พบมณีล้ำค่าที่เขาค้อทะเลภู


หนังสือ อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้
พบมณีล้ำค่าที่เขาค้อทะเลภู
วันที่ ๕ พย. ๔๘ ผมเปิดหนังสืออ่านประจำห้องพักที่เขาค้อทะเลภูออกอ่านด้วยความเคยชิน     คือเห็นหนังสือเป็นต้องอ่าน    เล่มที่เตะตาผมชื่อ “อิสรภาพเกิดขึ้นเมื่อคุณไม่รู้”  สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ แปลจาก Freedom from the Known โดยกฤษณามูรติ     จัดพิมพ์โดยมูลนิธิอันวีษกณา  หรือ The Quest Foundation, Thailand  (๙/๒๖๖ หมู่ ๗   ถ. พุทธบูชา  แขวงบางมด  เขตจอมทอง  กทม. ๑๐๑๕๐   โทร ๐ – ๒๘๖๙ – ๓๙๔๔ – ๔๕    www.anveekashana.org    www.kinfonet.org/Community/centres/Stream_Garden,   สวนสายน้ำและสำนักงานหาดใหญ่ : ตู้ ปณ. ๕  ไปรษณีย์ทุ่งลุง   อ. หาดใหญ่   จ. สงขลา ๙๐๒๓๐   โทร ๐๑ ๖๒๔ ๘๐๒๗, ๐๑ ๓๒๘ ๗๑๓๒   แฟกซ์ ๐ ๗๔๒๕ ๗๘๕๕)     แค่เพียงอ่านคำนำ ผมก็รู้ว่าผมพบมณีล้ำค่าเข้าแล้ว     ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของคำนำ
“ชีวิตเราช่างตื้นเขินและว่างเปล่า     เราเป็นคนมือสอง”    คำพูดดังกล่าวของกฤษณมูรติ ได้สะท้อนถึงก้นบึ้งแห่งชีวิตของคนสมัยใหม่ ได้อย่างกระชับและท้าทายในเวลาเดียวกัน     เขาได้ชี้ว่า ผู้คนทุกวันนี้พอใจที่จะรับเอาความคิด ความเห็น และสูตรสำเร็จจากภายนอกมาอย่างเซื่องๆ    แทนที่จะพยายามแสวงหาด้วยตนเอง    เรายอมให้สิ่งต่างๆ มามีอำนาจเหนือเราในทางจิตใจ และสติปัญญา   เพราะสิ่งนั้นจะช่วยให้เรามีความมั่นคงในชีวิต     เป็นเพราะเรากลัวที่จะสูญเสียความมั่นคงและความสะดวกสบาย  กลัวที่จะอยู่อย่างโดดเดี่ยว     เราจึงยอมให้ขนบธรรมเนียมประเพณีและผู้ปกครองมากำหนดครอบงำชีวิตเรา     ผลคือ   เราไม่มีอะไรที่เป็นของเราเอง    “ไม่มีอะไรใหม่ในตัวเรา    ไม่มีอะไรที่เราได้ค้นพบเพื่อตัวเราเอง    ไม่มีสิ่งต้นแบบ  ดั้งเดิม  และกระจ่างแจ้ง”     แต่นั่นไม่ร้ายเท่ากับการที่เราตกเป็นทาสที่ไร้โซ่ตรวน  
เราจะเป็นเสรีได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อรู้จักแสวงหาด้วยตนเอง    เพราะการแสวงหาด้วยตนเองเท่านั้นที่จะทำให้เราเป็นอิสระจากพันธนาการทั้งมวล     กฤษณมูรติย้ำว่าการแสวงหาตนเองนั้น เราต้องหมั่นสังเกตความเป็นไปในตนเอง     สังเกตดูความสุข  ความทุกข์  ความภาคภูมิใจในความสำเร็จ  ความหม่นหมองเมื่อล้มเหลว     ตระหนักถึงความกลัว  ความวิตกยามประสบสิ่งไม่พึงปรารถนา    ทั้งนี้เพราะ  “การเป็นอิสระต้องการการตื่นตัวเต็มที่   ตื่นตัวต่อสิ่งที่เป็นไปในตัวคุณโดยปราศจากการเข้าไปจัดการแก้ไข   หรือสั่งมันว่าควรจะเป็นหรือไม่ควรจะเป็นเช่นใด”
          
กฤษณมูรติเป็นเสมือนศาสดาที่ปฏิเสธความเป็นศาสดา     เป็นเสมือนแห่งความเป็นอิสระเปิดกว้าง    “สิ่งที่ผมสนใจเพียงประการเดียวคือ   ปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระปราศจากเงื่อนไขใดๆ อย่างสิ้นเชิง”    ท่านมีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๘ – ๒๕๒๙    เป็นปราชญ์และนักคิดอิสระผู้เป็นที่เคารพนับถือที่สุดคนหนึ่งของโลก   ในฐานะครูทางจิตวิญญาณ     เมื่อยังเป็นเด็กหนุ่ม สมาคมเทวญาณวิทยา ได้ประกาศยกย่องเขาขึ้นเป็นศาสดาองค์ใหม่ของโลก     แต่ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เขาได้ประกาศสลัดทิ้งบทบาทศาสดา     รวมทั้งสานุศิษย์ผู้ติดตามจำนวนมหาศาล     สลายสมาคมอัครสาวกอันใหญ่โตซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อประกาศศาสนาใหม่     หนังสือของกฤษณมูรติที่มูลนิธิอันวีกษณาจัดแปลและพิมพ์เผยแพร่ มีถึง ๒๑ เล่ม   เช่น “พลังแห่งจิตเงียบ”    “ความรู้คือพันธนาการ”    “ศาสนาแบ่งแยกมนุษย์”    “เหนืออิทธิพลครอบงำ”   เป็นต้น
วิจารณ์ พานิช
๖ พย. ๔๘
เขาค้อทะเลภู
หมายเลขบันทึก: 6481เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2005 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 14:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท