OL และ KM


KM CLASS

Learning Object เป็นสื่อดิจิตอลที่มีลักษณะเฉพาะคือ เป็นสื่อประสม (multimedia) ที่ออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ โดยแต่ละเรื่องจะนำเสนอแนวคิดหลักย่อยๆ ผู้สอนสามารถเลือกใช้ Learning Object ผสมผสานกับการจัดการเรียนการสอนแบบอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย ภายใต้ โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไทย-ออสเตรเลีย กล่าวคือกระทรวงศึกษาธิการออสเตรเลียได้ดำเนินโครงการสนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการไทยมีสื่อดิจิตอลที่มีคุณภาพใช้ในโรงเรียน

"Learning Object แตกต่างจากสื่อดิจิตอลอื่นๆ ก็คือเน้นกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานของหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์" ที่ครูสามารถนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม หรือใช้สำหรับการเรียนรู้แบบออนไลน์ตามศักยภาพและความสนใจที่หลากหลายแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน สามารถจัดเก็บและค้นหาในระบบฐานข้อมูลได้ ผู้เรียนได้ฝึกวิเคราะห์ นำเสนอข้อมูล อย่างสะดวกรวดเร็ว ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ในสถานการณ์ที่จำลองขึ้นในห้องเรียนทั่วไปได้ยาก เช่น แพงเกินไป อันตรายเกินไป

ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า "ขณะนี้ สสวท. ได้เริ่มทดลองทำ Learning Object กันเอง แต่ยังไม่รู้ว่าที่ประเทศอื่นทำได้สำเร็จนั้นเป็นอย่างไร จึงมีโครงการความร่วมมือกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อพัฒนา Learning Object ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน เน้นสร้างองค์ความรู้ให้นักเรียน มีสื่อที่สร้างองค์ความรู้ในการเรียนได้ เพื่อให้รองรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้วางโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศให้ทุกคนเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนได้ตามเป้าหมายปฏิรูปการศึกษา"

โครงการที่กล่าวถึงนั้นมี บริษัท Curriculum Corporation (CC) ซึ่งมี บริษัท The Learning Federation (TLF) เป็นบริษัทลูก ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญฝ่ายออสเตรเลีย ส่วนผู้มีบทบาทสำคัญฝ่ายไทยคือ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดย CC และ TLF ได้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับสื่อดิจิตอลแก่ สสวท. ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ สนับสนุนให้ สสวท. พัฒนาสื่อดิจิตอลคุณภาพสูงในรูปแบบ Learning Object โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับบุคลากร สสวท. และเสนอให้ สสวท. ปรับ/แปล Learning Object ที่ผลิตโดย TLF เป็นภาษาไทย ให้เหมาะสมกับหลักสูตรและผู้เรียนในประเทศไทย

ในด้านความคืบหน้าในการพัฒนา Learning Object ของ สสวท. นั้น สิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว คือ สสวท. ได้กำหนดกระบวนการพัฒนา Learning Object ตามกระบวนการของ TLF กำหนดมาตรฐานด้านการศึกษาและมาตรฐานด้านเทคนิคตามมาตรฐานของ TLF กำหนดเรื่องที่จะพัฒนาเป็น Learning Object วิทย์ คณิต เทคโนโลยี 15 เรื่อง กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง แนวคิดหลัก และกระบวนการเรียนรู้ของ แต่ละเรื่อง กำหนดรูปแบบและเนื้อหาของ Learning Object

ส่วน สิ่งที่กำลังจะดำเนินการต่อไป คือ ผลิตสื่อต้นแบบเพื่อนำไปทดสอบในโรงเรียน นำผลการทดสอบในโรงเรียนมาปรับปรุงสื่อต้นแบบ อบรมครูเพื่อให้สามารถใช้สื่อในการจัดการเรียนการสอน

ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร เล่าว่า สสวท. เริ่มทดลองใช้ Learning Object กับนักเรียนชั้น ม.1 - ม.3 ในปีนี้ เท่าที่ทดลองถามนักเรียน พบว่า เขารู้สึกสนุกกับสื่อใหม่ๆ และวิธีการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่สามารถควบคุมและก้าวไปตามความรู้ ความสามารถของตนเองได้ ในลักษณะที่แตกต่างจากสื่ออื่นๆ ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามาได้ คือไม่เน้นผู้เรียน เด็ก ๆ จึงเข้าใจปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่เขาไม่เคยเห็นแต่เมื่อใช้สื่อนี้แล้วก็สามารถเห็นได้ เช่น แผ่นดินไหว กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก รอยเลื่อนของเปลือกโลกต่างๆ ซึ่งทำให้เด็กมองเห็นได้ง่ายขึ้น เข้าใจง่ายขึ้น เชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวันได้ เด็ก ๆ เกิดความประทับใจเพราะเรื่องที่เป็นนามธรรม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อใช้สื่อ Learning Object แล้วทำให้เขามองเห็นได้เป็นรูปธรรม มีมิติ เข้าใจ

"เราพบว่าเด็ก ๆ สนใจมากขึ้น สนุก ได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ แต่สำหรับนักเรียนระดับที่สูงกว่า ม.2 ขึ้นไป จะมีภาษาที่เป็นคำศัพท์เฉพาะซับซ้อนขึ้น ดังนั้นเพื่อความสะดวกของโรงเรียนห่างไกล ถ้าจะปรับใช้จึงต้องมองเรื่องภาษาด้วย ซึ่งแรกเริ่ม สสวท. จะปรับใช้ Learning Object จากออสเตรเลียแปลเป็นภาษาไทยในเร็วๆ นี้ และทยอยพัฒนาสื่อ Learning Object ของ สสวท. เองอย่างต่อเนื่อง "

สำหรับการปรับ / แปล Learning Object จากออสเตรเลียที่ผลิตโดย TLF สิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว ประเมินความเหมาะสมของการนำสื่อที่ผลิตโดย TLF มาใช้ในประเทศไทย เลือกสื่อที่เหมาะสมสำหรับแปลเป็นภาษาไทย เพื่อใช้ในโรงเรียน วิทย์ 1 เรื่อง คณิต 1 เรื่อง สิ่งที่กำลังจะดำเนินการต่อไป ดำเนินการแปลสื่อทั้ง 2 เรื่องเป็นภาษาไทย อบรมครูเพื่อให้สามารถใช้สื่อทั้ง 2 เรื่องในการจัดการเรียนการสอน

"ในระยะแรกนี้ Learning Object ที่ สสวท. จัดทำขึ้นประมาณ 10-15 เรื่องในระดับ ม.ต้นทั้ง วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สื่อ Learning Object ที่สสวท.จะทำขึ้นใหม่ต้องทดลองใช้ในวงกว้างและพัฒนาเพื่อปรับใช้ต่อไป ส่วนที่ต้องพัฒนาระยะยาว ก็คือการทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการบริการระดับประเทศ ซึ่งคงจะใช้ความร่วมมือเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานการศึกษาในภูมิภาคเข้าช่วยเพื่อให้เข้าถึงเด็กนักเรียนได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่เกินปีการศึกษาหน้านักเรียนจะได้ใช้กัน ตอนนี้เราเลือก Concept ยาก ๆ ที่ครูไม่อาจหาสื่อใกล้ตัวอื่นๆ มาใช้สอนนักเรียนได้ เอามาทำ Learning Object นำร่องไปก่อน นับเป็นมิติใหม่ในการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์" ดร. พรพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

จากเนื้อหาคอนเซ็ปท์ทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ยาก ๆ นำมาสู่เกมและสถานการณ์จำลองใน Learning Object จะทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่าย รู้สึกมีส่วนร่วม และเป็นรูปธรรมได้อย่างไรนั้น

อีกไม่นานเกินรอ เด็กไทยคงได้เรียนรู้วิทย์-คณิตอย่างมีเนื้อหาสาระและกระบวนการตามหลักสูตรและแนวทางของ สสวท. ผ่านสื่อดิจิตอลรูปแบบใหม่นี้ .............โปรดติดตามกันต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #km#class
หมายเลขบันทึก: 64716เขียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2006 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท