ศักราช
อาจารย์ ศักราช ลุงปั๋น ฟ้าขาว

เรื่องเล่าเมื่อวันพุธ ๒๒ พ.ย.๒๕๔๙


ถ้ามองในมิติของรายได้ เศรษฐกิจที่ได้รับ โดยภาพรวมน่าจะดี แต่ชาวบ้านร้านตลาดของคนเชียงใหม่ คงไม่ได้อะไรสักเท่าไร(บริเวณงาน) เพราะผู้ได้รับสัมปทาน ล้วนแต่เป็นเอกชนรับจ้าง ผู้รับเหมาแทบทั้งสิ้น

             ข้อเขียนวันนี้ เขียนมาจากการเขียนเพื่อพบนักศึกษาทุกวันพุธ เห็นว่าเกี่ยวข้องกับสังคม ศิลปะและวัฒนธรรมครับ

             เรื่องแรกระยะนี้ คงไม่พ้นเรื่องงานมหกรรมพืชสวนโลกที่เชียงใหม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้น ครูบอกแล้วว่า คงมีหลายด้าน ถ้ามองในมิติของรายได้ เศรษฐกิจที่ได้รับ โดยภาพรวมน่าจะดี แต่ชาวบ้านร้านตลาดของคนเชียงใหม่ คงไม่ได้อะไรสักเท่าไร(บริเวณงาน) เพราะผู้ได้รับสัมปทาน ล้วนแต่เป็นเอกชนรับจ้าง ผู้รับเหมาแทบทั้งสิ้น แต่ธุรกิจการท่องเที่ยว การโรงแรมในเชียงใหม่คงมีรายได้เพิ่มกันอย่างถ้วนทั่ว

            แต่มองในมิติของคุณธรรมแล้ว  โรงแรมหลายแห่ง เอาเปรียบผู้บริโภคมาก โดยใช้เหตุผลว่าเป็นช่วง High Season จึงโก่งราคาขึ้นกันแทบทุกแห่ง ดูไปอีกทีก็เป็นการยอมรับกันง่าย ๆ ในสังคมไทย

             และผลกลกระทบโดยตรงให้เห็นอย่างชัดเจนคือ ปัญหาการจราจรรถติดไปทั้งเมืองครับ  ยิ่งมีอุบัติเหตุขึ้นอีก ยิ่งทำให้การจราจรเป็นอัมพาตไปทั้งเมือง...แล้วต่อไปก็จะเป็นเรื่องขยะ อากาศ โรคที่อาจจะเกิดจากเกสรของพันธุ์ไม้  สิ่งแวดล้อมอาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้    

            แต่ส่วนที่ได้รับโดยตรงทางบวก ก็คือ มีอาจารย์และนักศึกษา จาก มร.ชม. ไปร่วมการแสดงบนเวที ช่วยสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย และสร้าง ประสบการณ์ด้านวิชาชีพของนักศึกษาให้มีมากขึ้น และมีนักศึกษาหลายคนไปรับจ้างออกแบบตกแต่งในงานก็มีมาก

           อีกเรื่อง ที่อยากจะเอามาเล่าให้นักศึกษาฟัง ครูได้ไปอ่านหนังสือของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนเรื่อง"พม่าเสียเมือง" ได้ข้อคิดในหลายเรื่อง ในเชิงประวัติศาสตร์ การปกครอง ตลอดถึงศิลปะ วัฒนธรรม

          นักศึกษาคงทราบแล้วว่าไทยเราเสียเมือง เสียความเป็นเอกราช หรือเป็นเมืองขึ้นให้กับพม่าถึง๒ ครั้ง ครั้งแรก พ.ศ.๒๑๑๒ เสียไป ๑๕ ปี  ครั้งที่ ๒ เสียเมืองไป พ.ศ. ๒๓๑๐ การเสียเมืองในสมัยก่อน เรามีมูลเหตุหลายเรื่อง เรื่องที่สำคัญ คือเรื่องการแย่งชิงอำนาจในกรุงศรีอยุธยา ความแตกสามัคคีของคนในชาติ ทำให้พม่าเผาเมือง ขนเอาทรัพย์สมบัติไปมากมายมหาศาล ฆ่าคนไทย และกวาดต้อนผู้คนไปไว้เมืองพม่าหลายแสนคน

          นอกจากเราสูญเสียความเป็นชาติแล้ว เราถูกทำลายทางศิลปะ วัฒนธรรมไปมากมาย คนไทยได้รับผลกระทบกระเทือนทั้งวัตถุและถูกย่ำยีทางจิตใจ(ของคนสมัยนั้น สมัยนี้อาจจะมีคนที่ยังช้ำใจอยู่อาจจะมีมาก) 

         มีเกร็ดความเชื่อของพระเจ้ามินดุง ประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๕ ตรงกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัวครองราชย์ ในเรื่องการสร้างประตูเมือง ที่เชื่อโหรพราหมณ์ถวายรายงานว่า การรักษาบ้านเมืองและพระราชวังเมืองมัณฑเลไว้ได้นั้น ต้องสร้างกำแพงล้อมรอบ และสร้างประตูเมืองในแต่ละด้านสามประตู รวมทั้งหมด ๑๒ ประตู และต้องฝังอาถรรพ์ด้วยคนเป็น ๆ ประตูละ ๓ คน รวมทั้งหมด ๓๒ คน  โดยเอาคนเป็น ๆ ไปลงหลุมแล้วเอาเสาประตูใส่หลุมตามลงไป แล้วคนที่จะลงหลุมถูกผังนั้นต้องไม่ใช่นักโทษประหาร ทุกคนต้องเป็นคนฐานะดี ถูกยกย่องในสังคมมีทั้งชาย หญิงที่เป็นผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็ก และต้องเกิดตามวัน เวลาที่โหรพราหมณ์กำหนด ลูกเมียญาติพี่น้องที่อยู่ ได้รับรางวัลพระราชทานรางวัลไป

        เป็นความเชื่อที่เรานึกถึงภาพจากเหตุการณ์เอาคนเป็นลงหลุมแล้ว บอกได้คำเดียว..โคตรโหด หรือมหาโหดมาก หลังจากนั้นไม่นานพม่าก็เสียเมืองให้กับอังกฤษในสมัยพระเจ่าสีป่อ โอรสของพระเจ้ามินดุง

        ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช บอกว่าหลายเรื่องเป็นเรื่องของกรรม เพราะพม่า(สมัยก่อน) ทำกับคนไทยมากมาย พอถูกยึดไปเป็นเมืองขึ้นของรัฐบาลอังกฤษ ดูเหมือนว่าท่านจะสมน้ำหน้า ครูก็เห็นด้วยครับ เราถูกกดขี่ ย่ำยีมากมาย เสียความอิสระเสรี เสียความเป็นเมือง ความเป็นไทยไปกว่า ๒๐๐ ปี

       จบครับ...พุธนี้จบด้วยความรักเมืองไทย...ไม่อยากเห็นการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น ในสังคมไทย และอยากเห็นนักศึกษาเป็นคนดี เป็นกำลังแห่งคุณภาพสร้างชาติในอนาคตครับ

       และขอคารวะ แด่ท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์อย่างสุดซึ้ง

      

                                                                   อ.ศักราช  ฟ้าขาว

หมายเลขบันทึก: 65293เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2006 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์ศักราช

เอ! สงสัยว่าอาจารย์เป็นท่านเดียวกับอาจารย์ที่มากับอาจารย์พิชัยในงานมหกรรมการจัดการความรู้หรือเปล่าค่ะ ถ้ารูปถ่ายใหญ่กว่านี่หน่อย ดิฉันคงจำอาจารย์ได้แน่นอนค่ะ :)

อย่างไรก็ยินดีที่อาจารย์เข้ามาเป็นสมาชิก GotoKnow ค่ะ

จันทวรรณ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท