“การทำลาย” ภายใต้ร่มของ “การพัฒนา”


ถ้ากินแบบไม่คิดเงินและไม่จ่ายไปเรื่อยๆ เราจะอยู่ได้อย่างไร วันหนึ่งลูกหลานเราก็ต้องมาจ่ายอยู่ดี หรือว่าเราจะเก็บความทุกข์ยากไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานเรา

       ความคิดในการเขียนนี้เกิดจากการเดินทางไปสัมผัสบรรยากาศของกรุงเทพ ตอนเข้าร่วมประชุมการจัดการความรู้ที่ศูนย์ไบเทค บางนา

        ผมได้เห็นผลการพัฒนาทั้งแนวความคิด วัตถุ โครงสร้าง ตึก อาคาร และชุมชนต่างๆมากมาย มีรถยนต์วิ่งบ้างจอดบ้าง เต็มเมือง ผมก็เลยคิดต่อไปว่า สิ่งเหล่านี้มาจากไหน เราเอาอะไรไปแลกมา เราเสียอะไรไปบ้าง พอได้มาแล้วเราใช้คุ้มค่าหรือเปล่า ใช้เสร็จแล้วจะเอาไปไหนต่อ แล้วสรุปว่าใครได้ใครเสีย เราจะทำอย่างนี้ต่อไปได้อีกนานไหม แต่โดยรวมเราดูเหมือนจะชื่นชมกับความสะดวกที่เราได้รับ โดยอาจลืมคิดว่าเราได้เสียอะไรไป

        มองมุมนี้แล้ว ผมเลยนึกต่อไปถึงข่าวในอดีตที่มีคนเข้าไปสั่งอาหารในภัตตาคารโดยไม่ดูราคาอาหาร  (จงใจหรือไม่ก็แล้วแต่ หรือ อาจคิดว่าทุกร้านราคาเท่ากันหมดก็ได้ เลยไม่ต้องถาม)  แต่พอรับประทานเสร็จ ทางร้านเขาคิดเงินที่ต้องจ่ายเป็นหมื่นบาท ก็ไม่มีเงินจ่าย ต้องเป็นคดีความกันไป

       ตอนนี้ สังคมไทย รวมทั้งสังคมโลก เรากำลังสนุกกับการบริโภค โดยมักลืมดูว่าสิ่งที่เรากำลังบริโภคอยู่นั้น ต้นทุนแต่ละอย่าง แต่ละด้านเป็นเท่าไหร่ โดยรวมเป็นเท่าไหร่ ควรสั่งมาใช้หรือไม่ควรใช้ ถึงเวลาจ่ายใครจะเป็นคนจ่าย หรือตั้งใจจะกินหมดร้านแล้วก็ชักดาบแบบหนังญี่ปุ่น กันหรืออย่างไร มีคนบางกลุ่มพยายามสะกิดเตือน ก็ถูกต่อว่า ว่าเป็นพวกขัดขวางการพัฒนา

      ผมคิดว่า เราไม่จำเป็นต้องหลับหูหลับตาวิ่งตามก้นใครในโลกนี้ ซึ่ง ดร. องอาจก็บรรยายไว้แล้วว่า แม้การคิดออกแบบยานที่จะไปลงดาวอังคารยังใช้ความรู้จากการนั่งสมาธิ ใช้แบบฝรั่งไม่สำเร็จ

      การพัฒนาทุกระบบปัจจุบัน ได้ใช้ต้นทุนทางธรรมชาติ สังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นมนุษย์ไปมากมาย นักบริโภคทั้งหลายเคยคิดไหมว่า เราใช้ไปเท่าไหร่แล้ว เหลืออยู่เท่าไหร่ และที่สำคัญ ใครจะเป็นคนจ่ายค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น

      ผมเข้าใจและยอมรับว่าเหรียญต้องมีสองด้านเสมอ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่ทำให้เหรียญสองด้านให้สวยงามเท่าๆกัน อย่างสมดุล เช่น ด้านหนึ่งเป็นสังคมที่พัฒนา อีกด้านหนึ่งเป็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ถูกใช้ไป หรือเหรียญที่ด้านหนึ่งเป็นความเจริญทางวัตถุ อีกด้านหนึ่งเป็นความเจริญทางจิตใจ และโดยเฉพาะคู่เอกที่อยู่ในเหรียญที่ด้านหนึ่งเป็นการพัฒนาให้ดีขึ้น อีกด้านหนึ่งที่มีการทำลายให้เสื่อมสลายไป

      ถ้าเหรียญสมดุลกันในทางที่ดี ก็น่าจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ อย่างยั่งยืน แต่ถ้ากินแบบไม่คิดเงินและไม่จ่ายไปเรื่อยๆ เราจะอยู่ได้อย่างไร วันหนึ่งลูกหลานเราก็ต้องมาจ่ายอยู่ดี หรือว่าเราจะเก็บความทุกข์ยากไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานเรา ตอนนี้ขอเสวยสุขให้เต็มที่เสียก่อน ถึงวันนั้นลูกหลานเราจะพูดถึงเราว่าอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 65091เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 09:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

การบริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่การจัดการบริโภคที่เหมาะสม ไม่ว่าสำหรับตัวเองหรือสังคมสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทำให้การบริโภคได้ยาวนาน

สังคมเราพัฒนาวัตถุไปมาก

ความเป็นวัฒนธรรมที่เป็นไทยเริ่มหมดลงไป

สิ่งแวดล้อมก็ถูกทำลายมากยิ่งขึ้นเพราะขาดความ

สำนึกที่ดีของการเป็นคนไทย ดีใจกับท่านดร.แสวง

ครับที่ช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นเสาหลักของบ้านเมืองครับ

ขอบคุณครับที่ให้กำลังใจ

ผมหวังว่าเสียงเราจะดังขึ้นเรื่อยจนพวกหูตึงได้ยิน แต่ไม่หวังจะให้พวกหูหนวกได้ยินหรอก เพราะมีทั้งหนวกจริง และหนวกปลอม

ผมอยากเห็นการประเมินผลกระทบทำอย่างเป็นจริงครบถ้วน ไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวย และสั่งสมปัญหาไปไว้ให้ลูกหลานแก้ไข

เรื่องมันยุ่งตรงที่คนหนึ่งทำ อีกคนหนึ่งใช้ หรือคนผลิตมีวัตถุประสงค์ซับซ้อนตามกำหนักกิเลศ โลกมันก็เลยยุ่ง ความพอดีของกิเลศไม่มี แล้วยังควบคุมไม่ได้ด้วย มันจึงออกมาเพ่นพ่านในรูปของสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ อุปกรณ์ทุกตัวมีผลไปเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆ ความพอดีของเรื่องนี้ มีคนบอกว่าน่าจะอยู่ในระดับจักรยานถีบ เพราะมันจะไม่ได้ไปสร้างกลไกจนควบคุมไม่ได้ อย่านึกนะว่าโลกกำลังเจริญ โลกกำลังเน่า คนกำลังบูด อีกหน่อยก็ขึ้นอืดพร้อมๆกัน อาการมันแสดงออกตรงพฤติกรรมมนุษย์ จะเห็นว่ากำลังวิ่งพล่านเพราะพลังโง่ที่กำกับและควบคุมไม่ได้ ใช่ไหมละโยมแสวง!
      หลงเรียกด้วยความชื่นชมว่า การพัฒนา  ที่แท้มันได้แค่  การเปลี่ยนแปลง ที่มี โมหะจริต เป็นเครื่องนำทาง  พัฒนามาก  จึง  ทุกข์มาก เดือดร้อนมาก  กันอยู่ทั่วไปใช่มั้ยล่ะโยม 
      การตามก้นเขาไปติดๆ  และทำตามอย่างได้มาก เขาคิดว่า ฉลาด และทันสมัย แต่ผมเคยเรียกมันว่า ที่แท้คือ โง่แบบละเอียด-ลึกซึ้ง นั่นเอง

พวกนี้อย่างมากก็ฉลาดเท่าหมาเฝ้าบ้านให้เขานั้นแหละครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท