ง่ายๆอีก  ลองไล่เรียงดูในระบบการศึกษา  จะเห็นว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะความไม่รู้อยู่หลายกรณี ทั้งๆที่รู้ว่ามันย่ำแย่  แต่ก็ไม่มีวิธีแก้ไขที่ไว้วางใจได้ ถ้ามองอย่างเป็นกลางก็ใช่ว่าจะโทษแบบปูพรม สิ่งดีๆเป็นที่ยอมรับยังมีอยู่บ้าง แต่ลางร้ายเริ่มปรากฏให้เห็นว่า สถาบันการศึกษากำลังจะหมดกึ๋นหมดน้ำยาที่จะสร้างสังคมสมานฉันท์ สังคมแห่งการเรียนรู้ได้เท่าที่ควรจะเป็น  กลับไปมีโครงสร้างแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นเล่นพรรคเล่นพวก ไม่เอาระบบการศึกษาเป็นตัวตั้ง  เอาการสมประโยชน์พรรคพวก ใช้เล่ห์กลขึ้นไปสู่ตำแหน่ง โดยทิ้งภาระหน้าที่ไว้อย่างซังกะตาย  ไม่เชื่อทำวิจัยดูก็ได้ ว่ามีสถาบันไหนบ้างที่บุคลากรทางกันศึกษามีความสุข เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รักเคารพซึ่งกันและกัน เอื้ออาทรช่วยเหลือกัน ยอมรับไหมว่าระบบการศึกษาเป็นโรคร้ายรุนแรง ถ้าไม่ระดมพลังกันแก้ไขวิกฤต อนาคตลูกหลานไทยคงไปจองคิวเชิงตะกอนกันจ้าละหวั่น
             ขอฟันธงว่า  หน้าที่ฟื้นฟูระบบการศึกษา ควรเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ในหลักการบริหารการศึกษา พูดกันมากเรื่องกระจายอำนาจ แต่ไม่ค่อยแบไต๋เรื่องการกระจายความรับผิดชอบ ว่าผู้ที่ได้อำนาจมาแล้วทำมิดีมิร้าย เราจะมีระบบอะไรมารองรับปรับแก้ หรือมีกลไกอะไรไปถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพ  ถ้าไม่วางแผนให้ดี ผมเกรงว่าเอาอำนาจไปให้พวกบ้าอำนาจ สร้างอำนาจเถื่อน ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง 

 

หมายเลขบันทึก: 65315เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2006 17:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูบาครับ

ผมขอมองต่างมุมครับ

ผมว่าคนอีสานไวไฟทางความคิดมากเลยครับ เช่น ตอนนี้มีคนอีสานอยู่แทบทุกแห่งในโลก และทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ไม่ไวไฟทางความคิดจะไปได้อย่างไรครับ

ลองออกกฏหมายให้คนอีสานกลับบ้านเกิดทั้งหมดซิครับ หลายเมืองร้างแน่นอน

ส้มตำอาหารอีสานก็เป็นอาหารประจำร้านอาหารไทยทั่วโลกเหมือนกัน

ป่าไม้ที่ไหนอุดมสมบูรณ์ คนอีสานก็ไปถางซะราบเรียบทุกแห่งมาแล้ว มีเหลือที่ไหนอย่าให้รู้นะครับ คนอีสานจะไปทันที จนมีคำกล่าวด้านการถือครองที่ดินว่า เจ๊กไล่ไทย ไทยไล่ลาว ลาวไล่ลิง ผมว่าครูบาเคยได้ยินแน่นอน

เขารู้ว่าทำนาไม่ได้กำไร เขาก็ทำนาปีละ ๕ วัน พอได้ข้าวเดนตายมาขายบ้างกินบ้าง ขนาดนี้ยังไม่ไวไฟอีกหรือครับ

แล้วทำไมคนอีสานจึงไม่ถูกใจครูบา

ลองให้รัฐบาลอ่อยเหยื่อให้ถูกจุด ผมว่าคนอีสานติดไฟเร็วกว่าน้ำมัน ปตท แน่ๆเลยครัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท