สำหรับนักเรียนไทย ผู้กำลังจะเดินทางมาศึกษาต่อที่ University of Aedlaide, South Australia


ข้อควรทราบเพื่อมีชีวิตอย่างไม่ลำบากนักในช่วงสัปดาห์แรก

         

 

 อยากเขียนบทความนี้เพราะว่าผมเดินทางมาถึงที่นี่ Adelaide South Australia เมื่อ 3 มกราคม 2549 ก่อนหน้าที่จะมาก็พยายามค้นจาก internet เพื่อหาสมาคมคนไทย หรือข้อแนะนำสำหรับคนไทยในการเตรียมตัวมาเรียน แต่ก็หาไม่พบครับ เลยต้องมาระหกระเหินใช้ชีวิตแบบลำบากพอสมควรในช่วงสัปดาห์แรกที่ยังหาบ้านอยู่อย่างถาวรไม่ได้ จึงอยากให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เตรียมตัวจะมาที่นี่ เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างไม่ลำบากนักในช่วงก่อนที่จะมีการปฐมนิเทศของมหาวิทยาลัย

          ข้อแรกคือ เรื่องอากาศร้อน ช่วงปลายเดือนธันวาคม ถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อากาศจะร้อนมากๆ ความร้อนที่นี่เป็นความร้อนคนละแบบกับบ้านเราครับ ที่นี่ความชื้นในอากาศต่ำกว่าบ้านเรา มันจึงร้อนแบบแผดเผา ลองจินตนาการไอร้อนที่ออกมาจากตู้ระบายความร้อนที่อยู่นอกอาคารของเครื่องแอร์ ความร้อนลักษณะนี้ล่ะครับ จะอบอวลอยู่ในบรรยากาศของเมืองนี้ตลอดช่วงนั้น นอกจากนี้ช่วงดังกล่าวยังมีเวลากลางวันยาวนาน กว่าพระอาทิตย์จะตกก็เกือบสองสามทุ่ม ช่วงที่แดดแผดเผาเราจึงเริ่มตั้งแต่แปดเก้าโมงเช้าจนถึงเกือบทุ่ม ประกอบกับการที่เราต้องอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา เพื่อหาบ้านเช่า หรือซื้อของใช้ที่จำเป็น การป้องกันตัวจากความร้อนจึงจำเป็นมากๆ อยากแนะนำให้เตรียมแว่นกันแดด, ทำความคุ้นเคยกับครีมทากันแดด (ผมไม่เคยใช้เลยตอนอยู่เมืองไทย, พอมาเริ่มใช้ที่นี่ทำให้รู้สึกเหนอะมาก ใช้เวลานานกว่าจะชิน) หมวก, ชุดเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ถุงเท้าและรองเท้าที่ใส่สบายเท้า สามารถใส่เดินไกลๆได้โดยไม่เจ็บเท้า (เดินโดยเฉลี่ยประมาณสามถึงสี่กิโลเมตร) ผมคิดว่าไม่จำเป็นต้องแบบรองเท้ามาหลายคู่ก็ได้ครับ ราคารองเท้าผ้าใบที่นี่ไม่ได้แพงมาก (พันกว่าบาทก็ซื้ออย่างค่อนข้างดีได้) อาจจะนำผ้าใบมาหนึ่งคู่และรองเท้าหนังสำหรับใส่ไปงานที่ต้องการความสุภาพอีกหนึ่งคู่ก็น่าจะพอครับ

     ข้อต่อมาคือเรื่องที่พัก ตามปกติทางมหาวิทยาลัยมักจะติดต่อที่พักชั่วคราวให้เราอยู่ (Hostel) ที่พักประเภทนี้ก็มักจะเป็นคล้ายๆ เกสต์เฮ้าส์ของบ้านเรา คือเป็นห้องรวม เตียงสองชั้น ห้องน้ำรวม แต่เรื่องความสะอาดและความประหยัดและความปลอดภัยในชีวิต อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่น่าเป็นห่วงครับ ส่วนความปลอดภัยในทรัพย์สินก็ถือหลักความไม่ประมาทเอาไว้เป็นดีที่สุดครับ ที่พักประเภทนี้มักจะมีเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าแบบหยอดเหรียญไว้ให้บริการ เสื้อผ้าแบบที่ใส่ได้โดยไม่ต้องรีดจึงเหมาะมากสำหรับการใช้ชีวิตในช่วงนี้ นอกจากนี้ที่พักมักจะมีห้องครัวรวมไว้เผื่อว่าเราต้องการทำอาหารรับประทานเองด้วยสำหรับคนที่ไม่ได้พาลูกเล็กๆ มาอยู่ด้วยตั้งแต่ต้น ผมอยากแนะนำว่ายังไม่ต้องกังวลเรื่องที่พักที่จะอยู่ระยะยาวครับช่วงแรกให้อยู่ที่ Hostel ไปสักสองสามสัปดาห์ก่อน แล้วค่อยหาจังหวะย้ายไปในที่ที่เหมาะกับเราจะดีกว่า มหาวิทยาลัยมีระบบการช่วยนักเรียนหาที่พักดีมากๆ ครับ มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยให้คำแนะนำถึงแหล่งที่น่าอยู่ การเดินทางรวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในแต่ละละแวก ผมอยากแนะนำให้มาดูด้วยตาตัวเองก่อนจะตัดสินใจทำสัญญาเช่าระยะยาวครับ

      

  เรื่องอาหารก็เป็นอีกเรื่องที่มักจะสร้างความกังวลให้กับผู้มาอยู่ใหม่ ที่นี่อาหารเอเชียหาง่ายมากครับ ช่วงแรกผมไม่กังวลเรื่องไม่มีอะไรจะกิน แต่มากังวลเรื่องราคาของมันมากกว่า ข้าวราดแกงซึ่งมีขายดาดดื่นใกล้ๆ มหาวิทยาลัย ราคาเริ่มต้นที่จานละประมาณหกเหรียญออสเตรเลีย น้ำดื่มขวดละไม่ต่ำกว่าสองเหรียญ (หลายคนพกขวดน้ำประจำตัวไว้แล้วกรอกน้ำประปาดื่ม ซื้อคนออสซี่ที่นี่ส่วนใหญ่ก็ทำอย่างนั้นเช่นกัน เพราะน้ำดื่มแพง แต่น้ำประปาฟรี) ดังนั้นหากจะซื้อกินเองทั้งสามมื้อก็เตรียมค่าอาหารเผื่อไว้สำหรับการใช้ชีวิตช่วงแรกวันละประมาณแปดร้อยบาทครับ พอชีวิตลงตัว มีเวลามากขึ้นค่อยซื้อของสดมาทำเองที่ครัวของ Hostel ก็จะประหยัดได้มากขึ้นครับ (เฉลี่ยการซื้อของสดทำทานเองน่าจะอยู่ที่มื้อละสามถึงสี่เหรียญครับ) ช่วงแรก อาจมีปัญหาท้องไส้หลังจากการดื่มนมกล่องของที่นี่นะครับ และขอเตือนให้ระวังนมกาแฟของที่นี่ครับ แรงมากจนทำให้นอนไม่หลับได้ เขาใช้โด๊ปให้ทำงานอึดๆ เหมือนเอ็มร้อยบ้านเราครับ

   เรื่องสุดท้ายที่นึกออกตอนนี้ก็คือ การติดต่อกลับเมืองไทยครับ วิธีที่แนะนำก็คือซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ถูกใจใช้ทน มาจากเมืองไทย แล้วมาซื้อ sim card ที่นี่ เลือกระบบที่ถูกใจครับ (ลองค้นใน internet ดูก็ได้ครับ ยี่ห้อที่ให้บริการที่นี่คือ optus, telstra, voldaphone, three) ราคา sim card ไม่เกินสองสามร้อยบาทครับ โทรกลับเมืองไทยจากมือถือต้องจ่ายนาทีละประมาณหนึ่งเหรียญครับ สำหรับวิธีที่ประหยัดกว่าให้ไปซื้อ pre-paid international card เช่น Hello Thailand card แล้วใช้เครื่องสาธารณะหยอดเหรียญ (หยอดเหรียญครั้งละ 60 เซนต์) กดรหัสจากการ์ดแล้วโทรออก วิธีนี้ประหยัดมากคุยนาทีหนึ่งไม่ถึงบาทครับ ส่วนการเข้าถึง internet ช่วงแรกจะลำบากสักหน่อยเพราะเราจะไม่สามารถใช้ internet เครือข่ายของมหาวิทยาลัยได้  จนกว่าจะได้ทำบัตรนักเรียน มีรหัสประจำตัวและมี password ซึ่งอาจกินเวลาเกือบสัปดาห์หลังจากเปิดเรียน (แม้จะเข้า internet เครือข่ายมหาวิทยาลัยได้ แต่ระบบเครือข่ายก็ไม่สนับสนุนการแชทด้วยโปรแกรมต่างๆนะครับ พูดง่ายๆ ก็คือ เล่น MSN ไม่ได้นั้นแหละ) แหล่งอื่นๆ ที่จะเข้าถึง internet ฟรีก็คือ ตามห้องสมุดสาธารณะต่างๆ ที่มีหลายแห่งในเมือง แต่ก็มีคนแย่งกันเยอะต้องจองเวลากันก่อนถึงจะมีให้ใช้ (แต่ก็ยังเล่น MSN จากแหล่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ดีครับ)

       วันนี้นึกออกสองสามประเด็นนี้ ไว้นึกออกได้เพิ่มจะเขียนมาบอกต่อครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #phd
หมายเลขบันทึก: 65061เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2006 07:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • เรื่องครีมทากันแดดนี่เห็นด้วยมากๆค่ะ
  • มันเหนอะ ไม่ชอบทาเลยโดนเฉพาะที่หน้า
  • ที่ออสเตรเลียนี่ ค่า UV มันสูงน่ากลัวมากๆเลยใช่ไม๊ค่ะ

เมืองน่าอยู่นะครับ อยากไปเที่ยวจัง

คนที่นี่ตายเพราะโรคมะเร็งผิวหนังมากครับ

เลยมีการรณรงค์กันขนานใหญ่ โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อน ที่ค่า UV ขึ้นสูงมหาศาล

ลองดูที่

http://www.cancer.org.au/content.cfm?randid=906824

นะครับ

 

  • น่าไปเรียนจังครับอาจารย์
  • ดูน่าสนใจดี

มีข้อควรระวังที่เพิ่งนึกออกอีกข้อหนึ่งครับ

การเรียกชั้นของอาคารที่นี่ ใช้วิธีเรียกต่างจากบ้านเราครับ

ที่บ้านเราเรียกชั้น 1 ที่นี่เรียก Ground floor ในลิฟท์ ใช้สัญลักษณ์ G

ที่บ้านเราเรียกชั้น 2 ที่นี่เรียก first floor ในลิพฟ์ใช้สัญลักษณ์เลข 1 (แปลว่าอยู่เหนือ Ground หนึ่งชั้น)

และใช้สัญลักษณ์ 2-3-4-5 ต่อไปเรื่อยๆ

จากประสบการณ์พบว่า ที่นี่ไม่มีธรรมเนียมนิยมที่รังเกียจเลข 13 อาคารสูงหลายแห่งก็มีใช้เลข 13 เรียกชั้นที่เหนือพื้นดินขึ้นไปสิบสามชั้น

(ต่างจากบ้านเราที่อาคารหลายแห่งใช้เลข 12A หรือ เรียกเป็นชั้น 14 แทนเลข13 ไปเลย)

ชั้นใต้ดิน เรียก Basement ในลิฟท์ ใช้สัญลักษณ์ B

ดังนั้นลำดับชั้นในลิฟท์ที่นี่คือ B-G-1-2-3-4-...

บอกไว้กันสับสนนะครับ

 

  • แล้วที่บริสเบนช่วงนี้อากาศเป็นอย่างไรบ้างครับ อีกสัปดาห์ลูกสาวจะมาที่นี่ครับ
  • ขอบคุณครับ
  • ผมเคยทำวิจัยกับนักวิจัยที่นี่เหมือนกันครับ ทางด้านการเกษตรและการเจริญเติบโตของรากที่ใช้เครืองซีทีในการแสดงดูการเจริญเติบโต แต่ยังไม่เคยไปเลยครับ
  • น่าสนใจครับ คงมีประโยชน์กับคนอื่นๆ ที่กำลังจะไปเรียนหรือทำงานครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท