โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์อำเภอเขาวง
ศูนย์ โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต ศูนย์การเรียนรู้อำเภอเขาวง มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เขาวง กาฬสินธุ์

ภูมิปัญญาข้าพเจ้า (รวมเล่ม)


ความรู้ คือ ปัญญา
โดย
ศูนย์การเรียนรู้อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์











วิชาภูมิปัญญากับการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
ปีการศึกษาที่ 1/2549
คำนำ
คน สิ่งมหัสจรรย์ที่สุดบนโลกใบนี้ คนทุกคนล้วนมีภูมิปัญญาที่เป็นของตัวเองอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าบางครั้งอาจลืมหรือมองข้ามสิ่งที่ตัวเองรู้ ว่าเป็นภูมิปัญญาหรือไม่ หรือบางคนก็ยังสงสัยอยู่ว่าสิ่งที่ตนเองรู้และทำอยู่เป็นภูมิปัญญาหรือไม่
คำว่า “ภูมิปัญญา” ตามความหมายของหนังสือร้อยคำที่ควรรู้ ของ ดร.เสรี พงศ์พิศ บอกว่า ถ้าแปลตามตัวหมายถึง “ที่ตั้งของปัญญา” ถ้าแปลความลึกลงไปก็ได้ความหมายว่าเป็นปรัชญาอันเป็นที่ตั้ง ที่มาของชีวิต วิธีคิด วิธีปฏิบัติอันอยู่ภายใต้การมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง” แสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่คน ๆ หนึ่งดำเนินชีวิตอยู่ได้ด้วยภูมิปัญญาทั้งสิ้น เพราะถ้าไม่มีภูมิปัญญาก็เหมือนกับว่าชีวิตได้ตายไปแล้ว
หนังสือ “ภูมิปัญญาของข้าพเจ้า” เล่มนี้ เป็นการรวบรวมความรู้และภูมิปัญญาของนักศึกษา สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาและพัฒนาภูมิปัญญาของไทยให้เป็นเอกลักษณ์และความภูมิใจของความเป็นไทยต่อไปตราบนานเท่านาน หากหนังสือนี้จะเป็นประโยชน์แก่ท่านมากน้อยเพียงไร ก็ขอยกประโยชน์และความดีทั้งหมดให้กับแผ่นดินไทย ที่ทำให้เรามีภูมิปัญญา มีชีวิต มีความอยู่รอดและภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเราสืบไป
กองบรรณาธิการ
ตุลาคม 2549
กองบรรณาธิการ

1. นายณัฐพล เรืองศรี
2. นายศักดิ์ดา วงศ์ตาหล้า
3. นายสาคร ใจศิริ
4. นายทรัพย์สิน จิตปรีดา
5. นายวุฒิไกร ไชยสุข
6. นางพิพัฒน์ โพนสาลี
7. นางลำดวน เพชรวิชิต
8. จ.ส.ต.ภาสยกิฎ วรสาร
9. นางอรนุช โชติจรุง
10. นางจารุวรรณ โคตรมาตร
11. นายสุภรศักดิ์ ถวิลการ
12. นายกฤตวัตร หาญพรม
13. นางวรารักษ์ ศรีสงเปลือย
14. นายชัยพิชัตร์ จันทะพรม


สารบัญ
หวายลงนาง สูตรแม่ทองหิ่ม 1
เสื้อสวยสาวผู้ไท 2
ผ้าสะใบทอมือ 5
การทำหน่อไม้ขวด 7
การทำส้มปลาให้อร่อย 8
ขนมข้าวพองผู้ไทย 9
เกลือสปาขัดผิว 10
“ส้อน” เสือนอนกิน กลอุบายของชายชรา 11
กะปิปู 13
ไซกบ 14
หมอนฟักทองทำมือ 16
อาหารจานอร่อย ก้อยหวายผู้ไท 18
ทำอย่างไรจะได้ปลาไว้กินตลอดปี 19
ไข่ภูพานทรงเครื่อง 20
มะขามแช่อิ่มปลอดสารพิษ 21
ดอกไม้สมุนไพรใกล้ตัว 22
การเลี้ยงหอยขม 23
เสื่อกกแหล่งที่มาที่น่าเรียนรู้ 25
น้ำปูตราคนเลี้ยงควาย 27
เจาะเวลาหากบเบ้า 28
โรงเรียนชาวนา 30
จิ้งหรีดตาข่าย 34
ประโยชน์ของบอนเขียว 36
การทำหน่อไม้ถุง 37
หมี่กะทิ 38
หน่อไม้ดองของโปรด 39
สุวคนธบำบัด 40
ส้มขาวันสู่ตลาดโลก 42
การสานสวิง 43
การสานสุ่มไก่ 44
ไม้กวาดดอกแขม 45
กลอยเพื่อชีวิต 46
ลาบอีสาน 47
ไก่ชนลูกดก 48
สุ่มไก่ 50
น้ำพริกปาทูสูตรระเบิดจมูก 51
สุ่มไก่ 52
หม่ำเงินล้าน 53
การสานแห 54
การทำหน่อไม้ถุง 55
แกงหน่อไม้ 56
อาหารรสเด็ดลาบเป็ดพื้นบ้าน 57
หวายลงนาง สูตรแม่ทองหิ่ม
โดย ณัฐพล เรืองศรี
“เข้มข้นเข้าเนื้อใน รสชาติถึงใจเผ็ดร้อนกลมกล่อม” หัวใจของเขาแหละ ถ้าได้ลองชิมแล้วจะติดใจ แกงหวายสูตรแม่ทองหิ่ม แห่งบ้านโนนยาง ตำบลเหล่าไฮงาม อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นมารดาที่ถ่ายทอดเคล็ดลับนี้ให้กับข้าพเจ้าผู้เป็นทายาทคนสุดท้ายเองครับ ... รสขมของหวายอาจทำให้หลายคนไม่ค่อยชอบเท่าไหร่นัก จริงมั้ยครับ... แต่สูตรของแม่ทองหิ่ม นั้นจะทำให้ท่านที่ไม่ค่อยชอบรสขมของหวานจะเปลี่ยนไป เพราะความอร่อย กลมกล่อม ลงตัวพอดี ของหวาย ไก่ และเครื่องปรุง จะทำให้ท่านที่ได้ชิม ไม่ลืมเลย
วัตถุดิบที่จะนำมาประกอบอาหารสูตรเด็ดนี้ที่สำคัญ... แน่นอน ต้องเป็นหวาย ควรเลือกที่มีลักษณะอวบอิ่ม (เป็นสาว) ไม่ควรอ่อนหรือแก่เกินไปนะครับ เสร็จแล้วจัดการเลาะเปลือกออกจนได้เนื้อในที่อ่อน ๆ ตัดเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 2 – 3 ข้อนิ้วชี้ของท่านนั่นแหละครับ ... ต่อไปไก่อ่อน เน้นนะครับต้องเป็นไก่ที่กำลังเป็นหนุ่มเป็นสาวเท่านั้นนะครับ จัดการสับเป็นชิ้นพอประมาณ ... มะเขือขื่นอ่อน (ที่มันมีหนามนะครับ) ... พริกขี้หนูอ่อน ... ใบย่านาง ต้องใช้ใบที่มีใบสีเขียวเข้ม ๆ นะครับ นำมาคั้นด้วยมือ เน้นนะครับต้องคั้นด้วยมือเท่านั้น ...เครื่องปรุงที่ใช้ก็มี พริกสด , ตะไคร้หั่นชิ้น , เกลือ , ปลาร้า , น้ำปลา และผงชูรส ....อ้อ อีกอย่างที่ขาดไม่ได้คือเข้าเบือ (ข้าวสารเหนียวแช่น้ำจนนิ่มแล้วนำมาโขลกตำให้ละเอียด) คงไม่มากไปที่จะเตรียมได้นะครับ เอาหละทีนี้ก็มาลงมือทำกันเลยครับ
เริ่มแรกนำหวาย ไก่ พริกสด มะเขือขื่น ตะไคร้หั่น 2 – 3 ชิ้น และเครื่องปรุงลงไปในหม้อแล้วคลุกให้เข้ากัน ตั้งไฟกลาง ๆ เรื่อย ๆ จนไก่สุกแล้วนำข้าวสารที่เราโขลกไว้มาละลายให้เข้ากับน้ำใบย่านางแล้วเทลงในหม้อโดยใช้กระชอน จากนั้นรอจนน้ำเดือด ... ชิมรสชาติ ถ้าอร่อยถูกใจแล้วก็ใส่ใบแมงรักลงไป ปิดฝาหม้อ ยกลงจากเตาแล้วรอสักพักจึงคนให้เข้ากัน ... อร่อยใช่มั้ยครับ จากนั้นท่านก็จะมีความสุข ความอร่อย และความแข็งแรงของร่างกาย เพราะท่านจะได้ออกกำลังกายในการทำอาหารนี้ด้วยนะครับ
สุดท้าย ถ้าไม่รักกันจริงไม่บอกนะครับ ก่อนที่จะตักหวายลงนางใส่ถ้วยให้นำใบแมงรักรองที่ก้นถ้วยเล็กน้อยก่อน จะสุดยอดของสุดยอดเลยครับเพราะเวลาเราซดแกงจะมีกลิ่นหอมของใบแมงรักร้อน ๆ ด้วยครับ .... มาถึงตรงนี้แล้วก็รู้สึกอยากกินแล้วเหมือนกันครับ ต้องขอตัวไปทำกินสักหม้อก่อนดีกว่า ...อย่าลืมนะครับตอนที่ท่านรอให้ไก่สุก ระวังอย่าให้ไหม้หม้อก่อนนะครับเดี๋ยวจะเสียรสชาติหมด....ลองทำดูครับ คุณทำได้ ไม่ยากเลย
เสื้อสวยสาวผู้ไท
โดย กนกนาถ โพธิ์สัย
ในท้องถิ่นย่านชนบท เราสามารถเห็นประดิษฐ์เครื่องใช้สอยยังคงมีรูปแบบการประดิษฐ์ในลักษณะเดิมที่เน้นการอนุรักษ์และค้นคว้าพัฒนารูปแบบใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับเวลาที่ผ่านไป “เสื้อเย็บมือ” ของชนเผ่าผู้ไทยนับเป็นผลงานทางหัตถกรรมที่คนผู้ไทยในชนบทยังคงรักษารูปแบบการประดิษฐ์ไว้อย่างดี หากแต่รูปลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความนิยม การตัดเย็บเสื้อเย็บมือ แต่เดิมทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และผ้าที่นำมาเย็บได้มาจากการทอผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมด้วยคราม ในอดีตถือว่ามีความจำเป็นที่แต่ละบ้านต้องมีกี่ไว้ใต้ถุนเรือน ไว้สำหรับแม่บ้านที่ใช้เวลาว่างถักทอเครื่องนุ่งห่มให้แก่คนในครอบครัวแต่ระยะหลังสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ที่เคยทำขึ้นมาเองก็เปลี่ยนไปเป็นการซื้อหามาใช้จากตลาดและเสื้อผ้าโรงงานตามสมัยนิยม
งานตัดเย็บเสื้อเย็บมือแบ่งออกได้กว้าง ๆ เป็น 2 ประเภท คือ งานหยาบและงานละเอียด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลวดลายที่ปักลงไปบนตัวเสื้อ การประดิษฐ์จึงเน้นให้ลูกค้าเลือกซื้อ เป็นเสื้อที่ใส่เป็นเสื้อคลุมชุดลำลอง โดยมีราคาไม่สูงนัก การตัดเย็บเสื้อด้วยมือ เป็นงานหัตถกรรมที่มีความประณีตและทำขึ้นอย่างพิถีพิถันและใช้เวลาค่อนข้างนาน กล่าวได้ว่างานบางชิ้นอาจใช้เวลาถึง 3 วันไปจนถึง 5 วัน เพราะแต่ละขั้นตอนทำกันอย่างประณีตบรรจงจริง ๆ โดยเฉพาะการปักลวดลายลงบนตัวเสื้อ เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความชำนาญและความอดทนของผู้ทำอย่างสูง ก่อนจะได้ชิ้นงานออกมาตามแบบที่ต้องการ ผู้ทำจะเริ่มด้วยการเลือกผ้าที่มีเนื้อผ้าละเอียดสวย สีเป็นธรรมชาติ อาจเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมประดิษฐ์ก็ได้ ซื้อราคาเมตรละ 60-70 บาท จำนวนความยาว 3 เมตร ผ้าเป็นผ้าสีพื้นและสีที่นิยมนำมาตัดเย็บ คือ สีคราม สีกรมท่า สีดำ สีน้ำตาล ส่วนด้ายที่จะนำมาปักลวดลายจะเป็นด้ายไหมประดิษฐ์สีต่าง ๆ นำมาฟั่นเข้าด้ายกัน อาจจะฟั่นเป็นสีเดียวกันหรือสลับสีก็ได้ ถ้าต้องการปักลายหยาบมองเห็นเด่ชัดต้องฟั่นด้าย 6 เส้น เข้าด้วยกัน แต่ถ้าต้องการปักลายเล็กละเอียด ต้องฟั่นด้าย 2-4 เส้น เข้าด้วยกัน ความยาวของด้ายที่ฟั่นแต่ละเส้นประมาณ 70 เซนติเมตร เสื้อ 1 ตัว ต้องฟั่นด้ายปักเดินลาย 60 เส้น และลายสำหรับปักลายดอกอีก 30 เส้น ลายดอกนิยมปักเป็น 2 สี สีละ 15 เส้น สีของด้ายปักเดินลายจะเป็นสีที่กลมกลืนกับสีเสื้อ หรือสีต่างกับตัวเสื้อแต่ไม่เด่นชัดจนเกินไป ส่วนสีของด้ายที่ใช้ทำลายดอกจะเป็นสีที่เด่นชัดกับตัวเสื้อมองไกลจะเห็นเด่นชัด ทำให้เกิดสีสันสวยงามมาก นอกจากนี้ก็ยังมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้อีกหลายอย่างและจำเป็นต้องใช้ คือ กรรไกรตัดผ้าใช้สำหรับตัดตัวเสื้อก่อนที่จะนำไปเย็บ เข็มสำหรับปักลายบนผ้า สายวัดสำหรับวัดขนาดตัวของผู้ที่จะสวมใส่ ชอล์กขีดผ้าใช้สำหรับขีดเส้นบนผ้าเพื่อทำแบบเสื้อ กระดุมที่ทำจากกะลามะพร้าว 5 เม็ด
การลงมือตัดเสื้อ ต้องนำผ้าสีพื้นที่เตรียมเอาไว้มาตัดเป็นตัวเสื้อ โดยวัดขนาดรอบอกเสื้อ ยาวเสื้อ ยาวแขน รอบโคนขนและรอบคอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดตัวของผู้สั่งตัด ตัวเสื้อแผ่นหน้าและแผ่นหลังติดต่อกันไม่แยกไหล่ ทบผ้าโดยให้สันทบผ้าเป็นเสื้อแผ่นหน้าและแผ่นหลัง จากนั้นวัดความยาวเสื้อทั้งแผ่นหน้าและหลัง ตรงจุดกึ่งกลาง วาดรอบคอกว้างแล้วตัดแหกแผ่นหน้าจนตลอดแนวอกถึงชายเสื้อแล้วพับเก็บไว้ก่อน นำผ้าส่วนที่เหลือมาพับเป็นสันทบวัดรอบโคนแขนและยาวแขน เผื่อพับไว้ด้วย หลังจากนั้นตัดออกมาจะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่านำเศษผ้าที่เหลือนำมาตัดเป็นลับเสื้อ ซ้ายและขวาโดยตัดเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 4 นิ้ว ขนาดยาวเท่ากับความยาวของตัวเสื้อ รวมเป็นจำนวน 2 ชิ้น แล้วก็นำเศษผ้าที่เหลือมาตัดเป็นคอเสื้อลักษณะเป็นผ้าสี่เหลี่ยม กว้าง 4 นิ้ว ขนาดยาวตามขนาดคอของนายแบบหรือประมาณ 16-20 นิ้ว จำนวน 1 ชิ้น และส่วนประกอบสุดท้ายที่จะตัดคือ กระเป๋าเสื้อ นำผ้าที่เหลือมาตัดลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 9 นิ้ว และขนาดยาว 11 นิ้ว จำนวน 2 ชิ้น เพราะต้องทำกระเป๋าเสื้อ 2 ใบ ด้านล่างของเสื้อแผ่นหน้าซ้ายและขวา เท่านี้ก็เสร็จ ขั้นตอนการตัดเสื้อ
การเย็บเสื้อ คือ การนำชิ้นผ้าตัวเสื้อที่ตัดไว้แล้วมาพับชายเสื้อ ทั้งแผ่นหน้าและหลัง ขนาดพับกว้าง 1 นิ้ว และพับริมผ้าอกเสื้อจากซ้ายตลอดแนวคอจนถึงชายเสื้อด้านขวา ขนาดรอยพับกว้าง 0.7 เซนติเมตร เสร็จแล้วเนาเอาไว้ หลังจากนั้นก็นำด้ายที่ฟั่นเตรียมไว้มาปักลายริม เรียกว่า ลายฟันตั๊กแตนหรือรอยพับริม ตามรอยพับและริมจนตลอดแนวอก คอ และชายเสื้อ เสร็จแล้วนำลับเสื้อและคอมาพับให้มีขนาดกว้าง 1 นิ้ว โดยริมผ้าจะอยู่ข้างในแล้วต่อเข้ากับอกเสื้อและคอเสื้อด้วยการร้อยด้ายพันริม นำแขนเสื้อมาพับปลายแขนเนาเอาไว้แล้วนำด้ายที่ฟั่นเอาไว้มาร้อยปักลาย ฟันตั๊กแตนตรงริมผ้าและรอยพับ แล้วเอาแขนมาต่อเข้ากับตัวเสื้อโดยนำด้ายที่ฟั่นเอาไว้มาร้อยเป็นตะเข็บเนาเท่าแล้วพับอีกที นำด้ายมาร้อยพันริมจนรอบโคนแขน ต่อแขนทั้งซ้ายขวาให้เสร็จ จากนั้นนำผ้าที่เตรียมไว้ทำกระเป๋ามาพับปากกระเป๋ากว้าง 1 นิ้ว เนาเอาไว้แล้วนำด้ายที่ฟั่นแล้วมาร้อยรอยพับเป็นตะเข็บฟันตั๊กแตน แล้วนำมาติดกับตัวเสื้อแผ่นหน้าด่านล่าง ซ้ายขวาโดยติดตรงกลางแผ่นหน้า ทั้งสองข้างสูงจากขอบรอยพับชายเสื้อ 0.5 นิ้ว ขนาดกระเป๋า กว้าง 6 นิ้วลึก 7.5 นิ้ว ต่อไปเป็นการเข้าข้างเสื้อตั้งแต่ปลายแขนไปจนถึงชายตัวเสื้อโดยเว้นแหกข้าง 8 นิ้ว และนำด้ายที่ฟั่นมาร้อยตะเข็บเนาเท่า และพับร้อยด้วยตะเข็บพันริมอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากประกอบตัวเสื้อทุกส่วนเข้าด้วยกันแล้วก็ทำการปักลายตามรอยพับทุกส่วนของตัวเสื้อ เช่น ปลายแขน ชายเสื้อ ปากกระเป๋า พับอกเสื้อด้านซ้ายและคอเสื้อ ลายที่นิยมปักก็มี ลายขอ ลายดอกไม้ต่าง ๆ ที่ขอบลับเสื้อด้านซ้ายจะทำบ่วงคล้องกระดุม 5 เม็ด ส่วนกระดุมจะติดด้านขวา ระยะห่างกระดุมประมาณ 3.5 นิ้ว เสร็จทุกขั้นตอนก็จะได้เสื้อเย็บมือที่สวยงาม
ข้อที่ควรจะพึงระวังคือการต่อด้ายที่ใช้ร้อยลวดลาย การร้อยเดินลายต้องสม่ำเสมอถึงจะสวยงาม ทั้งนี้ต้องผ่านการฝึกฝนและทำอย่างต่อเนื่องจนเกิดความชำนาญ เมื่อได้เสื้อแล้วก็นำมารีดเพื่อให้เกิดความสวยงามยิ่งขึ้น ก่อนที่จะส่งให้ลูกค้า
งานเย็บเสื้อเย็บมือขึ้นอยู่กับการปักลาย ถ้าเป็นลายหยาบและใหญ่ ราคาจะถูกกว่า อยู่ที่ตัวละ 300 บาท ส่วนลายเล็กและละเอียดราคาจะอยู่ที่ตัวละ 350 บาท ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของลายปัก งานปักที่ลายเล็กละเอียดจะใช้เวลาเย็บถึง 5 วันต่อตัว ซึ่งเทียบกับการทำงานแล้ว ถือว่าไม่แพงจนเกินไป ผลงานที่ได้กับความอุตสาหะของคนทำงานจึงควรมีราคาค่าตอบแทนที่เหมาะสมกัน
สนใจติดต่อได้ที่ คุณกนกนาถ โพธิ์สัย บ้านม่วงไข่ หมู่ที่ 5 ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผ้าสะใบทอมือ
โดย นางวิภาภรณ์ สุคนธะ
ผ้าสะใบ เป็นผ้าที่ใช้พาดบ่าเวลามีงานประเพณีต่าง ๆ ของคนภาคอีสาน เช่น ประเพณีแต่งงาน เจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องมีสะใบห่มหรือพาดบ่า และผ้าสะใบจะคู่กับการแต่งกายชุดผู้ไทย ส่วนใหญ่จะใช้สีแดงคู่กับชุดผู้ไทย แต่ก็มีหลายสีที่นิยมใช้กันขึ้นอยู่กับความลักษณะงานและความต้องการของผู้ใช้ คนผู้ไทยจะมีเอกลักษณ์การแต่งกายที่ไม่เหมือนภาคอื่น คือ เสื้อในสมัยก่อนจะใช้ผ้าสีดำ หรือผ้าย้อมครามตัดและเย็บกระดุมสีขาวหรือ เย็บเหรียญสตางค์ติดตรงสาบเสื้อ และรอบ ๆ เสื้อข้างล่างผ้าถุงก็จะเป็นพื้นสีดำสายสีขาวที่ทอจากฝ้าย มีผ้าที่ผูกติดใส่ผม (ผ้ามัดหัว) ที่ทอขึ้นเอง และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ผ้าสะใบสีแดง
การทอผ้าสะใบ มีอุปกรณ์ที่ใช้คือ เส้นไหม สารฟอกไหม สารส้ม สีย้อมไหม ระวิง (กง) ขาตั้งระวิง (ขากง) ม้าเดินด้าย (เฟือ) ใน (ใช้ปั่นด้ายใส่หลอด) หลอด กระสวย (กะเบ๊าะ)
(หางเห็น) กี่ ฟืม ไม้เก็บลาย ไม้ง้างลาย ไม้ไผ่แหลมให้กลมเลี้ยง เอาไว้เก็บลายไว้ในฟืม โดยเริ่มจากการต้มน้ำให้เดือดเทด่างฟอกไหมลงไปค้นจนด่างละลาย นำไหมไปแช่น้ำจนเปียกบิดให้หมาด เอาลงไปในหม้อต้มด่างที่เตรียมไว้ แช่ไว้ประมาณ 20 นาที แล้วพลิกอีกด้านลงต้มไปเรื่อยๆ จนกว่าเส้นไหมจะฟอกจนขาวสะอาด การดูว่าเส้นว่าฟอกสะอาดหรือไม่ก็คือ เราใช้มือสัมผัสดู ถ้าเส้นไหมลื่นแสดงว่ายังฟอกไม่สะอาด ถ้าเส้นไหมฝืดแสดงว่าสะอาดแล้วนำไปล้างน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง
ต่อไปก็นำไหมมาย้อม การย้อมไหมเราจะไฟแรงก่อนไม่ได้ต้องค่อยทำ ควรละลายสีลงในน้ำอุ่นก่อนแล้วจึงนำไหมที่ฟอกสะอาดจุ่มลงในน้ำย้อมขยำให้ทั่ว แล้วก็ค่อย ๆ เร่งความร้อนขึ้นจนเดือด หมั่นพลิกไหมกลับไปกลับมาบ่อย ๆ เพื่อกันสีด่าง ใช้เวลาย้อมประมาณ 40-50 นาที นำไหมขึ้นแล้วล้างน้ำสะอาด นำมาตากในที่ร่มแล้วดึงเส้นไหมกระทบแรงเพื่อให้เส้นเรียบ เมื่อเราย้อมสีไหมเรียบร้อยแล้ว ก็นำเส้นไหมมาใส่กง นำที่ใส่เส้นไหมไว้มาตั้งใส่ขา แล้วกี่กวักใส่ กะเบ๊าะ ทำแบบนี้จนครบทุกสีโดยแยกให้เป็นสัดส่วนมีสีแดงคลั่งแก่สีน้ำตาล สีน้ำเงิน สีเขียว และสีขาว สีแดงคลั่งแก่จะเป็นสีพื้นของผ้าสะใบ เราก็นำสีแดงมาผูกใส่แล้วดึงเกี่ยวใส่หลักของ จนครบทุกหลัก ค้นจนครบตามขนาดของฟืม ฟืมที่ใช้ในการทอผ้าสะใบเป็นฟืมที่มีความหนาและเรียบ เมื่อค้นใส่ผ้าเรียบร้อยแล้วสีแดงที่เหลือก็จะปั่นใส่หลอดเอาไว้ทอขัดลาย และสีอื่น ๆ ก็ปั่นใส่หลอดไว้จนหมด เมื่อปั่นหลอดเสร็จเราก็นำใส่ผ้าที่ค้นมาสืบต่อใส่ฟืมจนเสร็จ เมื่อสืบเสร็จเราก็นำมากางใส่กี่ การทอผ้าสะใบจะต้องเว้นระยะยาวประมาณ 13 เซนติเมตร เพื่อที่จะปั่นทำระบายชายผ้า เริ่มทอสีพื้นคือสีแดงยาว 4 เซนติเมตร แล้วเปลี่ยนกระสวยสีขาว สอดเข้าไป 1 เส้น เยียบให้เส้นไหมขัดกัน สอดกระสวยสีเขียว 4 เส้น สีน้ำตาล 2 เส้น เปลี่ยนเป็นสีเขียว 4 เส้น และสีขาวอีก 1 เส้น สอดสีพื้น 2 เส้น แล้วเริ่มทอลายงูลอย จำนวน 4 ไม้ เริ่มจากไม้ที่ 1 ที่ 2 – ที่ 4 ลักษณะลายงูลอยจะลักษณะเฉลียงและบรรจบกัน เมื่อทอลายงูลอย ลายงูลอย เสร็จก่อทอสีพื้น 2 เส้น สีขาว 1 เส้น สีเขียว 4 เส้น สีน้ำตาล 2 เส้น สีเขียว 4 เส้น และสีขาวอีก 1 เส้น และเริ่มทอลายดอกอ้อม ลายดอกอ้อมจะมีลักษณะแบ่งเป็นดอก
ลายดอกอ้อม การทอลายดอกอ้อมจะใช้วิธีง้างเอาลายจากเหาฟืมที่เราเก็บลายไว้แล้วง้างเอาทีละไม้เริ่มจากไม้ที่ 1 เราจะง้างค้างไว้แล้วเริ่มผูกลายโดยใช้มือ เริ่มจากแบ่งสีของดอก ผ้าสะใบจะมีความกว้าง 27 เซนติเมตร ใช้หลัก 10 หลักและลายดอก 9 ดอก เริ่มจากหลักสีน้ำตาล ดอกสีน้ำเงิน หลักขาวคู่กับดอกเขียว ทำสลับไปจนครบแล้วทอสีพื้น 2 เส้น สีขาว 1 สีเขียว 4 สีน้ำตาล 2 สีเขียว 4 สีขาว 1 แล้วก็ทอลายงูลอย ทอสีพื้น 2 เส้น สีขาว สีเขียว สีน้ำตาล สีเขียว สีขาว เหมือนเดิม ขั้นนี้คือการทอลายดอกอ้อม เมื่อเสร็จก็เริ่มทำลายดอกทั้งหมดมี 38 ไม้ ลายทั้ง 38 ไม้นี้จะมีแค่ครั้งเดียวเราต้องทบใส่กันคือ ถ้าเราทำเต็มดอกมีใช้ 75 ไม้
ขั้นตอนการเก็บลายดอก เริ่มจากไม้ที่ 1 เอาขึ้นข้างบน คือ เราต้องแบ่งสีดอกจะใช้สีน้ำเงิน และสีเขียว ลายเครือจะใช้สีน้ำตาล ชื่อดอกจะใช้สีขาวและสีน้ำตาล ขั้นตอนนี้จะใช้มือทั้งหมดจนครบ 38 ไม้ เราก็ง้างเอาลายเมื่อทำลายเสร็จก็เอาลงเก็บไว้ข้างล่างทำแบบนี้จนหมด จะรวมแล้วได้ 75 ไม้ เป็นลายดอกที่สมบูรณ์ 1 ดอก แล้วก็ทำลายดอกอ้อมเหมือนขั้นตอนแรก ทำจนได้ลายดอกที่สมบูรณ์ให้ครบ 14 ดอก และทำลายดอกอ้อมก่อนค่อยทอสีพื้นเหมือนตอนเริ่มต้น และต้องเว้นระยะทำระบายตอนท้ายด้วย
การทำหน่อไม้ขวด
โดย อนุรัก ศรีอุ่น
การทำหน่อไม้อัดขวด เป็นการถนอมอาหารชนิดหนึ่งที่คนอีสานนิยมทำกันมากในช่วงที่มีหน่อไม้มีมาก ๆ เพื่อจะได้เก็บหน่อไม้ไว้รับประทานในฤดูที่ไม่มีหน่อไม้หรือหน่อไม้ไม่ออก หน่อไม้ที่อัดขวดถูกต้องตามวิธีการแล้ว จะเก็บไว้ได้นาน และสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิดเช่น การนำมาผัด การแกง การต้ม นำมายำ ก็ให้ความอร่อยเช่นเดียวกับกินหน่อไม้สด ๆ เหมือนกัน
วัสดุอุปกรณ์ในการทำหน่อไม้อัดขวด ก็มี หน่อไม้ ขวดเปล่า เช่น ขวดน้ำปลา,ขวดหล้า,ขวดเบียร์,ขวดน้ำที่ไม่ใช้แล้ว เป็นต้น ปี๊บต้มน้ำ น้ำเปล่า เตาไฟ ถุงพลาสติก หนังยางรัด ขั้นตอนการทำคือเตรียมหน่อไม้ที่มีอยู่นำมาแกะเปลือกหน่อไม้ออกและนำหน่อไม้ที่แกะเปลือกออกแล้ว ผ่าเป็นชิ้นประมาณ หน่อไม้หนึ่งหน่อ ผ่าได้ประมาณ 4-5 ชิ้น หรือตามขนาดที่ต้องการไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด เสร็จแล้วนำหน่อไม่ที่ผ่าเป็นชิ้นบรรจุใส่ลงไปในขวดโดยไม่ต้องปิดฝาขวด แล้วนำปี๊บใส่น้ำตั้งไฟ จากนั้นนำหน่อไม้ที่ใส่ขวดเสร็จแล้วเอามาใส่ลงในปี๊บที่มีน้ำต้มอยู่ การต้มให้ต้มนานประมาณ 1-2 ชั่วโมง หรือต้มจนกว่าจะแน่ใจว่าหน่อไม้นั้นสุก หลังจากต้มเสร็จแล้วให้ยกขวดหน่อไม้นั้นออกจากปี๊บ แล้วนำถุงพลาสติกที่เตรียมไว้มาปิดปากขวดหน่อไม้แล้วใช้หนังยางรัดให้แน่นไม่ให้อากาศเข้าไปข้างในขวดได้ จากนั้นใช้ฝ่าขวดปิดปากขวดอีกครั้งหนึ่งจนแน่น แล้วนำขวดหน่อไม้ที่ปิดปากขวดเรียบร้อยไปเก็บไว้ที่ที่เหมาะสม ทำแค่นี้ก็สามารถมีหน่อไม้อัดขวดไว้รับประทานในฤดูแล้งได้แล้ว
ขั้นตอนที่ต้องระวังที่สุดก็คือการปิดปากขวด ต้องระวังไม่ให้อากาศเข้าไปข้างในขวดได้ เพราะจะทำให้หน่อไม้เสีย หรือขึ้นราจนกินไม่ได้

การทำส้มปลาให้อร่อย
โดย นางวิพาพร อักษรศักดิ์
ในน้ำมีสัตว์น้ำอาศัยอยู่หลายชนิดแต่ชาวบ้านในชนบท พอได้ปลามาแล้วการทำอาหารจากเนื้อปลาก็ล้วนแต่มีการทำอาหารให้อร่อยได้หลายอย่างหลายวิธีแต่ถ้าจะต้องรับประทานได้ถูกสุขลักษณะก็คือจะต้องทำให้สุกก่อนถึงจะได้คุณค่าทางอาหารและผู้รับประทานได้รับความปลอดภัยมากที่สุด
ซึ่งข้าพเจ้าจะทำอาหารที่ได้จากเนื้อปลาต่อไปนี้คือ การทำส้มปลา การทำส้มปลามีขั้นตอนมีขั้นตอนการทำดังต่อไปนี้ นำปลามาชำแหละเอาแต่เนื้อ การทำส้มปลาต้องเอาเนื้อปลาที่มีขนาดใหญ่หน่อย เช่น ( ปลานิล ปลาชะโด ปลาอีก่ำ ) พอได้เนื้อปลามาแล้วก็นำมาสับไห้ละเอียดจนเนื้อปลาเหนี่ยวนุ่มแล้วนำเอาเนื้อปลามาคั้นเอาน้ำออกให้หมด นำเอากระเทียมที่ตำละเอียดไว้แล้วนั้นมาคลุกให้เข้ากันกับเนื้อปลาที่สับไว้ ใส่เกลือ ผงชูรสสักหน่อย คั้นให้เข้ากันนานพอสมควร พอกะว่าได้แล้วก็เอาข้าวเหนียวนึ่งมาคั้นให้เข้ากันจนทั่ว นำใบตองมาห่อเป็นห่อเล็กๆขนาดเท่าไข่ไก่ เก็บ
ทิ้งไว้ประมาณ 4-5 วัน ก็สามารถนำมาประกอบการรับประทานอาหารได้โดยการทำไห้สุกก่อนแล้วค่อยรับประทานจะทอดเรือปิ้งก็ได้อร่อยทั้งนั้น
การทำส้มปลามีเคล็ดลับคือ ขั้นตอนการหมักเนื้อปลานั้นต้องหมักเนื้อปลาใส่กระเทียมทิ้งไว้ก่อนสักครึ่งชั่วโมงและก่อนจะนำเนื้อปลาที่สับไว้นั้นต้องคั้นน้ำออกให้หมด ถ้าคั้นไม่ได้เนื้อปลาจะมีกลิ่นคาวไม่น่ารับประทานและเวลาเก็บส้มปลาที่ห่อไว้แล้วนั้นต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่ไม่ร้อนเรือเย็นจนเกินไปถ้าร้อนเกินไปรสชาติจะเปลี่ยนไปหรือจะเปรี้ยวเกินไป ถ้าเย็นมากก็จะไม่มีรสเปรี้ยวเลยจะใช้เวลานานเกินไปกว่าจะกินได้ ฉะนั้นต้องดูความเหมาะสมด้วยและอีกอย่างเนื้อปลาที่เอามาทำต้องมีความสด หรือเนื้อปลาที่สดถึงจะอร่อยน่ารับประทาน
ภูมิปัญญาการทำส้มปลานี้เป็นของ นางวิพาพร อักษรศักดิ์ บ้านเลขที่ 88 หมู่ 1
บ. หนองผือ อ. เขาวง จ. กาฬสินธุ์
ขนมข้าวพองผู้ไทย
โดย วราลักษณ์ ศรีสงเปลือย
ข้าว เป็นอาหารที่มีพื้นฐานของคนไทยและคนอีสานก็บริโภคข้าวเป็นหลัก ซึ่งข้าวเหนียวก็นำมาทำอาหารได้หลายอย่าง โดยเฉพาะการทำขนมและขนมข้าวพองหรือขนมนางเล็กก็เป็นขนมที่ทำมาจากข้าวเหนียว โรยหน้าด้วยน้ำอ้อยเชื่อมสีเหลืองทองหอมหวานน่ากิน
ขนมนางเล็ก หรือขนมข้าวพอง หรือทางภาคเหนือเรียกว่า ข้าวแกลบ ใช้วิธีทอด เป็นขนมกรอบ เป็นขนมขบเคี้ยว เป็นของว่างบรรเทาความหิวได้ดี ซึ่งมีส่วนประกอบ ในการทำ ดังนี้ 1. ข้าวเหนียว 2. น้ำตาล หรือน้ำอ้อย 3. น้ำมันพืช วิธีทำ เริ่มจากการนำข้าวสารข้าวเหนียว 2 กิโลกรัม แช่น้ำเหมือนที่เราจะนึ่งไปรับประทานนั่นเอง แล้วนำมานึ่งและเตรียมอุปกรณ์การปั้นไว้ คือ เหลาไม้ไผ่กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เหลาให้บางพอจับโค้งมัดได้ จับไว้ให้เป็นวงกลม พอนึ่งข้าวเสร็จก็ยกลงมา คนข้าวในหวดหรือมวย ตามประสาชาวบ้านเรียกกัน แต่ภาคกลางเรียกว่ารังถึง พอคนเสร็จก็ปิดไว้ไม่ให้เย็นเร็ว เพราะถ้าข้าวเย็นแล้วจะปั้นยาก และต้องปั้นทีละขนาดหนึ่งคำข้าว ก็เอาพิมพ์ไม้ไผ่ที่ทำเป็นวงกลมมาวางลงที่ถาดขนมที่มีพื้นเรียบ หยดน้ำมันพืชใส่ถาดสัก 2-3 หยด เพื่อไม่ให้การปั้นขนมเหนียวติดมือ หรือติดภาชนะที่ใช้รองปั้น เวลาปั้นข้าวเอาน้ำมันทามือแล้วแตะน้ำก่อนหยิบข้าวเหมือนกัน แล้วปั้นข้าวประมาณคำหนึ่ง วางลงที่พิมพ์วงกลม แล้วคำข้าวหมุนรอบไปตามพิมพ์วงกลม เมื่อก้อนข้าวแบนเรียบเต็มวงพิมพ์แล้วยกต้อนข้าวจะเป็นวงกลม แล้วเอามือช้อนยกแผ่นข้าวออกมาวางที่ถาดหรือกระด้ง และปั้นไปเรื่อย ๆจนเต็มกระด้ง แล้วยกไปตากแดดให้แห้ง คือต้องตากทั้งวัน ถ้าตากทั้งแดดทั้งลมวันเดียวก็ใช้ได้
ถ้าตากวันเดียวไม่แห้งสนิทพอก็ต้องตากอีกเป็นสองวัน แล้วเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดได้ ถ้าต้องการทำรับประทานเร็วก็ไม่ต้องปิดก็ได้ ถ้าต้องการปริมาณก้อนขนมมากก็แช่ข้าวเพิ่มขึ้น และปั้นตากไปเรื่อยๆ เมื่อเราต้องการจะทอดเมื่อไรก็ได้ เมื่อนำมาทอดขนมก็จะฟูหรือพองขึ้นเป็นแผ่น พอทอดได้ตามปริมาณที่ต้องการแล้วก็นำน้ำตาลมาต้มเคี่ยวให้เหนียว แล้วเอาช้อนตัก เทดูว่าเหนียวพอไหลลื่น แล้วนำขนมที่ทอดไว้มาหยอดน้ำตาลที่เคี่ยวแต่แผ่นสัก 2-3 รอบ เวลาหยอดน้ำตาลอย่าให้น้ำตาลเย็นต้องใช้ไฟอุ่นเรื่อย ๆ ถ้าไม่อย่างนั้นน้ำตาลจะแข็งตัวเป็นก้อน เมื่อหยอดเสร็จพักไว้ให้น้ำตาลแห้งพอไม่ติดภาชนะที่เก็บ แล้วบรรจุถุงพลาสติกไว้รับประทานหรือจำหน่ายได้เลย
เกลือสปาขัดผิว
โดย กิ่งกานต์ อนันทวรรณ
สปา ในปัจจุบันนี้เป็นที่นิยมกันมากโดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็น สปาหน้าสปาตัว สิ่งที่ใช้ในการทำสปาคือ สมุนไพร และที่จะขอแนะนำคือ เกลือสปาขัดผิว ซึ่งถ้าหากท่านได้ลองนำสูตรเกลือสปานี้ไปทดลองใช้แล้ว รับรองว่าจะติดใจแน่นอน
อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีน้ำมันออยล์ ไพรและการะบูร วิธีการทำก็ให้นำหัวไพรที่แก่จัด อายุประมาณ 1 ปี หัวไพรจึงจะเป็นยาหรือมีสรรพคุณ นำหัวไพรไปล้างให้สะอาดแล้วนำมาหั่นเป็นแว่น ๆ บาง ๆ นำไปตากแดดให้แห้ง เมื่อได้หัวไพรที่แห้งแล้ว เอาม้ำมันออยล์เทใส่หม้อที่มีความหนาสักหน่อย เอาหม้อขึ้นตั้งไฟ ให้ใช้ไฟอ่อน ๆ พอน้ำมันออยล์เดือดก็ให้เอาหัวไพรที่แห้งแล้วลงเจียวกับน้ำมันออยล์ เจียวไปพอเหลืองอย่าให้ไหม้ พอไพรเหลืองแล้วตักออกพักไว้ ใส่การะบรูลงไปในน้ำมันให้ละลาย เสร็จแล้วยกหม้อลง เทน้ำมันออกจากหม้อกรองด้วยผ้าขาวบาง เมื่อกรองเสร็จแล้วเทเกลือลงไปในน้ำมันออยล์ เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย
เกลือสปา เมื่อนำมาขัดผิวแล้วจะมีความรู้สึกผ่อนคลาย โลหิตไหลเวียน ปลอดโปร่ง ผิวเนียนนุ่ม เพราะเกลือจะช่วยขจัดเซลที่ตายแล้วหลุดลอกออก ทำให้ผิวนุ่มเนียนเกลี้ยงเกลา น้ำมันออยล์ที่ใช้จะต้องเป็มน้ำมันที่มีคุณภาพที่ดี เมื่อเรานำมาทำแล้วจะรู้สึกผิวเบาสบาย แต่ถ้าเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพต่ำ เมื่อนำมาทำแล้ว จะมีความรู้สึกว่า ผิวจะหนัก ๆ ไม่โล่งสบาย
สนใจติดต่อได้ที่ นาง กิ่งกานต์ อนันทวรรณ บ้านเลขที่ 11 หมู่ 8 ตำบล . ยอดแกง
อำเภอ นามน จังหวัด กาฬสินธุ์
“ส้อน” เสือนอนกิน กลอุบายของชายชรา
โดย จำรัส ไชยสุข
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เป็นคำกล่าวที่อยู่คู่สังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ แสดงให้เห็นว่าข้าวกับปลาเป็นของคู่กันไม่สามารถแยกจากกันได้ การทำเครื่องมือจบปลาก็ได้ถูกพัฒนาจากความรู้และภูมิปัญญาของชาวบ้านสืบทอดตลอดมา และ “ส้อน” ก็เป็นเครื่องมือจับปลาชนิดหนึ่ง ที่กำลังจะถูกมองข้ามความสำคัญและกำลังจะเลือนหายไปจากวิถีชีวิตชาวนายุคใหม่ซึ่งเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีและเครื่องจักรกล
“ส้อน” เป็นเครื่องมือจับปลาที่ทำจากไม้ไผ่ ประเภทเครื่องจักสานที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าเป็นเครื่องมือประเภท “เสือนอนกิน” คือเวลาเอาไปใส่ดักปลาไว้แล้วไม่ต้องทำอะไรอีกเลย เพียงแต่คอยไปดูว่ามีปลาเข้าไปติดอยู่ข้างในหรือเปล่าแค่นั้นเอง วิธีทำ “ส้อน” มีอุปกรณ์ที่สำคัญคือไม้ไผ่ (ไม้ไผ่บ้าน) ต้องเลือกไม้ไผ่ที่แก่พอดีไม่อ่อนจนเกินไป เมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้วก็ทำการผ่าไม้ไผ่ออกให้เป็นซีกๆ แล้วจักไม้ไผ่ให้เป็นตอก โดย “ส้อน”1 หลัง(อัน) จะใช้ตอกประมาณ 25 เส้น นำตอกจำนวน 19 เส้นมามัดรวมกัน โดยมัดตรงปลายข้างใดข้างหนึ่งประมาณ 3 เซนติเมตร โดยใช้ตอกมัดหรือเศษตอกที่เราไม่ได้ใช้ โดยมัดอย่างแน่นหนาแล้วหักตอกตรงบริเวณที่มัดไว้แล้วหักทีละเส้นไปรอบ ๆ จุดที่ผูกไว้ เมื่อหักเสร็จแล้วจะทำให้จุดที่มัดตอกอยู่ทางด้านในของตอกที่หักแล้ว จากนั้นนำตอกที่เหลือมา 1 เส้น เหลาให้อ่อนพอสมควร ใช้มีดพร้าปาดปลายด้านใดด้านหนึ่งให้แหลมแล้วนำมาเสียบเข้าตรงบริเวณที่เรามัดและหักตอกแล้ว ตอกเส้นนี้เรียกว่า ตอกสาน แล้วทำการสานโดยสานเป็นลายขัดเส้นต่อเส้นหมุนวนไปรอบ ๆ และสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อตอกเส้นแรกสุดแล้วก็ต่อไปเรื่อย ๆ จนเหลือประมาณ 1 คืบ จะสานให้บานออกทำเป็นปาก “ส้อน” ในจุดนี้จะต้องใช้ความสามารถและมีเทคนิคในการจัดตอกพอสมควร เมื่อได้ปาก “ส้อน” แล้วจึงทำการพับตอกที่เหลือโดยให้พับขัดกันไว้ ก็จะได้ “ส้อน” สำหรับไว้ใส่ดักปลาตามแบบฉบับภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายแต่โบราณ
วิธีการใส่ “ส้อน” ดักปลาจะใส่ตามทุ่งนาบริเวณคันนาที่มีน้ำไหล โดยจะใส่ตั้งแต่ช่วงดำนาเสร็จจนถึงช่วงหมดฤดูฝน โดยจะต้องให้ “ส้อน”เอียงประมาณ 30 องศาและมีน้ำไหล โดยแหวกกอหญ้าออกแล้วนำ “หลักส้อน”(เป็นไม้ไผ่ 2 อัน ขนาดเท่านิ้วมือ ยาวประมาณ 1 ศอก)นำมาเสียบเฉียงคร่อมตรงน้ำไหลให้ปลายทั้งสองเฉียงเข้าหากันและขัดกันประมาณ 2 นิ้วช่องว่างของหลักส้อนทั้งสองประมาณพอดีกับตัว “ส้อน” จากนั้นใส่ “ส้อน”เข้าไปในช่องว่างของหลัก ส้อน ทั้งสองโดยให้ปาก “ส้อน” แนบสนิทกับพื้นดินให้มากที่สุดและให้น้ำที่ล้นคันนาไหลเข้าไป ใน “ส้อน” พอรุ่งเช้าก็ไปดูจะมีปลาอยู่มากน้อยหรือไม่ ก็
หมายเลขบันทึก: 64906เขียนเมื่อ 2 ธันวาคม 2006 21:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลยสำหรับเคล็ดลับทั้งหลายขอบคุณคะ กำลังเรียนวิชานี้อยู่พอดี ราชภัฎพระนครเหมือนกัน ลุ่มน้ำยามสกลนครคะ

สุดยอดมากครับ ตอนนี้ผมกำลังเรียนวิชานี้อยู่พอดี มหาวิทยาลัยชีวิตหายโศก และขอรูปแบบเป็นตัวอย่างในการศึกษาด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท