CG Scorecard กระจกสะท้อนธรรมาภิบาล


ความถูกต้องชอบธรรมในการบริหารธุรกิจและไม่เอาเปรียบคู่ค้าและคู่แข่งจะกลายเป็นความต้องการหนึ่งที่สำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอนาคต

หัวข้อหนึ่งที่สำคัญและกำลังกลายเป็นกระแสของสังคมไปแล้วคือการบริหารจัดการที่มีคุณธรรมและยั่งยืน ดำเนินการอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา จำได้ว่าเมื่อช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาเรื่องจริยธรรมทางธุรกิจ การซื้อขายเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้น ตลอดจนการควบรวมกิจการที่ไม่ชอบธรรม ซึ่งเมื่อเกิดกับบริษัทที่เกี่ยวพันกับผู้บริโภคจำนวนมากถึงกับมีกระแสออกมาต่อต้านการใช้สินค้าตัวนั้นทันที ซึ่งแน่นอนถ้าเป็นจริงและไม่สามารถจัดการหรือรับมือกับกระแสดังกล่าวได้ อาจส่งผลให้ผลประกอบการของธุรกิจนั้นเสียหายได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นประเด็นนี้จึงเกี่ยวพันอย่างยิ่งกับการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า ไม่ใช่เพียงแค่ผลิตสินค้าหรือให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานเท่านั้น ความถูกต้องชอบธรรมในการบริหารธุรกิจและไม่เอาเปรียบคู่ค้าและคู่แข่งจะกลายเป็นความต้องการหนึ่งที่สำคัญในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคในอนาคต

CG Scorecard แนวทางการตรวจประเมินตนเองตามหลักธรรมาภิบาลของเยอรมันประกอบด้วย 7 หมวดใหญ่ และข้อย่อยในแต่ละหมวดอีก 3-8 ข้อ กรณีของเยอรมันหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะรายงานมาตรฐานกลางที่เรียกว่า Standard ออกมา เพื่อใช้เป็น Benchmark ให้องค์กรต่างๆเปรียบเทียบว่าองค์กรของตนเองปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลแต่ละหมวดได้สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐาน และกำหนดแนวปฏิบัติกลางมาให้ใช้อ้างอิงกันทั่วไปดังนี้

1. CG Commitment 10% สิ่งที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจขององค์กรที่มีต่อการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลก็คือ จะต้องกำหนดหลักการพื้นฐานที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลสากล หรือที่กำหนดไว้ในประเทศนั้นๆ นอกจากนั้นยังจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีการนำหลักการดังกล่าวไปใช้ในทุกระดับชั้นและทุกเรื่องขององค์กร และที่สำคัญจะต้องมีการติดตามประเมินผลและรวบรวมประเด็นที่อาจจะเป็นช่องทางที่จะก่อให้เกิดการปฏิบัติไม่ถูกต้อง นำเสนอในคณะกรรมการบริหาร

2. Shareholders and the General Meeting 12% จัดให้มีประชุมในส่วนของผู้ถือหุ้นกับคณะผู้บริหาร ตลอดจนจัดทำระบบที่เอื้ออำนวยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงหรือรับรู้ข้อมูลที่สำคัญอันเกี่ยวกับการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลได้

3. Cooperation between Management Board and Supervisory Board 15% จัดให้มีการหารือเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันและตรงกันระหว่างคณะกรรมการองค์กร และคณะผู้บริหาร ซึ่งในกิจการบางแห่งเรียกว่า บอร์ดชุดใหญ่กับบอร์ดชุดเล็กนั่นเอง ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะกรณีที่มีการควบรวมกิจการเกิดขึ้น

4. Management Board 10% คณะผู้บริหารจะต้องกำหนดนโยบาย ตลอดจนแนววิธีปฏิบัติภายในองค์กรในทุกเรื่องให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งยังจะต้องกำหนดวิธีการในการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจได้ว่าหลักการดังกล่าวยังเป็นที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

5. Supervisory Board 15% กำหนดสัดส่วนของสมาชิกในคณะกรรมการขององค์กร และจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบแยกออกมาเฉพาะ โดยที่ไม่ขึ้นตรงต่อคณะผู้บริหาร หรือคณะกรรมการขององค์กร สามารถทำงานได้อย่างอิสระ อีกทั้งสมาชิกที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องไม่มีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆต่อการดำเนินการภายในขององค์กร

6. Transparency 20% จะต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานตลอดจนรายละเอียดของกิจกรรมต่างๆแก่สาธารณะ ไม่ใช่เฉพาะผู้ถือหุ้นเท่านั้น (กรณีบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) พร้อมบทวิเคราะห์ต่างๆ

7. Reporting and Audit of the Annual Financial Statements 18% จัดให้มีระบบบัญชีที่ได้มาตรฐานถูกต้องตามหลักสากล และได้รับการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตที่เชื่อถือได้ หรือที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ นอกจากนั้นรายงานทางการเงินตลอดจนข้อคิดเห็นจากผู้ตรวจสอบจะต้องแสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัด อาทิ ในรายงานประจำปีขององค์กร เป็นต้น

เกณฑ์การพิจารณาและให้คะแนนดังกล่าวเป็นเพียงแนวทางที่ช่วยในการสำรวจตรวจสอบว่าองค์กรของตนนั้นได้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลได้ครบถ้วน หรืออยู่ในระดับดีมากน้อยเพียงใด ซึ่งในแต่ละหมวดนั้นจะมีหัวข้อย่อยในการตรวจประเมินอีกหลายข้อ โดยคะแนนรวมของทุกหมวดรวมกันเท่ากับ 100% เต็ม แล้วสำหรับองค์กรของท่านล่ะคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้

คำสำคัญ (Tags): #governance#คุณธรรม
หมายเลขบันทึก: 64762เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2006 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท