คณะผู้ก่อการดี “ลานช้างพัฒนา” #2


เหมือนเขาเอาอาหารมาให้เรากิน เป็นของแปลก ซึ่งเราก็กิน แต่กินอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายเราก็กลับไปกินของเดิม ของที่เขาเอามาให้กินเราไม่ถนัด (ไม่ชอบ) เราไม่อยากกิน มันเลยไม่ยั่งยืน

          เมื่อได้แนะนำตัวเอง และซักถาม นับย่านสาวโยด กันพอสมควร ก็เข้าสู่กระบวนการคุยกันผมก็ได้เปิดเวทีให้น้องยิ่งยศฯ ได้แนะนำวัตถุประสงค์ อย่างเป็นทางการ ของสาเหตุที่ได้พบปะพูดคุยกันวันนี้ ซึ่งน้องเขาก็พูดได้ดีและทำให้แกนนำที่มานั่งได้รู้ว่า อยากเห็นภาพของการคิดเอง ทำเอง แล้วจะมีความยั่งยืนของการพัฒนา ไม่เหมือนกับที่เขาสั่งให้ทำ น้องเขายกตัวอย่างว่า เขาเอาอาหารมาให้เรากิน เป็นของแปลก ซึ่งเราก็กิน แต่กินอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายเราก็กลับไปกินของเดิม ของที่เขาเอามาให้กินเราไม่ถนัด (ไม่ชอบ) เราไม่อยากกิน มันเลยไม่ยั่งยืน งานราชการคิดให้หรือหน่วยงานข้างบนคิดให้จึงไม่ยั่งยืนสักอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้เราถึงอยู่กันแบบแยก ๆ กัน ไม่ค่อยได้พบปะพูดคุยกัน ต่างคนต่างอยู่ ทำยังไงถึงให้มารวมตัวกัน พูดคุยกัน ประเมินตัวเอง มองตัวเองกันบ้าง ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ และน้องยิ่งยศฯ ก็ขอให้ผมเล่าให้ฟังว่า “ไตรภาคีฯ คืออะไร และจะช่วยอะไรได้บ้างกับชุมชนบ้านลานช้าง”

          ผมได้นำเสนอให้แกนนำฯ และทีมงานที่เข้าร่วมประชุม ได้รับทราบก็คือ แนวคิดการดำเนินงานแบบไตรภาคีร่วมพัฒนาสุขภาพชุมชน เราอยากเห็นภาพที่ชุมชนได้รวมตัวกันหลาย ๆ ภาคี เพื่อช่วยเหลือตัวเองก่อน สิ่งใดที่เหลือบ่ากว่าแรงก็ให้คิดขึ้นมาให้ดัง ๆ (ตามที่เขียนไว้ที่ คิดให้ดัง และวาดให้เป็นรูป) คนอื่นก็จะได้เห็น ได้รู้ว่า อ๋อ... ความต้องการที่แท้จริงของคนที่นี่คืออะไรคืออะไร ทุกวันนี้ราชการเรามองไม่เห็นความต้องการที่แท้จริง เนื่องจากความต้องการที่แท้จริงนั้นถูกส่งผ่านไปในหลาย ๆ ชั้น หลายลำดับ แล้วถูกแปรเปลี่ยนเป็นความต้องการของคนระหว่างกลาง หรือของคนกลาง ก็เลยไม่ค่อยได้ตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของชุมชน

          ฉะนั้นแนวคิดที่ไตรภาคีฯ คิดก็คือ ให้ชุมชนคิดเอง อะไรทำได้เอง ก็จะรู้ตัวเองว่าทำได้ ส่วนที่ทำไม่ได้ก็จะรู้ว่าทำไม่ได้ ก็ส่งผ่านอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีคนรับช่วงไปทำต่อ จัดการให้อย่างชัดเจน แต่ที่สำคัญคือ ต้องดำเนินการจัดการกับตัวเองก่อน ต้องตอบให้ได้ว่าสุดท้ายจริง ๆ แล้วคนบ้านลานช้างต้องการอะไร นั่นคือสิ่งที่เป็นแนวคิดหลักของไตรภาคีฯ ชุมชนจะต้องการอะไรก็ได้ไม่มีผิดถูก แต่ขอให้เป็นความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนบ้านลานช้าง ไม่ใช่ 5-6 คนที่นั่งอยู่ ณ วันนี้ คราวหน้าเมื่อมีการพบปะพูดคุยกันในลักษณะนี้อีก ต้องหาคนซ้อนท้ายมาด้วย อย่างน้อยก็ 1 คน หลาย ๆ ครั้งเมื่อมีคนซ้อนท้ายมาก็จะเกิดการพูดคุยรวมตัวกันในกลุ่มคนที่มากขึ้น แล้วก็จะเกิดเป็นข้อตกลงร่วมหรือฉันทามติร่วม ที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า สิ่งนี้ต้องทำ สิ่งนี้ต้องแก้ ต้องพัฒนา ไม่ใช่คิดกันแค่ 2 คนที่เป็นผู้นำหรือแกนนำฯ หรือให้หมอคิดคนเดียว มันไม่สามารถตอบปัญหาชุมชนได้ ผมก็จบประเด็นไว้เพียงแค่นั้นก่อน และให้แกนนำฯ ได้ซักถามหากสงสัยอะไร ก่อนที่จะเปิดประเด็นต่อด้วยคำถามว่า คนลานช้าง ณ วันนี้ คิดว่ามีอะไรดี ที่อยากเล่าให้คนอื่นฟัง ผมอยากฟังบ้าง

หมายเลขบันทึก: 6465เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2005 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท