เรื่องแปลกแต่จริงของเศรษฐกิจและแรงงานเยอรมัน


บริษัทได้ประโยชน์ แต่ประเทศ (ส่วนรวม) เสียประโยชน์

เรื่องแปลกแต่จริงของเศรษฐกิจและแรงงานเยอรมัน
    เช้าวันที่ ๕ พย. ๔๘ ผมนั่งเครื่องบินไปพิษณุโลกด้วยความสดชี่น   เพราะควงสาว (น้อย) ไปฮันนิมูนที่เขาค้อ  บนเครื่องบินผมอ่านบทความจาก นสพ. เดอะ เนชั่น เรื่อง "Germany's pathological export boom" เขียนโดย Hans-Werner Sinn ศาสตราจารย์ด้าน economics & public finance มหาวิทยาลัยมิวนิก และเป็น president ของ Ifo Institute for Economic Research แห่งเยอรมัน ด้วยความทึ่งในความประณีตของการมองเรื่องราวของบ้านเมือง    และคิดต่อไปว่าถ้ามีนักวิชาการไทย ออกมามองเมืองไทยอย่างพินิจพิเคราะห์ในทำนองคล้ายๆ กันนี้ จะโดนคนในรัฐบาลออกมากล่าวหาว่าไม่รักชาติไหมหนอ
              ศ. ซินน์ บอกว่าการค้าต่างประเทศของเยอรมันประสบความสำเร็จสูงมาก    แต่เป็นความสำเร็จที่ไม่เหมือนความสำเร็จเดิมๆ    หรืออาจเรียกว่าเป็นความสำเร็จแบบไม่สมประกอบ (ในความหมายเดิม)    คือการส่งออกเพิ่มขึ้นมาก แต่อัตราการจ้างงานลดลง    และอัตราเพิ่มของรายได้ ต่ำกว่าอัตราเพิ่มของการส่งออก  
    ศ. ซินน์ บอกว่า เศรษฐกิจของประเทศเยอรมัน ได้เปลี่ยนจากการเป็นประเทศผู้ผลิต ไปเป็นประเทศผู้ขายหรือเป็นพ่อค้า    โดยที่การผลิตส่วนใหญ่ทำในประเทศอื่นที่ค่าแรงถูกกว่า    นั่นคือการผลิตส่วนต้นทาง ซึ่งเป็นส่วนที่ value - add สูง จะไปอยู่ต่างประเทศ ที่ค่าแรงต่ำ    แล้วเอาส่วนที่เป็นการผลิตปลายทาง ซึ่ง value - add ต่ำกว่า   แต่ต้องใช้ฝีมือแรงงานที่มีความรู้มากกว่า มาทำในเยอรมัน   ซึ่งมองในมุมหนึ่ง กลายเป็นทำให้เยอรมันเสียผลประโยชน์      
    โดยสภาพนี้การจ้างงานของเยอรมันจึงลดลงถึง 1.26 ล้าน full-time equivalent คน  ในช่วงเวลา 10 ปี ระหว่างปี ค. ศ. 1995 - 2004
                  นั่นคือ ในสภาพของการผลิต และการใช้แรงงานอย่างที่เป็นอยู่ในเยอรมัน  ยิ่งอัตราการส่งออกสูงขึ้น  อัตราการจ้างงานก็จะยิ่งต่ำลง    และอัตราเพิ่มของรายได้ของประชากร ก็จะยิ่งต่ำกว่าอัตราเพิ่มของการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
บทความยาวเกือบครึ่งหน้าหนังสือพิมพ์นี้ คงจะมีสาระลึกซึ้งกว่าที่ผมจับได้    ผมจับมาได้แค่นี้    บวกกับความคิดว่า เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้ มีความซับซ้อนมาก    ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม   อาจเป็นมายาภาพจากบางมุมมอง    เช่นยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนยิ่งกว้างขึ้น อย่างที่เห็นอยู่ในเมืองไทย    นักวิชาการไทยน่าจะได้เอาใจใส่ศึกษาเรื่องนี้   และชี้นำความคิดนี้ให้แก่สังคม
วิจารณ์ พานิช
๕ พย. ๔๘
เขาค้อ
คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 6480เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2005 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท