จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 2 (4 ธ.ค.49)


เยี่ยมเยียนเรียนรู้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน

                จาก 3 ยุทธศาสตร์สังคมแห่งชาติ อันได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน (2) ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และ (3) ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม กระทรวงฯ (พม.-พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ได้ลงมือขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน เป็นอันดับแรก

                ได้แนะนำให้ พมจ. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) เป็นผู้ประสานส่งเสริมสนับสนุนให้ องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้สามารถมีบทบาทสำคัญอื่นๆในท้องถิ่น ร่วมกันค้นหา ผู้ถูกทอดทิ้ง หรือ ผู้ยากลำบากพิเศษ ในท้องถิ่นของตน แล้วช่วยกัน ดูแล ตามที่เห็นว่าสมควร

                การ ดูแล นี้คงจะมีทั้งการช่วยเหลือเฉพาะหน้าระยะสั้น และการสนับสนุนให้ ผู้ถูกทอดทิ้ง หรือ ผู้ยากลำบากพิเศษ นั้นๆมีความเข้มแข็งสามารถมากขึ้นในระยะยาว

                ผมได้เดินทางไป เยี่ยมเยียนเรียนรู้ (และ พัฒนาร่วมกัน หรือ ร่วมคิดร่วมพัฒนา) กับ พมจ. และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ โดยอาศัยโอกาสที่ พมจ.จัดการประชุมสัมมนาหารือเรื่อง การขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ณ จังหวัดต่างๆดังนี้

                        ·       จังหวัดลำปาง (16 พ.ย. 49)

                ·       จังหวัดขอนแก่น (20 พ.ย. 49)

                        ·       จังหวัดสงขลา (25 พ.ย. 49)

                        ·       จังหวัดจันทบุรี (26 พ.ย. 49)

                และเตรียมจะไป เยี่ยมเยียนเรียนรู้ อีก 2 ครั้ง ที่จังหวัดพิษณุโลก (29 พ.ย. 49) และจังหวัดสกลนคร (30 พ.ย. 49) แต่พอถึงเวลาจริงๆก็ไม่สามารถไปได้เพราะต้องเข้าประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อันเกี่ยวเนื่องกับการนำร่าง พรบ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (หรือเรื่อง หวย 2 ตัว 3 ตัว) เข้าสภาฯและผมต้องเข้าประชุมพร้อมกับท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (มรว.ปรีดิยาธร เทวกุล) ซึ่งเป็นเจ้าของเรื่อง ส่วนผมเป็น กองหนุน เนื่องจากได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแลเรื่อง การส่งเสริมชีวิตมั่นคงปลอดอบายมุข (หรือ การส่งเสริมให้ลดละเลิกอบายมุข) อันถือได้ว่ารวมอยู่ในหน้าที่ของกระทรวง พม.ที่ควรทำอยู่แล้ว

                สำหรับที่พลาดการไป เยี่ยมเยียนเรียนรู้ ที่จังหวัดพิษณุโลก และสกลนครนั้น ผมตั้งใจและวางแผนจะไปที่จังหวัดทั้งสองนี้ หลักจากเวลาประมาณ 1 เดือนได้ล่วงไปแล้ว โดยจะเป็นการไป ติดตามศึกษา การดำเนินการที่ได้ทำไปแล้วเกี่ยวกับ การขับเคลื่อนสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ในจังหวัดทั้งสอง แถมด้วยในจังหวัดรอบๆอีกประมาณ 12 จังหวัด ต่อการไปเยี่ยม 1 ครั้ง ซึ่งจังหวัดเหล่านั้นอยู่ในเขตรับผิดชอบของ สสว. (สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ) จำนวน 2 เขต ไปเยี่ยม 2 ครั้งก็คลุมพื้นที่ สสว. รวม 4 เขต หรือประมาณ 24 จังหวัด

เบญจภาคี สู่ พหุพลังบูรณาการ เพื่อการพัฒนาสังคม

                การขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน คงจะดำเนินการในพื้นที่หรือท้องถิ่น ปฐมภูมิ เป็นเบื้องต้น

                พื้นที่หรือท้องถิ่น ปฐมภูมิ คือ ตำบล และ เขตเทศบาล (หรือ เมือง) ซึ่งมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระดับพื้นฐานรับผิดชอบดูแลจัดการ อันได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) (สำหรับพื้นที่ตำบล) และ เทศบาล (สำหรับพื้นที่ เขตเทศบาล หรือ เมือง)

                พร้อมกันนั้น การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน ก็สามารถและควรจะทำในระดับพื้นที่ ทุติยภูมิ นั่นคือในระดับ จังหวัด ด้วย

                สำหรับการดูแลจัดการในพื้นที่จังหวัดนี้จะซับซ้อนกว่าพื้นที่ปฐมภูมิ กล่าวนั่นคือ มีผู้รับผิดชอบดูแล 2 ระบบอยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด ระบบที่หนึ่งได้แก่ ราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการที่เป็นตัวแทนของกระทรวงและกรมต่างๆ และมาสังกัดที่จังหวัดตลอดไปถึงที่อำเภอ และระบบที่สอง คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในรูปของ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

                แต่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ ปฐมภูมิ หรือพื้นที่ ทุติยภูมิ พลังสำคัญในการขับเคลื่อน ยุทธศาสตร์สังคมไม่ทอดทิ้งกัน (หรือ ภารกิจสังคมไม่ทอดทิ้งกัน) น่าจะประกอบด้วย

                                1. ชุมชนท้องถิ่น (รวมถึง องค์กรชุมชน และกลไกต่างๆของชุมชน)

                                2. องค์กรประครองส่วนท้องถิ่น (อบต. หรือเทศบาล หรืออบจ.)

                                3. หน่วยงานของรัฐ (ที่มีบทบาทในพื้นที่ ซึ่งรวมถึงราชการส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง)

                                4. ประชาสังคม (ที่มีบทบาทในพื้นที่ รวมถึงหน่วยศาสนา มูลนิธิ สมาคม กลุ่มคน เครือข่าย ฯลฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมเพื่อส่วนรวม)

                                5. ธุรกิจ (ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวข้องกับพื้นที่)

                ถ้ามีครบทั้ง 5 ส่วนดังกล่าวข้างต้น ผมจะเรียกว่าเป็น เบญจภาคี ซึ่งควรจะมีพลังมาก และเป็นพลังที่บูรณาการกันหลายฝ่าย

                ผมจึงขอใช้อีกคำว่าเป็น พหุพลังบูรณาการ รวมแล้วเป็น เบญจภาคี ซึ่งนำสู่ พหุพลังบูรณาการ เพื่อการพัฒนาสังคม (และเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์)

                                                                    สวัสดีครับ

                                                            ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

คำสำคัญ (Tags): #รัฐมนตรี
หมายเลขบันทึก: 65203เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)
มาลงชื่อติดตามรออ่านต่อค่ะ 

สัวสดีครับท่านไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม

ผมเคยร่วมโต๊ะกินข้าวกับท่านที่ ร.ร.ป่าไม้แพร่ ขณะผมเป็นศึกษาธิการอำเภอครับ ตอนนั้นท่านไปจัดการนำร่องเรื่องการรวมหนี้สินให้กับครูใน จ.แพร่  ขอให้กำลังใจกับภารกิจหลายเรื่องในขณะนี้ครับ

กราบเรียน ท่านรัฐมนตรี

ผมขอเป็นกำลังใจให้ท่านได้มีโอกาสทำงานที่เป็นรูปธรรม และช่วยสกิด(หนักๆ) ให้ พอช ทำงานอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่านี้หน่อย น้ำขึ้นให้รีบตักได้แล้ว ไม่มีข้ออ้างเหมือนสมัยก่อนแล้วครับ

โดยความเคารพอย่างสูง

แสวง รวยสูงเนิน ม ขอนแก่น

เห็นเช่นเดียวกับ ดร.แสวง รวยสูงเนิน นอกจากนี้คนทำก็ต้องมีความเข้าใจในกระบวนการเช่นกันครับ งานถึงจะออกมาแล้วสัมฤทธิ์ผลครับ

ขอขอบพระคุณอาจารย์ไพบูลย์...

  • ขออนุโมทนา.... สาธุ สาธุ สาธุ ในคุณความดีของท่านอาจารย์ และคณะรัฐมนตรีที่มีส่วนพลิกฟื้น คืนแผ่นดินไทยให้อุดม สมบูรณ์ และยั่งยืน
  • ท่านอาจารย์จันทวรรณเขียนในบันทึกว่า งบประมาณ high speed internet โรงเรียนถูกตัดไป... เข้าใจว่า น่าจะทำให้โอกาสเรียนรู้ของเด็กๆ น้อยลงไปมากทีเดียว

ขอให้คนไทยมีโอกาสอ่านบันทึกของท่านอาจารย์ เพื่อเป็นขวัญ และเป็นกำลังใจให้คนหมู่มากทำดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปครับ...

อาจารณ์ครับ... คือ blog ของอาจารย์บทความนี้อ่านยากมากเลยครับ เข้าใจว่าอาจจะโดน set มาจาก word ตอนก็อปมาแปะที่ blog ครับ... มาบอกเฉยๆครับ เพื่อพี่ๆผู้ช่วยจะได้ปรับให้อ่านง่ายขึ้น

เรียน  ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 ดิฉันได้ติดตามอ่านข้อความของท่านรัฐมนตรีฯ มาจากหลายแห่งในอินเตอร์เน็ตค่ะ  และคิดว่าการที่ท่านได้เข้ามาในบริหารกระทรวงฯ แห่งนี้นั้นนับว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมาก  โดยเฉพาะกับการคัดกรองผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์จริงในการปฏิบัติงานได้ขึ้นมามีโอกาสใช้ความสามารถเหล่านั้น  เพระเนื่องจากการปฏิบัติใด ๆ ก็ตามแม้ว่าเป็นการกำหนดโครงการของในหลายหน่วยงานในกระทรวงฯแห่งนี้ จะสัมฤทธิ์ผลได้ย่อมมาจากผู้ปฏิบัติจริง ผู้รู้ปัญหาจริงในส่วนภูมิภาค  เพราะเนื่องจากปัญหาในภูมิภาคแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกัน แต่หากนำมาใช้มาตราฐานกำหนดเดียวกันโดยไม่สามารถนำมาประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ความต้องการของจังหวัดเหล่านั้นได้อย่างแท้จริงแล้ว โครงการต่าง ๆ ก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์น้อยลง ในขณะที่ปัญหาที่แท้จริงนั้นมิได้ถูกแก้ไขอย่างใดเลย  รวมถึงหน่วยงานส่วนกลางที่ได้ทำโครงการเพื่อให้ส่วนภูมิภาคทำนั้นก็มิได้คำนึงถึงจุดนี้  พร้อมทั้งยังมีการสั่งการโดยการใช้โทรศัพท์ติดต่อโดยมิได้ผ่านหนังสือ  บางโครงการมีการเปลี่ยนแปลงจากหน่วยงานส่วนกลางถึงหลายครั้งจนทำให้ผู้ปฏิบัติทำอะไรไม่ถูก  จึงทำให้เห็นจุดอ่อนได้ว่า  โครงการดี ๆ แต่ถ้าหน่วยงานส่วนกลางนั้นไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบเสียก่อน ได้แต่คิดว่าน่าจะเพิ่มนี่นิดต่อมาขอเพิ่มนั้นหน่อย ก็จะเป็นปัญหาทำให้งานที่ส่วนภูมิภาคนั้นทำไม่มีที่สิ้นสุดและหาจุดจบของงานไม่ได้  และอีกประการหนึ่งส่วนกลางนั้นบริหารงานโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการหรือปัญหาของกลุ่มเป้าหมายของส่วนภูมิภาค มิได้สนใจว่าส่วนภูมิภาคต้องทำงานประสานกับกลุ่มใดบ้าง แต่กลับสร้างมาตราฐานมาทำให้เกิดปัญหาในการประสานงานเสียเอง ก็ยิ่งทำให้งานนั้นยากยิ่งขึ้น 

ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านรัฐมนตรีฯ จะกรุณาช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยค่ะ

ชายขอบของการด้อยโอกาส

     คนชายขอบ คนด้อยโอกาส คำเหล่านี้ มักจะได้ยิน อยู่เสมอ ๆ จากการทำงานภาคสังคม โดยเฉพาะองค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนโดยตรง คนด้อยโอกาส ประกอบด้วยใครบ้าง ?? ถ้า นับตาม สำนักพิทักษ์และส่งเสริมผู้ด้อยโอกาส ก็ จะได้แก่ คนไร้บ้าน ,ผู้พ้นโทษ ,คนยากจน ,ผู้ติดเชื้อเอดส์ ,คนไร้สัญชาติ แต่ใครจะเชื่อว่า ในกลุ่มของคนด้อยโอกาสเอง ก็ยังมัที่ด้อยโอกาสยิ่งกว่า ?? 

     เรียกได้ว่าคนชาขอบของการด้อยโอกาสเลยทีเดียว การเกิดขขึ้นของคนชายขอบของการด้อยโอกาสนั้น มักจะไม่ได้เกิดจากความเสี่ยง หรือพื้นที่ความเสี่ยงของกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวเองเป็นส่วนใหญ่ หากแต่ว่าเกิดจากคนที่ลงไปทำงานกับคนด้อยโอกาสที่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่กระจายโอกาสและความเท่าเทียมในการทำงานกับคนกลุ่มนี้ ?? 

     การเลือกปฏิบัติที่ว่านี้พบเห็นได้ในหลาย ๆ ระดับ ทั้งที่เกิดขึ้นโดยตรงและเกิดขึ้นในการสนับสนุนการทำงานผ่านองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมในระดับพื้นที่อยู่ กล่าวคือ กรณีที่เกิดขึ้นโดยตรง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการลงไปทำงานในระดับพื้นที่ของหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบปัญหาโดยตรง และ เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพียงผิวเผินไม่ลงลึก  ดังนั้น ก็จะพบเจอกับกลุ่มเป้าหมายที่ซ้ำ ๆ เดิม ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง และ สูญเสียเวลาทรัพยากรไปกับข้อมูลที่คงที่ บางครั้ง ก็โดนหลอกด้วยซ้ำไป คือ ในกลุ่มเป้าหมายกันเองก็จะมีการกั้นท่ากันเองไม่ให้คนอื่นได้มีโอกาสเข้าถึงการบริการ หรือสวัสดิการที่ หน่วยงานนั้น ๆ นำลงไป กรณีที่เกิดขึ้นโดยการผ่านการสนับสนุนองค์กรที่ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่นั้น เกิดขึ้นจาก แนวคิดและทัศนคติที่ไม่ได้มีความตั้งใจจะสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการทำงานกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มปัยหาโดยตรง แต่จะเลือกองค์กรที่สามารถสื่อสารและมีความรู้สึกดีเป็นการส่วนตัวกันเป็นหลัก ?? และปิดกั้นองค์กรที่มีความรู้สึกไม่ชอบเป็นการส่วนตัวให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในการทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย ?? 

     สถานการณ์แบบนี้ เป็นสถานการณ์เดิม ๆ  ที่มีที่เป็นอยู่อย่างสม่ำเสมอไม่มีเปลี่ยนแปลง จากรุ่นสู่รุ่น จากยุคหนึ่งส่งต่อมายังอีกยุคหนึ่ง แต่เปลี่ยนตัวบุคคลเปลี่ยนคู่กรณีเท่านั้นเอง และท้ายที่สุด การเกิดขึ้น ของคนชายขอบของการด้อยโอกาส ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้น เพียงเพราะการไม่เปิดกว้าง ความไม่จริงใจในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมอย่างแท้จริง 

     หนทางการแก้ไขปัญหาที่พอจะมองเห็น ก็คือการลดขั้นตอนการพิจารณาการทำงานในพื้นที่ และการลดขั้นตอนการพิจารณาการให้การสนับสนุนการทำงานภาคพื้นที่ให้เกิดความกระชับฉับไวและเข้าถึงปัญหาได้โดยตรง แต่สร้างกลไกในการตรวจสอบที่ง่ายต่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น เท่านี้การทำงานอย่างจริงจังและจริงใจในการแก่ไขปัญหาก็จะเกิดขึ้น และ เข้าถึงปัญหาได้อย่างลงลึกและตรงจุดท้ายที่สุดปัญหาก็จะได้รับการบรรเทาความรุนแรงลงและคลี่คลายไปในที่สุด 

กราบเรียน ท่านรัฐมนตรี ที่เคารพอย่างสูง

           ผมได้อ่านแนวคิดของท่านแล้ว ในฐานะประชาชน คนหนึ่งขอเป็นกำลังใจให้ท่านครับ และขอขอบคุณที่ท่านได้เห็นความสำคัญ ในการขับเคลื่อนงานทางด้านสังคมอย่างจริงจัง และที่สำคัญ อยากให้ท่านได้สนับสนุนให้ หน่วยงานภาคสังคม ได้มีโอกาสในการขับเคลื่อนมากขึ้น  เพราะปัจจุบัน หน่วยงานภาคสังคมหลายๆหน่วยงานมีศักยภาพ แต่ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ หากว่ารัฐให้การสนับสนุนมากขึ้น หน่วยงานหรือองค์กรภาคสังคมก็จะมีส่วนช่วยผลักดันได้อย่างเต็มศักยภาพ ครับ

ขอบคุณครับ

เรวัตร  ใหญ่แก้ว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท