บทที่2 วิชา+อาชีพ=วิชาชีพ


เอาวิชาการเข้าไปใส่ในวิชาชีพ เพื่อให้เกิดเป็นมืออาชีพ ไม่เช่นนั้นเราก็เป็นได้แค่มือสมัครเล่น จะเป็นเบ๊ หรือเป็นบ๊อส ก็อยู่ที่ตรงนี้
บทที่ 2 ตอน:วิชาการ+อาชีพ=วิชาชีพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ร่วมกันจัดประชาสังคมเรื่อง “เกษตรพันธะสัญญากับปัญหาแรงงานนอกระบบ” พันธะสัญญาและ/หรือรับจ้าง ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรเรื่องต่างๆทั้ง4 ภูมิภาค เช่น กลุ่มผู้ปลูกข้าวโพด กลุ่มผู้เลี้ยงเป็ดไก่ กลุ่มผู้เลี้ยงหมู กลุ่มผู้เลี้ยงปลา กลุ่มผู้ปลูกยางพารา กลุ่มผู้ปลูกอ้อยที่มาจากทั่วประเทศ มาเล่าให้ฟังว่ากลุ่มของตนตกอยู่ในพันธะสัญญาที่ไม่ต่างกับการมัดมือชก ทุกกลุ่มต่างโอดครวญว่าถูกเอาเปรียบต่างๆนานาจากบริษัทคู่สัญญา ผมนั่งฟังครึ่งวันได้ฟังแต่เรื่องอ่อนไหวอ่อนแอของชาวบ้าน ไม่ได้ยินพูดถึงเรื่อง • การใช้ความรู้ • การรวมพลังความรู้ • การเตรียมการความรู้ • การคิดพึ่งตนเอง ทุกกลุ่มคิดแต่ไปพึ่งคนอื่นทั้งสิ้น ไปอยู่ในกติกาของคนอื่น ไปยอมรับสภาพเงื่อนไขของคนอื่น แล้วก็มาโอดครวญพิรี้พิไร ถ้าพูดไม่เกรงใจก็เหมือนเปรตขอส่วนบุญ ทำไมถึงจะต้องตกไปอยู่ในสภาพอย่างนั้น.. ผมเหลือบไปเห็นคำขวัญประจำสถาบันแล้วชื่นใจ ท่านเขียนลายลักษณ์อักษรตัวสวยเด่นว่า..ปณิธานมหาวิทยาลัยฯ แหล่งวิทยาการ มาตรฐานการศึกษา งานวิจัยก้าวหน้า แหล่งรวมภูมิปัญญาพัฒนาท้องถิ่น นี่ย่อมแสดงว่าในท้องถิ่นของเรามีสถาบันที่มีความรู้ความสามารถที่ได้มาตรฐานและงานวิจัยก็ก้าวหน้า แถมยังรวมเอาภูมิปัญญามาพัฒนาท้องถิ่นเสียอีก ผมก็มาถึงบางอ้อ! เออสินะ ..แล้วความรู้ความสามารถของสถาบันการศึกษา ทำไมไม่ช่วยเหลือเกษตรกรที่แวดล้อมเหล่านี้ให้มีทางออกทางแก้ไขปัญหาของตนเอง ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เคยพูดว่า ถ้าสังคมการศึกษาหันมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคมไทย ลงมาร่วมด้วยช่วยกันเรียนรู้คนละไม้ละมือ ประกาศว่า“สถาบันนี้มีคำตอบ” ก็จะเป็นการยืนยันในสิ่งที่เขียนติดผนังไว้นั้น ว่ามันเป็นจริงตามที่เขียนไว้นะจ๊ะ ผมอยากเห็นครูบาอาจารย์ นำลูกศิษย์ลงไปเรียนรู้เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ไปให้ถึงท้อง ไปให้ถึงถิ่น โดยไม่กังวลกับเรื่องกินปูนร้อนท้อง ชีวิตนี้จะมีความหมายเยอะเลย ถ้าเอาวิชาการเข้าไปในอาชีพ ก็จะเกิดวิชาชีพ นั่นก็หมายความว่าเกษตรกรไทยจะต้องเป็นผู้เรียน เรียนให้รู้เสียบ้างก่อนที่จะลงมือทำ เมื่อลงมือทำความรู้จะทวีคูณทุกขั้นทุกตอน ทำจากเล็กไปหาใหญ่ มีความรู้ขยายแค่ไหนก็ขยับงานตามไปเท่านั้น ไต่บันไดขั้นที่2ที่3.. ตอนนี้ชาวบ้านไม่มีความรู้ที่เข้มแข็งพอจะปักหลักปักฐานในถิ่นของตนเอง เพราะไม่มีใครมาเป็นเจ้าภาพร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยขยับก้นจากเก้าอี้เสียบ้าง มาทำงานเชิงรุก (ซึ่งแน่อยู่แล้วว่าจะต้องลุกจากเก้าอี้เสียก่อน) จะมาทำอะไรหรือครับ ก็มาชวนชาวบ้านสร้างชุดความรู้ที่เหมาะสมเฉพาะถิ่นตรงนั้น สมมุติว่าชาวบ้านเขาจับกลุ่มเลี้ยงหมู ก็ทำโครงการวิจัยเล็กๆว่าเกษตรกรกลุ่มนี้ควรจะเริ่มทดลองเลี้ยงหมูในลักษณะไหนอย่างไร แบ่งครัวเรือนทดลองเลี้ยงหมูในลักษณะต่างๆ เอาตั้งแต่เรื่องการสร้างโรงเรือนสร้างคอก เรื่องการเลือกพันธุ์หมู การเลี้ยงดู การให้อาหาร การปรับปรุงพันธุ์ เมื่อมีกระบวนการทำ ก็จะเกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ในแง่มุมต่างๆ นำไปเปรียบเทียบกับชุดความรู้ของปศุสัตว์ระบบฟาร์ม ที่ชาวบ้านโอดโอยว่าถูกมัดมือชก หัวหน้ากลุ่มหมูที่มาร่วมประชุมเล่าให้ฟังว่า ในพันธะสัญญาลูกฟาร์มจะต้องเลี้ยงหมูอย่างเดียว เขาห้ามเลี้ยงเป็ด ไก่ หมา ฯลฯเพราะบริษัทกลัวจะเอาโรคมาติดหมู ผมก็เหย้าว่า..นี่ยังดีนะที่เขาไม่ห้ามเลี้ยงเมียไปอีกข้อหนึ่ง ไม่งั้นละแย่หนักเลยเชียวละ ผมเคยได้ยินแต่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ในวงการปศุสัตว์ก็โดนการเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยวด้วยรึนี่ แบบนี้มันจะกระจายความเสี่ยงที่ไหนละ เงินสร้างโรงเรือนก็ต้องไปกู้ ธกส. ค่าลูกหมู ค่ายา ค่าหัวอาหาร ก็ต้องเป็นหนี้บริษัทที่เขาให้เครดิตล่วงหน้า มาจับหมูเมื่อไหร่หักลบกลบหนี้ มันก็ไม่ต่างกับการทำข้าวนาปีมีแต่หนี้กับซัง แต่นี้การเลี้ยงหมู เขาจับหมูไปแล้วเหลืออะไรครับ ก็มีแต่ขี้หมูนะสิ คนเราอยากจะรวยมันไม่ผิดหรอก แต่โจทย์ที่นำมาประกอบการนั้นมันไม่มีทางรวยได้เลย ในเมื่อเราไม่มีความรู้พื้นฐานที่เป็นของเราเอง ปัจจัยการผลิตและเงื่อนไขทั้งหมดอยู่ในมือคนอื่นธุรกิจทำนองนี้ลูกฟาร์มเป็นยิ่งกว่าลูกจ้างเสียอีก เพราะต้องรับความเสี่ยงไปเต็มๆ ถามว่า มีเงิน มีเครดิตของตนเองขนาดนี้ ยังจะประกอบการด้วยตนเองไม่ได้ เกษตรก้าวหน้า เศรษฐกิจเข้มแข็ง ตามที่ท่านโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีเขียนไว้ว่า สร้างผลผลิตรุ่งเรือง สู่ผลกำไรคุ้มค่า ด้วยวิถีทางการเกษตรก้าวหน้า มาตรฐานใหม่เกษตรกรไทย มาตรฐานใหม่เกษตรกรไทยอยู่ตรงไหน จะช่วยกันสร้างเสริมให้เกิดขึ้นได้อย่างไร? เรื่องนี้คิดทำจริงๆเสียทีสิน่า ชาวบ้านกับอาจารย์มหาวิทยาลัยทดลองร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงหมูในแบบฉบับของเราเอง เลี้ยงกับมือวิจัยมากับมันสมองของตนเอง ถึงจะเจ๊งก็ไม่กระไรนัก ในเมื่อรู้ที่ไปที่มาของการเจ๊ง มันเจ๊งเพราะฝีมือของเรายังไม่ถึง ยังดีกว่าไปไม่เจ็บใจเพราะไปจ่ายค่าโง่ง่ายๆแบบศิโรราบ ลุยเสียทีดีไหมครับอาจารย์ แล้วเอาผลที่ได้จากการศึกษาที่ว่านี้ไปสอนลูกศิษย์ในสถาบัน เอาผลงานที่ว่านี้ไปขอตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ หรือแม้แต่ศาตราจารย์ จะเป็นการเรียกศักดิ์ศรีอาจารย์มหาวิทยาลัยได้อย่างภาคภูมิเชียวแหละ เรื่องทำนองที่เกรินนำนี้ไม่ใช่ไม่มีคนทำนะครับ มีตัวจริงเสียงจริงอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ชวนแม่บ้านทำนาแบบไม่ไถ เลี้ยงปลาในนาข้าว เลี้ยงวัวควายคอกใหญ่ ใส่ใจนำวิชาความรู้ลงสู่ผืนที่นาทุกตารางนิ้ว เอาความรู้ใส่ลงไปในกอข้าว เอาความรู้ใส่บ่อปลา ในเมืองใหญ่ๆมีเศษอาหารเศษผลไม้เยอะโดยเฉพาะทุเรียน อาจารย์ไปขนทุเรียนสุกงอมที่แม่ค้าทิ้งไปโยนลงบ่อปลาดุก ปลากินทุเรียนอย่างเอร็ดอร่อย โตเร็วตัวอ้วนผิวสวย จนได้ตั้งชื่อว่า“ปลาดุกพันธุ์หมอนทอง” นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมในนาข้าวอีกเยอะแยะ การทำนาแบบคนเรียนรู้ ก็จะค้นความรู้มาใส่ลงไปในสิ่งที่ต้องการเห็นผลของความรู้ นาเกษตรอินทรีย์ที่ว่านี้ สามารถสร้างสวรรค์ในนาขึ้นมาได้ภายในช่วงหนึ่งฤดูนา ต้นข้าวสูงเมตรครึ่ง วันที่ไปเกี่ยวข้าวมีการตรวจสอบเชิงวิชาการ • ชวนกับนับกอข้าวว่าข้าว1เมล็ดแตกกอออกมาได้กี่ต้น • ต้นหนึ่งมีกี่รวง • รวงหนึ่งมีกี่เมล็ด รวบรวมมาชั่งน้ำหนักจดบันทึก แล้วนำไปเปรียบเทียบกับการทำนารอบข้างเช่น นาหว่านน้ำตม นาหว่านแห้ง นาปักดำ ทำสถิติไว้ ที่เล่ามานี้ผมไปเห็นมากับตานะตัวเอง วิธีเรียนของอาจารย์ท่านนี้ ทำให้ท่านมีโจทย์ใหม่ๆสดๆไปแลกหมัดในเวทีประชุมชาวบ้านได้อย่างทึ่งแถมงึดครับผม เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการสันดาประหว่างวิชาการกับวิชาชีพจนระเบิดเทิดเทิง ท่านตั้งชื่อแหล่งทำการวิจัยวิชาชีพลูกทุ่งเสียเก๋ไก๋ว่า “ศูนย์บ่มเพาะความรู้” คนเรานี่นะครับ มีวิธีคิดวิธีเลือกตามจริตของตนเองได้อย่างอิสระ เช่น วิธีเรียนรู้ วิธีขยับความรู้ วิธีขยายความรู้ วิธีเขยื้อนความรู้ วิธีตอแยความรู้ วิธีผ่าตัดความรู้ ถ้าชวนกันคิดชวนกันทำให้ถูกทิศถูกทาง สังคมแห่งการเรียนรู้ ระบบเศรษฐกิจพอเพียงก็อยู่ในมือเรานี่เอง ทุกวันนี้เราติดกับดักความรู้ของตะวันตก ยกเอาความรู้ความสามารถของเราทั้งยวงไปให้เขาครอบงำ ย่ำยี ยิ้มเยาะ เตาะแตะ กลายเป็นวิชาการแบบปัญญานิ่ม เมื่อไหร่หนอ..นักวิชาการ/อาจารย์มหาวิทยาลัย จะลุกขึ้นมาจุดคบไฟแห่งสติปัญญาให้โชติช่วงชัชวาลเสียที ผมเห็นยึกยักตั้งท่าเรื่องจะเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบมานาน อันที่จริงควรทดสอบเรื่องการบริหารวิชาการนอกระบบแบบอาจารย์ท่านนี้ก่อนดีไหมครับ ผมเชื่อว่าถ้าอาจารย์ได้พบสัจธรรม พบอานุภาพความรู้ที่มีอยู่ในตัวเอง มหาวิทยาลัยจะออกนอกเข้าในระบบอย่างไรก็ไม่มีความหมายเท่าไหร่หรอก ในเมื่ออาจารย์หลุดพ้นจากการเรียนการสอนในห้องแคบๆ อยู่นอกระบบการเรียนการสอนแบบคนใจคอคับแคบ สติปัญญามันก็จะหายอึดอัด ไม่ต้องเรียกร้อง ไม่ต้องร้องเรียนว่า ..เรียมเหลือทนแล้วนั่น ข่าวด่วน! ถ้าท่านนักวิชาการต้องการจะลงขันความรู้ความคิดแต่ยังหาสถานีลงไม่ได้ เราขอประกาศข่าวดีอย่างนี้ครับ ที่สถาบันมหาชีวาลัยอีสาน จะจัดเสวนาวิชาการพื้นบ้านเรื่อง “การเลี้ยงไก่ไข่” ในช่วงปลายเดือนนี้ ส่วนจะเป็นวันไหนนั้น ขอให้ติดตามข่าวในหน้าบล็อกนี้ทุกวัน ไม่ใช่เรื่องใครตาดีก็ได้ ตาร้ายก็เสียอะไรนะครับ แต่จะเป็นรายการเปิดสนามแม่เหล็กความรู้ ให้ท่านได้มาทดสอบพลังวิชาการจากโจทย์สดๆเรื่อง“ชาวบ้านจะพึ่งตนเองเรื่องไก่และไข่ได้อย่างไร รอบแรกนี้เป็นรอบอ่อยเหยื่อ ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่มีค่าลงทะเบียน ไม่มีค่าอะไรทั้งสิ้น ขอแต่ตัวและหัวใจรอยยิ้มใสๆในวันพบกัน นำตัวท่านเองมาให้ถึงสถาบันมหาชีวาลัยอีสานเป็นใช้ได้ เราจะเลี้ยงอาหารปลอดสารพิษ จะชวนไปเลือกเด็ดถั่วฝักยาว ถั่วฝักสั้น แตงกวา ถั่วพู มะเขือกรอบ ผักสลัด ผักกาด ฯลฯ สดๆในแปลง มาต้มตำยำแกงให้กลิ่นโชยยั่วพยาธิ.. เรามีคติประจำถิ่นว่า “ K.M. คือ ลายแทงความรู้ ใครอยากรู้ก็ต้องแทง ไม่แทงไม่รู้” อ่านมาถึงตรงนี้ท่านอาจจะสงสัยว่าเจ้าสถาบันนี่อยู่ไหนละ เรื่องนี้ก็ขอให้ใจเย็นๆนะโยม ติดตามอ่านบทต่อๆไปก็จะทราบเองแหละว่า ลายแทงเดินทางมาสู่เวทีวิชาเกินนี้ได้อย่างไร ถ้าต้องการจะพักแรมเรามีเต็นท์ไว้บริการ เวทีวิชาการปะทะวิชาเกินที่ว่านี้เราจัดกันเป็นประจำ นั่นก็หมายความว่าเรามีขาประจำอยู่แล้วส่วนหนึ่ง เป็นนักปฏิบัติสายวิจัยในกรมกองต่างๆ บางทีก็มีผู้ว่าราชการจังหวัดบ้าง รัฐมนตรีบ้าง หัวหน้าส่วนราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงเรียน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งหลวงพ่อ หลวงพี่ หลวงลุง นิสิตนักศึกษา ผู้นำในท้องถิ่น ผู้รู้และผู้ร้อนวิชาประมาณ100 ท่าน เราขึ้นทะเบียนไว้ในฐานะพันธมิตรทางวิชาการ จะรับได้อีกประมาณ 50 ชีวิต ถ้าท่านตัดสินใจเป็นคนที่ 101 ก็แจ้งเจตจำนงผ่านบล็อกนี่ละครับ โปรดอย่าลังเลใจ สองมือล้วงกระเป๋าสองเท้าก้าวเข้ามา.
หมายเลขบันทึก: 65004เขียนเมื่อ 3 ธันวาคม 2006 20:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไฟแรงจังเลยครับ คืนนี้จะนอนไหมครับ
นอนสิครับ แต่ อย่านอนใกล้คนหลายใจก็แล้วกัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท