Mr.Kong
นาย กิตตินันท์ อนัมบุตร

ไขปริศนาแข่งขันเสรีธุรกิจโทรคม


จี้รัฐระวังเอื้อประโยชน์เอกชนบางราย หลังพยายามปลดล็อกค่าแอ็คเซ็สชาร์จ และการใช้อินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จ รวมทั้งการเลิกภาษีสรรพสามิต เพื่อเป้าหมายการแข่งขันในธุรกิจมือถือแบบต้นทุนเท่าเทียมกัน เบื้องหลังยังมีประเด็นจำนวนคลื่นความถี่ ที่ไม่ยุติธรรม มีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ให้บริการ การเซ็งลี้ความถี่แบบไม่ชอบธรรม ทำรัฐเสียหายและข้อพิพาทระหว่างทีโอทีกับทรูอันเนื่องมาจากแอ็คเซ็สชาร์จ

        
       แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าการที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม กำลังหาวิธีแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยเฉพาะปัญหาความลักหลั่นระหว่างต้นทุนที่เอกชนต้องจ่ายตามสัญญญาสัมปทานเดิม และต้นทุนใหม่ที่ต้องจ่ายตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ซึ่งมีผลกระทบกับรายได้รัฐโดยตรง ด้วยแนวคิดการยกเลิกภาษีสรรพสามิตอุตสาหกรรมโทรคมนาคม นำมาผูกโยงเข้ากับการแก้ปัญหาเรื่องค่าแอ็คเซ็สชาร์จที่ ทีโอทีเรียกเก็บตามสัญญาร่วมการงานเดิมสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในอัตราเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนในระบบโพสต์เพด และ 18% ของรายได้ในระบบพรีเพดสำหรับดีแทค ทรูมูฟและดีพีซี ที่เป็นสัมปานของกสทและการประกาศใช้ค่าเชื่อมโยงโครงข่ายหรืออินเตอร์คอนเน็กชั่นชาร์จของ กทช. ในลักษณะเป็นโซลูชั่นที่ยกเลิกภาษีสรรพสามิตเพื่อให้รายได้ในส่วนนี้กลับกลายมาเป็นรายได้ของทีโอที และกสท เพื่อนำมาต่อรองกับการปรับเปลี่ยนค่าแอ็คเซ็สชาร์จเป็นไอซี โดยรัฐก็ไม่เสียประโยชน์และเอกชนก็ให้บริการด้วยต้นทุนที่เท่าเทียมกัน
       
       แต่สิ่งที่รัฐกำลังมองข้ามหากคิดจะให้เกิดการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมจริง คือ เรื่องคลื่นความถี่ ที่ยังมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่มาก ประเด็นที่เอไอเอสร้องเรียนขอความเป็นธรรมกับกทช.เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมาก็เพื่อที่จะขอให้มีการจัดสรรแบ่งปันคลื่นแบบยุติธรรม เพราะตามมาตรฐาน ITU ที่เป็นองค์กรสากลในการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานต่างๆ ทางโทรคมนาคมนั้น ได้กำหนดว่าผู้ให้บริการแต่ละรายควรจะมีคลื่นความถี่จำนวน 22 MHz คูณ 2 ก็เพียงพอแล้ว ประกอบกับผู้ให้บริการรายอื่นอย่างทรูมูฟ ก็ให้บริการด้วยคลื่นที่ได้รับโอนสิทธิ์มาจำนวน 12.5 MHz คูณ 2 แต่ก็สามารถให้บริการได้ทั้งในด้านคุณภาพของเครือข่ายและจำนวนผู้ใช้บริการแต่ดีแทค เป็นผู้ให้บริการรายเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการจัดสรรคลื่นในย่าน 1800 MHz มากถึง 50 MHz คูณ 2
       
       “หากต้องการให้แข่งขันเสรีทั้งเอกชนและรัฐได้ประโยชน์จริง ประการแรก รัฐต้องกำหนดเลยว่าผู้ให้บริการมือถือแต่ละรายควรมีความถี่มากน้อยแค่ไหน 12.5 หรือ 25 หรือ 50 MHz ก็ว่ากันไปเลย และนำความถี่มาจัดสรรใหม่ให้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่แก้ปัญหาแล้วความได้เปรียบเสียเปรียบ ยังเกิดขึ้นอยู่”
       
       ประการที่ 2 เกี่ยวพันกับเรื่องความถี่ ในประเด็นต้องมีการทวงถามผลประโยชน์ที่เป็นของรัฐอย่างกสท ที่ควรได้รับจากการโอนสิทธิและความถี่จากดีแทคไปยังดีพีซีในอดีต เนื่องจากเชื่อได้ว่ามีผลประโยชน์ตกหล่นจากกระบวนการโอนสิทธิ หน้าที่และความถี่ พิสูจน์ได้จากข้อตกลงผ่อนปรนสัญญาให้บริการระหว่างดีแทค สามารถ (เป็นเจ้าของดีพีซีในขณะนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนมือมาเป็นของเอไอเอส) และดีพีซี เป็นสัญญาภาษาอังกฤษชื่อ Agreement to Unwind the Services Provider Agreement ลงวันที่ 7 ม.ค. 40 (หลังจากดีแทคโอนคลื่นให้กสทแล้ว) ดีแทคเรียกผลประโยชน์เป็นเงินรวม 5,400 ล้านบาท เป็นค่าตอบแทนการโอนสิทธิและหน้าที่ของดีแทค ในการดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าร์ โดยสัญญามีการระบุชัดเจนว่าดีแทค รับจะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งถึงการมีผลบังคับไปยังกสททันทีที่ดีพีซีจ่ายเงินงวดแรกให้ (1,300 ล้านบาท)
       
       ดีแทคยังรับรองกับดีพีซีว่าจะดำเนินการทุกประการที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าคลื่นความถี่ที่จะโอนเพื่อให้ดีพีซีดำเนินการ จะไม่ถูกใช้โดยบุคคลที่ 3 และปลอดจากการรบกวนและแทรกแซงใดๆ ซึ่งต่อมาดีพีซีไม่สามารถชำระผลประโยชน์ส่วนที่เหลือได้ จึงเกิดการแก้ไขข้อตกลงผ่อนปรนสัญญาให้บริการเพิ่มเติมใหม่ ในวันที่ 9 ต.ค.41 ปรับผลประโยชน์รวมเป็น 7,100 ล้านบาท ซึ่งในตอนนั้นหากสามารถไม่ยอมจ่ายเงิน 1,300 ล้านบาท ดีแทคก็จะไม่ส่งหนังสือถึงกสท ให้การโอนคลื่นมีผลบังคับใช้ ดีพีซีก็ไม่สามารถให้บริการได้
       
       ส่วนกรณีที่ดีแทคโต้แย้งว่าผลประโยชน์ดังกล่าวเป็นเรื่องการโรมมิ่งนั้น อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะข้อตกลงแนบท้ายมีการระบุเรื่องการโรมมิ่งแยกออกมาอย่างชัดเจนว่าในปี 1997 ดีแทคคิดค่าโรมมิ่ง 86% ของรายได้จากการให้บริการและ 50% ของค่าบริการรายเดือน (ในขณะนั้นผู้ให้บริการมือถือคิดค่าบริการรายเดือนกินเปล่าเดือนละ 500 บาท) ปี 1998 คิดค่าโรมมิ่ง 70% จากรายได้ค่าบริการและ 30% ของค่าบริการายเดือน ปี1999 และปี 2000 คิดค่าโรมมิ่ง 70% จากรายได้ค่าบริการและ15% ของค่าบริการ
       
       “ดีแทคยังออกใบเสร็จเป็นค่าสัมปทานให้ดีพีซี เมื่อวันที่ 29/09/2543 จำนวนเงิน 486,139,942 .61 บาท ซึ่งแปลกดีเหมือนกันที่เอกชนมีการคิดค่าสัมปทานระหว่างกัน”
       
       ความไม่ถูกต้องในเรื่องการเซ็งลี้ความถี่ จะเป็นช่องทางที่รัฐสามารถดำเนินการได้ 2 อย่างคือเรียกเงินคืนชดเชยความเสียหายที่รัฐหรือกสทควรจะได้ และเป็นโอกาสที่จะนำความถี่ซึ่งได้อย่างไม่ถูกต้องมาล้างไพ่จัดสรรใหม่ให้เกิดความเป็นธรรม
       
       ประการที่ 3 ผลกระทบที่เกิดกับหน่วยงานรัฐอย่างทีโอที กรณีแอ็คเซ็สชาร์จ ควรมีการแก้ไขเพราะด้านหนึ่งทรูมูฟเรียกร้องให้เปลี่ยนแอ็คเซ็สชาร์จเป็นไอซี ซึ่งกำลังจะได้รับการสนองตอบจากรัฐ ในขณะที่ทรูซึ่งให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานมีเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง หลังคณะอนุญาโตตุลาการ มีมติให้ทรูชนะคดีที่ยื่นฟ้อง ทีโอที ที่มีการเรียกเก็บค่าแอ็คเซ็สชาร์จจากบริการโทรศัพท์มือถือจากผู้ให้บริการที่เป็นคู่สัญญา กสท โดยไม่มีการแบ่งรายได้ให้กับ ทรู ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้ตัดสินด้วยเสียงเห็นชอบ 2 ใน 3 เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 โดยตัดสินให้ ทีโอที ชำระค่าเสียหายแก่ทรู เป็นมูลค่ากว่า 9,175 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ให้นับจากวันที่ 22 สิงหาคม 2545 ซึ่ง ทีโอที จะต้องดำเนินการชำระภายใน 60 วันนับจากที่ผลชี้ขาด และ ทีโอที จะต้องแบ่งผลประโยชน์ จากการเก็บค่าบริการดังกล่าว ในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ที่รับจริงนับจากวันที่ 23 สิงหาคม 2545 (คำนวนจากเลขหมายทรู คูณด้วย ผลตอบแทน ทีโอที ได้รับ แล้วนำไปหาร จากจำนวนเลขหมายทั้งหมด จาก ทีโอที ทรู ทีทีแอนด์ที เมื่อได้ตัวเลขแล้วจากนั้น หารด้วย 2) และทีโอที จะต้องจ่ายไปจนกว่าจะหมดอายุสัมปทาน
       
       สำหรับประเด็นต่อสู้ของทีโอทีมี 5 ประเด็นหลัก คือ 1.บุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะอนุญาโตตุลาการ ไม่มีความชอบธรรม ไร้ความเป็นอิสระและเป็นกลางในการพิจารณาคดีความระว่างทีโอทีกับ ทรู เนื่องจากพบว่านายประสิทธิ์ โฆวิไลกุล ประธานคณะอนุญาโตตุลาการมีส่วนได้เสียและมีความเกี่ยวพันกับทรูซึ่งเป็นคู่พิพาทของทีโอที โดยนายประสิทธิ์ ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการ บริษัท อยุธยา อลิอันซ์ ซีพี จำกัด ในเครือซีพี และดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือซีพีเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีความย่อมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ส่วนตนด้วย 2.การเรียกเก็บค่าแอ็คเซ็สชาร์จ มีมาก่อนที่ทีโอทีจะทำสัญญาร่วมการงานกับทรู และทรูก็รู้อยู่ก่อนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่ทีโอทีต้องจ่ายส่วนแบ่งดังกล่าวให้เอกชนคู่สัญญา 3.การคำนวณค่าเสียหายไม่ได้เป็นสูตรที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างทีโอทีกับทรู จึงถือว่าไม่มีบรรทัดฐานในการคิดค่าเสียหาย4.คำวินิจฉัยเกินคำขอ คือตามหลักการจ่ายเงินค่าเสียหายทีโอทีสามารถหักจากส่วนแบ่งรายได้ของ ทรูได้ แต่อนุญาโตตุลาการตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 9,000 ล้านบาท ภายใน 60 วันนับแต่มีคำตัดสิน และ5.คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาร่วมการงาน ที่ให้คู่กรณีรับทราบถึงการคิดค่าเสียหาย อีกทั้งไม่มีการนำสืบให้เห็นว่า ทรูเกิดความเสียหายถึง 9,00 ล้านบาทได้อย่างไร
       
       “หากเป้าหมายอยู่ที่การแข่งขันเสรีและเป็นธรรม นอกจากเรื่องภาษีสรรพสามิต ค่าแอ็คเซ็สชาร์จ ค่าไอซี รัฐจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างเรื่องความถี่ที่เซ้งลี้ต่อ รัฐควรได้ประโยชน์หรือไม่ การจัดสรรแบ่งความถี่ใหม่ให้เกิดความยุติธรรม และคดีความอันเกี่ยวกับแอ็คเซ็สชาร์จระหว่างทีโอทีกับทรู ซึ่งเชื่อว่ามีแต่รัฐบาลยุคนี้จะคลี่คลายปัญหาได้ โดยไม่ต้องไปแตะต้องเรื่องแปรสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด”
        
       Company Related Links:
       TOT
       CAT
       ntc

ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9490000148122

หมายเลขบันทึก: 65031เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2006 22:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท