ศักราช
อาจารย์ ศักราช ลุงปั๋น ฟ้าขาว

"มวยวัด"


ปัจจุบันมักนำเอาคำว่า "มวยวัด"ไปใช้กับพฤติกรรมคนที่ชอบทำอะไรที่ไร้กฎเกณฑ์ ไม่มีระเบียบแบบแผน เป็นการเปรียบเปรยไปในทางลบจากการกระทำของคนมากกว่า
ในสมัยก่อนเมื่อมีงานวัด งานประเพณีประจำปีในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ชาวบ้านตั้งแต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าอาวาส มักมีส่วนร่วมในการคิดว่า จะทำ จะจัดอะไรในงานวัด หรืองานประเพณีประจำปีนั้น เช่น มีหนังกลางแปลง ลิเก ชิงช้าสวรรค์ รำวง มวย แล้วแบ่งหน้าที่กันไป

            พูดถึง "มวยวัด" ในสมัยที่ผู้เขียนเป็นเด็กชั้นประถม เมื่อมีงานวัด หรืองานประเพณีของจังหวัด ตาและยายหรือไม่ก็ป้าบ้าง อาบ้าง มักพาไปดูงานที่มีกิจกรรมที่กล่าวมาแล้ว อย่างครบครัน ก่อนการชกมวยจะเริ่มขึ้น โฆษกสนามมวยมักจะเชิญชวนให้ชาวบ้านที่เดินผ่านไปผ่านมาเข้าไปดู หรือเชิญชวนซื้อบัตรผ่านประตูเข้าไปดูมวยที่กำลังจะชก ซึ่งส่วนใหญ่จะชกประมาณ ๓ ทุ่มขึ้นไป

            มีหลายครั้งที่บางงานไม่เก็บค่าผ่านประตูมวย คือเปิดฟรีให้ดู จึงเห็นกระบวนการที่ชาวบ้าน(คนล้านนา) เรียกว่า "เปรียบมวย" ก่อนการชกมวย

           การเปรียบมวย จะมีผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้จัดงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ยอมรับกันว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกีฬามวยในหมู่บ้าน และมักจะเป็นนักมวยเก่าที่ผ่านสังเวียนมาแล้ว เป็นผู้จัดการทำการเปรียบมวย และจะกระทำช่วงก่อนการชก หรือก่อนการชกอีกหนึ่งวัน หากมีกรณีคู่ชกที่เปรียบมวย ไว้แล้วไม่มาชกหรือเบี้ยว จึงเปรียบมวยแทน จึงเรียกว่า"มวยแทน" และหลายครั้งมวยแทนก็สามารถชกถูกใจชาวบ้าน ชนะก็มีมาก 

           ก่อนการเปรียบมวยจะมีขึ้น โฆษกสนามมวย จะประกาศเชิญชวนให้ผู้ที่เดินผ่านไปผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่คนไปดูงานมักไม่สนใจที่จะเข้าไปเปรียบมวยกันมากนัก  ส่วนมากที่เห็น มักจะเป็นนักชก ที่ตั้งใจมาจากหมู่บ้านหรือหมู่บ้านอื่น หรือต่างจังหวัด เห็นทั้งที่วัยใกล้เคียงกับผู้เขียนในขณะนั้น คือ ถ้ามีเด็กมาสมัครก็จะเป็นมวยเด็ก มักจะจัดให้ขึ้นชกก่อนเวลา เรียกว่า "มวยก่อนเวลา" หรือคู่ชกต้น ๆ รายการ หากเป็นวัยรุ่นหรือมีอายุมากกว่า ๒๐ ขึ้นไป หรือนักชกผู้นั้นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอยู่บ้าง มักจัดไว้เป็นคู่เอกหรือรองคู่เอกเป็นต้น

            การเปรียบมวยวัด ผู้จัดการมักจะดูว่ารูปร่าง สรีระของนักมวยว่ามีความเท่ากันหรือใหญ่กว่ากัน ไม่มีการชั่งน้ำหนักของร่างกาย และตรวจร่างกายอย่างละเอียดเหมือนกับปัจจุบัน และจะถามทั้งคู่ที่จะสมัครชกกัน พอใจหรือกล้าที่จะชกหรือสู้กันหรือไม่ ถ้าตกลงก็จัดลำดับเป็นคู่ชกกันในคืนนั้น หรือคืนต่อ ๆ ไปของงาน

           ส่วนการชกต่อยกันเมื่ออยู่บนเวที "มวยวัด" มักไม่มีลีลา ท่าทาง แม่ไม้มวยไทยอะไรมากนัก เมื่อเสร็จจากการไหว้ครู เคาะระฆังเสร็จก็ปรี่เข้าชกกันอุตลุด โดยไม่ฟังหน้าอินทร์หน้าพรหม หลายครั้งที่ผู้เขียนเห็น นักชกบางคนเผลอ ไม่นึกว่าคู่ต่อสู้จะเข้าไปชกอย่างรวดเร็ว เลยถูกน็อคเอาท์ ทั้งที่ยังไม่ได้ออกแรงอะไรในยกที่หนึ่ง  เป็นที่สนุกสนานกับผู้ชม แต่พี่เลี้ยงคงไม่สนุกด้วย

          และที่ผู้เขียนเห็นติดตา ก็คือแทบทุกคู่ที่ชกมักมีการเล่นการพนันของกองเชียร์ มีการต่อรองกัน ทั้งต่อสองหนึ่งบ้าง เสมอบ้าง สามสองบ้าง

           บังเอิญว่าผู้เขียนมีพี่ชาย และน้าที่เคยเป็นนักชกมวยวัดมาก่อน จึงรู้ว่าเมื่อชกแล้วเป็นอย่างไร ทั้งเห็นหน้าตาที่ถูกคู่ต่อสู้ชก รู้ว่าได้รับค่าตัวไม่กี่บาท หรือไม่ได้เลยก็มี และเห็นการถูกด่าจากป้า จากอาเมื่อมาถึงบ้านว่า มึงอยู่ดี ๆ แล้วไปให้เขาชก เจ็บตัวมาอย่างนี้ สมน้ำหน้า...คือไม่สนับสนุนให้ไปเป็นนักมวยนั่นเอง

            "มวยวัด"   จึงเป็นกีฬา หรือการต่อสู้ ที่สอดแทรกเป็นวิถีชีวิตของสังคมชาวบ้านในชนบทไทยทุกภูมิภาค

            "มวยวัด" คำนี้ หากมองในมิติของวิถีชีวิตในเชิงวัฒนธรรมแล้ว เป็นกิจกรรมที่ได้แก่นสารมากกว่าเพียงการต่อสู้ของคนวัยเด็ก หรือวัยรุ่นสมัยก่อนเท่านั้น สาระอยู่ที่ของความสามัคคี การแก้ปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างบุคคล กลุ่ม การอยู่ร่วมกัน การแก้ปัญหาร่วมกันในเรื่องต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ตำบล เป็นคุณค่าที่ได้รับจาก "มวยวัด"

          ในปัจจุบันแทบจะไม่มีให้เห็นแล้วในสังคมชนบท หากมี คงไม่ใช่กระบวนการการมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ จากชาวบ้านแล้ว เพราะงานวัดหลายแห่งมักมีเอกชนต่างถิ่นเข้าไปรับเหมาทำทุกอย่างในงานวัด จึงทำให้แก่นสาระของงานวัด งานประเพณีเปลี่ยนไป

         ปัจจุบันมักนำเอาคำว่า "มวยวัด"ไปใช้กับพฤติกรรมคนที่ชอบทำอะไรที่ไร้กฎเกณฑ์  ไม่มีระเบียบแบบแผน เป็นการเปรียบเปรยไปในทางลบจากการกระทำของคนมากกว่า

           แต่บางครั้ง บางเหตุการณ์ น่าจะแกล้งใช้ "มวยวัด" บ้างก็น่าจะดีครับ

หมายเลขบันทึก: 65198เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 04:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท