จะตื่น (รู้) ทันไหม? ! :


เซลมะเร็งนั้นขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพต่างๆ ของร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารกับสมองและส่วนต่างๆ ได้ ทำให้โตแบบไม่รู้จักพอ โตจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เซลนั้นอาศัยอยู่

จะตื่น (รู้) ทันไหม? ! :
คำตอบของอนาคตอยู่ที่ปัจจุบัน ( ขณะ)


...   

          งานประชุมสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนที่สนใจเรื่องจิตวิวัฒน์จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นักคิด นักปฏิบัติ นักวิจัย และผู้สนใจพันกว่าคนที่มาพบกัน เพื่อนำเสนอความรู้ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิวัติจิตสำนึก (consciousness revolution) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และกระบวนทัศน์ใหม่ บรรยากาศในงานเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างยิ่ง เพราะมากไปด้วยความคิดปรารถนาดีต่อโลก

            ความรู้สึกที่ดูเหมือนเป็นเอกฉันท์ คือ โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง โดยในขณะเดียวกันก็มีความพยายาม ความสร้างสรรค์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลก ในการแสวงหาทางออก แต่ สิ่งที่ดูจะมีความคิดเห็นต่างกัน คือคำตอบที่ว่า "โลกจะรอดวิกฤตครั้งนี้หรือไม่?"

             ความรู้สึกของที่ประชุมคล้ายคลึงกับแนวของหนังสือ Waking Up in Time ที่ ปีเตอร์ รัสเซลล์ ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษยชาติทั้งหมดจะตื่นขึ้นทันกับสถานการณ์ไหม? (สนพ. สวนเงินมีมา โดยการสนับสนุนของโครงการจิตวิวัฒน์ พิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกวางจำหน่ายแล้ว)

            รัสเซลล์ที่มีดีกรีทางฟิสิกส์ทฤษฎีและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง ทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมองโลกในแง่มุมใหม่ๆ ดังนี้

             ๑) วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่นับวันจะดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นไปๆ ทุกที ส่งผลให้เกิดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาในทุกระบบของสังคมและสิ่งแวดล้อม

              ๒) วิเคราะห์ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือ การมีจิตสำนึกไม่ถูกต้อง

             ๓) ทางออกของวิกฤตเบื้องหน้านั้นไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เครื่องยนต์กลไกภายนอก หากแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เป็นการเปลี่ยนจิตสำนึกอย่างลุ่มลึก โดยท้ายสุด
๔) นำเสนอแนวทางรูปธรรมของการขยายจิตสำนึก จากจิตอันคับแคบส่วนตัวไปสู่การมีจิตใหญ่ มีจิตวิวัฒน์

             ลำดับการเล่าเรื่องชวนให้นึกถึงนักคิด นักปฏิบัติคนสำคัญของโลกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว คือ พระสมณโคดม ท่านก็กล่าวไว้ทำนองนี้ พระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความทุกข์ของมนุษย์ ถึงเหตุที่มาคือสมุทัย ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นคือนิโรธ และหนทางประเสริฐอันมีองค์แปดคือมรรค

            ประเทศไทยนับถือคุ้นเคยกับพุทธแบบหีนยาน บางครั้งอาจมองการปฏิบัติ การบรรลุธรรม การแก้ปัญหาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล บางครั้งก็เข้าใจผิดเห็นความเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ว่าเป็นอุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง) หนังสือของรัสเซลล์ชวนให้เรามองเรื่อง อริยสัจสี่ในระดับมนุษยชาติหรือในระดับโลก เห็นทุกข์ของโลก สมุทัยของโลก นิโรธของโลก และมรรคของโลก

              เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ที่พูดถึงโลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีจิตของโลกด้วย โดยเราอาจเปรียบเทียบว่าถ้าตัวเราประกอบด้วยเซลต่างๆ จำนวนมาก โลกก็อาจเป็นเหมือนอย่างเราคือ ประกอบด้วยมนุษย์เป็นจำนวนมาก

              สุขภาพที่ดีของเราต้องมาจากสุขภาพที่ดีของเซลต่างๆ สุขภาพที่ดีของโลก ก็ต้องมาจากสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในโลก

               การที่ในประเทศไทยและทั่วโลกพบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้น เซลของเราเติบโตขยายขนาดมากเกินไป และแบ่งตัวไม่รู้จักหยุดกลายเป็นมะเร็ง ชวนให้ตั้งคำถามว่า นี่เป็นภาพสะท้อนของการที่มนุษย์เพิ่มประชากรไม่หยุด แถมแต่ละคนยังทั้งบริโภค ทั้งสะสมอย่างไม่รู้จักพอหรือไม่?

              เซลมะเร็งนั้นขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพต่างๆ ของร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารกับสมองและส่วนต่างๆ ได้ ทำให้โตแบบไม่รู้จักพอ โตจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เซลนั้นอาศัยอยู่

             เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ทุกวันนี้ กำลังทำให้เราแปลกแยกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในโลกมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าการศึกษาที่เรียนแต่เรื่องนอกตัว แถมยังเป็นรายวิชา เป็นชิ้นๆ กล่องๆ ขัดกับโลกของความเป็นจริงที่ทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้เราไม่รู้จักตัวเองและไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ ท้ายสุดก็กลับมาเป็นผลร้ายต่อตัวเอง

               หากเป็นเช่นนี้แล้ว มนุษย์ที่เป็นเหมือนเซลมะเร็งจะเรียนรู้ที่จะกลับมาสื่อสารกับโลกได้ไหม?

                ตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งแล้วหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำเคมีบำบัด เป็นความหวังว่า มนุษย์น่าจะยังมีศักยภาพในการเรียนรู้นี้อยู่

               น่าสังเกตที่นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำทั่วโลก อย่างปีเตอร์ รัสเซลล์ (การปฏิวัติทางจิตสำนึก Consciousness Revolution ) เคน วิลเบอร์ (ทฤษฎีบูรณภาพ Integral Theory) แดเนียล โกลด์แมน (ปัญญาทางอารมณ์ Emotional Intelligence-EQ) หรือ ฟรานซิสโก วาเรลา (ทฤษฎีซานติอาโก Santiago Theory) กำลังหันมาเห็นสมบัติล้ำค่าที่คนไทยมีอยู่แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจอย่างจริงจังกับมันมานาน หลายคนเดินทางมาฝึกถึงภูมิภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต อินเดีย หรือจีน

              คนเหล่านี้ รวมถึงสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เชื่อว่ามนุษยชาติมีศักยภาพในการสื่อสารกับโลกได้ มนุษยชาติทั้งหมดพ้นทุกข์ร่วมกันได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน ( Collective Transformative Learning) โดยประตูนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนจิตสำนึก จากจิตเล็กอันคับแคบ แยกส่วน และบีบคั้น ไปสู่จิตใหญ่อันกว้างขวาง เชื่อมโยง และมีอิสรภาพ

                ช่องทางหรือรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีได้หลากหลาย เช่น การทำงานอาสาสมัคร กระบวนการทางศิลปะ-สุนทรียภาพ การบริหารกายบริหารจิต เช่น โยคะ การเรียนรู้จากประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับความตาย องค์ความรู้ทางศาสนา รวมไปถึงการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา ( Contemplative Learning) ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ

              แม้ว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกจะมีช่องทางที่หลากหลายมากมาย แต่ล้วนมีหัวใจหรือแก่นร่วมกัน คือ การตื่นรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ปล่อยวาง ลดการยึดติดในอดีตและอนาคต

              กลุ่มเซลมะเร็งมีศักยภาพที่จะกลับมาสื่อสารกับร่างกายอีกครั้ง มนุษยชาติก็มีศักยภาพในการที่จะสื่อสารกับโลกอีกเช่นกัน เพียงแต่พวกเราแต่ละคน และมนุษยชาติโดยรวม จะตื่น (รู้) ทันไหม? !

 

สรยุทธ รัตนพจนารถ
แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
[email protected]
ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๘
 

คำสำคัญ (Tags): #จิตวิวัฒน์
หมายเลขบันทึก: 65184เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท