ทำอย่างไร จึงจะเรียนแล้วสอบได้ (ดีพอสมควร)


(เรื่องนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า การเรียนที่ง่ายสนุกและจำได้ดี บทที่หก)


มีหลักง่ายๆสองข้อที่จะช่วยทำให้นักเรียนนักศึกษาเรียนแล้วสอบได้ (ดีพอสมควร) คือ

     ข้อที่หนึ่ง รู้ว่าข้อสอบจะออกอะไร (ข้อนี้มีคำตอบ)

     ข้อที่สอง จำเรื่องที่จะใช้ตอบข้อสอบได้ (ข้อนี้ก็มีคำตอบ)



คำตอบข้อที่หนึ่ง รู้ว่าข้อสอบจะออกอะไร

      นักการศึกษา ครูและนักเรียนต้องรู้และต้องใช้หลักการที่แสดงไว้ในแผนภาพข้างต้น ซึ่งดัดแปลงให้เข้าใจง่ายจากองค์ประกอบหลักของการศึกษา 3 ประการ (1) คือ การสอบ (ข้อสอบ) จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การศึกษาและเนื้อหาวิชา (เรื่องที่สมควรรู้) และสอดคล้องกับการเรียนการสอน (ภารกิจของนักเรียนและภารกิจของครู)

      มีแนวโน้มชัดเจนว่า ความสอดคล้องดังกล่าวนี้ดีขึ้นเรื่อยๆในช่วงเวลากว่า 70 ปีที่ผ่านมา เช่น กรณีที่ PISA กำหนดให้ข้อสอบเป็นการสอบการใช้ความรู้  (1) นั่นคือเรื่องที่สมควรรู้ได้แก่ความรู้ที่นำมาใช้ได้ (แปลว่าเรื่องที่นำมาใช้ในชีวิตจริงไม่ได้ไม่ออกสอบ) และการสอบ ONET ก็นำหลักการเดียวกันนี้มาใช้แล้ว นอกจากนี้การทบทวนข้อสอบส่วนหนึ่งของวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ของแพทยสภาเมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว ก็พบว่าสอดคล้องกับหลักการที่ว่านี้ กล่าวคือข้อสอบเป็นเรื่องที่นำไปใช้ทางคลินิกได้ถึงร้อยละ 90 (1)  การกำหนดเช่นนี้เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และเป็นการลดภาระนักเรียนในการเตรียมสอบได้มากทีเดียว และเห็นได้ชัดว่าเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาใช้แนวคิดนี้ (2)

     (2) ผู้เขียนในฐานะที่เคยเป็นผู้เรียน (3) กำหนดเรื่องที่สมควรรู้ไว้ว่าได้แก่ 1) เรื่องที่เป็นหลักการของแต่ละวิชา 2) เรื่องที่สัมพันธ์กับ (เชื่อมโยงกับ) วิชาอื่นๆ และ 3) เรื่องที่มีโอกาสจะนำไปใช้  ซึ่งครอบคลุมมากกว่าที่แสดงไว้ข้างต้นอีกเล็กน้อย เพื่อเรียนรู้หลักการของแต่ละวิชาและความสัมพันธ์กับวิชาอื่นๆเพราะการนำความรู้ไปใช้จริงต้องใช้หลักวิชาและเชื่อมโยงหลายวิชาเข้าด้วยกัน

     ประโยชน์ของการกำหนดเรื่องที่สมควรรู้ (ข้อสอบเกือบทั้งหมดอยู่ในกรอบนี้) ทำให้มีเรื่องที่จะต้องจำไว้สอบ (ซึ่งก็คือเรื่องที่ต้องจำไว้ใช้) น้อยลงมากเมื่อเทียบกับเนื้อหาวิชาทั้งหมด (ภารกิจของนักเรียนย่อมน้อยลงมาก) ทำให้สามารถทบทวนเรื่องที่จะสอบได้วันต่อวันโดยใช้เวลาเพียงเล็กน้อย แต่ก็สอบได้ดีพอสมควรดังตัวอย่างในเรื่องที่เคยเล่าไว้แล้ว (3)

     ครูผู้สอนน่าจะรู้ดีว่าวิชาที่สอนอยู่อะไรเป็นเรื่องสมควรรู้ (เรื่องที่จะออกข้อสอบ) หากบอกนักเรียน (เหมือนครูกวดวิชา) ในไม่ช้านักเรียนก็จะจับหลักได้ แต่ถ้าโชคไม่ดีที่ครูไม่ได้บอกนักเรียนเองก็สามารถพิจารณาได้จากหลักการข้างต้น

     สรุปว่า ข้อสอบเกือบทั้งหมดจะออกมาจากเรื่องสมควรรู้ ดังนั้นในการเรียนต้องกำหนดให้ได้ว่าเรื่องสมควรรู้ของแต่ละวิชาคืออะไร ซึ่งเป็นเนื้อหาน้อยมากเมื่อเทียบกับเนื้อหาวิชาทั้งหมด ทำให้มีเรื่องต้องจำไม่มากนัก

คำตอบข้อที่สอง จำเรื่องที่จะใช้ตอบข้อสอบได้

     ในประเด็นนี้ขออ้างถึงผลงานของบุคคลสองคน คนแรก David Ausubel (2) ผู้เสนอทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมาย กล่าวไว้ว่า นักเรียนนักศึกษามีการเรียนรู้สองวิธี คือ การเรียนรู้ด้วยการท่องจำ (Rote learning) และการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมาย (Meaningful learning) ส่วนมากใช้การเรียนรู้ด้วยการท่องจำ (มิน่าล่ะ การเรียนรู้จึงเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย....ผู้เขียน) ในประเด็นเดียวกันนี้ Derek Cabrera (2) ก็กล่าวว่า แม้แต่นักศึกษาเก่งๆที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลส่วนใหญ่ก็ใช้การเรียนรู้ด้วยการท่องจำ

     อย่างไรก็ตาม David Ausubel (2) เสนอว่า การเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมายเป็นวิธีที่ดีกว่า (เป็นธรรมชาติ ง่ายกว่า น่าสนใจมากกว่า และที่สำคัญน่าเบื่อหน่อยน้อยกว่าการท่องจำ...ผู้เขียน) โดยอธิบายว่า นักเรียนนักศึกษาทุกคนมีความรู้ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว เก็บอยู่ในความจำระยะยาว ในรูปแบบที่เรียกว่า โครงสร้างความรู้ (Cognitive structure) (ผู้อื่นอาจใช้คำอื่น เช่น  Mental model เป็นต้น...ผู้เขียน) เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยชิ้นความรู้ย่อยๆที่เรียกว่า มโนทัศน์ (Concept) เชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพราะมีความสัมพันธ์กันอย่างมีความหมาย สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ (2) เมื่อได้รับประสบการณ์ใหม่จะเป็นจากการฟังบรรยาย อ่านหนังสือ สังเกตเห็นจากสภาพแวดล้อมหรือจากการทำงาน (เรียกรวมๆว่ารับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่) ก็จะทำความเข้าใจกับข้อมูลข่าวสารนั้นด้วยการคิดเพื่อหาทางเชื่อมโยงกับความรู้ที่มีอยู่แล้วในโครงสร้างความรู้ (ถ้าจำเป็นก็จะหาข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมด้วยการถาม อ่าน หรือค้นหาจากพจนานุกรม Wikipedia หรือ Google search.......ผู้เขียน) ถ้ามีการเรียนรู้เกิดขึ้นก็แสดงว่า มีการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารใหม่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรู้ หรือมีการปรับปรุง หรืออาจถึงกับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างความรู้เดิมให้ดีขึ้น 

     ในประเด็นเดียวกันนี้ Derek Cabrera (2) เสนอไว้อย่างน่าฟังว่า 

             ความรู้ (Knowledge) = ข้อมูลข่าวสาร (Information) x การคิด (Thinking)

(นั่นคือ ต้องใช้ความคิดเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารให้เป็นความรู้.....ผู้เขียน)

     สำหรับวิธีการคิดนั้น Derek Cabrera เสนอให้ใช้แนวคิดเชิงระบบที่เรียกว่า DSRP  ซึ่งมีหลักการง่ายๆเพียงสี่ข้อ แต่ครอบคลุมได้ทุกเรื่อง มีตัวอย่างแสดงไว้ใน (2)

     สรุปว่า ถ้าเราใช้วิธีการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจความหมาย เราต้องใช้ความคิดสร้างความเข้าใจ เพื่อทำให้ข้อมูลข่าวสารที่ได้รับเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างความรู้ของเราในความจำระยะยาว  เมื่อถึงคราวจำเป็นต้องใช้ความรู้นั้น (รวมทั้งใช้ตอบข้อสอบ) เราย่อมนึกได้และนำมาใช้ได้

ขอสรุปรวบยอดว่า เมื่อรู้ว่าข้อสอบจะออกอะไร (เรื่องที่สมควรรู้ ) และจำเรื่องที่จะใช้ตอบข้อสอบได้ (เรื่องที่สมควรรู้) เพราะเป็นความรู้ที่อยู่ในความจำระยะยาว จึงเรียนแล้วสอบได้ (ดีพอสมควรและเหนื่อยน้อยลงด้วย)

อำนาจ ศรีรัตนบัลล์

15 พฤษภาคม 2561

    


หมายเลขบันทึก: 647238เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2018 09:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2018 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท