ความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคม


การให้แต้มต่อสำหรับคนด้อยโอกาสกว่าจึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เรียกกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับสีเขียว ที่อ้างกันว่าเป็นฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด จะมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากที่สุด แต่พอออกมาใช้จริงหลายคนก็เริ่มวิตกว่าจะเป็นอย่างที่หวังไว้จริงหรือเปล่า เพราะหลายสิ่งที่เป็นผลผลิตของรัฐธรรมนุญฉบับนี้ออกมาแปลกๆ สิ่งหนึ่งที่มีปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะในมาตรา 52 และ 82 ที่เกี่ยวข้องกับระบบบริการสุขภาพ สาระของรัฐธรรมนูญดังกล่าวเน้นที่หลักการใหญ่ 7 ประเด็น ดังนี้
          1. Service
          2. Standard of quality
          3. Equality
          4. Efficiency
          5. Accessibility
          6. Accountability
          7. Participation of community
แต่ที่ผมจะนำมาพูดถึงก็คือความเสมอภาคหรือEquality ซึ่งต้องทำให้คนไทยทกคนมีความเท่าเทียมกันหรือเสมอหน้ากันหรือเสมอภาคกันในการได้รับบริการจากรัฐ ไม่เลือกปฏิบัติไม่ว่าจะยากดีมีจนอย่างไร
                แต่แค่ความเสมอภาคอย่างเดียวคงไม่พอ คนรวยมีเงินเป็นหลายล้านกับคนจนที่พอมีกินได้รับบริการจากโรงพยาบาลรัฐเหมือนกัน เข้าถึงเหมือนกัน เสียค่าธรรมเนียม 30 บาท เท่ากัน หรือเด็กนักเรียนในชนบทจบชั้นมอหกกับเด็กนักเรียนลูกคนมีเงินในกรุงเทพฯเรียนอยู่โรงเรียนดังๆก็มีความเสมอภาคกันในการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือคนพิการด้อยโอกาสกับคนปกติสมบูรณ์มีโอกาสเท่ากันในการประกอบอาชีพ สิ่งเหล่านี้ก็คือความเสมอภาค แต่ถามว่าเกิดความเป็นธรรมในสังคมหรือไม่ สิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับความเสมอภาคก็คือความเป็นธรรมหรือEquity ซึ่งจะทำให้คนในสังคมเริ่มออกตัวหรือสตาร์ทอย่างเท่ากันก่อน จึงจะแข่งกันได้  ไม่ใช่เด็กบ้านนอกด้อยโอกาสแข่งกับเด็กที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสทางการศึกษา โอกาสแพ้ก็มากกว่า ให้คนพิการทำงานแข่งกับคนปกติ โอกาสแพ้มากกว่า  การให้แต้มต่อสำหรับคนด้อยโอกาสกว่าจึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมในสังคม เช่น การมีโควตาในการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยสำหรับเด็กต่างจังหวัดหรือโรงเรียนเล็กๆ นี่ก็เป็นตัวอย่างของการให้แต้มต่อเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม  การให้เบี้ยยังชีพคนพิการอย่างเหมาะสมตามลภาพความพิการหรือความสามารถในการดำรงชีพที่เหลืออยู่ไม่ใช่การให้แบบเหมาโหลรายละ 300 บาทแบบที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้
                สำหรับบริการสุขภาพนั้น การให้คนจนจ่ายเท่ากับคนรวยเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างหนึ่ง แม้จะมีความเสมอภาคแต่ก็ไม่มีความเป็นธรรม คนที่มีโอกาสมากกว่าควรได้รับชดเชยน้อยกว่าคนที่ด้อยกว่า ถ้าเสีย 30 บาทเท่ากัน เมื่อคิดเป็นร้อยละของรายได้แล้ว คนจนจะเสียเปรียบมาก ดังนั้น น่าจะมีการนำรายได้สุทธิ เข้ามามีส่วนในการพิจารณาในการจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วย หรือการเอาเงินเหมาจ่ายค่าหัวของคนที่ดูแลสุขภาพตนเองอย่างดี ไม่เจ็บไม่ป่วย ไปให้คนที่ไม่ใส่ใจดูแลตนเอง เจ็บป่วยมากก็อาจไม่เป็นธรรมเช่นกัน น่าจะมีการจัดสรรเงินที่จะเป็นการจูงใจให้คนในครัวเรือนร่วมช่วยกันใส่ใจในการดูแลสุขภาพของตนเองไม่ให้เจ็บป่วยโดยอาจจะมีเงินส่วนหนึ่งเก็บสะสมไว้ได้ ก็อาจส่งผลให้คนไทยสนใจดูแลสุขภาพตนเองขึ้นบ้าง
หมายเลขบันทึก: 6521เขียนเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2005 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท